คนรุ่นใหม่ หัวใจรักควาย
เด็กเลี้ยงแกะหลบไป เด็กเลี้ยงควายกำลังมา แถมเป็นควายเงินแสนเงินล้านที่เลี้ยงไปเลี้ยงมาได้เป็นถึงเน็ตไอดอล!
เลี้ยงควาย ใครว่า ล้าสมัย เพราะเรื่องของเด็กเลี้ยงควายที่จะเล่าในวันนี้ เป็นเด็กเลี้ยงควายแดนอีสาน ดินแดนที่ได้ชื่อว่า มี โค กระบือ มากที่สุดในประเทศ แต่ในจำนวนมากที่สุดนี้ ก็ลดน้อยถอยลงเหลือให้เห็นแทบจะนับตัวได้ โดยเฉพาะควายซึ่งถูกแทนที่ด้วย “ควายเหล็ก” ตอบจริตชาวนารุ่นใหม่ใจร้อน เลยทำให้เหล่า “กระบืออีสาน” เหลือสมาชิกน้อยลงทุกวัน
แต่เด็กเลี้ยงควายที่กำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ กำลังสร้างกระแส นำควายสู่ท้องทุ่งอย่างแท้จริง เพราะเขาและเธอได้นำเอาควายมาเป็นสัตว์เลี้ยงแบบคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่เลี้ยงแบบปล่อยทิ้ง ปล่อยขว้าง แต่เลี้ยงแบบเอาใจใส่ดูแล รักยิ่งกว่าหมา มีค่ายิ่งกว่าเงินทอง แถมดูแลยิ่งกว่าญาติใกล้ชิดเสียอีก จนถูกเรียกว่า “เด็กเลี้ยงควาย 5 พระกาฬอีสานเหนือ” เหล่าเด็กเลี้ยงควายยุคใหม่ ไม่เหมือนใคร แถมไฉไลเสียด้วย!
พลพรรค รัก ‘ควายงาม’
แทน หรือ ประกาศิต สายธนู ด็อกเตอร์หนุ่มจากอเมริกา ที่แม้ทุกวันนี้จะทำงานประจำที่สำนักงานการประปาจังหวัดหนองบัวลำภู แต่เขาเองบอกว่า ชอบและสนใจการเลี้ยงควายมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อซึ่งเป็นครูก็เลี้ยงควายไปด้วยรับราชการไปด้วย
เมื่อตอนไปเรียนด็อกเตอร์ด้านวิศวกรรมอยู่อเมริกาพอเรียนจบก็คิดอยากจะทำงานอยู่ที่นั่น แต่พอคิดอีกที ไม่อยากจะทิ้งพ่อไว้คนเดียว เพราะสุขภาพไม่ค่อยดี เลยตัดสินใจกลับมาทำงานที่อีสาน และเห็นพ่อเลี้ยงควายก็เลยอยากจะเลี้ยงควายบ้าง
“ควายที่ผมเลี้ยงอยู่ เป็นควายแชมเปี้ยนราคาตอนนี้ประมาณ 1 ล้านบาท ผมเลี้ยงควายประเภทสวยงาม โดยเลี้ยงไว้ 12 ตัว ตอนนี้คนนิยมเลี้ยงควายสวยงามกันเยอะมาก ใครมีควายสวยราคาแพงถือว่า บารมีดี เงินถึง เพราะในตลาดควายสวยงามเล่นกันมาก บางตัวราคา 5 ล้านก็มี ทุกปีจะมีการประกวดกัน ควายใครสวย ควายใครหล่อก็ต้องเอาออกมาโชว์กัน” ดร.แทน เล่า ระหว่างร่วมงานวันประชุมใหญ่ สมาคมอนุรักษ์ และพัฒนาควายไทย ที่ขอนแก่นเมื่อเร็วๆ นี้
“การเลี้ยงควายตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว เราเลี้ยงกันแบบเป็นสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลอย่างดี เพราะราคามันดี ยิ่งสวย ขนเป็นมัน ขนสวยก็ยิ่งราคาดี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูแลเขาให้ดีด้วย พาอาบน้ำ กินหญ้าดีๆ พาเดินเล่น เราใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ไม่ต้องไปเถลไถลที่ไหน พอควายเราสุขภาพดี มันก็แสดงออกทางบุคคลิกท่าทางของมัน แค่พาจูงเดินไป ก็มีคนอยากซื้อ แต่เราจะขายเมื่อได้ราคาที่ต้องการ เพราะตอนนี้กระแสตลาดควายกำลังพุ่ง” ดร.แทน บอก
