ฟื้นย่าน สานชีวิต "นางเลิ้ง"

จากเสียงดังอึกทึกสู่ความเงียบงัน วันนี้ตลาดใหม่หรือตลาดนางเลิ้งกำลังจะถูกปลุกให้ตื่นฟื้นจากคำว่า ‘ใกล้ตาย’
“ตลาดนางเลิ้งอาจสูญสลายไปภายใน 10 ปีนี้...” คำกล่าวจากปากคนนางเลิ้งหลายคน เป็นประโยคที่ชวนให้ใจหายไม่น้อย
แม้ธรรมดาของโลก ทุกสิ่งมีเกิดต้องมีดับ มีขึ้นย่อมมีลง แต่ระยะเวลาอีกแค่ 10 ปี เป็นตัวเลขน้อยเกินไปสำหรับตลาดนางเลิ้ง หากลมหายใจเฮือกสุดท้ายนี้ไม่มีใครสานต่อหรือเข้ามาดูแลรักษา ตัวเลขที่หลายคนประเมินอาจเป็นจริง ถึงวันนั้นคงน่าเสียดายที่ตลาดใหม่ (แต่เก่าแก่) แห่งนี้จะถูกลบออกไปจากแผนที่พระนคร
ตลาดใหม่ในวันวาน
ช่วงทศวรรษ 2440 หรือช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครกำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนา พื้นที่ต่างๆ ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการขยายพื้นที่เมือง เมื่อเมืองขยาย ความเจริญต่างๆ จึงหลั่งไหลไปตามแต่ละตารางนิ้ว ย่านธุรกิจการค้าก็เช่นกัน โดยเฉพาะพระนครฝั่งตะวันออกนอกจากจะมีตลาดเก่าอย่างเยาวราชรอท่าอยู่แล้ว ยังมีตลาดบกแห่งใหม่เกิดขึ้นนามว่า ‘ซิงตั๊กลั๊ก’ หรือ ‘ตลาดใหม่’ ต่อมาชาวพระนครเรียกขานว่า ‘ตลาดนางเลิ้ง’
ตลาดนางเลิ้งเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2443 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง ในหนังสือ ‘ตลาดเก่าๆ’ ของเอนก นาวิกมูล ระบุว่าหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับวันที่ 30 มีนาคม ร.ศ.118 หรือพ.ศ.2443 กล่าวถึงการเปิดงานที่ตลาดนางเลิ้งว่าเป็นงานรื่นเริงผู้คนมากมาย แต่ดูว่าคนเที่ยวชมน่าจะมากกว่าคนมาจับจ่ายซื้อของ มีทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ก็พากันไปเที่ยวดูและเล่นการพนันเป็นกลุ่มๆ แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานก็ตาม
ไม่น่าใช่เรื่องธรรมดาหาง่ายนักที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จเปิดตลาด นั่นแสดงว่าตลาดใหม่ (ซิงตั๊กลั๊ก) ต้องมีดี...
