หมอชายแดน แสงสุดท้ายคนชายขอบ

หมอชายแดน แสงสุดท้ายคนชายขอบ

"เลือกเกิดไม่ได้ แต่แจ้งเกิดได้" ปฏิบัติการคืนสิทธิและความเป็นธรรมให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยสี่หมอชายแดนตาก

“เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ” กติการะหว่างประเทศ (International Covenant on Civil and Political Rights) ว่าไว้อย่างนั้น และคงตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจาก... เมื่อคนเราเกิดมามีสภาพบุคคลย่อมมีสิทธิจะได้รับสัญชาติจากรัฐ การปฏิเสธไม่ให้สัญชาติแก่บุคคลเท่ากับเป็นการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

หมายเหตุประเทศไทย

แววตาใสๆ ของ “แอะดา” มองมาที่คนแปลกหน้าหลายคนที่เข้ามาในหมู่บ้านห้วยปลากอง อ.แม่ระมาด จ.ตาก เธอคงไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพูดคุยกันถึงเรื่องของเธอ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่กลายเป็นเด็กไร้รัฐ (คนที่ไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร์) เพราะไม่ได้แจ้งเกิด แม้ว่าจะลืมตาดูโลกในหมู่บ้านชายแดนประเทศไทยนี่เอง

ชะตากรรมของแอะดา เหมือนฉายภาพซ้ำเรื่องราวของเด็กๆ อีกมากมายที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล ไม่ว่าจะมีพ่อแม่เป็นไทย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม หรือเป็นคนต่างด้าว ด้วยเหตุแห่งความยากลำบากในการเดินทาง ในการเข้าถึงบริการของรัฐ และความบกพร่องในการทำเอกสาร ทุกวันนี้จึงมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่ในประเทศไทยหลายล้านคนและกลายเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ยังแก้ไม่ตก

และเพราะสัญชาติพ่วงมาพร้อมกับคำว่า “สิทธิ” และ“โอกาส” คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าสิ่งที่แอะดาต้องเผชิญหลังจากนี้ คือการไม่มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต และแม้จะมีแสงสว่างเล็กๆ เปิดไว้สำหรับเรื่องการศึกษา แต่สุดท้ายเธออาจต้องพบกลับความผิดหวังเหมือนรุ่นพี่ๆ ที่มีประสบการณ์มาก่อน

พิชิต (ไม่มีนามสกุล) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก เขาเกิดในประเทศไทยแต่ยังไร้สัญชาติเพราะอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ แม้จะเก่งทั้งการเรียนและกีฬา แต่เส้นทางชีวิตกลับติดๆ ขัดๆ จากความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ

“ผมเคยสมัครเข้าโรงเรียนกีฬาที่ลำปาง ทุกอย่างผ่าน ทดสอบสมรรถภาพ ผลงานด้านกีฬา แต่สัญชาติไม่ผ่าน มันเหมือนถูกทำลายความฝัน อนาคตไม่รู้จะเป็นอย่างไร”

คำถามนี้ พรชนก หรือ เนาะดา (ไม่มีนามสกุล) รู้คำตอบเป็นอย่างดี เธอเป็นเด็กสาวไร้สัญชาติที่ฝ่าฝันข้อจำกัดต่างๆ จนเรียนจบปริญญาตรีมาได้ แต่ด้วยความที่ไม่มีสัญชาติไทย โอกาสจึงเท่ากับศูนย์สำหรับงานในตำแหน่งที่เหมาะสม

“หนูคิดมาตลอดว่าเป็นคนไทย เพราะเราเกิดในไทย ตอนเป็นเด็กก็ยังไม่รู้ว่าเราต่างจากคนอื่นๆ แต่พออายุ 15 ปีเพื่อนเขาต้องไปทำบัตร เราก็เอ...ทำไมเราไม่ได้ทำบัตร ก็ไปถามพ่อแม่ ทีนี้พอรู้ปัญหาก็เลยแบบพยายามเรียนให้สูงที่สุด ตอนเรียนก็ถูกเพื่อนล้อเหมือนกัน แต่ว่าไม่ท้อ เรียนจนจบปริญญาตรีก็ได้ปริญญาบัตรตามปกติ แต่ไม่สามารถทำงานตามวุฒิได้ คือเหมือนเขาขีดเส้นว่าคนที่จะทำงานนี้ต้องสัญชาติไทยเท่านั้น พอหนูไม่มีสัญชาติก็คือหมดสิทธิ ถึงจะเก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถทำงานได้”

