ชั่วโมงวิทย์ Kids สนุก 'พงศกร สายเพ็ชร์'

 ชั่วโมงวิทย์ Kids สนุก 'พงศกร สายเพ็ชร์'

เรียนวิทย์กับพ่อโก้ หรือดร.โก้ ไม่ใช่แค่สนุก ยังได้ทดลอง สังเกต วิเคราะห์ และได้ของเล่นที่ไม่เหมือนใคร


เขาคนนี้เป็นนักฟิสิกส์ จบปริญญาเอกที่ California Institute of Technology (CalTech) หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในอเมริกา โดดเด่นทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มีนักวิทยาศาสตร์ดังๆที่ได้รับรางวัลโนเบลจบจากที่นี่หลายคน

ดร.โก้- พงศกร สายเพ็ชร์ ก็มีโอกาสเรียนที่นั่น แต่ไม่ได้เลือกเส้นทางนักวิชาการ เขาผันตัวมาทำซอฟแวร์ขาย บริษัทเอเทรียม เทคโนโลยี จำกัด และเป็นอาจารย์พิเศษ สอนฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

และเมื่อลูกทั้งสาม ค่อยๆ ทยอยเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ เขาอาสาสอนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนของลูก
ยิ่งสอน ก็ยิ่งสนุก เพราะเด็กๆ กระตือรือล้น ตื่นเต้นกับการทดลองทุกครั้ง ในที่สุดก็เริ่มเข้าไปสอนประจำที่โรงเรียนอนุบาลสัปดาห์ละครั้ง รวมถึงตามไปสอนระดับประถมที่ลูกเรียน กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม (โรงเรียนที่พ่อแม่ช่วยกันจัดการศึกษาให้ลูก)

ครูอาสาสอนวิทย์ทั้งอนุบาลและประถมคนนี้ ไม่ได้สอนแบบครูวิทย์ทั่วไป เขามีเครื่องมือมาเล่นกับเด็กๆ สอนให้คิด ทดลอง บันทึก ด้วยหลักการง่ายๆ “หลอก - เล่น - เดา (+ตรวจสอบ) - ประสบการณ์”

ชั่วโมงเรียนวิทย์ที่นั่น เด็กๆ จะสนุกมาก เพราะดร.โก้ ไม่ได้คิดว่า เด็กอนุบาล เด็กประถมไม่รู้คิด รู้ฟัง รู้เรียน เขาเชื่อว่า เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ ถ้าผู้สอนรู้จักวิธีการสื่อสาร เขาสอนหลายอย่างที่เด็กทั่วไปไม่มีโอกาสได้เรียน รวมถึงนำคลิปมาให้ดู อาทิ การทำเมฆกระป๋อง,การแกว่งของลูกตุ้ม ,การแยกน้ำด้วยไฟฟ้า,การทำของเล่น ลูกดอกหลอดกาแฟ,คอปเตอร์กระดาษ และการทำจรวดลูกโป่ง ฯลฯ

ดร.โก้สอนให้เด็กประถมทำจรวด โดยอธิบายให้เข้าใจว่า จรวด เป็นการพ่นก๊าซร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ไปทางหนึ่ง แล้วทำให้ส่วนที่เหลือของจรวดวิ่งไปอีกทางหนึ่ง โดยให้เด็กทำของเล่นจำลองจรวดด้วยลูกโป่งและหลอด ส่วนเด็กอนุบาลให้ทดลองหาจุดสมดุล (จุดศูนย์ถ่วง) ของท่อพีวีซี

น่าทึ่งไหมละ...

