เสียงจากใจ 'เศรษฐา ศิระฉายา' และ 'The Impossibles'

เสียงจากใจ 'เศรษฐา ศิระฉายา' และ 'The Impossibles'

“The Impossibles” คือตำนานที่ยิ่งใหญ่บนถนนดนตรี แม้วันเวลาจะล่วงเลยถึง 50ปี แต่มนต์ขลังเสียงเพลงไม่เสื่อมคลาย

นี่คือเรื่องราวผู้เปิดประวัติศาสตร์ดนตรีหน้าใหม่

จากอดีตสู่ยุคปัจจุบัน

 

ระหว่างการเดินทางของวันเวลาที่เงียบเชียบ และดำเนินไปอย่างซื่อสัตย์โดยไม่มีวันไม่หยุดยั้งนั้น เวลาจึงเปรียบเสมือนเป็นผู้โปรยหว่านความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด หรือใครก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับวงการดนตรีที่เกิดปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นบนถนนสายนี้ หลายเรื่องหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เมื่อผ่านพ้นกาลเวลาจากยุคหนึ่งสู่ยุคหนึ่ง บางเรื่องเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่บางเรื่องก็ได้การเล่าขานจากปากต่อปากก่อนจะเงียบหายไปในที่สุด...

จะมีก็แต่ปรากฏการณ์สำคัญและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับวงการดนตรีเท่านั้น ที่จะถูกจารึกอยู่ในความทรงจำของผู้คนไปนานแสนนาน ราวกับเป็นรอยสลักในแท่งศิลาอันแข็งแกร่งที่อยู่เหนือกาลเวลา... และปรากฏการณ์ที่สำคัญในวงการดนตรีก็คือการเกิดขึ้นของวง “The Impossibles”เมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมานั่นเอง

หากมองอย่างผิวเผินแล้ว วงดนตรีสตริงวัยรุ่นของในยุคบุปผาชน ที่ไว้ผมยาวเคลียไหล่และใส่กางเกงขาบาน พร้อมกับวางเป้าหมายเล่นดนตรีหาเงินตามแคมป์ทหารอเมริกันที่เข้ามาตั้งฐานทัพตามต่างจังหวัดต่างๆ ในยุคที่เปลวไฟสงครามเวียดนามลุกโชน ก็เป็นเพียงวงดนตรีวัยรุ่นที่มีอะไรคล้ายกันเท่านั้น

แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้ว ยุคดนตรีแคมป์ จี.ไอ. นอกจากจะทำให้ดนตรีของบรรดาเด็กหนุ่มไทยในยุคนั้นเฟื่องฟูแล้วท่ามกลางกลิ่นอายของเงินดอลลาร์แล้ว มันยังเปรียบเสมือนสถาบันการเรียนวิชาดนตรีนอกระบบ ที่ช่วยสั่งสมฝีมือให้จัดจ้าน

การก่อกำเนิดของวง “ดิ อิมพอสสิเบิ้ล”แท้จริงแล้วก็คือผลพวงของดนตรียุคแคมป์ทหารอเมริกันในอดีตเช่นกัน ซึ่งเส้นทางจากจุดเริ่มต้นจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ ได้ผ่านความทุกข์ความสุขมาแล้วมากมาย ก่อนที่จะกลายเป้นวงดนตรีมีชื่อระดับตำนานจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ซึ่งบุคคลสำคัญของวง เศรษฐา ศิระฉายาหรือ น้าต้อยนักร้องนำของวง ได้ย้อนรำลึกถึงความหลัง พร้อมทั้งบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในวงการดนตรีไทย นับตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัยรุ่นจนวันนี้วัย70 ปีอย่างน่าสนใจยิ่ง

และโดยเฉพาะเส้นทางการเกิดวง  “The Impossibles”ที่มีบทบาทอย่างมากในฐานะที่สร้างยุคเปลี่ยนผ่านดนตรีให้เกิดขึ้นให้กับวงการดนตรี

 

นักดนตรีตกงานในร้านข้าวมันไก่

ในความเป็นจริงแล้ววง “The Impossibles”เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ก่อนที่จะมีวง ดิ อิมพอสสิเบิ้ลนั้น ผมเล่นดนตรีอยู่ที่แคมป์ทหารอเมริกันที่อุบล พอดีช่วงนั้นแคมป์เริ่มซบเซา เพราะทหารอเมริกันทยอยกันกลับประเทศ ก็เลยทำให้วงดนตรีที่เล่นตามแคมป์เริ่มไม่มีงาน รวมทั้งวงของผมด้วย

ช่วงนั้นเล่นกับวงอะไร?

