'มิกซ์'แอนด์'เมา'

สารพัดเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ รู้ไหม.. การมิกซ์ “ยาเสพติด” ก็กำลังมาในหมู่โจ๋วัยใสเหมือนกัน

ไม่ใช่ไม่มีใครรู้ และไม่ใช่เรื่องใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องยากับวัยรุ่นอยู่ “ใต้จมูก” ผู้ใหญ่ในสังคมไทยมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หลังรั้วโรงเรียน”

ตั้งแต่ก้นบุหรี่ในห้องน้ำ ค่านิยมความเจ๋งขั้นพื้นฐานของชาวกระโปรงบานขาสั้น หากใครได้มีหรือพกติดตัวเอาไว้ก็สามารถขึ้นแท่น “ตัวแสบ” กลายเป็นที่ “หมายตา” จากบรรดาอาจารย์ฝ่ายปกครอง อาจฟังดูเป็นเรื่องคุ้นเคยทำนองที่ไหนๆ ก็เป็น แต่มุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า นั่นก็เป็นต้นทุนที่เพียงพอแล้วในการก้าวขึ้นไป “เล่นยา” ชนิดต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุกการสื่อสารสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ช่องทางการเข้าถึงโลกอีกด้านของพวกเขาก็ “ง่าย” และ “เร็ว” ขึ้นตามไปด้วย

คลิปการ “เล่นยา” หรือ “อัพยา” โชว์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกบนโลกออนไลน์ พอๆ กับภาพหลุดบรรดา (หน้าเหมือน) คนดัง กำลัง “ฟิน” กับยาชนิดต่างๆ ก็มักถูกสรรหามาเผยแพร่ จนบางครั้งเราลืมไปว่า นั่นคือวิธีการทำตลาดของยาอย่างหนึ่งที่เล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของผู้คนในสังคม

ยาหมองชีวิต

“ผมเสพมาหมดแล้ว... เสพมาทุกอย่าง” ใครได้ฟังประโยคนี้ก็คงไม่เชื่อว่าจะเป็นคำตอบจากปากเด็กชายวัย 15 ปี ที่น่าจะใช้ชีวิตในห้องเรียนกับเพื่อนๆ มากกว่าจะเดินเตร็ดเตร่ไปมาในชุมชนอย่างนี้

ป๋อง (นามสมมติ) ยอมรับว่า ตัวเองรู้สึกคุ้นชินกับชีวิตแบบนี้มาได้พักใหญ่แล้ว นับตั้งแต่ได้ลองเสพยาเมื่อ 5 ปีก่อน แค่อยากลอง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

“ผมลองเล่นเฉยๆ ไปๆ มาๆ ก็ติด ก็เลยซื้อมาเลย... ทุกวัน พอเล่นเป็นแล้วก็ไปชวนเพื่อนๆ มาดูด ดูดทุกวันเลยครับ วันละ 3-4 ตัว” ป๋องเล่า

เขายอมรับว่า แหล่งซื้อหาของนั้นก็ไม่ยากเกินความสามารถคนเล่น โดยเฉพาะย่านชุมชนแออัดใจกลางเมือง มีเงิน 150 บาท ก็หายาได้แล้ว

“พ่อแม่ไม่รู้ครับ”

ป๋องมักใช้เวลาที่พ่อแม่ออกไปทำงานข้างนอกในการเสพ พอไม่ได้เรียนหนังสือก็ยิ่งก้าวถลำลึก

“พอติดก็ไม่อยากไปโรงเรียนครับ มันขี้เกียจ พ่อผมเคยบอกว่า ไว้รออั้นใจยอมเสียเงินก้อนได้เมื่อไหร่ถึงจะยอมให้ไปเรียน เพราะเขากลัวไปเรียนก็เรียนไม่จบ เอาเงินไปทิ้งเปล่าๆ”

พล็อตเรื่องทำนองนี้ไม่ต่างจากนักเสพคนอื่นๆ อย่าง ต้น (นามสมมติ) ก็เหมือนกัน 9 ปีมาแล้วที่เขาได้ทำความคุ้นเคยกับทางสายนี้

หลังจากจบชั้นมัธยมต้น เขาสมัครเรียนต่อที่โรงเรียนพาณิชย์ย่านประตูน้ำ ก่อนจะเข้าไปรวมกลุ่มกับเพื่อน ติดเกมมากกว่าหนังสือเรียน ทำให้ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตนอกห้องเรียนในเวลาต่อมา ต้นทำความรู้จักกับยาจากคำชักชวนของพี่ จึงได้ลองมาเรื่อยๆ จนถูกจับเข้าคุกชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