นี่ไม่ใช่ความโชคร้าย แต่เป็นเเหตุจากความผิดพลาดของการรับรองสถานะบุคคล ซึ่งเนาะดาถือเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับโอกาสให้มีที่ยืนในสังคม เมื่อเธอได้รับการชักชวนให้มาทำงานในคลินิคกฎหมายโรงพยาบาลแม่ระมาด โครงการสี่หมอชายแดนตาก ช่วยเหลือคนที่มีปัญหาสัญชาติให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยหน้าที่หลักๆ คือการดำเนินการแจ้งเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ซึ่งเธอว่า...นอกจากจะเป็นการเยียวยาตัวเองแล้ว ยังได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชะตากรรม ด้วยความหวังว่าอนาคตจะไม่มีเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติอีกต่อไป

รักษาสิทธิ พันธกิจหมอ

แม้ว่าการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติจะเดินทางมาไกลหลายทศวรรษ ความก้าวหน้าของกฎหมายและการรับรู้ของผู้คนจะดีขึ้นตามลำดับ แต่คนที่ตกอยู่ในวังวนนี้ยังคงมีอยู่ไม่น้อยและในเงื่อนไขที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวนอกจากจะเป็นโจทย์ใหญ่ของนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังสร้างความหนักใจให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือคุณหมอที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชายแดน 

221 กิโลเมตรจากอำเภอเมือง นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ย้อนถึงที่มาของวงจรการไร้รัฐไร้สัญชาติว่า เริ่มตั้งแต่สมัยที่มีการขีดเส้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

“เส้นแบ่งนี้มันไปผ่ากลางถิ่นที่อยู่อาศัยของคนที่เรียกตัวเองว่าปกาเกอะญอ แต่คนไทยจะเรียกว่ากะเหรี่ยง ชาวบ้านกะเหรี่ยงถูกแบ่งออกเป็นสองฟากชัดเจน ซึ่งคนที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยงแต่อยู่ฝั่งเมียนมาร์ เขาน่าจะได้สัญชาติเมียนมาร์ใช่มั้ยครับ ทีนี้ชาวบ้านที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยงแต่อยู่ฝั่งไทยก็น่าจะมีสัญชาติไทยใช่มั้ยครับ แต่ชาวบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ชายขอบอยู่ชายแดน เพราะเส้นที่ขีดแบ่งมันมักจะอยู่ในเขตป่าเขาซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือเขตทุรกันดารในปัจจุบันของประเทศ ไทย แล้วเขาก็คลอดลูกเองที่บ้าน ไม่ได้มาที่อำเภอ ไม่ได้แจ้งเกิด ไม่ได้ทำบัตรประชาชน แล้วก็เป็นอย่างนี้ค้างอยู่เต็มไปหมด”

เมื่อพ่อแม่ไร้เอกสาร ลูกหลานก็ไร้รัฐไร้สัญชาติ ทว่าปัญหาเริ่มมาส่งผลกระทบโดยตรงกับโรงพยาบาลเมื่อประมาณปีพ.ศ.2544 หลังจากรัฐบาลเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้สิทธิเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย

“เขานับเฉพาะคนที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของไทย ซึ่งแถวนี้มีชาวบ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ในเขตประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่มีสัญชาติไม่มีเอกสารเต็มไปหมด แล้วไม่ใช่อำเภออุ้มผางที่เดียว คงจะมีอำเภออื่นในประเทศไทยด้วย แต่จังหวัดตากอาจจะเยอะหน่อยก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน มีคนอยู่จริงเยอะกว่า แล้วมีโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเราต้องให้บริการจริง เพราะทางการแพทย์มันเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ใครมาขอรับบริการหรือมีโรคที่แพร่กระจาย ระบาดสู่คนอื่นได้ แล้วอันตรายถึงชีวิต เราก็ต้องรีบไปกำจัด รีบไปช่วยเหลือ การให้งบมาตามหัวในทะเบียนราษฎร์ มันขัดกับการทำงานทางการแพทย์ มันไปด้วยกันไม่ได้”

