“บ้านเหล่าเหนือ” Oasis เมืองแพร่

“บ้านเหล่าเหนือ” Oasis เมืองแพร่

เมืองแพร่เป็นเมืองไม้สัก ในอดีตมีการลักลอบตัดกันอย่างมาก “บ้านเหล่าเหนือ” คือต้นแบบ ยุทธการไม้ซีกงัดกับไม้ซุงที่ประสบผลสำเร็จ

จากการพูดอย่างตลกๆที่ว่า... เวลาคนเมืองแป้เดินผ่านต้นสัก ต้นสักจะเฉาทันทีนั้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าเมืองแพร่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้สักแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าคนแพร่มีความจัดเจนเรื่องไม้สัก และในอดีตมีการลักลอบตัดไม้สักกันเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ป่าไม้สักเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองแพร่ เพราะเคยเป็นที่ตั้งของบริษัททำไม้บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าของอังกฤษ และบริษัทอีสต์เอเชียติกของเดนมาร์กด้วย นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรงเรียนป่าไม้แพร่ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในเมืองไทย

อาชีพหลักของชาวแพร่นัก โดยสัดส่วนระหว่างการทำนา ทำไร่ยาสูบ และการทำไม้ จะไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งอดีตนั้นการตัดไม้สักจึงถือเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งมีกลุ่มอิทธิพลลักลอบตัดไม้สักด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีขึ้น มันจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่

จากปัญหาการลักลอบตัดไม้ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบติดตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งปัญหาน้ำไหลหลากเข้าท่วมในฤดูฝน โดยหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม ดินถล่ม และความแห้งแล้งผิดปกติในฤดูร้อน ทำให้พืชผลทางการเกษตรลดลง สิ่งต่างเหล่านี้เริ่มทำให้ชาวเมืองแพร่เริ่มตระหนักถึงผลเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งร่วมมือกันพยายามผลิกผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะธุรกิจการทำไม้สักมีความเชื่อมโยงกันหลายฝ่าย ทั้งผู้นายทุนผู้มีอิทธิพล,ข้าราชการบางคน,นักการเมืองท้องถิ่นบางคนที่รู้เห็นร่วมกัน ล้วนแล้วแต่ยึดโยงกันมาอย่างยาวนานทั้งสิ้น

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังมีหมู่บ้านหนึ่งที่สามารถจะยึดผืนป่ามาจากนายทุนผู้มีอิทธิพลกลับคืนมาได้ และใช้เวลาไม่กี่ปีทำให้ป่ากลับมาเขียวขจี กลายเป็น โอเอซีสที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

หมู่บ้านที่ว่านี้คือ บ้านเหล่าเหนือ ต.บ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่ นั่นเอง

ตำนานบ้านเหล่าเหนือ

เดิมชาวบ้านเหล่าเหนืออาศัยอยู่รวมกับชาวบ้านเหล่าใต้ และชาวบ้านกลางหมู่ 5 ต.บ้านกลาง ตั้งแต่ปี 2447 พื้นที่การตั้งบ้านเรือนเป็นที่ราบเชิงเขา เมื่อถึงฤดูฝนน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทุกปี ในปี 2494 นายจั๋นติ๊บ คำฝั้น ผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น จึงพาชาวบ้านบางส่วนอพยพขึ้นมาทางเหนือของหมู่บ้านเดิม มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเหล่าเหนือในปัจจุบัน

เหตุที่เรียกว่าบ้านเหล่าเหนือ เนื่องจากชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ชื่อหมู่บ้านเดิมไว้ นอกจากนี้บ้านเหล่าเหนือยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บ้านสันป่าตา เพราะชาวบ้านพากันอพยพมาจากบ้านเหล่าใต้แล้วมาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่สูงกว่าบ้านเดิมที่พื้นที่ป่าสมัย ตา ยาย

