เส้นทางรักษ์ EcoRoute...เชียงราย

"จงถามตัวเองว่าอยากมีความรู้สึกอย่างไร และไปเหยียบยืนในที่ที่ทำให้คุณรู้สึกแบบนั้นได้" นักเดินทางนายหนึ่งว่าไว้
ราวครึ่งชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงราย ฉันและสหายชาย-หญิงรวม 3 ชีวิต ก็ลัดเลาะทางป่ามาเหยียบยืน ณ หมู่บ้านโป่งน้ำร้อน ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จนได้ อาจเพราะความรู้สึกโหยหาสีเขียวๆ ของธรรมชาติ หรือไม่ก็มาจากความเบื่อหน่ายชีวิตในป่าคอนกรีต เราจึงไม่อ่อนข้อให้กับไอร้อนของเดือนพฤษภาแม้แต่น้อย
หมู่บ้านเล็กๆ นี้แม้จะไม่มีภาพของบ้านไม้หลังคาใบตองตึงตามแบบบ้านบนดอยในความคิดของคนเมือง แถมยังมีไฟฟ้าน้ำประปาโคล่าเป็ปซี่พร้อม แต่รายรอบหมู่บ้านก็ยังคงความร่มรื่น อากาศโปร่งชวนให้หายใจเข้าแบบเต็มปอด
ด้วยความที่หมู่บ้านโป่งน้ำร้อนอยู่ในเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน วิธีการที่ดีที่สุดที่จะเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตและธรรมชาติ ก็คือการติดต่อกับกลุ่มฯ กับซึ่งครั้งนี้เราได้ เดชา เตมิยะ หนุ่มลูกครึ่งพื้นเมือง-ลาหู่ เป็นคนนำทางและนำฮา
ตามข้อมูลบอกว่า บ้านโป่งน้ำร้อนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2475 สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 30 กิโลเมตร ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะตั้งอยู่ในหุบเขา อากาศเย็นตลอดปี ในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น 4 หย่อมบ้าน คือ หย่อมบ้านคนเมือง หย่อมบ้านสองแคว (คนจีน) หย่อมบ้านอาข่า และหย่อมบ้านลีซอ
"พ่อแม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนที่เข้ามาอยู่แรกๆ มีแค่ 2-3 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองที่มาล่าสัตว์ก่อน เขาเห็นมีต้นเมี่ยงต้นชา ดูจะอุดมสมบูรณ์ก็เลยมาสร้างบ้านสร้างเรือนอยู่กัน แล้วก็อพยพครอบครัว ชวนเพื่อนฝูงเข้ามาอยู่ หลักๆ ก็ทำเมี่ยงเก็บเมี่ยงกัน พอตอนหลังถึงเริ่มมีชนเผ่าเข้ามา มีจีนยูนนาน อาข่า แล้วก็ลีซู อยู่ร่วมกัน แต่มีผู้นำคนเดียว" เดชา เล่าและว่าการทำเมี่ยงเป็นอาชีพที่ยังสืบทอดต่อกันมาของคนเมืองที่อพยพมาอยู่ที่นี่ ส่วนคนจีนยูนนานกับอาข่าจะทำสวนผลไม้ ลีซูส่วนใหญ่จะรับจ้าง
อยู่กันตามประสาบ้านป่าคนดอยแบบนี้ จนกระทั่งมีเพื่อนมาบอกว่าหมู่บ้านนี้มีศักยภาพที่จะทำการท่องเที่ยว มีทุนธรรมชาติ ชุมชนมีความหลากหลาย ชาวบ้านก็เลยมาหารือและตกลงใจที่จะเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ถึงตอนนี้ผ่านไป 4-5 แล้ว การจัดการเริ่มลงตัวมีกลุ่มทำอาหาร กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มบ้านพัก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5-6 หลังที่ทำเป็นโฮมสเตย์