ควาย เปลี่ยนชีวิต
พระกาฬ No.2 ได้แก่ อุ๋น หรือ สุทธิพันธ์ สีแสนตอ เรียนจบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ทำงานอยู่สหกรณ์การเกษตรหนองบัวลำภู แต่ชอบเลี้ยงควาย
“ควายอุ๋นก็ราคาตัวละล้านเหมือนกัน ตอนนี้มีอยู่ 10 ตัว”
อุ๋นเล่าว่า ตัวเองซื้อควายมาเลี้ยงตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ปี 2 เพราะตัวเองอยากมีควายกับเขาบ้าง โดยตอนแรกฝากคนเลี้ยงเพราะต้องไปเรียนต่างจังหวัด แต่พอเรียนจบ ป.โท และทำงานก็เลยเลี้ยงเอง เลี้ยงอย่างจริงจัง
“อุ๋นว่า ควายมันมีสตอรี่ มีเรื่องราวนะ มันอยู่กับคนไทยมานาน อย่างไรชาวนาไทยกับควายก็ต้องคู่กัน แม้จะมีควายเหล็ก มีเทคโนโลยีเข้ามา แต่ก็ไม่คลาสสิคเท่ากับควายมีชีวิต เดินลงไปทุ่งนาหากเห็นควาย มันคือทุ่งนาอย่างแท้จริง แถมควายยังแสนรู้ ฝึกได้ เข้าใจคนเลี้ยง ควายที่เลี้ยงอยู่ ตอนแรกก็เป็นควายพันธุ์ทั่วไป แต่หลังๆ เราก็พัฒนาสายพันธุ์ หาน้ำเชื้อดีๆ มาผสมก็จะได้ลูกออกมาดี เราก็เลี้ยงต่อจนได้สายพันธุ์ดี เลี้ยงดี ราคาก็ดีตามไปด้วย อย่างควายทั่วไปราคาตัวละ 3-5 หมื่น แต่หากควายที่เราเลี้ยงดี สายพันธุ์ดีราคาราว 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท และหากไปประกวดได้แชมป์จะยิ่งราคาแพงขึ้น ตอนนี้มีควายที่ราคาแพงที่สุดชื่อ ‘ใบหยก’ ราคา 5 ล้านบาทอยู่พิษณุโลก” อุ๋นเล่า
“อุ๋นว่า การเลี้ยงควายทำให้ชีวิตอุ๋นดีขึ้น มีวินัยขึ้น ก่อนไปทำงาน 8 โมงเช้าก็ต้องพาควายไปเดิน ไปกินหญ้า พาไปอาบน้ำ และพามาเข้าคอก หาหญ้าหาน้ำไว้ให้เขากิน พอกลับจากทำงาน ก็ต้องตรงดิ่งไปคอกควาย ไปดูเขา พาไปเดินเล่น พาไปอาบน้ำ หากไม่ไปก็กลัวเขาจะคอย และไม่มีใครดูแล ทำให้ชีวิตไปไหนไม่ได้ ไม่ดื่ม ไม่เที่ยว เพราะเรารู้ว่าเรามีภาระ ตอนนี้ทางบ้าน ทั้งแฟน และพ่อแม่ดีใจมาก ยิ้มเลย เพราะอุ๋นเปลี่ยนไปเพราะควายจริงๆ” อุ๋นบอก พร้อมหัวเราะ และยอมสารภาพว่าสมัยก่อนเป็นนักเที่ยวตัวยง แต่เปลี่ยนนิสัยได้เพราะควายนี่แหละ
เขายังแนะนำสำหรับคนที่อยากเลี้ยงควาย แต่ยังคิดหน้าคิดหลัง และเกรงว่าจะยุ่งยากวุ่นวายว่า มีควาย 1 ตัวเหมือนเราเก็บเงินฝากธนาคาร แต่เป็นการฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยสูงมาก เพราะควาย 1 ตัวหากซื้อตอนเป็นลูกก็จะราคาไม่แพงมากประมาณ 15,000 บาท และดูแลต่อไป โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ แค่หาหญ้า หาน้ำให้กิน ดูแลดีๆ แต่ละปีลงทุนนิดหน่อย แต่กำไรเยอะมาก