บ้านเหล่าเหนือมีจำนวนครัวเรือน 170 ครัวเรือน มีผู้ชายชาย 254 คน หญิง 256 คน รวมทั้งหมู่บ้าน 510 คน ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ชาติพันธุ์เป็นคนไทยล้านนา ใช้ภาษาคำเมือง สำเนียงคนเมืองสรอง

ชุมชนหลายชุมชนในเมืองแพร่จะผูกพันกับป่าไม้ เช่นเดียวกับชุมชนบ้านเหล่าเหนือชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณป่าห้วยหิน ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2494 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน ปู่ ย่า ตา ยาย ได้แผ้วถางทำไร่ เพาะปลูกเพื่อยังชีพ เก็บหาของป่ามาเลี้ยงครอบครัว ด้วยวิถีที่ผูกพันกับผืนป่ามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ลูกหลานบ้านเหล่าเหนือได้สืบทอดและดำรงวิถีพึ่งพิงป่า อาหารและรายได้จากการหาของป่าทำให้คนบ้านเหล่าเหนือดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน

2529 เงาแห่งหายนะ

เพราะบ้านเหล่าเหนือเป็นพื้นที่อุดมด้วยป่าสัก ดังนั้นจึงเป็นที่หมายปองของนายทุนทำไม้อย่างมาก และในช่วงปี พ.ศ.2529 - 2533 นั่นเอง ก็เริ่มมีนายทุนค้าไม้ทั้งจากในชุมชนเอง และจากภายนอกชุมชน บุกรุกตัดไม้ในเขตป่าห้วยหิน จนทำให้ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม แห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมาก

ปี 2534 บุญยงค์ จิตมณี ผู้ใหญ่บ้านเหล่าเหนือ ได้เชิญคณะกรรมการหมู่บ้าน รวมทั้งชาวบ้านที่เริ่มเดือดร้อนจากการทำมาหากิน มาประชุมหารือเพื่อหาวิธีการจัดการ เนื่องจากเกรงว่าไม้จะหมดป่า ลูกหลานไม่มีต้นไม้ใช้ อีกอย่างหนึ่งความมั่นคงด้านปัจจัยสี่ ของชุมชนเหลือน้อยเต็มที ทางคณะกรรมการจึงตกลงตัดสินใจจะปิดป่า พร้อมทั้งเรียกประชุมชาวบ้านทุกหลังคาเรือน จนมีมติให้ปิดป่าในเขตบ้านเหล่าเหนือทันที

2534 ไม้ซีกงัดไม้ซุง

  ตอนที่พวกเราตัดสินใจปิดป่านั้น เป็นเรื่องใหญ่มากสสำหรับพวกเรา เพราะต้องต่อสู้กับนายทุนและพ่อเลี้ยงช้างที่มีอิทธิพล โดยพวเราบุกเข้าไปในป่าแล้วยึดช้างของนายทุนเอาไว้

นั่นคือคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บุญยงค์ จิตมณีแกนนำคนสำคัญในการรวบรวมชาวบ้านปิดป่า

  “ตั้งแต่ปี 2534-2537  หลังจากที่พวกเราขับไล่กลุ่มนายทุนที่เข้ามาลักลอบตัดไม้ออกไปแล้ว ก็ประกาศเลยห้ามไม่ให้มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อรักษาให้ป่าฟื้นตัว จากนั้นได้ทำหนังสือเวียนไปหากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้านในต.บ้านกลาง และหมู่บ้านในต.บ้านหนุน ได้แก่ บ้านหล่ายห้วย หมู่ 5 บ้านศรีมูลเรือง ,ต.เตาปูน ได้แก่ บ้านปงค่า หมู่ 6 และบ้านแม่ทราย ต.แม่ทราย อ.ร้องกวาง ให้รับทราบถึงจุดมุ่งหมายในการปิดป่าของเรา