วงที่ผมเล่นอยู่ตอนนั้นชื่อ หลุยส์ กีตาร์ เกิล”...คือมันยังงี้ ที่ในกรุงเทพฯเขามีวงดนตรีอยู่วงหนึ่งชื่อ หลุยส์ กีตาร์ บอย พอดีหัวหน้าวงของผมที่เล่นอยู่อุบลเป็นผู้ผู้หญิงด้วย ก็เลยตั้งชื่อวงว่า หลุยส์ กีตาร์เกิล”..ได้ค่าตัวคืนละ 100 บาท เมื่อทหารอเมริกันพากันกลับบ้าน วงนี้ก็เลยเลิก...ส่วนผมก็เข้ากรุงเทพฯ

แล้วที่กรุงเทพฯมีวงรึยัง?

ยังไม่มี...เป็นนักดนตรีตกงาน...ส่วนมากช่วงนั้นนักดนตรีจะตกงานกันเยอะ พอดีมีอยู่วันหนึ่งไปนั่งกินข้าวมันไก่ที่ร้านแถวๆประตูน้ำ เมื่อก่อนร้านนี้ข้าวมันไก่อร่อยมาก ขณะที่นั่งกินก็เจอกับนักดนตรีอีกสองคน เดินด้องแด้งๆ ตกงานเหมือนกัน(หัวเราะ)คนหนึ่งชื่อ พิชัย ทองเนียม อีกคนชื่อ วินัย พันธุรักษ์ ตอนนั้นไม่ได้สนิทกันนะ เพียงแต่รู้จักหน้าค่าตากันเท่านั้น พอเจอกันก็ทักทายถามไถ่กัน เป็นยังไงบ้าง...ทั้งสองก็บอกว่าตกงาน เราก็เลยมานั่งคุยกันว่า เราน่าจะมาตั้งวงกันนะ ไม่แน่บางทีพวกตกงาน ตั้งวงเมื่อไหร่อาจจะดีก็ได้ เราก็เลยมารวมตัว โดยได้สิทธิพร อมรพันธ์มาร่วมด้วย ส่วนปราจีณ ทรงเผ่านั้นผมรู้จักกับเขามาก่อนแล้ว โดยปราจีณ คุมวงใหญ่อยู่ที่ชานิซาโต้

วงแรกที่รวมตัวกันในปี 2509 ยังไม่ใช่ ดิ อิมฯ?

ยังเลย...ชื่อวงแรกที่รวมตัวกันครั้งแรกใช้ชื่อวงว่า Holiday J-3  ชื่อมันมาแปลกมา คือมันยังงี้ Holiday เป็นชื่อบาร์ที่เล่นอยู่ ส่วน Jคือจุ่นซึ่งเป็นเจ้าของบาร์ ส่วน 3 นั้นเป็นสาขา3 เพลงที่เล่นช่วงนั้นจะเล่นเพลงสากลเป็นหลัก มีผมเป็นนักร้อง และมีวินัย พันธุรักษ์, อนุสรณ์ พัฒนกุล, สุเมธ แมนสรวง และพิชัย ทองเนียม ...หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อวงมาเป็น จอยท์ รีแอ็กชั่นพอดีช่วงนั้นสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประกวดวงสตริงชิงถ้วยพระราชทานด้วย ปีแรกเราชนะเลิศ เราตื่นเต้นมาก พอปีที่สองเราก็มานั่งปรึกษาหารือกันว่า เราจะต้องทำให้ดียิ่งขึ้น ผมก็ขอเพิ่มนักดนตรี ผมก็เลยชวนปราจีณ ทรงเผ่ามาร่วมด้วย ที่จริงปราจีณเขาอยู่ของเขาดีอยู่แล้วนะ แต่เป็นเพราะเป็นเพื่อนรักกัน ด้วยความเกรงใจปราจีณก็เข้ามาร่วมด้วย พอประกวดปีที่สองเราก็ชนะอีก พอปีที่สองแล้วมันขาดไปหนึ่งปี เพราะเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 2516 ทางวงของเราก็เดินทางไปเล่นต่างประเทศกันส่วนมาก ไปทั่วทั้งสแกนดิเนเวียบ้าง ฮาวายบ้าง ไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทยหรอกนะ จนกระทั่งมีการประกวดครั้งที่ 3 เราก็กลับมาประกวดอีก แล้วก็ชนะอีกเป็นปีที่สาม วงของเราก็เลยได้ถ้วยมาครอง คือการครองถ้วยชนะการประกวดนั้นจะครองปีค่อปี เหมือนกับถ้วยฟุตบอล ถ้าชนะสามปีซ้อนติดกันก็จะได้ถ้วยไปครองเลย

แสดงว่าในยุคก่อนนั้นการประกวดดนตรีมีความสำคัญมาก?

