‘เจ้าพระยา’ สายน้ำแห่งชาติ

‘เจ้าพระยา’ สายน้ำแห่งชาติ

แม่น้ำสายนี้ไม่ใช่แค่มรดกทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทย โครงการใหญ่ที่จะเกิดขึ้นสองฝากฝั่งจึงเป็นเรื่องที่‘เรา’ต้องมีส่วนร่วม

แม่น้ำสายนี้ทอดผ่านตอนกลางของประเทศไทยด้วยระยะทางเกือบ 400 กิโลเมตร เป็นแหล่งชีวิต แหล่งอาหาร ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจ และสายธารประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการเปลี่ยนแปลง หากจะยกย่องให้มีความสำคัญระดับชาติ หรือแม้แต่นานาชาติย่อมไม่เกินเลยความจริง แต่ทันทีที่มีการผุดโครงการส่งเสริมให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมรดกชาติ ด้วยงบประมาณมหาศาล แน่นอนว่าย่อมต้องมีคำถามตามมามากมาย อะไรคือหลักการ เหตุผล ความเป็นไปได้ และสุดท้ายคือ...ประโยชน์ที่คาดว่า(ใคร)จะได้รับ

 

โครงการใหญ่ใจกลางกรุง

“ท่ามกลางการพัฒนาและความทันสมัย กรุงเทพมหานครยังคงมีพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แฝงฝังอยู่อย่างโดดเด่น มีคุณค่าและความสำคัญในฐานะ ‘เขตภูมิทัศน์วัฒนธรรม’ Cultural Landscape ที่สมควรแก่การส่งเสริมให้เป็น มรดกของชาติ และก้าวไปสู่การเป็นมรดกโลกในอนาคต...”

นี่คือแนวคิดหลัก ที่ทำให้กรุงเทพมหานครตั้งไข่โครงการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกำหนดพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่แนวสะพานกรุงธน (สะพาน ซังฮี้) เรื่อยลงมาจนถึงแนวสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน

แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การชักธงส่งเสริมแม่น้ำสายหลักของคนไทยโดยเฉพาะช่วงที่ผ่านกรุงเทพมหานครให้เป็นมรดกของชาติ โดยมีแผนการฟื้นฟูปรับปรุงและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น นับเป็นงานใหญ่ที่สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร อาสาเป็นเจ้าภาพและมีภารกิจต้องชี้แจง

โดยจากผลการศึกษาของโครงการได้จัดทำแนวทางการปรับปรุงและฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 4 ประเภท คือ แม่น้ำลำคลอง อาคารและสิ่งก่อ สร้าง ชุมชนริมน้ำ และมรดกนามธรรม

ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์ชุมชนและประวัติศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ อธิบายเพิ่มเติมว่า

“คือเรารู้แล้วล่ะว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีคุณค่า โบราณสถาน ชุมชน วัฒนธรรมทั้งหมดมีคุณค่า แต่การนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมทั้งหมดนี้มันต้องมีภาพรวม ซึ่งเราก็ ได้ให้แม่น้ำเป็นพระเอก เป็นตัวที่ร้อยเรียงว่าเราตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงนี้ มีชุมชนอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาเราก็จะไม่ได้มองเมืองกรุงเทพเป็นโบราณสถานที่ตายแล้ว แต่เป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต มีผู้คน มีการใช้งาน มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสืบเนื่องมา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนลำคลองสายหลักๆ เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยง โบราณสถานทั้งหมด”

ทั้งนี้เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกวัฒนธรรม ได้มีกำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินคุณค่าโดยอ้างอิงจากเกณฑ์ของมรดกโลก(ยูเนสโก) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมศิลปากร

ในส่วนของแม่น้ำและลำคลอง ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาและคลองหลักๆ 12 สาย โบราณสถาน แบ่งเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วโดยกรมศิลปากร ซึ่งมีอยู่ถึง 108 แห่ง และโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน

“ทั้งหมดจะเห็นความหลากหลายของสถาปัตยกรรม ซึ่งเราต้องการนำเสนอความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์กรุงเทพตั้งแต่สมัยอยุธยาต่อเนื่องถึงกรุงรัตน โกสินทร์” ดร.พีรศรี กล่าว

นอกจากนี้ก็มีเรื่องของชุมชน ซึ่งในพื้นที่ศึกษามีทั้งสิ้น 70 กว่าชุมชน “เราให้ความสำคัญมาก เพราะโบราณสถานก็ต้องมีชุมชนเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เป็นชีวิต เป็นวัฒนธรรม”

สุดท้ายคือ วัฒนธรรมนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเพณี ราชพิธีของหลวง คติความเชื่อต่างๆ ของราษฎร หัตถกรรมอะไรต่างๆ ไปจนถึงตำรากับข้าว “เหล่านี้คือมรดกภูมิปัญญาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษา เพื่อที่จะกำหนดแผนในการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต” ที่ปรึกษาโครงการกล่าว ก่อนจะสรุปพื้นที่ศึกษาโดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ คือ

บริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง โบราณสถานทั้งหมดในบริเวณนี้ก็จะเล่าเรื่องราวพัฒนาการของกรุงเทพ ตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 3, 4 และ 5

วงแหวนรอบๆ หัวแหวน ฝั่งธนบุรีคือเขตบางกอกน้อย บางยี่ขัน ตรงนี้จะมีวัดโบราณสมัยอยุธยา ชุมชนเก่าแก่ ส่วนฝั่งพระนครก็มีโบราณสถานสำคัญ อย่างป้อมมหากาฬ ป้อมพระสุเมรุ กำแพงเมือง วัดสระเกศ วัดสุทัศน์ เสาชิงช้า ฯลฯ รวมถึงชุมชนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนาแต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

พื้นที่ทางเหนือ ครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำ คือเขตบางพลัดหรือฝั่งธน เขตสามเสนฝั่งพระนคร ซึ่งเขตบางพลัดจะมีวัดโบราณสมัยอยุธยา มีชุมชนที่ยังคงอยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ฝั่งพระนครจะเป็นย่านโบราณสถานที่มีความน่าสนใจ มีชุมชนเก่าแก่ เช่น บ้านยวน บ้านเขมร ยาวไปถึงเขตดุสิต ซึ่งมี วังบางขุนพรหม วังเทวะเวสม์

ย่านการค้าสำคัญ คือสองฝั่งแม่น้ำทางด้านใต้ของพระนคร ประกอบด้วย สำเพ็ง เยาวราช ทรงวาด เรื่อยมาถึงตลาดน้อย และท่าดินแดน คลองสาน ทางฝั่งธนบุรี ซึ่งตรงนี้จะมีทั้งย่านพานิชน์ มัสยิด ศาลเจ้าอะไรต่างๆ กระจายอยู่โดยรอบ

สุดท้ายคือย่านบางรักในฝั่งพระนคร ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของกรุงเทพในช่วงรัชกาลที่ 4 ที่ 5 เมื่อเริ่มติดต่อกับตะวันตก และเขตพาณิชยกรรมของกรุงเทพก็เริ่มขยายจากสำเพ็งเรื่อยลงมาตามแม่น้ำ คือตรงนี้แม่น้ำยังคงความสำคัญอยู่

“ทั้งหมดนี้ก็จะประกอบขึ้นมาเป็นภาพรวมของประวัติศาสตร์เมืองกรุงเทพที่มีภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเป็นบ้านเป็นเมืองที่อยู่กันมาเก่าแก่ มีการปรับประยุกต์ภูมิประเทศท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของยุคนั้นสมัยนั้น”

 

จากพิมพ์เขียวสู่พื้นที่จริง

กางแผนที่ ขีดวงที่จะศึกษาฟื้นฟูและพัฒนากันในห้องสัมมนาเรียบร้อยแล้ว ภารกิจต่อไปก็คือการนำไปปฏิบัติ อ.ธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักวิชาการศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี ออกตัวว่างานนี้ไม่ได้พูดในฐานะตัวแทนสถาบันการศึกษาใดๆ ขอเป็นตัวแทนตัวแทนภาคประชาชน ทำหน้าที่ในการใช้ประวัติศาสตร์เฝ้าระวังการเดินหน้าไปของสังคม

“คุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเป็นต้นทุนมหาศาลมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์สืบมาจนถึงปัจจุบัน ผมอยากจะขอนำเสนอเรื่องของการใช้คุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่เฉพาะการที่เราเห็นหรือพยายามเฝ้าระวังไม่ให้มีการแตะต้องหรือแช่แข็งทิ้งไว้ เราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่ทำให้เราตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่เราเรียกว่ามรดกที่เรารับสืบทอดจากบรรพบุรุษ”

อย่างไรก็ตามต้องขีดเส้นใต้ให้ชัดๆ ว่า คุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้อยู่เฉพาะพื้นที่ที่ผ่านกรุงเทพมหานครเท่านั้น “แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำของคนทั้งประเทศ แม่น้ำนี้ไม่ได้ผ่านเฉพาะฝั่งธนบุรี หรือฝั่งพระนครเท่านั้น แต่ว่าความสำคัญของแม่น้ำคือเป็นต้นทุนอันมหาศาล ถ้าเราคำนึงถึงว่าแม่น้ำเป็นของชาวกรุงเทพ นั่นแสดงว่าเรามองผิดพลาด”

มากไปกว่านั้นคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยายังต้องหมายรวมถึงคูคลองสาขา ซึ่งในอดีตมีอยู่นับพันสาย แต่ปัจจุบันเหลือเพียงหลักร้อย