ความจำกัดจำเขี่ยเรื่องงบประมาณที่สวนทางกับความทุกข์ยากของผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลเริ่มติดลบและเป็นจุดเริ่มต้นให้แพทย์ชนบทดีเด่นท่านนี้ มองหาแนวทางที่ได้ผลมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งสมการง่ายๆ ที่น่าจะเป็นทางออกในเวลานั้นคือ เพิ่มจำนวนคนสัญชาติไทย เพื่อเพิ่มเงินช่วยเหลือให้โรงพยาบาล

“ตอนแรกผมหวังเพียงแค่ว่าถ้าคนได้มีสัญชาติไทยตามที่เขาควรจะได้ เราจะได้เงินมาตามระบบ แต่มากกว่านั้นมันคือการคืนความเป็นธรรมให้เขา”

คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผางจึงเกิดขึ้นเป็นแห่งแรก โดยมี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา และได้ส่งนักกฎหมายมาให้ความช่วยเหลือเรื่องการพิสูจน์สถานะบุคคล ตลอดจนดูแลกระบวนการแจ้งเกิดครบขั้นตอน 

“ผมมองว่าคนที่ตกทุกข์ ไม่ใช่จากการไม่ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างเดียว แต่มีอย่างอื่นด้วย ทั้งเรื่องการศึกษา การเดินทาง สิทธิมนุษยชนอะไรเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นควรช่วยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติที่เขาเป็น ถ้าพิสูจน์ได้ตามกระบวนการตามกฎหมายก็ไปพิสูจน์ว่าเขาควรจะมีสัญชาติอะไร เพราะจะว่าไปแล้วคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่เมืองไทยมาก่อนเราอีก บรรพบุรุษผมเพิ่งมาเมื่อประมาณ 50-60 ปี แต่เขาอยู่มาตั้งหลายร้อยปีแล้ว ผมอยู่มาทีหลังเขาอีก เขายังไม่ได้สัญชาติไทยเลย ผมได้แล้ว”

ดังนั้น มากกว่าหน้าที่ในรักษาโรค คุณหมอจึงเต็มใจรักษาสิทธิให้คนกลุ่มนี้ บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ว่าโรงพยาบาลถือเป็นส่วนราชการขนาดใหญ่ที่มีอยู่ทุกอำเภอ ควรทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือและให้บริการชาวบ้าน ซึ่งต่อมาได้ขยายเครือข่ายออกไปยังโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลท่าสองยาง และโรงพยาบาลพบพระ ภายใต้ชื่อ “โครงการสี่หมอชายแดนตาก”

“ในพื้นที่ของเราชาวบ้านที่ยากจนด้อยโอกาสเยอะ เข้าไม่ถึงสิทธิหลายๆ อย่าง เข้าไม่ถึงงานสาธารณสุขก็เรื่องนึง แต่เข้าไม่ถึงสิทธิทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึงสิทธิอย่างอื่นอีกเยอะแยะ ถ้าโรงพยาบาลช่วยได้มันจะช่วยชาวบ้านได้มาก มันเหมือนกับตอนนี้ถ้าเรานั่งเฉยๆ แล้วเอื้อมมือไปธรรมดาก็คงไม่ถึง แต่ถ้าเราออกแรงโน้มตัวไปอีกหน่อย แล้วเอื้อมถึงได้เราก็ยินดี คือเพิ่มความพยายามเข้าไปอีกนิดเดียว มันสามารถช่วยชาวบ้านในมิติอื่นได้ ไม่ใช่แค่งานด้านการแพทย์หรือสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นด้านกฎหมายด้วย”