ใช่...อย่างการประกวดวงสตริงชิงถ้วยพระราชทานที่สวนลุมพินี มันเป็นงานที่ใหญ่มาก คนดูนี่หัวดำเต็มไปหมด พื้นที่สวนลุมมันกว้างใหญ่ไพศาลด้วย มองไปทางไหนมีแต่คนดูทั้งนั้น

บรรยากาศวงการดนตรียุคก่อนกับยุคนี้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

ที่จริงมันไม่ค่อยแตกต่างกันมากนะ แต่ละยุค บรรยากาศก็คล้ายๆกัน คนดูก็เหมือนกัน คนดูยุคนู้นมีความสุขมีความชอบอะไรก็จะกรี๊ดกราดกันจนเสียงถล่มทลาย ก็เหมือนกับทุกวันนี้แหละ....เพียงแต่ว่าวงดนตรีสมัยก่อนนั้นมันแทบจะแบ่งกันอย่างชัดเจน มีการแบ่งที่ชัดเจน แยกแยะความสามารถชัดเจน ...อย่างวงซิลเวอร์แซล จะร้องเพลงเอลวิสเก่ง เช่นเดียวกับ วงเดอะ ดริฟ เตอร์ หรืออย่างวง เดอะ ฟอกซ์ ของ ช.อ้น ณ บางช้าง หรืออย่างวง วีไอพี.ของแหลม มอริสัน ก็จะเป็นอีกแนวหนึ่ง เฮฟวี่เลย คือเล่นหนักไปเลย...คือวงดนตรีสมัยก่อนมันชัดเจน แต่ทุกวันนี้ก็มีหลายวงนะที่มีความชัดเจน อย่างของอัสนี-วสันต์ เขาก็จะมีสไตล์ที่ชัดเจน

ช่วงเข้ากรุงเทพฯเริ่มมาตั้งวงตอนนั้นอายุเท่าไหร่?

ผมอายุ 22 คือผมอายุมากที่สุดในวง ส่วนคนอื่นๆ ก็ 18-20ปี ตอนนั้นฉกรรจ์มาก พอประกวดชนะปีที่ 2 ผมก็ขอลาบวชเบญจเพสสักอาทิตย์ คนอื่นๆก็บอกว่า อ้าวแล้วพี่ไม่อยู่พวกผมจะทำยังล่ะ ในที่สุดก็เลยบวชกันทั้งวง ยกเว้นคุณปราจีณคนเดียวที่ไม่ได้บวช พอเราครองผ้าเหลืองคุณปราจีณก็ก้มลงกราบเรา เขาก็ขำๆเหมือนกัน...แต่พอเราสึกออกมา คุณปราจีณก็บอกว่า...พวกมึงจำไว้ วันหนึ่งจะต้องมากราบเท้ากู ปรากฏว่าปราจีณตายเสียก่อน พวกเราก็ไปงานศพกราบเท้าคุณปราจีนจริงๆ

ทำไมและมีอะไรในความเป็นดิ อิมฯ

เพราะอะไร “The Impossibles”จึงโด่งดัง?

  คือมันเป็นยังงี้นะ...ตอนนั้นมันเป็นยุคของการเปลี่ยนถ่ายเพลงไทย อย่างแนวของครูเอื้อก็อีกทางหนึ่ง แนวเพลงของอาสุเทพหรือ อาชรินทร์ก็อีกแนวหนึ่ง พอมาถึงดิ อิมฯ แนวมันไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งครูเพลงที่เขียนเพลงให้นั้นเขียนเพลงให้เหมือนกันกับที่เขียนเพลงให้ สุเทพ ชรินทร์ เพียงแต่ว่าพอเป็นของดิ อิมฯ มีการออเร้นจ์มีการเรียบเรียงใหม่เป็นอีกอย่าง มีทั้งเสียงประสาน มีทั้งฝรั่งเข้ามาประสมประสาน คือยุคนั้นมันจะใหม่มาก ดิ อิมฯ เลยกลายเป็นวงดนตรีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายดนตรี มัน