ก่อนที่จะมีตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดบกค้าขายอาหารและสิ่งของต่างๆ ในย่านพระนครด้านทิศตะวันออกมีตลาดบกที่เปิดค้าขายอยู่แล้วที่ย่านสำเพ็ง ซึ่งย้ายมาจากบริเวณที่สร้างพระบรมมหาราชวังในครั้งสถาปนากรุงเทพฯ เป็นพระนครหลังแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของพระยาราชาเศรษฐีและบริวารโดยโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชุมชนชาวจีนและตลาดการค้าไปอยู่ที่สวนทางทิศใต้ของพระนคร ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคาฯ) และสร้างชุมชนตลาดค้าขายต่างๆ เช่น ตลาดเก่า, ตลาดสะพานหัน, ตลาดน้อย, ตลาดสำเพ็ง, ตลาดวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) จนกลายเป็นพื้นที่ตลาดบกขนาดใหญ่และแออัดที่สุดของพระนคร
ต่อมามีการตัดเส้นทางสำคัญคือ ‘ถนนสำเพ็ง’ ปัจจุบันคือซอยวานิช 1 ที่เริ่มจากถนนจักรเพชรในฝั่งพระนครข้ามสะพานหันเข้าตรอกหัวเม็ด ผ่านถนนราชวงศ์ออกถนนทรงวาด ผ่านวัดปทุมคงคา ถนนสายนี้กว้างประมาณ 3 เมตร ยาวเกือบ 2 กิโลเมตร รถแล่นผ่านไปมาไม่ได้ ทั้งสองข้างถนนเรียงรายไปด้วยร้านค้าขายของคนจีน มีบ้านเรือน โรงฝิ่น บ่อนการพนัน และโรงหญิงโสเภณีหลายสำนัก จนคำว่า ‘สำเพ็ง’ กลายเป็นคำด่าผู้หญิงประพฤติไม่ดีในยุคนั้น
ส่วนการสร้างย่านการค้าแห่งใหม่ที่เป็นตลาดบกของพระนครในช่วงนั้น เพราะย่านสำเพ็งมีร้านค้าแออัดยัดเยียด ถนนเยาวราชก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ส่วนถนนราชวงศ์และทรงวาดก็เต็มไปด้วยย่านการค้าอยู่แล้ว การขยายเมืองมาทางฝั่งตะวันออกโดยสร้างตึกร้านค้าให้เช่า มีชาวจีนเป็นผู้เช่าแทบทั้งสิ้น จนกลายเป็นย่านการค้าใหม่หรือตลาดใหม่ในที่สุด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2495 และ พ.ศ.2525 ว่า ‘นางเลิ้ง’ และ ‘อีเลิ้ง’ เป็นคำนามหมายเรียกตุ่มหรือโอ่งใหญ่ว่าตุ่มอีเลิ้งหรือนางเลิ้งหรือ ‘โอ่งนครสวรรค์’ ก็เรียกและยังความหมายเป็นนัยถึงใหญ่เทอะทะ ด้วยความที่ตลาดนางเลิ้งเป็นแหล่งค้าหม้อค้าโอ่ง และตุ่มสามโคกหรือ ‘ตุ่มอีเลิ้ง’ ก็เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันที่นั่น จึงเป็นที่มาของชื่อย่านนางเลิ้งหรือตลาดนางเลิ้ง ซึ่งถูกเปลี่ยนจาก ‘อี’ เป็น ‘นาง’ ตามสมัยนิยม
ในนิราศชมพระราชวังดุสิตซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นก่อนการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2453) กล่าวถึงความงามของสวนต่างๆ ในพระราชวังดุสิตแล้วไปเที่ยวงานออกร้านในวัดเบญจมบพิตรฯ เข้ามาทางถนนคอเสื้อหรือถนนพิษณุโลกมาจนถึงสะพานเทวกรรมฯ เมื่อลงสะพานเทวกรรมก็ถึงย่านการค้าใหญ่คือถนนนครสวรรค์ที่มีตึกแถวและตลาดนางเลิ้ง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ริมถนนบริเวณชานพระนครด้านตะวันออก
"...ลงสะพานมาในย่านทางถนน ประชาชนอึงอื้อเขาซื้อขาย
เช่าอยู่ห้องสองชั้นกั้นสบาย ทั้งหญิงชายขายค้าสารพัน
ถึงตลาดนางเลิ้งดูเวิ้งว้าง คณานางน่าชมช่างคมสัน
นั่งร้านรายขายผักน่ารักครัน ห่มสีสันแต่งร่างดังนางใน
พวกจีนไทยในตลาดก็กลาดกลุ้ม ทั้งสาวหนุ่มแซ่อยู่เด็กผู้ใหญ่
นั่งขายของสองข้างหนทางไป ล้วนเข้าใจพ้อตัดซัดชำนาญ..."