จากต้นทุน 15,000 บาท เวลาผ่านไป 3 ปี สามารถขายได้เงินเพิ่มขึ้นเท่าตัว อาจจะ 30,000 -50,000 บาท โดยที่ไม่ต้องทำอะไรมาก
“เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ต้องหาอาหารให้กิน แต่เลี้ยงควาย แค่มีหญ้า พาไปกินหญ้าตามทุ่งนา ตามถนน แค่นี้เขาก็โต และให้ผลกำไรกับเราแล้ว” อุ๋นยืนยัน เพราะวันนี้จะเรียกเขาว่า เป็นเศรษฐีน้อยๆ ก็ยังได้ เพราะควายที่เลี้ยงไว้ราคาตัวละ 1 ล้านบาท แถมเขามีถึง 10 ตัวเลยทีเดียว
เลี้ยงควาย สายประณีต
พระกาฬลำดับที่ 3 คือ เต็งหนึ่ง หรือ กฤตยชญ์ แก้ววังชัย คนนี้ไม่ธรรมดา เพราะเป็นเจ้าของฟาร์มควาย โนนคูณฟาร์ม ที่หนองบัวลำภูทั้งที่อายุยังน้อย แถมยังกลายเป็นไอดอลให้กับคนทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่าที่อยากจะเอาอย่าง เพราะการเลี้ยงควายของเขานั้นไม่ธรรมดา เพราะว่า เลี้ยงแบบประณีต ขัดสีฉวีวรรณ
เต็งหนึ่ง บอกว่า เรียนจบสัตวศาสตร์ แต่ไม่อยากทำงานที่อื่น เลยตัดสินใจกลับบ้านที่หนองบัวลำภู เห็นพ่อแม่เลี้ยงควาย เลยคิดอยากเลี้ยงบ้าง แต่ไม่เลี้ยงแบบทั่วไปสมัยก่อน อยากเลี้ยงแบบสมัยใหม่ โดยอยากทำเป็นฟาร์มควาย เพราะเราเองเรียนมา มีความรู้วิชาการอยู่แล้วเลยตัดสินใจเอาควายที่มีอยู่มาเลี้ยงแบบใหม่ เลี้ยงแบบดูแล เอาใจใส่ ให้สวยงาม จูงเดินไปไหนมีแต่คนทัก และพัฒนาสายพันธุ์ หาน้ำเชื้อดีๆ มาผสม ทำให้ลูกออกมายิ่งสวยไปอีก
“เลี้ยงประณีตแบบผมคือ ดูแลอย่างดีทุกขั้นตอน ปลูกหญ้าให้กิน 2 ไร่ พาไปอาบน้ำ ขัดผิวเหมือนทำสปา พาไปเดินเล่น กินลม ตอนเช้า และเย็นทุกวัน แค่จูงเข้าหมู่บ้านก็มีคนอยากได้แล้ว เราเลี้ยงแบบเอาใจใส่ดูแลอย่างดี แต่เราไม่ต้องไปดูแลเขาตลอด ยังมีเวลาว่าง เล่นไลน์ เช็คเฟซบุ๊ค อัพรูปควายเราขึ้นเฟซบุ๊ค ตอนนี้ผมกลายเป็นเน็ตไอดอลไปแล้ว มีคนเข้ามาขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊คเยอะมาก เพราะอยากรู้วิธีการเลี้ยงควายกับเราจนไม่สามารถรับเป็นเพื่อนได้แล้ว” เต็งหนึ่งบอก
และยังเสริมอีกว่า “คนที่ชอบเลี้ยงสุนัขราคาแพงๆ เลี้ยงแบบไหน ผมก็เลี้ยงแบบนั้นแหละครับ แต่ต่างกันตรงที่ผมเลี้ยงควายตัวใหญ่ ซื้อมาราคาไม่แพง แต่ตอนขายได้ราคาดี แต่คนเลี้ยงหมาซื้อมาแพงแถมไม่รู้จะขายได้ไหม ลองเปลี่ยนมาเลี้ยงควายก็ดีนะครับ รับรองขายได้แน่นอนไม่มีขาดทุน” เขาย้ำ
ได้ดีเพราะมีควาย
บิล หรือ วัชธีระ วงษาหลง คือ พระกาฬ No.4 ผู้เกิดมาครอบครัวมีปัญหา พ่อแม่แยกทางกัน โดยเขาอยู่กับยายซึ่งฐานะไม่ดีนัก โชคดีได้ควายพระราชทานมาเลี้ยงจนตกลูก และเพราะลูกควายนี่แหละที่ทำให้เขาได้ต่อยอด และเรียนหนังสือจบระดับปริญญาตรี