“เข้าไปปีละครั้ง สองครั้ง” ต้นรู้สึกว่ายิ่งเข้าก็ยิ่งแกร่ง จนความรู้สึกกลัวคุกไม่เหลืออยู่เลย เขาจึงขยับจากคนเล่นมาเป็น “คนขาย” แทน

“บ้านเราก็ไม่ค่อยมีเงิน พอเพื่อนทำ พี่เราทำ เออ กูทำบ้าง เดี๋ยวเดินให้ ก็บวกราคาเพิ่มไป อย่างพี่เราขายอยู่ 150-170 บาทต่อตัว เราก็รับไปขาย 200-220 บาท ก็เก็บเล็กผสมน้อยไป ซื้อมาดูดไป ขายไป บางทีเกเรก็เชิด เอาเงินเขามา ถ้ามีปัญหาก็ไปสั่งสอน พออายุ 18-20 เพื่อนรุ่นเราเริ่มทำเยอะแล้ว เพื่อนแถวๆ ช่องนนทรีก็ติดต่อมา เฮ้ย มึงมาช่วยงานกู ตอนเอามามันถูก ยาบ้าตกตัวละ 110 บาท น้ำแข็ง (ยาไอซ์) ตกทีละ 1,400-1,500 บาท เราก็ขาย”

พอมียา สังคมก็กว้างขึ้น แต่ก็จำกัดอยู่แค่ 3 อย่าง ไม่แว้น ก็เที่ยว หรือไม่ก็ปาร์ตี้ยา

“เงินหมุนเข้ามาเยอะจริงๆ” ต้นยืนยัน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยง ในวังวนของคนที่เกี่ยวพันกับยา มักต้องมีอะไรมาแลกกับมูลค่าเสมอ อย่างเพื่อนของต้น เขาต้องเสียขาดีๆ ไปข้างหนึ่ง ตอนโดนตำรวจบุกบ้าน ไม่มีทางหนีจำเป็นต้องกระโดดลงจากชั้น 2 ของบ้านเพื่อเอาตัวรอด

ผลก็คือ ขาหัก กระดูกแตก ต้องดามเหล็กมาจนถึงทุกวันนี้

ถ้าถามคำถามเดียวกันกับป๋อง ถ้าเป็นไปได้ตัวเขาก็ยังอยากกลับไปเรียนอยู่ แต่มาจนถึงตรงนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่า พรุ่งนี้ของเขานั้น จะยังเหมือนเดิมไหม

ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก เป็นเหตุผลลำดับแรกๆ ที่ทำให้เด็กในวัยนี้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นคล้ายๆ กันสำหรับเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตั้งแต่ปี 2557-2558 พบว่า มีเยาวชนวัยเรียนทั่วประเทศติดยาเสพติดเกือบ 3 แสนคน

...ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งผันตัวจากผู้เสพไปสู่ผู้ค้ารายย่อย

เมาผิดประเภท

“พ่อมันก็ไม่ค่อยว่าง ทำแต่งาน มันอยู่กับฉันเสียใจไม่สามารถดูแลมันได้ดี ตอนนี้รอวันมันถูกจับจะได้เลิกยาเสียที” ผู้ปกครองรายหนึ่งตัดพ้อด้วยความจำยอม และมักเป็นอย่างนั้นเสมอ

หนังชีวิตม้วนแล้วม้วนเล่าที่กลายเป็นวงจรของนักเล่นยาทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่าเป็นอีกระนาบหนึ่งของสังคมที่มีมานาน และยังมีอยู่ทั่วไป ไม่ต่างกับห้องเรียนวันนี้ก็กลายเป็นแหล่งซุกยาชั้นดีไม่ต่างกัน ถ้ายังจำกันได้ คลิปเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนกำลังรุมช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนหญิงที่ตกลงไปในโคลนใต้สะพานภูมิพล ย่านพระราม 3 ซึ่งมีอาการชักจนตัวเกร็ง ถูกนำมาเผยแพร่ในโซลเซียลมีเดีย

นี่เป็นอาการ “เมา” ยาแก้ไอผสมยาแก้ปวด ที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้ยาว่า “ยาโปร” กำลังแพร่หลายในกลุ่มวัยเรียนมาพักใหญ่ๆ แล้ว

“มันคล้ายๆ ยาคลายกล้ามเนื้อค่ะ ช่วยให้นอนหลับ ไม่เครียด” ฝ้าย (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนย่านพระราม 2 เผยประสบการณ์จากตัวยาที่เธอได้ลอง

ส่วนผสมมีไม่มาก ยาแคปซูลสีที่มีขายตามท้องตลาด กับยาแก้ไอ หรือไม่ก็เป็นเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม เพียงเท่านี้ ก็สามารถหลุดเข้าไปอยู่ในโลกอีกใบได้แล้ว