วรรคที่ว่า “ตลาดนางเลิ้งดูเวิ้งว้าง..” และมีแผงขายผักเป็นนั่งร้านทั้งสองข้างสอดคล้องกับคำบอกเล่าของ สง่า สัจจะพันธ์ ผู้สูงอายุวัย 90 กว่าปีที่เคยให้สัมภาษณ์ในเอกสารโครงการวิจัยและปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาชุมชนแออัดและองค์กรชุมชนแออัดในเมืองกรณีศึกษาชุมชนนางเลิ้งว่า “ตลาดนางเลิ้งเมื่อก่อนเรียกอีกอย่างว่า ‘ตลาดกางมุ้ง’ เพราะแผงขายเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อสัตว์ต่างๆ จะมีมุ้งกันแมลง นอกจากนี้ตลาดก็แบ่งเป็นส่วนต่างๆ เช่น ขายของสด ขายปลา ขายผัก แบ่งเป็นล็อคๆ ตามประเภท ที่สำคัญคือเวลาซื้อของจะต้องเข้าคิวรอ”
เงียบจริง...ซิงตั๊กลั๊ก
จากความคึกคักในอดีต กาลเวลาค่อยๆ กัดกร่อนบรรยากาศเหล่านั้น แต่ถ้าจะพูดให้ถูก...ฝีมือมนุษย์ต่างหากที่เปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรจนอาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘กลืนกิน’ ของเก่าจนไม่หลงเหลือ ทั้งที่ซิงตั๊กลั๊กเป็นโครงสร้างรูปแบบใหม่ที่ตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางการค้าใหม่ในแถบชุมชนดั้งเดิมที่กำลังขยายตัวในยุคสมัยนั้น และเป็นตลาดบกที่รองรับการตัดถนนและสร้างความเจริญแบบอย่างตลาดบกในต่างประเทศที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส
นอกจากเป็นตลาด นางเลิ้งยังเป็นย่านกิจกรรมของเมืองขนานแท้มาตั้งแต่เริ่มพัฒนาเป็นพื้นที่ตลาด มีการคมนาคม มีรถรางเดินทางสะดวก ตลาดนางเลิ้งจึงไม่ใช่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่เป็นตลาดของเมือง ซึ่งบทบาทแบบนี้ดำเนินมาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงยุคหนึ่ง หลังจากนั้นความ ‘ครึกครึ้น’ ก็กลายเป็น ‘เงียบเชียบ’
โรงภาพยนตร์เฉลิมธานีเป็นสถานที่จัดมหรสพที่อยู่คู่กับตลาดนางเลิ้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ชาวบ้านเรียกติดปากว่า ‘โรงหนังนางเลิ้ง’ เป็นอาคารไม้สองชั้น เปิดฉายครั้งแรกในปี พ.ศ.2461 นอกจากอยู่คู่กันมา โรงหนังนี้ยังเป็นดั่งกระจกสะท้อนความเป็นไปที่เปลี่ยนแปลงของตลาดนางเลิ้งได้ด้วย
สมพงษ์ โชติวรรณ ทายาทเจ้าของโรงภาพยนตร์เฉลิมธานี เล่าว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงหนังไม้แห่งนี้ก็เริ่มกลายเป็นโรงหนังชั้นสอง ฉายหนังราคาถูกกว่าโรงหนังทันสมัยกว่าในขณะนั้น เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาเยือนแต่ตัวตนและความเชี่ยวชาญของสมพงษ์ยังชัดเจน เขาจึงขยับขยายไปเป็นสายหนังภาคตะวันออก พร้อมๆ กับทำสวนที่ระยอง