“บ้านผมอยู่บรบือ จังหวัดมหาสารคาม ครอบครัวยากจนมาก ไม่มีควายเลี้ยงเหมือนเพื่อนๆ เด็กบ้านนอกส่วนใหญ่ พ่อแม่จะให้ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายที่ทุ่งนา แต่ผมไม่มีวัวควายให้เลี้ยงก็เลยไปถามยาย อยากมีควายเลี้ยงบ้าง ยายเลยไปขึ้นทะเบียนขอควายพระราชทานมาเลี้ยง ทำให้ชีวิตผมได้ดีเพราะเลี้ยงควาย เพราะควายพระราชทานพอเลี้ยงได้ลูกก็จะแบ่งกัน รัฐเอาตัวหนึ่งคนเลี้ยงก็จะได้ตัวหนึ่ง ควายพระราชทานตัวแรกทำให้ผมมีวินัย รู้จักรับผิดชอบ เพราะต้องรับหน้าที่เลี้ยงควาย”
พอจบม. 3 โรงเรียนขยายโอกาสจะเรียนต่อ ม.4 แต่เนื่องจากไม่มีเงิน บิลจึงต้องเอาควายที่ได้ไปขาย ขายได้ 1 หมื่นบาท แล้วเอาไปซื้อควายมาเลี้ยงอีก พอจบม. 6 อยากได้ควายตัวใหญ่ ตัวสวย แต่มีเงินที่ขายควายได้ 36,000 บาท นั่งรถไปอุดรธานี ไปถามซื้อควายเขา เขาบอกขาย 57,000 บาท แต่เพราะเงินไม่พอ ก็เลยขอเอาเงินมัดจำเขาไว้ก่อน โดยเอาบัตรประชาชนทิ้งไว้ บอกจะหาเงินมาให้จนได้
"ผมก็หาเงินให้จนครบ เพราะควายที่ผมซื้อมาจากอุดรธานี ผมตั้งชื่อว่า เพชรสารคาม เป็นควายตัวผู้ที่มีน้ำเชื้อเป็นที่ต้องการของแม่ควายทั้งหลาย ผมพาเพชรสารคามไปผสมกับควายตัวเมีย 175 ตัวในระยะเวลาที่ผ่านมา มันทำเงินให้ผมมากพอที่จะส่งเงินไปให้เจ้าของควายที่อุดรธานีหมดแล้ว แถมผมยังมีเงินซื้อควายมาเลี้ยงได้อีกตอนนี้มีควาย 12 ตัวแล้ว และมีเพื่อนบ้านมาจ้างผมเลี้ยงอีก 25 ตัว ทุกวันนี้ผมกลายเป็นเด็กเลี้ยงควายตัวจริง อย่างที่ฝันเอาไว้ตั้งแต่เด็ก” บิล เล่า ด้วยความปลาบปลื้ม โดยทุกวันนี้เขาเรียนจบปริญญาตรีได้ก็เพราะควายแท้ ๆ
จูงควายเข้า (โรง) เรียน
มาถึงพระกาฬสุดท้าย ที่เป็นสาวน้อยหนึ่งเดียวในกลุ่ม 5 พระกาฬ นั่นคือ ฟาร์ม หรือ สุพรรณษา ก่อเงิน วัย 22 ปี ลูกสาวเดียว ที่มีพ่อเป็นครูและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองลาดหนองแปนคำผักกูด อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
ฟาร์มเล่าเรื่องของเธอกับควายว่า ตั้งแต่เด็กพ่อก็ให้ของขวัญวันเกิดเป็นควาย ทำให้ตัวเองผูกพันกับควายมาตลอด เพราะต้องไปเลี้ยง ไปดูแล และพอได้มาเรียนครูและต้องไปฝึกสอนจึงไปฝึกสอนที่โรงเรียนที่พ่อเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ และเห็นเด็กๆ ลูกศิษย์ที่สอน ไม่มีโอกาสไปเลี้ยงควาย หรือสัมผัสควาย จึงทำโครงการขออนุญาตผู้อำนวยการเอาควายเข้าไปในโรงเรียน โดยใช้ชื่อโครงการว่า “จูงควายเข้าโรงเรียน”