ช่วงแรกที่ปิดป่า ได้ปิดบริเวณพื้นที่ทางเข้าป่าฝั่งชุมชนบ้านเหล่าเหนือเอง แต่ทว่าบนสันเขาฝั่งตะวันออกมีแนวเขตติดสันเขาของบ้านแม่ทราย อ.ร้องกวาง ได้มีการลักลอบเข้ามาตัดไม้ในเขตบ้านเหล่าเหนือ เบื้องต้นผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้พยายามสกัดกั้น ออกเดินลาดตระเวน จนมีเรื่องกระทบกระทั่งกับผู้ลักลอบเข้ามาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังมีการลักลอบเข้ามาตัดไม้และใช้ประโยชน์ในช่วงการปิดป่าของชุมชนเหล่าเหนืออย่างต่อเนื่อง

จนยุทธการปิดป่าของบ้านเหล่าเหนือผ่านไป 1 ปี จึงได้หาแนวร่วมชุมชนบ้านหล่ายห้วยซึ่งมีพื้นที่ติดกัน มาร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่ไกรลิต ร่องเตย และชาวบ้านหล่ายห้วยเป็นอย่างดี จากนั้นทั้งสองหมู่บ้านจึงได้ออกลาดตระเวนป่า

เมื่อพบช้างลากไม้ พวกเราจึงทำการยึดโซ่ลากไม้ แล้วนำไปฝากไว้ที่ว่าการอำเภอสอง ในการออกลาดตระเวน ทุกครั้งที่พบผู้ลักลอบตัดไม้จะไม่มีการจับกุม แต่จะขอร้องไม่ให้ข้ามมาในเขตรับผิดชอบของหมู่บ้านเหล่าเหนือและบ้านหล่ายห้วย

ตลอดปี 2534 ชาวบ้านมีการลาดตระเวนกันอย่างหนัก และเพื่อแก้ปัญหาการรุกล้ำเขตพื้นที่ จึงขอความร่วมมือจากนายอำเภอร้องกวาง โดยขอให้นายอำเภอธวัชชัย ฟักอังกูร นายอำเภอสอง เจรจากับนายอำเภอร้องกวาง เรื่องชาวบ้านแม่ทรายที่อยู่ในเขตอ.ร้องกวางลักลอบข้ามเขตพื้นที่บ้านเหล่าเหนือ

และจากการทุ่มเทดูแลผืนป่าอย่างหนักของบ้านเหล่าเหนือตั้งแต่ โดยใช้เวลา3 ปีนับตั้งแต่ปี ปี 2534 จนกระทั่งถึงปี 2536 ป่าก็เริ่มฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

กฎเหล็กชาวบ้านเพื่อป่า

หลังจากทำการปิดป่าและสีเขียวของป่าเริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ชาวบ้านจึงตั้งกฎเหล็กขึ้นมา พร้อมทั้งข้อตกลงของกลุ่มในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยบ้านเหล่าเหนือมีกฎระเบียบเพื่อควบคุมกันใช้ผืนป่าที่น่าสนใจ เช่น

-ห้ามล่าสัตว์ในเขตอภัยทาน คือจุดที่ 4 ของป่าชุมชน หากผู้ใดฝ่าฝืนปรับครั้งละ 10,000 บาทและลงโทษตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า

-ห้ามจุดไฟเผาป่าโดยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ 10,000 บาท

-ห้ามจับนกในเขตป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตัวละ 500 บาท

-ห้ามทิ้งขยะลงในน้ำห้วย หนอง คลองบึง ในเขตบ้านเหล่าเหนือ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ 1,000 บาท

-ห้ามใช้เครื่องไฟฟ้า จับปลาในลำห้วยสาธารณะของหมู่บ้าน ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ 1,000 บาทติดคุก 1 ปี

-ห้ามเผาขยะต่างๆ หรือ ตอซังการเกษตร ในเขตป่าชุมชนและในหมู่บ้าน ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ 5,000 บาท หากมีความจำเป็นให้แจ้งคณะกรรมการรับทราบ

-ห้ามบุกรุกทำลายป่า ในเขตป่าสงวน หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายและยึดพื้นที่นั้นเป็นของชุมชน

