เสน่หา ‘หนานจิง’

อดีตเมืองหลวงของจีนที่มีความเป็นมายาวนาน ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งรอยยิ้มและน้ำตา ที่นี่ยังคงเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์ให้ค้นหา

จัดกระเป๋าเดินทางครั้งนี้ จินตนาการล่วงหน้าได้หลายแบบ เพราะไม่เคยไปเยือนมาก่อน


เป้าหมายการเดินทางของเรา คือ “เมืองหลวงทางใต้” ของจีน หรือที่รู้จักกันในนาม ‘นานจิง’ หรือ ‘หนานจิง’ (Nanjing) นั่นเอง


ตามตัวอักษร ‘หนาน’ หมายถึง ‘ใต้’ ส่วน ‘จิง’ แปลว่า ‘เมืองหลวง’ ชื่อจึงบอกตามตรงว่า ที่นี่(เคย)เป็นเมืองหลวงทางใต้


ในสมัยก่อน ตัวสะกดภาษาอังกฤษของเมืองเขียนว่า Nanking บางครั้งก็เขียนว่า Nanjing แต่ดูเหมือนปัจจุบัน ทางการจีนได้เปลี่ยนมาใช้ Nanjing เป็นการถาวรแล้ว


เรื่องความสับสน ทั้งตัวสะกดภาษาอังกฤษ หรือการออกเสียง มักปรากฏอยู่เสมอๆ ในเนื้อหาที่มีบริบทเกี่ยวข้องกับจีน ยกตัวอย่างง่ายๆ ชื่อเมือง ปักกิ่ง-เป่ยจิง , เซี่ยงไฮ้-ชางไฮ และบ่อยครั้งที่คำเรียกบุคคลในภาษาจีนแต้จิ๋วกับจีนกลาง (แมนดาริน) ก็ออกมาคนละเรื่อง สร้างความปวดหัวให้เป็นอย่างยิ่ง

-1-


พูดถึง หนานจิง คนไทยเราน่าจะคุ้นเคยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมืองหลักอื่นๆ ของจีน


โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ ที่เรานิยมส่งลูกหลานมาเรียนภาษาจีนกัน เพราะ หนานจิง เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ในฐานะเมืองขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างสงบ และสภาพอากาศดีกว่าเมืองอื่นๆ (เปรียบเทียบกับ ปักกิ่ง ที่มักประสบปัญหามลภาวะทางอากาศฟุ้งกระจาย)


เหตุผลอีกประการหนึ่ง ก็คือบรรพบุรุษชาวหนานจิงอพยพมาจากปักกิ่ง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง จึงมีส่วนทำให้ภาษาถิ่นของหนานจิงมีสำเนียงคล้ายคลึงภาษาจีนกลางอยู่มาก และเป็นเหตุให้ปัจจุบัน ที่นี่เป็นหนึ่งในเมืองอันดับต้นๆ ที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด


สำหรับชาวโลก เมืองหลวง 10 แผ่นดินแห่งนี้ กลับเป็นที่รู้จักและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในนาม Nanjing Massacre หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่หนานจิง โดยกองทัพทหารญี่ปุ่น ในช่วงปี 1937-38


นอกจากภาพยนตร์หลายเรื่อง และหนังสือเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่มแล้ว บุคคลที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจหน้าประวัติศาสตร์บทนี้อีกครั้ง ในช่วง 20 ปีหลังมานี้ ก็คือนักเขียนหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายจีน นามว่า ไอริส ชาง (Iris Chang) เจ้าของผลงานหนังสือเบสท์เซลเลอร์ เรื่อง The Rape of Nanking ที่สร้างความเกรียวกราวอย่างมากนั่นเอง


ไอริส เป็นลูกหลานของชาวจีนในเมืองหนานจิง ที่เคยประสบความทุกข์ยากแสนสาหัสจากการกระทำของกองทัพญี่ปุ่นในครั้งนั้น โดยเธอลงมือเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เหยื่อที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แล้วถ่ายทอดความจริงที่เกิดขึ้นให้ผู้อ่านสัมผัสจนเห็นภาพชัดเจน


น่าเสียดายที่ ไอริส ชาง อายุสั้นไปหน่อย ทั้งๆ ที่คนจีนต่างยกย่องเธอมาก จากผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อบรรพชน ถึงขนาดมีประติมากรรมรูปเหมือนของเธอ ในอนุสรณ์สถานการณ์สังหารหมู่หนานจิง แต่ด้วยความเครียดจากการงานที่ทำ จึงทำให้เธอตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง เมื่อปี ค.ศ.2004 ด้วยวัยเพียง 36 ปี