"ผมอธิบายหลักการทำงานของจรวด โดยผมให้อาสาสมัครมานั่งใกล้ๆ ผม แล้วผมก็เอามือดัน เด็กๆจะสังเกตว่า ร่างกายผมก็จะถูกดันไปในทิศทางตรงกันข้ามด้วย (ก็คือกฎข้อที่สามของนิวตันนั่นเอง) จรวดก็ใช้หลักการนี้ โดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อผลักให้แก๊สร้อนพุ่งออกไปทางด้านท้าย และส่วนที่เหลือของจรวดก็จะเคลื่อนที่ไปในทิศตรงข้าม" ดร.โก้ เขียนไว้ในบล็อค http://www.witpoko.com/

ดร.โก้เชื่อว่า การปลูกฝังหลักการคิดแบบวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เยาว์วัยจะช่วยให้เด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักแยกแยะ มีเหตุผล และไม่ถูกหลอกง่ายๆ และการปลูกฝังนี้ ก็เริ่มต้นได้จากผู้ปกครองของเด็กทุกคน

ในบทสนทนาครั้งนี้ เขาอาจไม่ใช่คนช่างพูดช่างอธิบาย จึงต้องมีภรรยา สุทธิพร สายเพ็ชร์ ผู้จัดการศึกษากลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม คอยเติมส่วนที่ขาด
แต่เวลาอยู่กับเด็กๆ ดร.โก้ เป็นครูที่เด็กๆ เรียนได้อย่างสนุกและมีความสุขมาก

แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้คุณอยากเรียนฟิสิกส์
ตอนผมได้อ่านหนังสือของริชาร์ด ฟิลลิปส์ ไฟน์แมน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมาก (ผลงานของไฟน์แมนมีมากมาย เช่น การขยายทฤษฎีพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัมให้กว้างใหญ่ขึ้นมาก ซึ่งนำไปสู่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี ค.ศ. 1965และเป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิดของนาโนเทคโนโลยี) เขาเขียนหนังสือดีมาก นั่นทำให้ผมอยากเรียนที่ CalTech ครอบครัวผมก็ไม่ได้ร่ำรวย แต่ไม่ได้ลำบาก พ่อผมเป็นหมอ ยุคนั้นปู่ผมเป็นชาวนา ขายที่นา ส่งเสียลุงผมเรียน เมื่อลุงผม สอบเข้าหมอได้ ก็หาเงินส่งน้องเรียน คือ พ่อของผม

ทำไมคุณชอบวิทยาศาสตร์ 

แม่ผมชอบซื้อหนังสือประดิษฐ์ของเล่นมาให้อ่าน ผมก็ประดิษฐ์ตามประสาเด็กๆ ข้างบ้านผมมีช่างซ่อมทีวีคนหนึ่ง ผมชอบไปคลุกคลีกับเขา เพราะอยากทำของเล่น ช่วงหนึ่งผมเคยอยากเป็นนักปิงปอง แต่ฝีมือไม่โอเค เมื่อผมได้อ่านหนังสือของริชาร์ด ไฟน์แมน ผมชอบมาก อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาทำให้ผมเข้าใจกลไกธรรมชาติ อยากเรียนรู้มากขึ้น ก็เลยเรียนจนจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ แต่ไม่ได้เป็นนักวิจัย หันมาทำซอฟแวร์กับเพื่อนๆ 


ครอบครัวมีผลต่อชีวิตและพัฒนาการของคุณมากน้อยเพียงใด
ตอนเด็กๆ ผมก็เล่นเยอะ ตีปิงปองอย่างเดียว ครอบครัวให้อิสระเต็มที่ สมัยประถม ผมเคยทำเครื่องร่อนขายเพื่อน ผมเอาฟิลม์เอ็กซเรย์มาทำ โดยมีหลักการว่า ทำให้ร่อนวนอยู่นานๆ ผมทำให้น้ำหนักสมดุล หัวไม่ทิ่ม ไม่ลอย เมื่อ 30 ปีที่แล้วอายุ 11 ขวบผมทำของเล่นขายสนุกมาก ผมเคยพยายามทำเครื่องปั่นไฟ แต่ไม่สำเร็จหรอก

พ่อแม่อยากให้ผมเป็นหมอ ผมเคยสอบติดแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่เอา ผมไปเรียนฟิสิกส์ที่อเมริกา อยากเป็นนักประดิษฐ์ อยากทำอะไรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอนแรกผมก็เลือกไม่ถูกว่า ผมจะเป็นนักคณิตศาสตร์หรือนักชีววิทยา เพราะปีแรกไม่ต้องเลือก พอได้ลองเรียน ผมก็รู้ว่าฟิสิกส์เหมาะกับผม เวลาผมจะทำอะไร ผมจะหมกมุ่นทำจริงจัง