“นับพันสายที่ถูกทำลายไปเราอาจไม่ได้เห็นว่ามันถูกทำลายไปอย่างไร ไม่ถึงขนาดที่ถมให้เป็นถนนเท่านั้น แต่ว่าคลองหลายๆ สายถูกทำให้กลายเป็นหลอดกาแฟเล็กๆ นับพันหลอด เนื่องจากมีการสร้างผนังกั้นน้ำหรือแนวกันน้ำซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ดั้งเดิม ซึ่งพื้นที่นี้เคยเป็นฟลัดเวย์ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร คือพื้นที่ที่สามารถจะระบายน้ำออกไปได้ ทีนี้เมื่อเราพูดถึงคุณค่า ผมจึงพยายามที่จะนำเสนอว่าควรจะต้องมีการรักษาคูคลองที่เหลืออยู่นี้ให้ดี”

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลอง อาคารและสิ่งก่อสร้าง หรือด้านชุมชน นอกจากการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม ประการหนึ่งคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย อ.ธีรนันท์ อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมหรือเสมอภาคกันทุกๆ ภาคส่วน

“ผมได้มีโอกาสลงชุมชนต่างๆ ที่รุกล้ำคูคลองอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงพื้นที่ที่รุกล้ำโดยภาครัฐ ทำอย่างไรให้เกิดมาตรฐานในการนำกฎหมายเข้าไปบังคับใช้อย่างเป็นธรรมทุกภาคส่วน อย่างเช่น กรณีของชุมชนทางด้านสามเสน ก็จะมีชุมชนราชผาที่ผมเข้าไปรู้จักในช่วงที่มีนโยบายของภาครัฐมากระทบ และไม่ใช่แค่ชุมชนเหล่านี้ มีชุมชนไม่น้อยทีเดียวทีรุกล้ำ แต่คำว่ารุกล้ำนี่ก็คือรุกล้ำเมื่อไหร่ รุกล้ำมาอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร และการที่เราจะรื้อย้ายชุมชนเหล่านี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ เหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็มีคำถามว่า อ้าว แล้วถัดจากชุมชนราชผา มีพื้นที่ของหลวงใหญ่ๆ คือท่าวาสุกรี นั่นเป็นส่วนของการทำลายมรดกวัฒนธรรมเช่นเดียวกันหรือไม่”

แน่นอนว่าหากไม่สามารถตอบคำถามและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ โครงการสวยหรูขนาดไหนก็อาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาได้ในอนาคต

 

คืนความสุขให้คนกรุง

วาดภาพสวยๆ ว่าเมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ แม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นสายน้ำแห่งวัฒนธรรมที่งดงามทั้งในแง่ภูมิทัศน์และวิถีชีวิตของผู้คนสองฟากฝั่ง แต่หากก้าวพลาดหรือขาดเจตจำนงค์เพื่อชีวิตที่ดีของคนกรุง บางทีนี่อาจเป็นการเปิดช่องให้ทุนขนาดใหญ่ฉกฉวยผลประโยชน์ จับจองทำเลที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯไปอย่างน่าเสียดาย

“ในมุมของวิศวกร กรุงเทพมหานครมันไม่มีที่จะสร้างอะไรอีกแล้ว สร้างตึกขึ้นมาสวยงามแค่ไหนก็ไม่เห็นความงามนะ เพราะว่ามันไม่มีที่ไกลๆ ที่จะมองเห็น นอกจากอาคารริมแม่น้ำเท่านั้นที่จะเห็นความสวยงาม ซึ่งตอนนี้พื้นที่ริมแม่น้ำของกรุงเทพก็สร้างคอนโดเต็มเกือบหมดแล้ว ส่วนบรรดาโรงแรมริมแม่น้ำทั้งหลายก็มีคนจองเต็มตลอดเลย แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวจีนยังเลือกที่จะอยู่ริมแม่น้ำ” รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มองอนาคตของพื้นที่ริมน้ำ และว่า...เอเชียทีคเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการออกแบบและใช้ประโยชน์จากอาคารเก่า

“ผมอยากบอกกทม.ว่า ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าเราเก็บรักษาของเก่าๆ ไว้แล้วปรับปรุงนี่จะดีมากเลย ในอีกสองปีข้างหน้าจะมีโครงการเกิดขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมูลค่าแสนห้าหมื่นล้านถึงสองแสนล้าน จะมีอาคารที่สูงติดอันดับห้าในสิบตึกของกรุงเทพ มันไม่ได้สูงมากมาย แต่อาคารเหล่านี้จะเป็นรายได้ของประเทศในแง่ของการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นอนาคตริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นแหล่งธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว ตลาด ศูนย์การค้า” ในมุมนี้ ดร.ต่อตระกูล เห็นว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