ยาที่ว่านี้ก็คือ โปรเมทาซีน (Promethazine) หรือกลุ่มยาแก้แพ้

“โดยปกติทางราชการจะให้สรรพคุณไว้ในเรื่องของการแก้แพ้ แพ้อากาศ เป็นหวัด น้ำมูกไหล หรือว่า เมารถ เมาเรือ” ประพนธ์ อางตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายสรรพคุณของยาที่ถูกนำไปเป็น “ส่วนประกอบ” ทำให้ “เมา” เพราะฤทธิ์ยานั้นทำให้มีอาการง่วง ซึม ซึ่งหากใช้เกินขนาดก็สามารถทำให้ตัวผู้ใช้นั้น “หลอนประสาท” และเกิดอาการชักตามมาได้

ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญหาก็คือ กลุ่มยาแก้ปวด สำหรับระงับอาการปวดอย่างรุนแรง หรือระดับปานกลาง โดยหากมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ขึ้นมาก็สามารถทำให้ “เมา” ได้ไม่ยากเหมือนกัน

“ก็จะเคลิ้มๆ ฝันๆ แต่ถ้าใช้เยอะๆ ก็เกิดการกดการหายใจ และอาจเสียชีวิตได้” เลขาธิการอย.คนเดิมยืนยัน

นอกจากร้านขายยาทั่วไปที่จะสามารถหาซื้อยากลุ่มดังกล่าวได้แล้ว ทางโลกออนไลน์ก็กลายเป็น “ตำรับยา” อีกแขนงหนึ่งที่มีการเผยแพร่ส่วนผสมเอาไว้เป็นทางเลือกให้สำหรับใครที่สนใจได้ลองไว้มากมาย ตรงนี้ทำให้ยากกับการควบคุมเป็นอย่างยิ่ง

“ยอมรับว่า ตอนนี้ก็มีร้านขายยาจำนวนหนึ่งที่ยังลักลอบขายยาชนิดนี้ แต่ก็ยังไม่ถือเป็นจำนวนมาก อย่าง กรุงเทพมหานครซึ่งมีร้านขายยาอยู่ราวๆ 4 พันกว่าร้าน คิดว่ามีไม่น่าถึง 5 เปอร์เซ็นต์ที่ยังลักลอบขาย แต่ถึงจะมีมากหรือน้อยก็ตามแต่ ก็ยังถือเป็นแหล่งในการแพร่ให้เยาวชนมาซื้อเสพได้” ตรงนี้ก็ถือเป็นความกังวลใจของผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง เพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เหมือนกัน เพราะหากมีการจำกัดการเข้าถึงยาในส่วนนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างเหมือนกัน

“ถ้าจำกัดให้มีจำหน่ายได้แค่สถานพยาบาล ต่อไป คนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าต้องการประเภทนี้ ก็ต้องไปสถานพยาบาล ซึ่งแน่นอยู่แล้ว ก็จะยิ่งแน่นเข้าไปอีก”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยาเสพติดให้โทษ ไม่ว่าจะเป็นยาประเภทไหนก็ยังคงให้โทษตามชื่อของมันอยู่ดี

“แล้วแต่เราอยากกินแรงขนาดไหนก็ใช้ตามปริมาณที่เราต้องการน่ะค่ะ” ฝ้ายอธิบายวิธีใช้ง่ายๆ

 

ร่วมด้วยช่วยแก้

จุดร่วมอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าจะเป็น ป๋อง ต้น หรือ ฝ้ายมองเห็นตรงกันก็คือ สภาพแวดล้อมรอบตัวของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนฝูง และครอบครัว เรื่องนี้ ดร.ปิ่นทอง ใจสุทธิ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “เราเชื่อว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากยาแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มองประโยชน์ของยาในแง่เดียว”

สังคมของวัยรุ่นเป็นสิ่งที่เธอพบเห็นบ่อยที่สุด จากความอยากรู้อยากลองเป็นทุนเดิม นำไปสู่การท้าทาย และแสดงออกในทางที่ผิด ทำให้สุดท้ายทางเดินที่พวกเขาเลือกนั้นก็นำไปสู่ความผิดพลาด ขณะที่ครอบครัวเองก็ไม่ได้มีเวลาเอาใจใส่กับบุตรหลานตนเองมากพอทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย อันถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่นำไปสู่การทดลองยาอย่างน่าเสียดาย