ทริปไป ‘หนานจิง’ คราวนี้ จึงไม่เพียงเป็นโอกาสที่เราจะได้สัมผัสอาณาจักรโบราณและความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมของเมืองแห่งนี้เท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการน้อมคารวะให้แก่วิญญาณของผู้วายชมน์จากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปพร้อมๆ กัน

-2-


จากท่าอากาศยานดอนเมือง ถึงท่าอากาศยานเมืองหนานจิง เราใช้เวลาสบายๆ อยู่บนท้องฟ้าราว 4 ชั่วโมง ด้วยเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 777-200 ของสายการบินนกสกู๊ต


บรรยากาศของการผจญภัยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ค่ำวันแรก เมื่อสภาพแวดล้อมรอบข้างเต็มไปด้วยวัฒนธรรมจีนทุกกระเบียด แน่นอนทีเดียวว่า มันแตกต่างจากไชน่าทาวน์ในเมืองใหญ่ๆ ของโลก ที่มีคนพูดภาษาอังกฤษได้ หรือแม้แต่เยาวราชบ้านเรา


แต่ที่นี่คือ หนานจิง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่เหมือน ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้


ตั้งแต่อาหารค่ำมื้อแรกในจีน ณ ภัตตาคารใกล้สนามบิน เพื่อนร่วมทางบางคนแก้อาการคิดถึงเมืองไทยด้วยน้ำพริกกันแล้ว เรื่อยไปจนถึงสำเนียงภาษาที่แตกต่าง และดูสนุกสนานยิ่งขึ้น ในแบบ Lost in Translation เมื่อความรู้ภาษาอังกฤษแทบใช้ประโยชน์อันใดมิได้ ในพื้นที่หลายๆ แห่งของเมืองนี้


ง่ายๆ ด้วยการถามพนักงานเปิดประตูโรงแรม 5 ดาวที่เราพัก ถึงเส้นทางไปยังร้านสะดวกซื้อ แค่นี้ทั้งฝ่ายก็ต้องใช้ภาษามือกันเป็นระวิง กระทั่งลงเอยด้วยความไม่เข้าใจอยู่ดี


โชคดีหน่อย ตรงร้านขายของชำแบบบ้านๆ หลังโรงแรมที่พัก คนขายประเมินแล้วว่า เราเป็น “ต่างด้าว” แม้หน้าตาจะคล้ายคลึงกัน เขาจึงเลือกเขียนตัวเลขลงบนกระดาษ เพื่อให้เห็นว่าต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายกี่มากน้อย(หยวน)


ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อที่มีสภาพทันสมัยขึ้นมาหน่อย ทันทีที่เธอได้ยินภาษาต่างด้าว คนขายทำหน้าราวกับกำลังเห็นเราเป็น “มนุษย์ต่างดาว” เลยทีเดียว


เจอเข้ากับปฏิกิริยาแบบนี้ ในสายตาของนักเดินทางอย่างเรา มีข้อสรุปในใจว่า อย่างน้อยๆ เมืองนี้ก็ยังมีความสดใหม่ให้ค้นหา และมีความตื่นเต้นรออยู่เบื้องหน้า


ค่ำคืนในฤดูร้อนของหนานจิง แม้อากาศจะอบอ้าว แต่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ผู้คนจากต่างเมืองจึงเดินทางมาท่องเที่ยวกันมากหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นเมืองใหญ่และมีประชากรมาก พอจะอนุมานได้ว่า หนานจิง ดูจะมีความวุ่นวายน้อยกว่า


หนานจิง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความเจริญและความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นตึกสูงเสียดฟ้า สินค้าแบรนด์เนม แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังสะท้อนอัตลักษณ์ของตนเอาไว้ให้ได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็น วัดขงจื้อ สถานที่สำหรับจอหงวนในอดีต , คำร่ำลือของรสชาติเด็ดของ เป็ดน้ำเกลือ , ย่านช็อปชิมอย่าง ซินเจียโข่ว, หรือจะเป็น หนานจิง 1912 บาร์และร้านรวงในตึกเก่าแก่ที่ยังเสมือนมีชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย

-3-


ตามเอกสารระบุว่า หนานจิง แห่งมณฑลเจียงซู เป็น 1 ใน 4 เมืองเก่าแก่ของจีน มีประวัติย้อนหลังไปถึงสมัย 500 ปีก่อนคริสตกาล และเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรจีนในช่วงศตวรรษที่ 3-6