ห้องคลอดปลอดเด็กไร้รัฐ

เด็กน้อยหลับตาพริ้มในอ้อมอกของผู้เป็นแม่ เธอมีชื่อตามสูติบัตรว่า ด.ญ.อาทิตย์ เกิดวันที่ 6 กันยายน 2558 ที่โรงพยาบาลแม่ระมาด พ่อแม่เป็นแรงงานต่างด้าวถือบัตรเลข 00

“เคสนี้เราแจ้งเกิดให้เขา สิทธิของเขาก็เป็นสัญชาติพม่า เขาสามารถเอาสูติบัตรนี้ไปเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์ของพม่าได้” ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายโครงการสี่หมอชายแดนตาก ประจำคลินิกกฎหมายโรงพยาบาลแม่ระมาดและท่าสองยาง ให้ข้อมูลหลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารให้กับเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลเรียบร้อยตามขั้นตอน

สำหรับคนทั่วไป การแจ้งเกิดดูจะเป็นขั้นตอนธรรมดาสามัญที่ไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่กับเด็กแรกเกิดในจังหวัดชายแดนเหล่านี้ หลายคนยังคลอดที่บ้านโดยใช้บริการหมอตำแยและไม่ได้แจ้งเกิด ส่วนที่เกิดในโรงพยาบาลก็มีไม่น้อยที่ไม่ได้เดินทางไปขอสูติบัตร ทำให้ตกหล่นกลายเป็นคนไร้รัฐ และเป็นอุปสรรคสำคัญในการพิสูจน์สัญชาติในภายหลัง

"พอมาทำคลินิคกฎหมายเราเริ่มเห็นว่าทำไมเขาถึงไม่มีสัญชาติ ส่วนหนึ่งที่สำคัญเลยคือเรื่องของกระบวนการเกิด ไม่ได้รับการแจ้งเกิด ไม่ได้สูติบัตร แล้วแต่ละวันแต่ละเดือนก็จะมีคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเรามองว่าการไปแก้ปัญหาตอนเขาโตแล้วเป็นรายๆ คงไม่ทันการณ์ ถ้ามองตั้งแต่ต้นทางน่าจะช่วยได้ เพราะพอเราไปดูข้อมูลย้อนหลังพบว่าเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลที่พ่อแม่ไม่ใช่สัญชาติไทยจำนวนมาก 70-80% ไม่ได้แจ้งเกิด อันนี้ก็สะท้อนว่าขนาดเกิดในโรงพยาบาลนะยังไม่ได้สูติบัตร ไม่ได้แจ้งเกิด ซึ่งแน่นอนมันก็เป็นต้นทางนำไปสู่เรื่องของการไร้สัญชาติ แล้วเรายังพบว่าพื้นที่เรามีประมาณครึ่งหนึ่งที่คลอดที่บ้าน ซึ่งอัตราการแจ้งเกิดน่าจะศูนย์เลย

เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเนื้องานหลักอันแรกที่เรามองว่ามันจะช่วย แล้วก็เป็นคอนเซ็ปต์ของงานด้านสุขภาพด้วย เพราะเรามักจะบอกว่าส่งเสริมป้องกันดีกว่าไปรักษา ตรงนี้ถ้าเราสามารถทำได้มันก็จะป้องกันเรื่องของความไร้รัฐหรือว่าในอนาคตถ้าเขาจะมีสิทธิในสัญชาติ ปัญหาต่างๆ ก็จะลด” นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด เล่าถึงแนวคิด"ห้องคลอดปลอดเด็กไร้รัฐ"

ทั้งนี้ตามขั้นตอนปกติ โรงพยาบาลในฐานะเจ้าบ้านจะออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในโรงพยาบาลอยู่แล้ว จากนั้นพ่อหรือแม่ก็นำเอกสารนี้ไปที่อำเภอเพื่อขอออกสูติบัตร ซึ่งก็คือการจดทะเบียนการเกิดตามกฎหมาย