แน่นอนว่า เรื่องนี้ ต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้

“ผู้ปกครองเองควรที่จะสอดส่องดูแลเยาวชนว่า ไม่ควรที่จะไปมีพฤติกรรมในลักษณะทำตามเพื่อนหรือว่าไปมีการใช้ยาในลักษณะที่เป็นการมั่วสุม แล้วเกิดประเด็นปัญหาตามมา เพราะว่าถ้าเกิดปัญหามากๆ เข้า แล้วทางศูนย์ราชการต้องกลับมาทบทวนในเรื่องของการกำกับดูแลยากลุ่มนี้ ถึงขั้นว่าต้องไปขายให้เฉพาะในสถานพยาบาลเองมันอาจจะมีปัญหาว่า ประชาชนทั่วไปที่เขาจำเป็นที่จะต้องใช้ยาตัวนี้ต้องเดือดร้อนไปด้วย” ประพนธ์ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่

เรื่องนี้หากกลับไปที่สถานพยาบาล ความแออัดของผู้คนที่เพิ่มขึ้นก็ยิ่งบั่นทอนประสิทธิภาพการรักษาไปโดยปริยาย ซึ่งหากจำเป็นจริงๆ การกำกับดูแลในแง่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นจำนวนการซื้อไปจำหน่าย หรือกระทั่งการกำกับปริมาณให้กับผู้ซื้อภายในร้านขายยาก็เป็นเพียงทางแก้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

“ถ้าเกิดยังมีความรู้สึกว่า สถานการณ์ยังรุนแรงอยู่ เราก็อาจจะต้องทบทวนมาตรการตรงนี้” นี่คงไม่ใช่คำขู่

ขณะที่คนทำงานปราบปรามอย่าง ป.ป.ส.เอง เพิ่มพงษ์ ระบุชัดเจนว่า ที่เป็นปัญหาจริงๆ และเรื้อรังมานานก็คือยาบ้า กับยาไอซ์ที่ยังมาแรง รวมทั้งผู้เสพหน้าใหม่ที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดที่เพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่

“เราพยายามตัดตอนผู้ค้าด้วยการยึดทรัพย์ ผู้เสพนำเข้าสู่บำบัด ถ้ายอมรับการบำบัดไม่ติดคดี เพราะเชื่อว่าคุกไม่ใช่ทางออก ผู้เสพบำบัดรักษาประมาณแสนกว่ารายแล้วที่เข้าบำบัดโดยสมัครใจ ขณะเดียวกันคนเสพที่ถูกจับกุมก็เกือบแสนรายเหมือนกัน ส่วนผู้ขายมีโทษอยู่แล้วในเรื่องการกระทำผิดหนักเบาตามการกระทำ ปีหนึ่งจะมีการจับกุมนักค้า 7-8 หมื่นราย”

ปัจจุบัน มีชุมชนที่มียาเสพติดแพร่ระบาดกว่า 5 หมื่นชุมชน มากสุดคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีปัญหารุนแรงไม่แพ้กัน เพราะถูกใช้เป็นพื้นที่กระจายยาเสพติดไปยังพื้นที่อื่น

แม้กระทั่งการขีดวงจำกัดกับชนิดยาที่เป็นสารประกอบทางเลขาฯ อย. ก็ยืนยันว่ากำลังดำเนินการอยู่

“ตามกฎกระทรวงการขายยาต้องมีเภสัชกร ยาแก้ปวดร้านขายยา จะต้องซื้อจากผู้ผลิตเดือนหนึ่งไม่เกิน 1,000 แคปซูล ขณะเดียวกันเวลาขายให้กับผู้ที่มาซื้อก็จะต้องขายได้ไม่เกิน 20 แคปซูลต่อครั้ง และเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ห้ามขาย ในส่วนยาแก้แพ้ ร้านขายยาสามารถซื้อจากผู้ผลิตได้ไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือน และเวลาขายให้กับผู้ซื้อต้องขายไม่เกิน 3 ขวดต่อคน” ทางแก้เบื้องต้นเป็นอย่างนั้น

รอยยิ้มเจื่อนๆ ของป๋องน่าจะแทนคำตอบได้ระดับหนึ่ง เมื่อถูกถามถึงการกลับมาใช้ชีวิตใหม่ เหมือนๆ กับฝ้าย และต้น ถ้าเลือกได้พวกเขาก็ไม่ได้อยากเดินบนเส้นทางสายนี้ อย่างไรก็ตาม นี่คือความจริงที่ยังคงมีอยู่ในสังคม พอๆ กับทัศนคติที่ผิดเพี้ยนไปของเด็กรุ่นใหม่ หลายคนมองว่ามันคือความสุขที่พาเขาหลบออกจากความจริงอันโหดร้าย

...ที่สำคัญ นั่นไม่เคยเป็นคำตอบที่ถูกสำหรับเรื่องนี้เลยสักครั้ง