ในปี ค.ศ.1368 จูหยวนจาง สถาปนาเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ต้าหมิง ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อจากเมือง ‘ยิ่งเทียนฝู่’ มาเป็น ‘หนานจิง’ จึงเป็นชื่อที่ใช้มาจากสมัยนั้น


ในระหว่างปี ค.ศ.1927-1949 สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งเมืองหนานจิง เป็นเมืองหลวงอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของการเป็นเมืองหลวง


ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด การมาให้ถึง หนานจิง ก็คือการเดินทางไปเยือนสถานที่สำคัญบนภูเขาจื่อซิงซาน หรือภูเขาม่วงอมทอง อันเป็นเสมือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ โดยเริ่มต้นด้วยเนินเขาทางใต้ อันเป็นที่ตั้งของ สุสาน ดร.ซุนยัดเซ็น (Mausoleum of Dr. Sun Yat-Sen) บุคคลสำคัญซึ่งเป็นเสมือนบิดาของจีนใหม่


สุสานแห่งนี้ สร้างขึ้นหลังจาก ดร.ซุนยัดเซ็น ถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ.1925 โดยท่านได้ปรารภให้ฝังร่างของตนเองไว้ที่เนินเขาแห่งนี้


เนื่องจากสุสาน มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 20 เอเคอร์ โดยมีบันไดหินแกรนิต 392 ขั้น เป็นระยะทางกว่า 700 เมตร เพื่อทอดสู่หออนุสาวรีย์ จึงมีเสียงขู่เล็กน้อยจากผู้นำทริปว่า ต้องเตรียมตัวมาให้พร้อมสำหรับการปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง ทว่า ด้วยสภาพแวดล้อมอันสวยงาม ร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ การมาเยือนสถานที่สำคัญของบุคคลระดับ “รัฐบุรุษ” จึงมีความหมายอย่างยิ่ง นั่นพลอยทำให้ความยากลำบากดูเป็นเรื่องเล็กน้อยลงไป น่าสังเกตว่า ในยุคที่จีนเปิดประเทศเช่นนี้ ชาวจีนทั่วประเทศต่างหันมาตื่นตัวให้ความสนใจกับกิจกรรมท่องเที่ยวและทัศนศึกษามากขึ้น เราจึงได้เห็นคลื่นขบวนทัพของนักท่องเที่ยวมหึมา ชนิดน่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว


เสร็จจากการเยี่ยมคารวะ สุสาน ดร.ซุนยัดเซ็น แวะพักรับประทานอาหารเที่ยงที่ภัตตาคาร Nanjing Impressions ซึ่งควรบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า อาหารร้านนี้ ให้ประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา ทั้งหน้าตาอาหาร รสชาติ และบริการ


ต่อจากนั้น เรามุ่งหน้าสู่ สุสานจักรพรรดิหงอู่ หรือ สุสานหมิงเสี้ยวหลิง ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวขจี เส้นทางสู่ตัวสุสานจะมีรูปสลักหินสัตว์และทหารขนาบข้างตลอดสองข้างทาง อย่างไรก็ดี เมื่อคราวเกิดกบฎไท่ผิง ได้มีการปล้นสะดมภ์จนทรัพย์สินที่มีค่าอันเป็นเสมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้หายไปเกือบหมดสิ้น


จากสุสานหมิงเสี้ยวหลิง ในพื้นที่ใกล้ๆ กันคือ วัดหลิงกู่ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 โดยมี “หออู่เหลียง” เป็นหอไม่มีคาน สร้างด้วยศิลาทั้งหลัง ถัดจากพื้นที่นั้น ยังมี เจดีย์หลิงกู่ เป็นรูปทรงเจดีย์ 9 ชั้น สูง 60.5 เมตร สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1929 เพื่อระลึกถึงเหยื่อสงครามในยุคขุนศึกที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก


ที่เซอร์ไพรส์อย่างแรง เพราะไม่มีการบอกกล่าวมาก่อน คือบริเวณใกล้ๆ กันนั้น ยังมีโบสถ์ที่มีพระอัฐิในส่วนศีรษะของพระถังซัมจั๋งประดิษฐานอยู่ด้วย จึงนับเป็นบุญของผู้มีจิตศรัทธาในการได้นมัสการโดยไม่คาดฝัน !