คุณเป็นคนหนึ่งที่เรียนเร็วกว่าคนทั่วไป?
เมื่อมองกลับไปที่เด็กๆ อาจมีเด็กที่อยากทำอะไรที่สร้างสรรค์ ผมคิดว่า คนเราไม่จำเป็นต้องสู้ในกฎเกณฑ์ เพราะเรียนจบเร็วก็ไม่ได้ทำอะไรให้โลก ผมเองเป็นคนดื้อเงียบ ถ้าไม่เห็นด้วยกับเรื่องอะไร ผมก็เรียนรู้เอง ผมไปหาหนังสือภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาอ่าน พอภาษาอังกฤษดี ผมก็ค้นหาเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม คิดต่อเรื่องนั้นๆ ได้เอง

ตอนเรียนที่อเมริกา คุณทำงานด้วยไหม
ผมทำงานในห้องแล็บ ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ผมเป็นพวกเนิร์ดๆ บ้าระดับหนึ่ง ตอนเรียนฟิสิกส์ปี 2 ผมก็เริ่มคิดเรื่องระบบกฎแห่งกรรม อยากรู้ว่า กฎแห่งกรรมจะทำงานได้ยังไง ในสไตล์แบบไทยๆ ระบบนี้จะเก็บความดีความชั่วยังไง จะประยุกต์ใช้ทั้งจักรวาลได้ไหม ผมมองว่าไม่มีระบบกลางอะไรหรอก ถ้าจะเก็บ เรื่องการทำดีทำชั่ว ต้องเก็บในสมองเรา นอกจากวิทยาศาสตร์ ผมชอบประวัติศาสตร์ ตอนนั้นผมได้ทุนทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก ที่ผมเรียนมีคนไทยน้อยมาก

คุณต่างจากเพื่อนๆ ไหม
ส่วนใหญ่คล้ายๆ กัน คนที่นั่นคุยกันแต่เรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อนผมเนิร์ดๆ แบบนี้ การเรียนรู้ก็ได้จากการทำการบ้าน เพราะตอนทำไม่รู้ว่าจะมีคำตอบหรือเปล่า อย่างเรื่อง การเกิดกาแลคซี่ ต้องมีสิ่งจำเป็นอะไรบ้าง ซึ่งการบ้านแบบนี้เป็นคำถามเปิดที่ยากมาก ไม่ว่าปัจจัยจากการชน การกระจาย มวลสารที่ทำให้เกิดกาแลคซี อาจารย์อยากรู้ว่า เราจะแก้โจทย์อย่างไร ก็ไม่ได้คาดหวังว่า เราจะแก้ได้หรอก ผมก็เรียนรู้ว่า ปัญหาส่วนใหญ่ไม่มีคำตอบ

คุณเรียนเก่งไหม
ผมเรียนดีมาก ผมมีความสุขกับสิ่งที่ผมชอบ ถ้าจะเรียนวิทยาศาสตร์ ต้องมาเรียนที่ CalTech นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ เยอะ ผมก็ทำงานในห้องแล็บ เคยมีช่วงหนึ่งผมไปทำงานกับบริษัทการเงิน ทำโมเดลสถิติเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตรา บริษัทนี้เพื่อนชาวเวียดนามทำอยู่ เขาเห็นว่าผมมีความรู้เรื่องนี้ ก็ให้มาช่วย ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน ทำให้ผมวิเคราะห์การลงทุนได้ ผมก็ทำโมเดลวิธีทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการลงทุน ผมก็นำความรู้เหล่านี้มาใช้กับการลงทุนของผมด้วย ผมได้เงินปันผลมาลงทุนกับกิจการ