“แต่จากการที่เรามาเปิดดูข้อมูลย้อนหลังพบว่ากระบวนการนี้มันไม่ได้เกิดขึ้น คือเราออกเป็นกระดาษให้เขาก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิดจำนวนมาก แล้วมันจะเกิดกับกลุ่มที่พ่อแม่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือเป็นคนต่างด้าว เราก็มาดูว่าทำไมเป็นอย่างนั้น พบว่ามีหลายสาเหตุนะ ตั้งแต่เขาไม่เข้าใจความสำคัญของการไปแจ้งเกิด เขามีปัญหาที่จะเดินทางไปอำเภอ มีปัญหาในการสื่อสาร บางคนก็อยู่ในฐานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีความกลัว ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิตัวเองด้วยว่าถึงแม้เป็นคนต่างด้าวมีลูกก็มีสิทธิที่จะได้สูติบัตร เพราะฉะนั้นพอเรารู้ว่ากลุ่มไหนเสี่ยงด้วยเหตุผลอะไร ก็เลยเซ็ตระบบว่าถ้างั้นเราจะช่วยโดยเน้นกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มที่มีสัญชาติไทยอยู่แล้วไม่ค่อยมีปัญหา”

งานไม่ยากแต่สำคัญนี้ คุณหมอมอบหมายให้บัณฑิตไร้สัญชาติอย่างเนาะดา รับผิดชอบในฐานะผู้ช่วยคลินิกกฎหมายโรงพยาบาลแม่ระมาด ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เริ่มต้นเมื่อห้องคลอดแจ้งว่ามีเด็กเกิดใหม่ เนาะดาจะทำหน้าที่ซักประวัติและบันทึกข้อมูลที่จำเป็น รวมทั้งรวบรวมเอกสาร(เท่าที่มี)ของพ่อแม่เด็ก จากนั้นจึงดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิด ก่อนจะพาไปแจ้งเกิดที่อำเภอซึ่งหากพ่อแม่เด็กไม่สะดวก เนาะดาก็จะดำเนินการแทนจนได้สูติบัตร

“แรกๆ ก็มีปัญหาบ้าง หนูเคยไปแจ้งเกิดให้ลูกของคนต่างด้าว ปลัดอำเภอคนเก่าบอกว่ามาแจ้งเกิดเขาจะแจ้งจับเลยนะ ฐานนำพาคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็กลัวเหมือนกัน กลับมาบอกพี่ที่เป็นนักกฎหมายของโครงการ เขาก็ไปอธิบาย ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว”

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา มีเด็กที่เกิดในห้องคลอดโรงพยาบาลแม่ระมาดได้รับการแจ้งเกิดไปแล้วนับร้อยราย หรือเกือบร้อยเปอร์เซนต์ และทั้งหมดอยู่ในระบบประกันสุขภาพตามสิทธิที่พึงมี

"เมื่อเขามีการลงทะเบียนตัวบุคคลก็ถือว่าไม่ไร้รัฐละ แต่ว่าเราจะทำต่อ พอได้สูติบัตรกลับมา เรามีหน่วยงานภายในที่ดูเรื่องหลักประกันสุขภาพให้ เพราะอยากให้เด็กที่เกิดมามีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีอยู่ 3 ช่องทางคือ 1 ถ้าพ่อแม่เป็นคนไทย ลูกได้สัญชาติไทยอยู่แล้ว เราก็แค่ขึ้นทะเบียน คือคีย์ข้อมูลไปที่ฐานข้อมูลของสปสช.ว่า เด็กคนนี้เกิดแล้ว เขาก็จะได้หลักประกันตามบัตรทอง ถ้าเป็นกลุ่มที่ 2 คือคนที่มีเลข 13 หลัก แต่ไม่ใช่สัญชาติไทย เข้าเงื่อนไขผู้มีปัญหาสถานะสิทธิ เราก็ทำคล้ายๆ กันแต่ข้อมูลจะไปที่อีกหน่วยงานหนึ่ง เขาก็จะได้ขึ้นทะเบียนและได้หลักประกัน ส่วนกลุ่มที่ 3 คือไม่ใช่ไทย ไม่ใช่ผู้มีปัญหาสถานะสิทธิ ทางกระทรวงก็มีช่องทางว่า เด็กสามารถซื้อหลักประกันสุขภาพในราคา 365 บาทต่อปีได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ซื้อได้ หรือถ้าซื้อไม่ได้จริงๆ เราก็มีกองทุนที่จะช่วยซื้อแทนให้"