เหมือนกับที่เปี๊ยก โปสเตอร์เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย พอพี่เปี๊ยกเอาของเพลงดิ อิมฯซึ่งเป็นวงที่เปลี่ยนถ่ายดนตรีไทยไปประกอบในหนัง มันจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายไปหมดเลย ทั้งดนตรีและหนัง

ช่วงแรกๆ มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องแนวทางการทำเพลงหรือไม่?

เรามีการพูดกันครับ ผมเรียกน้องๆในวงมาคุย เฮ้ย...เราต้องเปลี่ยนไปอีกแบบนะ เราควรจะเลือกเล่นเพลงที่คนฟังแล้วเพราะ ยุคนั้นก็มีแนวทางเพลงที่ฮอตฮิตกันมีทั้ง บิทเทิ่ล, เอลวิส, มิก แจ็คเกอร์....แต่เราพยายามจะเล่นสไตล์ของวง the lettermen เพราะเพลงไพเราะมาก มีการประสานเสียงที่เพราะมาก เราจึงตัดสินใจยึดแนวนี้ แต่พอเราประกวดชนะและไปเมืองนอก เราก็เปลี่ยนแนวการเล่นอีก คือจริงแล้ววง ดิ อิมฯไม่เคยหยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามยุคสมัย

มีการมองว่าแรงส่งที่ทำให้ ดิ อิมฯ โด่งดังคือบทเพลง?

ยอมรับเลยครับว่าครูเพลงที่แต่งเพลงให้ ดิ อิมเป็นเพลงที่ดีเยี่ยมทั้งนั้น อย่างเพลง”ทะเลไม่เคยหลับ”ของครูแจ๋ว สง่า อารัมภีรกับครูชาลี อินทรวิจิตร ถือเป็นเพลงคลาสิกมาก อีกอย่างมันเป็นเพลงประกอบหนัง “สวนสน”คือเมื่อก่อนคนแต่งเพลงมักจะไปกับกองถ่ายหนัง ครูแจ๋วแกจะนั่งดูทะเล เห็นคลื่นสาดครืนๆตลอดเวลา แล้วแกก็บอกว่า เอ้...ทะเลมันไม่หลับเลยนะ มันจึงกลายเป็นเพลง “ทะเลไม่เคยหลับ” หรืออย่างเพลง “เจ้าพระยา”และ”ลำนำรัก”การใช้ภาษาร้ายกาจมาก

ในวงดิ อิมฯใครมีบทบาทด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน?

ปราจีณ ทรงเผ่าคนเดียวเท่านั้น ผมบอกกับน้องๆเลยว่า ผมเลือกคนไม่ผิดหรอก ปราจีณเก่งมาก รับรองเลยว่าถ้าปราจีณเข้ามาวงของเราจะดีขึ้นมาก เป็นคนที่ผมสึกเสียดายที่สุด จนกระทั่งเดี๋ยวนี้นักดนตรีก็ยังยอมรับเขา...นี่แหละคืออาจารย์

แล้วดิ อิมฯโคจรมาพบกับ ดร.พุทธจรัล นันสุนานนท์ในช่วงไหน?

รู้จักกันตอนที่วง ดิ อิมฯไปเล่นที่ฮาวาย ก็เลยสนิทสนมกัน คือแกอยู่ที่ฮาวาย ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯนะ แกตั้งรกรากที่นั่นนานแล้ว ไอเดียของพุทธจรัลคืออยากจะทำแบบฝรั่ง มีระบบ เข้ามาเป็นผู้จัดการ ดูแลทุกอย่าง โดยนักดนตรีไม่ต้องไปวิ่งเต้นเซ็นสัญญาอะไร ก่อนหน้านั้นผมต้องทำทุกอย่าง พอเขามาทำหน้าที่นี้ เขาก็ดูแลให้หมด ติดต่อนั่นนี่ เราก็เดินสายเล่นอยู่ที่เมืองนอกนั่นแหละ

ในช่วงที่โด่งดังอัตราค่าจ้างวง ดิ อิมฯเท่าไหร่?