ตอนผมทำงานในห้องแล็บ ตอนนั้นอเมริกาจะทดลองสร้างเครื่องเร่งอนุภาค เมื่อชนกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้เครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์และยุโรป พวกเขาตั้งโจทย์ไว้ในการศึกษากฎเกณฑ์ธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เมื่อชนกันแล้ว เกิดเศษซากจะวัดผลยังไง ตอนนั้นผมยังเรียนปริญญาตรี ปรากฎว่า ตอนหลังไม่สร้างเครื่องนั้นแล้ว ทั้งๆ ที่ใหญ่กว่าเซิร์น ฟิสิกส์อนุภาคที่ตอนนี้ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการทดลองที่เท็กซัส น่าจะใหญ่กว่า แต่หยุดทดลองไปก่อน เพราะมีปัญหาเรื่องเงิน

เพราะความอยากรู้อยากเห็น คุณก็เลยเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ?
ตอนเด็กๆ พ่อแม่ผมพาไปเที่ยงฮ่องกง ผมซื้อคอมพิวเตอร์เล็กๆ ที่จะเอามาเล่นเกม และผมชอบอ่านวิธีการใช้งาน ก็เลยรู้ว่า เขียนโปรแกรมได้ด้วย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คอมพิวเตอร์หมื่นกว่าบาทแพงมาก สิ่งที่ผมได้ประโยชน์อย่างไม่คาดคิด ก็คือ เวลาผมจะเขียนโปรแกรมหรือเล่นเกม ผมต้องอ่านภาษาอังกฤษ ผมจึงเรียนรู้ภาษาจากคู่มือ ผมนั่งอ่านไปเรื่อยๆ ทำให้เขียนโปรแกรมได้ ผมหัดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 12 พอเรียนจบปริญญาตรี ผมเขียนโปรแกรมเป็นอาชีพได้ เมื่อเรียนปริญญาเอก มีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้มีเวลาคิดทำโน้นนี่ ฝึกทำซอฟแวร์ขายตอนเรียน จนผมมาทำธุรกิจกับเพื่อน ทำซอฟแวร์ขายมาสิบกว่าปีแล้ว ผมทำเรื่องเสริชหาข้อมูลก่อนที่จะมีกูเกิล ผมก็เลยไม่ได้เป็นนักวิจัย แม้ผมจะทำซอฟแวร์ได้เก่ง แต่ก็ยังห่วย

มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ถือว่าคุณได้เปรียบคนอื่น ?
บางทีคนได้เรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ไม่ได้ทำให้เก่งขึ้นหรอก อยู่ที่ตัวเรา ปัจจัยแวดล้อมต้องไม่เลว คนเราทำตามศักยภาพตัวเอง และนั่นทำให้เราจัดการศึกษาเอง เพราะระบบการศึกษาที่รัฐทำไม่ดีพอ ครูหนึ่งคนกับเด็กจำนวนมากแล้วจะสอนอะไรได้ ผมเห็นสิ่งเหล่านี้ ตอนผมจะส่งลูกเข้าโรงเรียน เมื่อผมเอาลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลที่ไม่เร่งเรียน ก็ได้เห็นว่า การพัฒนาเด็กควรเป็นไปตามธรรมชาติ ผมไม่เห็นด้วยที่เรียนอนุบาลแล้วต้องกวดวิชา เพื่อเข้าประถม 1 ผมว่ามันแย่ เพราะเด็กไม่ได้เล่น ไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้่อ แม้เด็กจะบวกลบเลขเก่ง ทักษะการเล่นไม่ดีเลย

เมื่อมีลูก คุณก็เลยสนใจเรื่องการศึกษา ?
ผมสอนสอนฟิสิกส์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้ลูกศิษย์รุ่นแรกเป็นอาจารย์แล้ว ผมพยายามสื่อสารเรื่องยากๆ ให้นักศึกษาเข้าใจ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็น ก็คือ ครึ่งหนึ่งของนักศึกษาที่เรียนมหาวิทยาลัย ไม่อยากเรียนเพิ่มแล้ว เพราะอ่อนล้ากับระบบการเรียน ผมเข้าใจว่า พวกเขาถูกยัดเยียดวิชาการ ตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่หลายอย่างในโลกเปลี่ยนไปแล้ว มีคอร์สออนไลน์จากมหาวิทยาลัยดีๆ มีความรู้เต็มไปหมด แต่คนรุ่นใหม่อยากเรียนรู้หรือเปล่า สำคัญที่สุดคือ เวลา