กระบวนการนี้นอกจากจะทำให้เด็กที่คลอดในโรงพยาบาลได้สูติบัตรทุกคนแล้ว ยังได้หลักประกันสุขภาพตามสิทธิ 

"อันนี้จะมีประโยชน์กับเด็กเวลาเจ็บป่วย มีประโยชน์กับพ่อแม่ที่ไม่ต้องรับภาระ และมีประโยชน์กับโรงพยาบาลเวลารักษาสามารถจะเคลมอะไรต่างๆ ได้ แล้วก็จะเป็นต้นทางของการมีสัญชาติในบางคนด้วย เพราะว่าพอมีการจดทะเบียนการเกิดมันก็ถูกนับหนึ่งแล้ว วันข้างหน้าเขาจะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิของประเทศต้นทางได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในสัญชาติไทยหรือต่างประเทศ" นพ.จิรพงศ์ กล่าว และว่าทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้คำมั่นที่สี่โรงพยาบาลชายแดนตากมีข้อตกลงร่วมกันว่า

“ห้องคลอดของเราจะต้องปลอดเด็กไร้รัฐ และปลอดเด็กไร้หลักประกันสุขภาพ”

 

คืนสิทธิคืนความเป็นธรรม

ดูเหมือนความตั้งใจที่จะทำให้ห้องคลอดปลอดเด็กไร้รัฐจะไม่ใช่เรื่องเกินฝันอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในสี่โรงพยาบาลที่มีมนุษยธรรมเป็นยาขนานเอก ทว่าคุณหมอชายแดนยังไม่หยุดแค่นั้น ก้าวต่อไปคือความพยายามผลักดันให้มีการขยายบทบาทของโรงพยาบาลในการรับรองการเกิดให้กับเด็กที่คลอดที่บ้าน โดยมีเงื่อนไขว่าหากมีการฝากท้องและอยู่ในความดูแลของแพทย์ ให้โรงพยาบาลสามารถออกหลักฐานสำหรับนำไปแจ้งเกิดได้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดจำนวนเด็กไร้รัฐให้ได้มากที่สุด

“เดิมทีเดียวมันถูกตีความว่าการที่ไม่ได้คลอดในโรงพยาบาล โรงพยาบาลไม่มีสิทธิออกหนังสือรับรองการเกิด เป็นเรื่องของเขาที่ต้องไปแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านและทางอำเภอเอง ซึ่งก็จะมีอุปสรรคบ้าง เพราะที่นี่การอยู่มันกระจัดกระจาย  ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่บ้านจะรู้จักลูกบ้านตัวเองทุกคน ยิ่งเป็นคนไร้สัญชาติไร้รัฐอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นพอเกิดที่บ้านเขาก็ไม่ได้หนังสือรับรองการเกิด ไม่ได้แจ้งเกิด เรื่องนี้เราสะท้อนปัญหาให้ทางกระทรวงให้ท่านอดีตรมต.ทราบ แล้วก็มีเวทีที่คุยกับทางมหาดไทย กรมการปกครอง เราก็พยายามอธิบายให้เห็นภาพว่า ความรับผิดชอบของโรงพยาบาล มันไม่ได้อยู่แค่ในรั้วของโรงพยาบาล คนที่เกิดที่บ้านเราก็ไปดูแล หลายรายเราดูแลเขาตั้งแต่ฝากท้อง เพราะฉะนั้นถึงแม้เขาจะเกิดที่บ้าน แต่กระบวนการตั้งแต่การตั้งครรภ์ การฝากท้อง มันอยู่ในการดูแลของเรา ล่าสุดทางกรมการปกครองก็มีหนังสือมาว่าเราสามารถออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับคนที่อยู่ในความดูแลของเราได้ ไม่ได้ขีดแค่รั้วโรงพยาบาล" นพ.จิรพงษ์ บอกว่าตรงนี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่ไม่ได้คลอดในโรงพยาบาลมีหลักฐานนำไปแจ้งเกิดได้