"ถ้ามาเองไม่ได้ติดต่อมาก่อนก็จะมานอนได้อย่างเดียว แต่ถ้าติดต่อทางกลุ่ม เราจะมีแพ็คเกจให้เลือก มาวันเดียวกลับและแบบ 1 คืน 2 วัน ถ้าวันเดียวและเดินทางมาเองก็จะคิดอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท แต่ถ้าให้เราไปรับคิด 1,200 บาท บวกค่ารถรับส่ง รับที่ห้าแยกพ่อขุน ส่วนแบบค้างคืนต้องมาคุยกันอีกทีว่าทำกิจกรรมอะไรบ้าง แต่หลักๆ ก็มีเที่ยวน้ำตก น้ำบ่อไก่ น้ำพุร้อน ชมการทำเมี่ยง ทำแคบเจ แต่ถ้าต้องการเดินป่าด้วยก็มีสองเส้นทาง วันเดียวกลับก็มี ไปศึกษาแหล่งพรรณไม้ แหล่งสมุนไพรอะไรต่างๆ แต่อีกเส้นทาง อยู่ในป่าหนึ่งคืนสองวัน จุดที่ไปค้างจะเห็นตัวเมืองเชียงรายทั้งหมด เช้าๆ มีทะเลหมอก แต่จะโหดนิดนึง ต้องเดินเก่งๆ" ใครชอบแบบไหน เจ้าบ้านบอก..มาคุยกันก่อน จะได้ปรับให้เข้ากับความชอบและความอึดของลูกทัวร์
สำหรับเรา หนุ่มสาวสโลว์ไลฟ์ผู้พิศมัยชีวิตช้าๆ คือเดินช้าๆ กินช้าๆ นอนตื่นช้าๆ ขอเลือกความเข้มระดับปานกลาง ส่วนจะเป็นที่ไหนบ้างอย่ารอช้า...ตามเดชามาเลย
ชุ่มฉ่ำน้ำตกสวย
หลังเก็บกระเป๋าเข้ากระท่อมน้อยเรียบร้อย รถปิ๊กอัพสภาพพร้อมลุยก็หมุนล้อนำทางเราสู่จุดหมายแรกที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เส้นทางขรุขระเล็กน้อยทว่าเขียวครึ้มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อขับลึกเข้าไป ไม่นานรถก็มาจอดใกล้ๆ บ่อน้ำเล็กๆ ที่รองรับสายน้ำที่ไหลรินลงมาตลอดเวลา เดชาบอกว่าน้ำตรงนี้ไม่เคยหายไม่เคยแห้ง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใครป่วยไข้ไม่สบาย เอาไปกินไปทาก็หายได้ แม้เจ้าตัวจะยังไม่เคยสัมผัสด้วยตัวเองถึงปาฎิหาริย์นั้น แต่ก็ทึ่งในความมหัศจรรย์ของ น้ำบ่อไก่ แห่งนี้
"เมื่อก่อนตรงนี้เป็นเส้นทางเข้าออกของบ้านโป่งน้ำร้อน สินค้าพวกเมี่ยงจากหมู่บ้านต้องอาศัยวัวต่างขนมาทางนี้ พอมาถึงจุดนี้คนเฒ่าคนแก่บอกว่าจะเห็นไก่ หมู เก้ง สัตว์ต่างๆ ลงมากินน้ำ มาทีไรก็เจอโดยเฉพาะไก่ เขาก็เลยเรียกน้ำบ่อไก่ เขาทั้งเขามีที่นี่จุดเดียวที่มีน้ำออกกลางดอย
มีน้ำตลอดทั้งปี ไม่มีแห้ง บางคนบอกว่าตักน้ำตรงนี้เอาไปกินไปทา ปวดเมื่อยหาย อันนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน"
ของแบบนี้แค่ฟังคงจะไม่เข้าถึง ใครบางคนจึงทั้งดื่มทั้งลูบเนื้อลูบตัว ส่วนตั้งจิตอธิษฐานขอให้หายหรือขอให้ได้อะไรนั้นเธอมิได้บอกกล่าว เสียดายแต่ไม่มีใครพกขวดเปล่าไป ไม่อย่างนั้นคงได้ของฝาก(ตัวเอง)กลับบ้านไปแน่ๆ
ทิ้งปริศนาน้ำบ่อไก่ไว้เบื้องหลัง เรานั่งรถย้อนกลับทางเดิม ผ่านไร่ชา ป่าเมี่ยง สวนผลไม้ และหมู่บ้านอาข่า ก่อนจะมาหยุดตรงลานโล่งที่มีเสียงน้ำตกดังเชิญชวนอยู่ไม่ไกล
"จากนี่เดินขึ้นไปประมาณสองร้อยเมตรก็ถึงน้ำตกแล้ว" เดชา ชี้ไปที่ทางขึ้น
"กว้างพอประมาณ ชันเล็กน้อย แค่สองร้อยเมตรเอง สู้สู้" เสียงในใจบอก