“คุณพ่อของผมมองเห็นว่าอาชีพทำโรงภาพยนตร์เป็นอาชีพที่ค้าขายเงินสด คือคุณต้องจ่ายเงินสดถึงจะเข้าไปดูหนังได้ ก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่พักหนึ่ง เพราะช่วงนั้นคนดูหนังไม่มากเท่าไร แต่พอมาอีกยุคหนึ่งมันเริ่มเฟื่องฟูขึ้นเพราะเทคโนโลยีภาพยนตร์เริ่มดีขึ้น มีภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามามาก”
...แล้วยุคเฟื่องฟูก็ค่อยๆ เสื่อมลง
นอกจากโรงหนังที่สะท้อนความเป็นไปอยู่ในที ตลาดเองก็ฉายภาพตัวเองชัด เพราะหลายปีจนบัดนี้บรรยากาศการค้าขายในตลาดก็นับได้ว่าซบเซาน่าเศร้าซึม
เจ๊อ้า - รักษมล แซ่เฮ้ง แม่ค้าตลาดนางเลิ้ง บอกว่าแม้เธอจะเป็นคนย่านสะพานพุทธแต่ก็เข้ามาทำมาหากินในตลาดนางเลิ้งเนิ่นนานร่วม 30 ปี
"ที่นางเลิ้งนี่ของเขาดีจริงๆ นะ คือของเขาเป็นแบบแฮนด์เมด ถ้าตลาดอื่นบางทีเขาก็รับของจากที่อื่นมา แต่ที่นี่คือทำเอง ค้าขายสมัยก่อนดีมากเลยนะ ลูกค้าก็เป็นพวกข้าราชการ คนทำงาน คนข้องนอกใกล้ๆ ก็มา สมัยก่อนการค้ามีคนทำน้อย คนก็เลยมุ่งมาที่ตลาดนี้หมด อย่างพวกสนามม้าพวกวัดญวนเนี่ยเขาเป็นลูกค้าเราเลยนะ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องละ เดินเข้าไปซอยวัดญวนหรือหน้าสนามม้าเขามีเปิดเองของเขาแล้ว อย่างลูกค้าฉันนะเขาไปเปิดร้านขายเองเลย
แล้วเมื่อก่อนหน่วยงานแถวนี้เยอะ ธกส.นี่นะ แค่ได้ ธกส.อย่างเดียวก็หรูหราแล้ว คนเขาเยอะมากเลย แต่เดี๋ยวนี้...หมด"
ถามไถ่จึงพบว่าดั้งเดิมธรรมชาติของคนในตลาดนางเลิ้งเป็นกลุ่มคนเดียวกัน ส่วนมากมีเชื้อสายจีน ต่อมาบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่นางเลิ้งค่อนข้างหนาแน่น ทำให้ผู้คนทยอยออกไปอยู่ข้างนอก และวังของเจ้านายต่างๆ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองวังก็กลายเป็นสถานที่ราชการ โรงภาพยนตร์แบบ Stand alone ก็ถึงทางตัน กระทั่งในปีพ.ศ.2536 ก็ถึงคราวปิดฉากโรงภาพยนตร์เฉลิมธานี กลายเป็นพื้นที่เช่าเก็บของ เป็น 75 ปีที่มีทั้งขึ้นและลงของโรงหนังนางเลิ้ง
เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อทางการมีนโยบายย้ายสถานที่ราชการออกไปนอกเมือง อาคารสำนักงานที่เคยอยู่ใกล้เคียงก็ย้ายออกไปเกือบหมด แน่นอนว่าคนก็หลั่งไหลกันออกนอกเมืองไปไม่น้อย เมื่อตลาดขาดผู้คน ความเป็นตลาดย่อมขาดหาย ในระยะเวลาเพียง 20 ปีที่ผ่านมา เจ๊อ้าบอกว่าตลาดนางเลิ้งแทบจะกลายเป็นแค่โรงอาหาร ขายได้เฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ และขายได้แค่สายๆ จนถึงเที่ยงเท่านั้น
ส่วนตลาดสดซึ่งควรเป็นตลาดหลักก็เหลือพื้นที่เพียงหยิบมือ...