-ห้ามลักลอบตัดไม้ หากผู้ใดต้องการไม้สร้างบ้าน หรือใช้สอย ให้แจ้งขออนุญาต ตามกฎระเบียบ หากผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และยึดไม้ของกลาง เป็นสมบัติของหมู่บ้านต่อไป และหากผู้ใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ชุมชนจะไม่อนุญาตให้ตัดไม้มาสร้างบ้าน ทั้งครอบครัว

นี่คือกฎที่ชาวบ้านบ้านเหล่าเหนือจัดตั้งขึ้นมา เพื่อมิให้ป่าไม้ต้องถูกทำลายอีกครั้ง

วันนี้ของบ้านเหล่าเหนือ

เพราะป่าไม้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากจะทำให้น้ำท่าไม้แห้งแล้งแล้ว ป่ายังก่อให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย เนื่องจากทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากพืชผักผลไม้จากป่า ตามฤดูกาล เช่น ผักหวาน เห็ดต่างๆ หน่อไม้ มะไฟ อาหารจากแหล่งน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา

นอกจากนี้แล้วน้ำประปาภูเขาที่ชุมชนจัดทำขึ้น โดยใช้น้ำประปาที่ต่อท่อลงมาจากภูเขา ยังช่วยลดรายจ่ายค่าน้ำ มีน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก พืชผักสวนครัวในบ้าน สวนผลไม้อย่างเพียงพอ ไม่แห้งแล้งเหมือนก่อน

และจากบทเรียนที่ผ่านมา ชาวบ้านเหล่าเหนือ ได้ถ่ายทอดสำนึกต่างๆไปสู่เยาวชนในหมู่บ้าน เพื่อเตรียมรับการสานต่อในการอนุรักษ์ป่าไม้ในอนาคต เมื่อกลุ่มเด็กๆเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็มีการขับเคลื่อนขยายงานอนุรักษ์ไปสู่ชุมชนข้างเคียงหรือองค์กรอื่นๆในชุมชน โดยได้ขยายสู่หมู่บ้านข้างเคียงในต.บ้านกลาง และข้างเคียง ได้แก่ ต.บ้านหนุน ที่มีอาณาเขตป่าติดต่อกัน และได้แนวคิดการปิดป่าจากบ้านเหล่าเหนือ พร้อมทั้งร่วมมือกันดูแลผืนป่าบริเวณแนวเขตติดต่อกับอ.ร้องกวางด้วย

ผลพวงแห่งการต่อสู้

จากวันเวลา21ปีที่ใช้ในการต่อสู่กับกลุ่มนายทุนทำไม้ และสร้างป่าขึ้นมาให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ในวันนี้ชาวบ้านเหล่าเหนือได้แบ่งผืนป่าเป็นจุดๆตามพืชพรรณและสภาพของพื้นที่ดังนี้

จุดที่ 1 ห้วยป้อม พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ เป็นแหล่งอาหาร พืชผักกินได้ มีการปลูกเพิ่มเติม แยกเป็นกลุ่มๆ ได้แก่ ประเภทไม้กินผล ไม้กินยอดและใบ ไม้เลื้อย ประเภทกินหัว พืชน้ำ และหน่อไม้ต่างๆ

จุดที่ 2 ม่อนห้วยช้าง พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ เป็นแหล่งสมุนไพรนานาชนิดที่ขึ้นตามที่ราบ บนเขา ในน้ำ ริมลำห้วยมีทั้งสมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาโรค ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง และอื่นๆตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชุมชนได้สำรวจเก็บตัวอย่างและทำบันทึกข้อมูลไว้แล้วโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้การสนับสนุนทำเป็นรูปเล่ม

จุดที่ 3 ป่าไผ่บงดงเถาวัลย์พื้นที่ประมาณ 260 ไร่ เป็นแหล่งไผ่ตามธรรมชาติหลายชนิด เช่น ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่หก ไผ่เริม ไผ่รอ ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่ข้าวหลาม เป็นป่าใช้สอยของชุมชน

