ผ้ายกเมืองนคร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฟื้นฟูการผลิต ‘ผ้ายกเมืองนคร’ จากที่เคยเป็นเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์
ครั้งหนึ่ง ผ้ายกเมืองนคร มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทย เหลือฐานะเป็นเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฟื้นฟูการผลิต ‘ผ้ายกเมืองนคร’ ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของพัสตราภรณ์สำหรับ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ อีกครั้ง โดยฝีมือช่างทอของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ ศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมัง และ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช
นับเป็นเวลาเกือบสิบปีที่คนไทยได้มีโอกาสชมความวิจิตรตระการตาของการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยระดับชาติที่ได้รับการสืบทอดไว้ ตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยฟื้นฟูการแสดง โขน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนับตั้งแต่พ.ศ.2550 เป็นต้นมา
องค์ประกอบต่างๆ ของ โขนพระราชทาน ล้วนสร้างความประทับใจและความซาบซึ้งในความงดงามของศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นฉาก แสง สี เสียง พัสตราภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตตามจารีตโบราณ รวมถึง ผ้ายก ที่นักแสดงใช้นุ่งตามบทบาทต่างๆ ที่ได้มีความพยายามฟื้นฟูการทอผ้ายกแบบโบราณมาหลายปีโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จนประสบความสำเร็จ
ในการนี้ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า โขนพระราชทาน ระบุว่า
“การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในทุกๆ ปีที่ผ่านมานั้น เราได้รับความร่วมมือจากศูนย์ศิลปาชีพในหลากหลายพื้นที่ในด้านการจัดเตรียมเครื่องแต่งกาย และการจัดทำพัสตราภรณ์ โดยอาศัยฝีมือของชาวบ้านที่เป็นสมาชิก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระราชเสาวณีย์ให้ฟื้นฟูการทอ ‘ผ้ายก’ แบบราชสำนักของนครศรีธรรมราชในอดีต ที่มีการทอสืบทอดกันมาแต่โบราณ และได้สูญหายไปกว่า 100 ปี แต่ยังคงมีต้นแบบให้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และในพระบรมมหาราชวัง โดยได้มีการพัฒนาฝีมือการทอผ้าสมาชิกของ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สามารถทอผ้ายกที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญจากการฝึกฝน และความอดทนสูง จากสมาชิกรวมกว่า 40 ชีวิต ทำให้เราได้ ‘ผ้ายก’ จากฝีมือของชาวบ้านมาใช้ในการแสดงแต่ละปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของมูลนิธิฯ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านแล้ว ยังนับเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผ้ายกแบบโบราณให้คงอยู่สืบไปอีกด้วย”
อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ให้กับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า “ผ้ายก หมายถึงผ้าไหมที่ทอด้วยเทคนิคการยกลวดลายให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น โดยผ้ายกของเมืองนครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะที่เป็นผ้าราชสำนัก ซึ่งทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายด้วยไหมเงิน ไหมทองที่บางเบา และทออย่างประณีต โครงสร้างของการวางลวดลาย อันประกอบด้วย ‘ท้องผ้า’ และ ‘กรวยเชิง’ มีลักษณะแบบราชสำนัก ที่ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงในอดีต เป็นทั้งผ้านุ่งโจงและ นุ่งจีบ รวมทั้งใช้ห่อคัมภีร์ในพุทธศาสนาด้วย”
เนื่องจากกรรมวิธีการทอที่ซับซ้อน ทำให้ ผ้ายกเมืองนคร เกือบจะสูญหายไป แต่ด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ และพระราชทานอาชีพเสริมแก่ราษฏร คือการทอผ้าฝ้าย ปักผ้า สานกระจูด และประดิษฐ์ดอกไม้ เกิดเป็น ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง เมื่อปีพ.ศ.2537 เมื่อได้ทรงทราบว่าผ้ายกเมืองนครฯ ซึ่งมีชื่อเสียงมาแต่อดีตขาดผู้สืบทอด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟู โดยนำกระบวนการทอ ‘ผ้ายกแบบโบราณ’ จากจังหวัดสุรินทร์ ไปฝึกสอนเป็นพื้นความรู้ในการทอ
"ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังและบ้านตรอกแค ซึ่งเริ่มต้นจากการทอผ้าฝ้ายมาสู่การทอผ้าไหม ได้พัฒนาขึ้นจนสามารถทอผ้ายกทองเมืองนครฯ ได้อย่างงดงาม จึงนับเป็นการอนุรักษ์ พร้อมกับการสร้างรายได้แก่ให้เกิดแก่สมาชิกมูลนิธิฯ ชาวนครศรีธรรมราช อันเป็นแหล่งทอผ้ายกของราชสำนักมาแต่โบราณ และสามารถนำผ้ายกที่ผลิตขึ้นใหม่นี้มาใช้เป็นเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน โดยในการแสดงโขนฯ ปี 2557 ที่ผ่านมา ได้มีการใช้ ‘ผ้ายกทอง’ จากศูนย์ศิลปาชีพทั้งสองแห่งจำนวนมากถึง 43 ผืน ทดแทนการสั่งผ้าเข้ามาจากต่างประเทศจากในช่วงปีแรกๆ ของการผลิตโขนพระราชทานได้เป็นอย่างดี” อาจารย์วีรธรรม กล่าว
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน: พรหมาศ ประจำปี 2558 กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไปที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.0 2262 3456 หรือทาง www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 620/ 820/ 1,020 และ 1,520 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 120 บาท หยุดการแสดงทุกวันจันทร์