ทว่า ท่ามกลางความหวังย่อมมีอุปสรรค แทรกมากับเสียงชื่นชมคือความกังวลของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งบรรดาคุณหมอชายแดนเหล่านี้ไม่ได้มองข้ามและพยายามทำความเข้าใจกับสังคมว่า กระบวนการทั้งหมดไม่ใช่การเปิดช่องเพื่อให้สัญชาติไทยกับคนที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย แต่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และคืนความเป็นธรรมให้กับคนที่เสียสิทธิ

"คือการที่เราทำตรงนี้ก็เป็นเพียงแต่ว่ามีการจดทะเบียนการเกิด แปลว่าเด็กคนนี้ได้ถูกรับรู้แล้วว่าเกิดในโลก ในโรงพยาบาลของเรา ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ 

เพื่อที่จะตอบข้อกังวลของคนทั่วไปที่กำลังคิดว่าเรากำลังทำให้คนพม่ามาได้สัญชาติไทย มันเป็นคนละเรื่องกัน เรากำลังทำให้เขา หนึ่ง ถูกรับรู้ว่าเป็นมนุษย์ สอง คือมันจะเป็นหลักฐานต่อไปที่เขาจะได้สัญชาติที่เขาควรได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่สัญชาติไทย เป็นสัญชาติไหนก็แล้วแต่"

ในความเห็นของ นพ.จิรพงศ์ นี่คือความรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่จะต้อง่ไม่สร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับสังคม “เดิมทีเดียวเหมือนกับว่าเราเป็นต้นเหตุ เมื่อก่อนเราทำตรงนี้น้อยเกินไป ก็เลยคล้ายๆ ว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีคนไร้รัฐเต็มอำเภอ”

ขณะที่ นพ.วรวิทย์ แห่งโรงพยาบาลอุ้มผาง เสนอให้มองมุมกลับว่า “คนเหล่านี้ไม่ใช่ภาระที่เราไปหามาเพิ่ม แต่เป็นภาระที่เรามีอยู่แล้วแต่เราไม่ได้ทำ เราต้องไปทำสิ่งที่เราต้องทำแต่ยังไม่ได้ทำ และมันเป็นความเป็นธรรมที่เขาจะต้องได้ เพราะเขาดำรงชีวิตอยู่ในแผ่นดินนี้ที่เรียกว่าประเทศไทยมานมนานหลายร้อยปีแล้ว

สุดท้ายขอเพียงเปิดใจ ศิวนุชบอกว่าเราจะเห็นข้อดีอย่างชัดเจน ประการแรกคือ เป็นการป้องกันปัญหาที่จะสะสมและซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต"คือทันทีที่เด็กมีสูติบัตรมันพิสูจน์เลยว่า เด็กคนนี้ชื่ออะไร พ่อเป็นใคร แม่เป็นใคร เกิดที่ไหน มันก็จะไม่มีการมาโต้แย้งแล้วว่า ผมน่ะเกิดในประเทศไทยนะแต่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย”

อีกประการหนึ่ง ซึ่งน่าจะตรงใจใครหลายคนนั่นคือการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น “หมายความว่าทันทีที่เขาเข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎร์ตั้งแต่ตอนนี้เขาจะถูกระบุตัวตน แล้ว อนาคตเรื่องการซื้อบัตรขายบัตรจะหายไป ที่เราเคยได้ยินว่าบัตรเลข 0 สามพันห้าพันมันก็จะลดลง คนที่จะกลายเป็นคนสัญชาติไทยมันก็จะพิสูจน์สิทธิได้ คนที่จะไปพิสูจน์สัญชาติประเทศต้นทางที่ไม่ใช่สัญชาติไทยก็ทำได้” 

ในอนาคตอันใกล้นี่อาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับการแก้ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยืดเยื้อยาวนาน และเป็นแสงแห่งความหวังของคนชายขอบที่จะไม่ถูกลิดรอนสิทธิเหมือนที่ผ่านมา