จุดที่ 4. ป่าอภัยทานสัตว์ พื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า พื้นที่เป็นภูเขามีโขดหินผาและถ้ำเหมาะแก่การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า

จุดที่ 5 ปล่องน้ำออกรู เป็นจุดกำเนิดน้ำ ที่ไหลไปตาม ร่อง หลืบ ชั้นหินใต้ดิน ทำให้มีร่องน้ำพื้นผิวดิน และเกิดเป็นจำน้ำ (จุดที่มีน้ำออกจากพื้นดิน บ้างก็เรียกตาน้ำ หรือพุน้ำ) ในบริเวณต่างๆ เช่น จำผง จำผาง จำเตาปูน จำแขวน จำนอกจำใน จุดนี้มีสิ่งที่น่าพิศวง คือ แมลงชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนผิวน้ำ เรียกว่า “แมงอี่เว้า” และจำน้ำเหล่านี้จะไหลออกมาตามห้วยสาขาต่างๆ ลงสู่ลำห้วยใหญ่ แล้วมารวมกันที่ห้วยป้อม เป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทางการจึงได้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดทั้งปี

จุดที่ 6 ผาแอวหรือถ้ำผาพี่ผาน้อง สภาพพื้นที่เป็นหน้าผาและถ้ำ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในวรรณคดีลิลิตพระลอ ดินแดนแห่งนี้เป็นที่พำนักของปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งมีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือถ้ำต่างๆ เช่น ถ้ำปู่เจ้าสมิงพราย ถ้ำพระเพื่อนพระแพง ถ้ำนางรื่นนางโรย ถ้ำนายแก้วนายขวัญ และยังมีถ้ำที่ไม่ได้สำรวจอีกหลายถ้ำในบริเวณเดียวกัน

จุดที่ 7 ม่อนจิกจ้อง สภาพพื้นที่เป็นยอดดอยสูง เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม มีลมพัดตลอดเวลา เป็นป่าไม้เบญจพรรณขนาดไม่สูงนัก เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้สัก ฯลฯ จึงทำให้มีอากาศเย็นตลอดเวลา จนทำให้พื้นดินมีไลเคนหรือมอสขึ้นได้

สำหรับแผนงานในอนาคตของชุมชนบ้านเหล่าเหนือนั้น จะมีการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนเพิ่มเติมในส่วนที่ขยายออกมาจากพื้นที่เดิม จำนวน 1,900 ไร่ และการจัดการไม้ไผ่ซางในป่าชุมชน โดยการบริหารจัดการของชุมชนเอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน มีกติการ่วมกันในการจัดทำ

นอกจากนี้แล้วยังถ่ายทอดความรู้เรื่องสมุนไพรให้กับเยาวชนในชุมชน และจัดทำข้อมูลด้านการอนุรักษ์ ข้อมูลสภาพป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ มูลค่าผลผลิตจากป่า เพื่อเผยแพร่ให้เยาวชนและคนในชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญของป่า และนำข้อมูลไปใช้ในการอนุรักษ์ป่าต่อไป

ซึ่งจากความสำเร็จต่างๆที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในหมุ่บ้านเหลือเหนือ จึงกลายเป็นต้นแบบของหมู่บ้านดีเด่นในด้านอนุรักษ์และการบริหารจัดการป่า จนได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน เมื่อปี 2556 อีกด้วย

……………………

แม้ว่าการต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนป่าของชาวหมู่บ้านเหล่าเหนือ จะเป็นเพียงการต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ แต่ถึงกระนั้นการที่พวกเขาได้ผืนป่าอันอุดมกลับคืนมานั้น กลับยิ่งใหญ่และมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขาอย่างมาก

เพราะที่นั่นมันคือบ้านเกิดและพวกเขาได้ฝากชีวิตลมหายใจไว้ ณ ที่แห่งนี้นั่นเอง