เราไต่ระดับทางดินไปแบบไม่ยากเย็น พอเหงื่อซึมก็ได้รับรางวัลเป็นสายน้ำที่ไหลผ่านหน้าผาสูงตกลงสู่แอ่งเบื้องล่าง สดชื่นชุ่มฉ่ำจนลืมเหนื่อย
เหมือนปลาได้น้ำ ต่างคนต่างหาทางลงไปให้ใกล้ที่สุดเพื่อจะซึมซับบรรยากาศ ก่อนที่เสียงหนึ่งจะดังขึ้นมา "อันนี้ยังไม่ใช่ของจริง นี่แค่ชั้นที่สองเอง ต้องขึ้นไปอีกประมาณร้อยเมตรครับ"
"ร้อยเมตร! ที่เดินมาเมื่อกี้เพิ่งผ่านมาแค่ร้อยเมตรเองเหรอ" ฉันถาม ...ได้คำตอบมาเป็นเสียงหัวเราะแบบได้ที
แล้วร้อยเมตรที่เหลือก็เล่นเอาเหงื่อชุ่ม แต่ก็คุ้มอย่างที่เจ้าถิ่นบอกจริงๆ นั่นแหละ น้ำตกชั้นที่ 3 น้ำไหลแรง สวยงามสมคำร่ำลือ รอบๆ น้ำตกเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ แอ่งน้ำกว้างพอที่จะเป็นสระว่ายน้ำส่วนตัว โชคดีที่เราไม่ได้ไปในช่วงวันหยุด เลยไม่ต้องแย่งวิวนี้กับใคร ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ได้แบบเต็มที่ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เสียงท้องร้องเตือน...
การตัดใจจากความสดชื่นชุ่มฉ่ำหลังจากทนทุกข์อท่ามกลางอุณหภูมิเฉียด 40 องศาในเมืองกรุงมาหลายสัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ฉันเดินลงจากน้ำตกแบบช้าๆ หวังจะเก็บความรู้สึกแบบนี้ไว้ให้นานที่สุด
จากน้ำตกใช้เวลาไม่นานเราก็ถึงหมู่บ้าน อาหารท้องถิ่นฝีมือป้าจิดาภารออยู่แล้ว คราวนี้ไม่มีคำว่าช้า เราสามคนจัดการมื้ออร่อยกันแบบจริงจังจริงใจ ก่อนจะลาไปพักผ่อนตามอัธยาศัย
เช้าสดใสในไร่ชา
เสียงไก่ขันไม่ได้ปลุกเราให้ตื่นมารับแสงตะวันในเช้าวันนี้ แต่เพราะนัดหมายที่จะไปไร่ชาในเวลาแสงทองทาบทอขอบฟ้าต่างหากที่ทำให้ทุกคนต้องดึงตัวจากที่นอน ก่อนโก่บ้านโป่งน้ำร้อนจะทำงาน
ภูสูงคือฉากหลังของไร่ชาผืนนั้น เสียดายที่ท้องฟ้าไม่เป็นใจ ดวงตะวันซ่อนตัวอยู่ในเมฆหมอก ทว่า ไม่ใช่เรื่องน่าผิดหวัง เพราะธรรมชาติมีความงามเตรียมไว้ใช้ชื่นชมเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า..จะมีสายตาเพื่อมองเห็นหรือไม่
สีเขียวของต้นชาไล่โทนกับไม้ยืนต้นในบริเวณเดียวกัน ประดับประดาด้วยดอกหญ้าเล็กๆ ริมทาง แค่นี้ก็เติมเต็มหัวใจใครบางคนได้มากแล้ว นี่คงเป็นเวลาเก็บออกซิเจนตุนไว้สำหรับอีกหลายวันข้างหน้า พร้อมๆ ไปกับเก็บภาพในมุมที่ใช่ ก่อนจะฟังคำบอกเล่าของเดชา ถึงที่มาของไร่ชาป่าเมี่ยงที่นี่
"เราทำเมี่ยงมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เมี่ยงเป็นพืชที่อายุยืนนาน ไม่ต้องดูแลมาก ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยาอะไรต่างๆ ขึ้นธรรมชาติ ปล่อยธรรมชาติ ขึ้นมาเราก็เก็บ ปีนึงเราจะเก็บเมี่ยงประมาณ 9 เดือน พักแค่ 3 เดือนในช่วงหน้าหนาว พอปลายมีนาคมก็เริ่มเก็บใหม่จนถึงพฤศจิกายน นี่เป็นการดำรงชีวิตของชาวชุมชนโป่งน้ำร้อน"