-4-


โดยธรรมเนียมของการท่องเที่ยว หากไม่เยี่ยมชมความอลังการของธรรมชาติ ก็มักหนีไม่พ้นการไปสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถาปัตยกรรม หรืองานประดิษฐ์ใดก็ตาม ส่วนเรื่องการกินการดื่ม อย่างเช่น ถนนอาหารซื่อจื่อเฉียว ก็น่าจะเป็นองค์ประกอบของการเดินทาง


ถ้าถามความภูมิใจของคนหนานจิง โดยเฉพาะในยุคพัฒนาตัวเองจากประเทศคอมมิวนิสต์ การต้องพึ่งพาตัวเอง แทนที่จะไปพึ่งพิงมิตรเดิมๆ อย่างสหภาพโซเวียด ผลงานที่ยิ่งใหญ่ปรากฏเด่นชัด คงหนีไม่พ้น สะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของจีน


อย่างที่ทราบกันดีว่า แม่น้ำแยงซีเกียงนั้นมีความเชี่ยวกรากมาก ในจีนนั้นมีสะพานข้ามแม่น้ำสายนี้ 3 แห่งด้วยกัน คือที่เมืองอู่ฮั่นและฉงชิ่ว สำหรับที่เมืองหนานจิง นับเป็นสะพานแห่งที่ 3 มีความยาวประมาณ 4.5 กิโลเมตร เป็นสะพานเหล็ก 2 ชั้น สำหรับรถยนต์และรถไฟ โดยในการก่อสร้างสะพาน ต้องใช้แรงงานกว่า 9,000 คน และกินระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี โดยเริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ.1960 แล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1968


เดิมทีนั้น จีนใช้เหล็กกล้าจากรัสเซีย แต่เมื่อมีปัญหากับรัสเซีย จีนต้องออกแบบและหาวิธีทดลองเหล็กกล้าของจีนเป็นเวลาหลายปี ดังนั้น สะพานข้ามแม่น้ำที่นานกิง จึงทำให้จีนได้รับประสบการณ์ที่ล้ำค่า มากพอที่จะบ่งบอกได้ว่า นี่คือความสามารถของจีนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง


จากแม่น้ำแยงซีเกียง หนานจิง ยังมีวิถีชีวิตทางน้ำให้ชมกัน โดยเฉพาะทัศนียภาพยามค่ำคืน ณ จุดลงเรือหน้าวัดขงจื๊อ เพื่อท่องแม่น้ำ ฉิงขวายเหอ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำแยงซีเกียง โดยฉิงขวายมีความยาว 110 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสายในและสายนอก ส่วนที่เป็นสายในนั้น ไหลผ่านเมืองนานกิง ก่อนจะไปบรรจบกับแม่น้ำแยงซีเกียง


สำหรับเส้นทางล่องเรือนั้นมีความยาวราว 4.2 กิโลเมตร โดย 2 ข้างทางมีการประดับไฟ มีการแสดงงิ้ว ดนตรี และการแสดงอื่นๆ เพื่อสื่อเรื่องราวของความเป็นหนานจิง โดยสอดรับกับเสียงบรรยายเป็นภาษาแมนดารินบนเรือ แต่น่าเสียดายว่าไม่มีภาษาอังกฤษแต่อย่างใด


วาบหนึ่งของความคิดปรากฏขึ้นในใจ หรือไปเรียนภาษาจีนดี


บางที นี่คือเสน่ห์อีกประการหนึ่งของ หนานจิง กระมังที่เชิญชวนให้ผู้มาเยือน เกิดความปรารถนาจะสัมผัสให้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้.

....................

การเดินทาง

สายการบินนกสกู๊ต เปิดเส้นทางบินไปยังเมืองนานกิง โดยเริ่มให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2558 เป็นต้นมา ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-200 รองรับผู้โดยสารได้ 415 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 24 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 391 ที่นั่ง ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกประสบการณ์การเดินทางได้ตามที่ต้องการ และจ่ายเฉพาะสิ่งที่ผู้โดยสารเลือก เช่น อาหาร , ตำแหน่งที่นั่ง , การเพิ่มน้ำหนักสัมภาระ และบริการอื่นๆ


ปัจจุบัน สายการบินนกสกู๊ต ยังมีแผนเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - นานกิง (สาธารณรัฐประชาชนจีน) จาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ให้บริการทุกวันจันทร์ ถึง วันเสาร์ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป


สำรองที่นั่งได้ ผ่านเว็บไซต์ www.nokscoot.com หรือ Call Center โทร.0 2021 0000