แสงสว่างของนางเลิ้ง
หากเขียนเป็นกราฟ ช่วงชีวิตของตลาดนางเลิ้งน่าจะมีหน้าตาเป็นแนวลาดลงเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้เส้นกราฟนั้นยังดิ่งลงๆ อย่างไม่รู้จุดสิ้นสุด ถ้าไม่มีใครช่วยหยุด ระยะเวลา 10 ปีที่คาดการณ์กันไว้อาจมาไวอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าทุกคนช่วยกันไม่แน่ว่ากราฟอาจจะกลับพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดก็ได้
ซึ่งความมืดมิดและเงียบเชียบก็อยู่ในสายตาของคนนางเลิ้งมาตลอด แต่เพียงไม่กี่ปีนี้ที่มีคนเอะใจว่าถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้ลมหายใจเฮืกสุดท้ายต้องหมดไปก่อนวัยอันควร ทำให้มีความพยายามฟื้นตลาดนางเลิ้งอยู่เรื่อยๆ เช่น ในปี พ.ศ.2556 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ปิดซ่อมอาคารตลาดนางเลิ้งทั้งโครงสร้างและรายละเอียดนานกว่า 5 เดือน เมื่อเปิดใหม่บรรยากาศตลาดเดิมกลับหายไปมาก กลายเป็นว่าก้ำกึ่งระหว่างตลาดสดกับตลาดเพื่อการท่องเที่ยว
นอกจาก ‘คนนอก’ ยื่นมือเข้ามาช่วย ‘คนใน’ ก็กำลังจับมือช่วยกันฟื้นฟู ในรูปแบบอาสาทำงานให้ชุมชน เช่น การเสวนาสาธารณะ ‘คนย่านเก่าเมืองกรุงเทพฯ’ ที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดขึ้นเพื่อฉุกคิดให้เข้าใจรากเหง้า ย่านเดิม ผู้คน และลมหายใจปัจจุบันในเมืองหลวง ในหัวข้อ ‘ตลาดนางเลิ้ง ตลาดใหม่ (ซิงตั๊กลั๊ก) ย่านชานพระนคร’ โดยมีคนนางเลิ้งมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การพัฒนา
ป้าเมา - วนาพร บุญญานุวัตร ประธานชุมชนตลาดนางเลิ้งเป็นผู้เช่าอยู่เก่าของเรือนแถวของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่เพิ่งซ่อม-สร้างใหม่เสร็จ เธอเกิดที่นี่และมีความทรงจำอยู่ที่นี่ตั้งแต่รู้ความจนกระทั่งบัดนี้อายุเกือบ 80 ปีแล้ว ป้าเมาเล่าว่าเริ่มมาทำงานให้ชุมชนตอนอายุมากแล้วหลังจากเลิกงานตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งลูกค้าเป็นข้าราชการที่เดี๋ยวนี้ย้ายออกไปหมดแล้ว
ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของโลก หน้าที่ของคนนางเลิ้งอย่างป้าเมาคือยอมรับในความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และคอยรักษาของเดิมที่ควรค่าแก่การมีอยู่
“ป้าก็เป็นคนนางเลิ้งตั้งแต่เกิด ปีนี้ป้าอายุ 77 แล้ว ก็ต้องยึดนางเลิ้งเป็นเรือนตาย เมื่อมีกรรมการรุ่นใหม่ขึ้นมา เราก็พร้อมจะเป็นกองหนุนให้ เพราะเราหัวทันสมัยสู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้แล้ว แต่เราก็จะช่วยทุกอย่างเท่าที่ช่วยได้”
ด้านเจ๊อ้าก็ช่วยเสริมว่าขอแค่ตลาดกลับมาได้สัก 70 เปอร์เซ็นต์แค่นี้ก็พอใจ ตายตาหลับแล้ว
วันนี้แสงสว่างวาบแรกถูกจุดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างที่นำไปสู่ทางออกได้จริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องรอให้เวลา 10 ปีสุดท้ายนับถอยหลังไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครลงมือทำอะไรอย่างคนอ่อนแอที่นอนรอความตาย
'ทำได้' หรือ 'ทำไม่ได้" ไม่สำคัญไปกว่าการที่ชาวตลาดนางเลิ้ง 'ได้ทำ' เพื่อรากเหง้าและที่อยู่ที่ยืนของตัวเอง