เมี่ยงที่เดชาบอก ก็คือชาชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้นที่ชาวบ้านทางภาคเหนือนิยมนำใบมาหมักเป็นเมี่ยง เคี้ยวเป็นอาหารว่าง ว่ากันว่าให้กำลังวังชาดีนักแล แต่ถ้าไม่กินเป็นเมี่ยง ก็สามารถนำมาตากแห้งเพื่อเป็นใบชา หรือไม่ก็นำยอดและใบอ่อนมาใช้ปรุงอาหาร ซึ่งที่ชุมชนโป่งน้ำร้อนการทำเมี่ยงถือเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมายาวนาน ทุกวันนี้ยังมีการต้มเมี่ยงทำเป็นเมี่ยงฝาด เมี่ยงส้ม ส่งไปขายยังที่ต่างๆ ด้วย
แต่ใช่ว่าจะมีแต่ป่าเมี่ยงหรือสวนเมี่ยงเท่านั้น พื้นที่นี้ยังมีการปลูกชา ทั้งพันธุ์อัสสัมและอู่หลง ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างเมี่ยงกับชาทั่วๆ ไป ก็คือต้นเมี่ยงต้องพึ่งพาอาศัยต้นไม้ใหญ่ในการเจริญเติบโต ป้องกันแสงแดดที่ส่องลงมา เราจึงยังมองเห็นมีสภาพความเป็นป่ามากกว่าไร่ชาที่มักจะตัดต้นไม้ใหญ่ออก
ใช่ว่าจะชมกันเพลินๆ ความรู้ต้องครบ เก็บภาพทั้งไร่ชาป่าเมี่ยงเรียบร้อย ไกด์อาสาพาเราไปชมการต้มเมี่ยงที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่หาคนทำยากขึ้นเรื่อยๆ
"เมื่อก่อนทำกันเกือบทุกบ้าน แต่ตอนนี้เหลือ 3-4 หลังที่ทำ ขั้นตอนก็เริ่มจากเอาใบเมี่ยงมาใส่ในถังแล้วนำไปนึ่งประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นค่อยเอาลงมาผึ่งให้เย็น พอเริ่มเย็นก็มาทำเป็นมัดๆ มัดเสร็จเอาไปหมักในน้ำธรรมดา ทิ้งไว้สักสองอาทิตย์ก็จะมีรสเปรี้ยว หรือถ้าชอบแบบฝาดก็ไม่ต้องทิ้งไว้นาน" ว่าแล้ว.. ลุงเอนก วุฒินำชัย คนต้มเมี่ยงแห่งบ้านโป่งน้ำร้อนก็ส่งใบเมี่ยงให้คนเมืองเคี้ยวแทนหมากฝรั่ง เผื่อว่าจะคึกคักขึ้นมาบ้าง
ชิมเมี่ยงกันพอหอมปากหอมคอ ก็ได้เวลาไปชิมของดีอีกอย่างของบ้านโป่งน้ำร้อน... 'แคบเจ'
หน้าตาละม้ายคล้าย แคบหมู ของกิ๋นคนเมือง แต่อาหารชนิดนี้ทำจากโปรตีนข้าวบาร์เลย์ เหมาะสำหรับคนกินเจ คนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ รวมถึงคนที่อยากชิมรสชาติที่แตกต่าง...อย่างเรา
ครูแก้ว จะมุ จะลา อดีตครูสอนภาษาจีนของชุมชน ผู้ผันตัวมาทำแคบเจเป็นธุรกิจครอบครัว บอกว่าไปเรียนวิธีการทำมาจากเชียงใหม่ ใช้โปรตีนข้าวบาร์เลย์ไปต้มแล้วนำมาปรุงรส จากนั้นนำไปอบ เสร็จแล้วค่อยเอาออกมาแพ็คขาย เวลาจะทานต้องนำไปทอด ส่วนมากส่งที่ร้านอาหารเจทั้งในเชียงราย แล้วก็กรุงเทพ"
แม้จะไม่ใช่อาชีพดั้งเดิม หรือสูตรลับของครอบครัว แต่ด้วยรสชาติและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ครูแก้วออกแบบได้อย่างลงตัว ก็ทำให้ใครต่อใครต้องแวะมาชมและชิมแคบเจที่นี่
ยังไม่ทันไรเราก็มีแคบเจติดมือไปคนละถุงสองถุง ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปยังสถานที่ต้องห้ามพลาดอีกแห่ง นั่นคือ บ่อน้ำพุร้อนผาเสริฐ บริเวณริมลำห้วยโป่งน้ำร้อน