ถ้าเป็นงานคอนเสิร์ตที่เป็นกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษาจะตกครั้งละ 3000 บาท คือเราไปเล่นให้เด็กๆดูกัน ส่วนมากจะเล่นกันในโรงหนังตอน หกโมง ก่อนจะถึงเวลาฉายหนัง เป็นการช่วยเหลือเด็กไปในตัวด้วย...แต่ถ้าเล่นประจำในโรงแรมค่าตัวจะตกคนหนึ่งเดือนละหมื่นกว่าบาท โดยการเล่นในโรงแรมเขาจะจัดห้องพักให้อยู่ประจำคนละห้อง นอกจากนี้ก็จัดเรื่องอาหารการกินให้ด้วย

คิวการแสดงในแต่ละเดือนมากน้อยแค่ไหน?

ไม่มีวันว่างเลย เล่นทั้งกลางวันกลางคืน โดยเล่นตอนกลางคืนเลิกตีหนึ่ง แล้วตื่นตีห้าเพื่อจะไปเล่นคอนเสิร์ตที่โรงหนังตอนหกโมงเช้าอีก เป็นอย่างนี้ทุกวัน นอกจากนี้แล้ว บางครั้งก็ต้องไปแสดงต่างจังหวัดด้วย

 

เพลง-หนัง-และ ดิ อิมฯ

เพลงของ ดิ อิมฯ มักจะเคียงคู่กับหนัง?

คืออย่างนี้นะ เพลงของ ดิ อิมฯ จะส่งเสริมหนัง ในขณะเดียวกันหนังก็จะส่งเสริมเพลงด้วย คือเพลงจะเผยแพร่ก่อนหนังฉาย เมื่อเพลงมันดังก็จะทำให้คนอยากไปดูหนังเรื่องนั้นๆด้วย

อันที่จริงวง ดิ อิมฯมีอัลบั้มอยู่ 2 ชุดเท่านั้นนะ แต่ที่มีเป็นร้อยๆ เพลงนั้น ดิ อิมฯ ทำเป็นเพลงประกอบหนังทั้งนั้น แล้วห้างแผ่นเสียงต่างๆจะไปซื้อเอาจากหนังแต่ละเรื่องมารวม8เพลง10เพลงขายเป็นชุดอีกที

ทำไมเพลงของดิ อิมฯ จึงอยู่นานกว่าเพลงสมัยใหม่?

ผมว่ามันอยู่ที่คำร้องและทำนองมากกว่านะ คือจะมีความเป็นไทยอยู่ในตัว แต่เพลงยุคปัจจุบันถึงจะเป็นภาษาไทย แต่มันจะเพี้ยนๆไป พอคนร้องมันก็หม่างๆไปด้วย ถามว่าเพราะมั้ย มันก็เพราะนะ ....แต่เนื่องจากเพลงยุคใหม่มันออกมาเยอะมา ส่วนมากเพลงจะดังอยู่ประมาณหนึ่งอาทิตย์ พอเพลงใหม่ออกมาดัง คนก็จะเฮไปฟัง มันเลยทำให้เพลงสมัยใหม่อยู่ไม่นาน ดังขึ้นแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว

มันต่างจากสมัยก่อนนะ กว่าจะทำเพลงออกมาได้แต่ละเพลงลำบากมาก ความพิถีพิถันมันเยอะ เมื่อก่อนอัดเสียงกันสดๆ ต้องอยู่พร้อมหน้าในห้องเดียวกันทั้งนักร้องนักดนตรี ใครทำผิดก็โดนด่าเลย อย่างนักร้องร้องผิด นักดนตรีก็จะด่า ถ้านักดนตรีเล่นผิด นักร้องก็ด่าบ้าง เพราะมันเหนื่อยต้องเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นแหละ….แต่เดี๋ยวนี้ร้องทีละคำยังได้เลย

ภาพของ ดิ อิมฯดูเจิดจรัสมาก จริงๆ แล้วเป็นยังไง?