ทว่า ปัญหาที่วนกลับมาก็คือ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของชุมชนมากมาย และจำนวนไม่น้อยถูกกล่าวหาว่ารุกล้ำ พวกเขากำลังจะกลายเป็นส่วนเกินของกรุงเทพฯในฝันหรือไม่

ก่อนจะไปถึงขั้นตอนของการดำเนินการ บางเสียงจึงเห็นว่าควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ...ใครคือคนที่ควรได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการใหญ่อย่างนี้ ซึ่งสำหรับชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำพระยาแล้ว พวกเขาไม่ควรเป็นเพียงผู้ได้รับผกระทบ

อ.ธีรนันท์ เสนอว่าเพื่อไม่ให้ประโยชน์ตกอยู่ในข่ายของการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว คงต้องถามความเห็นของชุมชน หรือเปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

“เอาแค่ว่าทางเดินริมน้ำ ผมถามว่าทุกคนต้องการทางเดินริมน้ำจริงหรือเปล่า เรา..คนไม่ได้ใช้ชีวิตริมน้ำ อยากได้ทางเดินริมน้ำ ถูกมั้ย ผมอยากไปเดินริมน้ำบ้าง สวยดี ได้ท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป แต่ถ้าถามว่าคนที่เขามีวิถีชีวิตอยู่ริมน้ำเขาต้องการหรือเปล่า เขาอาจจะไม่ต้องการก็ได้ หรือเขาอาจจะต้องการก็ได้ นี่ก็คือต้องให้เสมอภาคกันสำหรับการใช้พื้นที่ ไม่ใช่ตอบโจทย์ในเรื่องการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ในเรื่องเม็ดเงินที่จะเข้ามา แต่ต้องตอบโจทย์ของเราในเรื่องความสุขมากกว่า”

“ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์สำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการรวมตัวของภาคธุรกิจ แล้วก็มีเงินทุนมหาศาลในการเข้าไปยึดพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเชื่อมโยงเครือข่ายกันได้เร็วมาก เร็วกว่าพวกชาวบ้านที่รุกล้ำด้วยซ้ำ ชาวบ้านรุกล้ำนิดๆ หน่อยๆ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ผิด ผิดก็คือผิด แต่ว่าบรรดากลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาทำลายสูงมาก”

ดังนั้นเพื่อไม่ให้โครงการในฝันกลายเป็นฝันร้ายของคนกรุง ผศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่านอกจากการทำ EIA (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แล้ว ยังมีกลไกที่เรียกว่า HIA (Heritage Impact Assessment) “เช่นถ้าเกิดจะมีการสร้างสะพาน สร้างทางเดิน สร้างตึกสูงขึ้นมา ต้องถามก่อนว่าสิ่งก่อสร้างพวกนี้มันจะมีผลกระทบต่อคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่เราได้ช่วยกันกำหนดขึ้นมาหรือไม่”

ด้วยกลไกเหล่านี้นอกจากจะช่วยสืบทอดความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะมรดกชาติ ยังอาจยกระดับแม่น้ำสายนี้ให้เป็นมรดกโลกได้อีกด้วย

“พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งรวมสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีทั้งผลงานที่มีความเป็นเลิศ และที่สะท้อนการพัฒนาการผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตกในสมัยนั้น รวมถึงการเป็นถิ่นฐานของคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ ซึ่งยังคงมีวิถีชีวิตที่สืบเนื่องต่อมา”

“และแม้จะมีเมืองหลวงเยอะแยะที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแล้วเป็นเมืองอกแตก แต่ที่นี่กล่าวได้เลยว่าเป็นที่เดียวในเอเชียอาคเนย์ ที่เป็นเมืองหลวงซึ่งมีจุดกำเนิดที่ตั้งบนฝั่งแม่น้ำที่มนุษย์ขุดขึ้น”

พร้อมๆ ไปกับการประกาศให้โลกรู้ถึงคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อใดก็ตามที่สามารถทำให้เจ้าของวัฒนธรรมเห็นความสำคัญของมรดกที่ส่งทอดมาจากคนรุ่นก่อน เมื่อนั้นแม่น้ำสายนี้ก็จะมีชีวิตยืนยาวต่อไป

“ผมอยากจะฝากว่าการที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมรดกระดับชาติจะต้องส่งถึงคนรุ่นหลังอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่กอบโกยจากคนในยุคปัจจุบัน หรือทำลายโดยคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะโดยรู้เท่าถึงการณ์หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม” อ.ธีรนันท์ ฝากไว้ให้คิด

  “ถ้าวันนี้เราชะลอหรือคิดสักนิดหนึ่ง ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เราก็จะส่งมอบมรดกนี้อย่างมีคุณค่าเพื่อให้เกิดการรักษาต่อไปในวันข้างหน้า