“หนูผูกพันกับควายตลอด ไปไหนมาไหนก็จะมีควายเป็นเพื่อน ตอนเด็กๆ ไปเที่ยวเหมือนเด็กคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะต้องดูแล และเลี้ยงควาย เวลาควายหนูไปไหน ไปกินข้าว กินอ้อยใคร ชาวบ้านก็ไม่โกรธ เพราะบอกว่าเป็นควาย ผอ. (หัวเราะ) หนูเลี้ยงแบบให้เขามีความสุข ปล่อยให้เดินเล่นไปทั่วได้หมด เวลาไปกินอะไรของใคร เขาจะจับมัดเอาไว้ให้ หนูมีหน้าที่บอกพ่อไปจ่ายเงินค่าอาหารที่ควายกิน (หัวเราะอีก) เพราะเขารู้ว่า เป็นควายน้องฟาร์ม ควายผอ. อยากจะให้มากิน เพราะอยากได้ตังค์(หัวเราะ)"
“หนูชอบขี่ควายมาก หนูเดินทางมาหลายจังหวัดทั่วประเทศ ไปจังหวัดไหนเห็นควายใครตัวสวยๆ หนูก็จะขอเขาขี่ จนเขาหาว่าหนูเป็นโรคจิต ชอบขี่ควาย แต่หนูชอบ หนูว่า ควายน่ารัก ตอนนี้หนูพาควายเข้าไปในโรงเรียน ไปสอนให้เด็กๆ ดูแลควาย เด็กได้สัมผัส ได้จับ ได้อาบน้ำให้ควาย ได้หาหญ้าให้กิน พอเขากลับบ้านเขาก็จะบอกพ่อแม่ว่า อยากจะเลี้ยงควาย ทำให้เขาได้ช่วยเหลือครอบครัว แต่ก่อนเขาอาจจะกลับบ้านมา ก็ไปวิ่งเล่น หรือ ดูทีวี แต่ตอนนี้พอเขาผูกพันกับควายที่หนูเอาไปโรงเรียน ทำให้เขากล้าเล่น กล้าเลี้ยง และดูแลควาย วัว แทนพ่อแม่ไปด้วย” ว่าที่คุณครูฟาร์มเล่า
และเสริมอีกว่า สไตล์การเลี้ยงควายของเธอเป็นแบบบุฟเฟต์ ตอนเช้าปล่อยไปตามสบาย อยากกินอะไรก็กิน ถึงเวลาพักเที่ยง ที่เธอจะต้องรับประทานอาหารเที่ยง ก็จะขี่รถเพื่อมาดูว่า ควายอยู่ไหน ยังอยู่สบายดี จากนั้นก็จะกลับไปโรงเรียนไปทำงานต่อ ไม่เครียด ไม่เหนื่อย เพราะควายแสนรู้แล้ว การมีควายได้เลี้ยง ทำให้เธอและครอบครัวรักและเข้าใจกัน เพราะแม้เธอจะเป็นลูกสาวคนเดียว แต่พ่อแม่ไม่เคยเป็นห่วง เพราะเธอไม่ได้ไปไหน กลับบ้านตรงเวลา เพื่อดูแลควาย ไม่เคยไปเที่ยวไหนๆ กับเพื่อนๆ เพราะห่วงควายที่เลี้ยงไว้
“เรียกว่า รักพอๆกับพ่อและแม่เลยทีเดียว” เธอบอก
วันนี้ฟาร์มมีควายที่เลี้ยงไว้ 11 ตัว โดยตัวโปรดที่รักที่สุดเป็นควายเผือกตัวเมียชื่อ ‘อเมนด้า’ ซึ่งวันไหนว่างๆ เธอก็ถ่ายรูปตัวเองกับควายแสนรักอัพขึ้นเฟซบุ๊ค A Farm BanKwaai จนมีคนเข้ามากดไลค์ กดแชร์เป็นหลักหมื่นกันเลยทีเดียว.. แน่นอนว่า เรื่องเล่าของเด็กเลี้ยงควายยุคไอทีระดับพระกาฬทั้ง 5 ซึ่งยังสามารถใช้ชีวิตปกติอย่างคนหนุ่มสาว แถมยังเอาโซเชียลมาสร้างจุดขายจนกลายเป็น ‘เน็ตไอดอล’ และสร้างกระแสให้เด็กรุ่นใหม่ หันใจมามองและสนใจอยากจะเลี้ยง “เจ้าถึกควายทุย” กันมากขึ้น
สำหรับใครที่เคยคิดว่า การเลี้ยงควายนั้นแสนเชย คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เสียแล้ว!
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ค A Farm BanKwaai , โนนคูณฟาร์ม ควายงาม หนองบัวลำภู , 5 พระกาฬ อีสานเหนือ คนรุ่นใหม่ หัวใจรักควาย