ทำเลดีอยู่ติดถนนใหญ่ ไม่บอกก็รู้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม (ในหน้าหนาว) เมื่อเรามาในหน้าร้อนสลับฝน ผู้คนจึงบางตา ที่นี่มีบริการทั้งบ่อแช่เท้า บ่อแช่ตัวแบบบ่อรวมกลางแจ้งขนาดใหญ่ และที่เป็นห้องอาบน้ำส่วนตัวในอาคาร ซึ่งมีอยู่ 4 อาคาร 11 ห้อง พร้อมบริการนวดแผนไทย
ตัวบ่อน้ำพุร้อน อุณหภูมิสูงถึง 87 องศาเซลเซียส ไม่อนุญาตให้ลงไปแช่ตัวแน่นอน แต่ใกล้ๆ มีบริการแช่ไข่ จะไข่เป็ดหรือไข่นกกระทาก็มีขายอยู่ใกล้ๆ ส่วนใครชอบกินแบบไข่ลวก ไข่ยางมะตูม หรือไข่สุก เขาก็มีเวลาที่เหมาะสมบอกไว้ให้ข้างๆ บ่อเลย สะดวกง่ายดาย...แค่ปอกไข่ใส่ปากก็เสร็จพิธีการเที่ยวน้ำพุร้อนแบบไทยๆ
แต่ข้อควรระวังก็มีเช่นกัน บุคคลที่เป็นโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ ความดันโลหิต โรคอ้วน ไม่ควรแช่นานเกินไป โดยประมาณก็ 10 นาที ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ส่วนคนทั่วไป 20-30 นาทีคือระยะเวลาที่ดีที่สุดของการอาบน้ำแร่
สำหรับใครที่ไม่อยากอาบน้ำแร่ หรืออยากชิลล์ต่อเนื่อง จะใช้บริการล่องแพหรือเรือหางยาวนำเที่ยวชมทัศนียภาพขึ้น-ล่องตามลำน้ำกก ที่ท่าเรือบ้านผาเสริฐก็ได้ นอกจากจะได้ชมธรรมชาติสองฟากฝั่ง ยังได้สัมผัสวิถีชีวิตชนเผ่าด้วย จากนั้นถ้ายังไม่จุใจอาจแวะไปนั่งช้างที่ปางช้างกะเหรี่ยงรวมมิตรได้อีก
เดชา บอกว่านี่คือข้อดีของการมาเที่ยวชุมชนโป่งน้ำร้อน เพราะนอกจากเก็บเกี่ยวบรรยากาศในหมู่บ้าน ชมวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่รายรอบยังมีความหลากหลายและอยู่ไม่ไกลกัน
"ที่สำคัญคือเราอนุรักษ์เรื่องของทรัพยากรป่าไม้ เรื่องป่าเรื่องน้ำอะไรต่างๆ คนที่เข้ามาจะรู้ว่าตรงนี้อุดมสมบูรณ์ ไม่เหมือนที่อื่น แล้วอากาศที่นี่ค่อนข้างจะเย็นสบาย ช่วงหนาวๆ อยู่ที่ 5 องศา เที่ยวได้ตลอดทั้งปี หน้าฝนก็เที่ยวได้ ผู้คนอัธยาศัยดีด้วย"
ใครที่มีใจรักษ์ธรรมชาติ อยากสัมผัสชีวิตเรียบง่าย บอกได้เลยว่า...ไม่ไปไม่ได้แล้ว
.....................
การเดินทาง
กรุงเทพฯปลายทางเชียงราย ถ้าใช้รถยนต์แนะนำให้ใช้เส้นทางนครสวรรค์-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย จากรังสิตมาตามถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวง หมายเลข 32 ที่อำเภอวังน้อย จากนั้นผ่านจังหวัดอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เข้าสู่จังหวัดลำปาง แล้วตรง ไปจังหวัดพะเยา จนเข้าสู่เชียงราย รวมระยะทาง 830 กิโลเมตร
แต่ถ้าต้องการความสะดวกรวดเร็ว การบินไทย, บางกอกแอร์เวย์, แอร์เอเชีย และนกแอร์ มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงรายทุกวัน สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชียงราย สอบถามได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 7433, 0 5374 4674-5
สนใจท่องเที่ยวชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อน ติดต่อคุณเดชา โทร. 08 5705 5747