เมื่อก่อนเราไม่มีค่ายกันหรอก จะดังขึ้นมาได้ต้องกระเสือกกระสนเอาเอง ไม่มีใครจะมาส่งกัน ไม่มีการถ่ายโฆษณาแฟชั่นกัน คือ เรายังเป็นศิลปินที่ไส้แห้ง เป็นศิลปินเต้นกินรำกินจริงๆ ต้องปากกัดตีนถีบเอาเอง มันไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนกับทุกวันนี้ วงดนตรียุคก่อนมันไม่ง่ายหรอก ที่แต่ละวงจะโด่งดังขึ้นมาได้

แต่บังเอิญจังหวะโอกาสและดวงของ ดิ อิมพอสสิบิ้ลช่วงนั้นมันดี โดยเฉพาะพื้นที่การประกวดวงดนตรีสตริงชิงถ้วยพระราชทาน ผมถือว่า วง ดิ อิมฯใช้เวลาไม่มากนัก ประมาณ 11 เดือนเห็นจะได้เมื่อเข้าประกวดแล้วได้ถ้วยมาครองในปีแรก

สมาชิกของวงแต่ละคนเรียนดนตรีมาจากที่ไหนกันบ้าง?

ไม่มีใครได้เรียนด้านดนตรีมาจากสถาบันไหนเลย ยกเว้นคุณ ปราจีณ ทรงเผ่าที่ได้เรียนแบบสากล ส่วนนอกนั้นรวมทั้งตัวผมเองต้องแสวงหาเอาเอง แล้วคนที่มาสอนพวกผมก็คือคุณปราจีณนั่นแหละ

มีบทเรียนอะไรจาก ดิ อิมฯที่อยากจะบอกนักดนตรียุคใหม่

แหม...ไม่กล้าจะแนะนำบทเรียนอะไรหรอกนะ แต่จากประสบการณ์ของดิ อิมฯ แล้ว มันมีอยู่สองสามอย่างนะ อย่างแรกเลยต้องสร้างความแปลกใหม่ให้กับผลงาน อย่างที่สองต้องมีการพัฒนา ต้องเรียนรู้ และอีกอย่างการที่วงดนตรีจะอยู่ต่อๆไปได้นานๆต้องอยู่ที่ความรักกันจริงๆ สมาชิกในวงต้องรักกันจริงๆ....

มันไม่เหมือนกับวงดนตรียุคนี้ ส่วนมากเป็นลูกคนรวยๆทั้งนั้น ส่วนมากจะอยู่กันไม่ยืดยาว ไม่พอใจกันอะไรนิดหน่อยก็เลิกกันไปเลย... ....อย่างวงดิ อิมฯนี่เรารักกันมาก เพราะแต่ละคนมาจากเลขศูนย์ คือจนง็อกเลยล่ะ เล่นดนตรีมีแต่เสื้อนอกตัวเดียวเท่านั้นนะ

50 ปี เสียงจากใจของ ดิ อิมฯ

รู้สึกอย่างไรบ้างที่มีแฟนเพลงติดตามมานานถึง 50ปี?

ผมอยากบอกเลยว่า ผมมีความสุขมาก ที่มีโอกาสได้ร้องเพลงให้กับแฟนๆเพลงได้ฟัง และทำให้แฟนเพลงมีความสุข ทำให้ได้รำลึกถึงความหลัง และได้พบเจอกันทุกปี ทั้งๆที่แฟนเพลงก็รู้นะว่า...เดี๋ยวเอ็งก็ร้องเพลงนี้ให้ฟังแหละ แต่เขาก็ยังติดตามามาฟังผมทุกปี ผมคิดตลอดเวลานะ ว่าทำไมเขามาฟังเพลงของเราทุกปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละ มันเป็นความสุขกลับคลืนมาที่ผม ดังนั้น เวลาผมอยู่บนเวทีผมจึงอยากจะเล่นอย่างเต็มที่ และรู้สึกตื้นตันใจอย่างมาก

มีอะไรพิเศษสสำหรับแฟนเพลงในคอนเสิร์ตใหญ่?

ในวันที่ 10-11 พ.ย.58 นี้ วงดิ ดิมฯ จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ THE IMPOSSIBLES 50 th Anniversary CONCERT เนื่องในวาระครบรอบ 50ปีขึ้นที่ห้องบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยมีผม แล้วก็วินัย พันธุรักษ์,ภาณุวัส พัฒน์กุล และพิชัย ทองเนียมขึ้นเวทีพาแฟนเพลงหวนอดีตไปพบกับวงดิ อิมพอสสิเบิ้ลอีกครั้ง

สำหรับผมได้แต่งเพลงเองเพื่อแฟนเพลงของดิ อิมฯโดยเฉพาะเอาไว้หนึ่งเพลง ชื่อเพลงว่า เสียงจากใจ

นี่เราคบกันยาวนานถึง 50 ปีแล้วเชียวหรือ?