เด็กๆ เรียนวิชาการเยอะไป ?
ผมเห็นจากลูกคนอื่น ลูกผมเอง ผมสนับสนุนให้เล่นเยอะๆ เราไม่มีกิจกรรมเครียดๆ ไม่อัดความรู้เยอะๆ

คุณสอนลูกอย่างไร
ผมสอนให้ลูกไม่เชื่อใครง่ายๆ หลอกเขาเยอะๆ อย่างเหรียญควอนตัมที่เป็นโลหะ มีคนบอกว่า ให้กำเหรียญแล้วจะแข็งแรง สุขภาพดี วิธีหลอกของผมคือ ให้กำเหรียญควอนตัม แล้วให้เขากางแขนแล้วยกขาข้างหนึ่ง แล้วกดแขน กดไม่ลงหรอก เพราะมีแรงต้าน แต่ถ้าไม่กำเหรียญ กดแล้ว ล้มเลย คนทั่วไปก็คิดว่า เป็นเพราะเหรียญ จริงๆ แล้วเป็นวิธีกด คานดีด คานงัด ตามหลักวิทยาศาสตร์ ถ้าจะกดไม่ให้ล้ม ต้องกดเข้าหาตัว ผมก็ให้ลูกทดลอง

สอนไม่ให้เชื่อใครง่ายๆ ?
ลูกผมไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์แน่นอน ผมพยายามสอนลูกว่า เราควรจะทำดีเพราะอะไร เพราะเราเป็นสัตว์สังคม เมื่อทำดีแล้ว คนอื่นก็มีความสุขไปด้วย คือ มีคนพยายามหลอกเด็กว่าทำแบบนี้จะตกนรก ผมว่าหยาบไป ควรจะอธิบายว่า ที่เราไม่ทำชั่ว เพราะทำให้คนอื่นรู้สึกแย่

จึงเป็นที่มาของพ่อแม่ที่ร่วมกันจัดการศึกษาให้ลูก ?
เมื่อลูกเรียนอนุบาลไม่เร่งเรียน ตอนนั้นผมเป็นคุณพ่ออาสา ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์สอนเด็กอนุบาลทุกวันอังคาร ซึ่งเวลาเดินเข้าไปในโรงเรียน เด็กๆ ก็จะตะโกนว่า พ่อโก้ๆ ผมสอนให้เด็กๆ คุ้นเคยกับวิทยาศาสตร์และปรากฎการณ์ธรรมชาติโดยไม่เน้นเนื้อหา ลงมือทำอุปกรณ์เล่นเอง ทำคอปเตอร์กระดาษ จากนั้นผมก็ตั้งคำถามว่า มันหมุนได้ยังไง ผมก็พยายามชี้นำว่า ลองเอามือโบกๆ หรือเอาลมพัด เด็กก็เริ่มเรียนรู้ ผมทำให้เด็กเห็น และไม่ได้หวังว่า เด็กจะจำหรือเข้าใจ แต่เด็กๆ ได้เห็นบางอย่าง ผมชอบเอาของเล่นไปเล่นกับเด็กและอธิบายว่า มันทำงานยังไง

ยกตัวอย่างสักนิด ?
ผมเอาลูกข่างไปเล่นกับเด็ก เพื่อให้เขารู้ว่า ลูกข่างทำงานยังไง ทำไมไม่ล้ม เป็นหลักการที่ลึกซึ้งมาก กฎเกณฑ์ของธรรมชาติไม่ขึ้นกับการมองในมุมต่างๆ ซึ่งปริมาณการหมุน ก็คือ โมเมนตัมเชิงมุม ปริมาณการหมุนจะคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เราเห็นลูกข่างหมุนไปพักหนึ่ง แกว่งแล้วล้ม เด็กโตก็จะคิดต่อว่า ที่ลูกข่างไม่ล้มและหมุนช้าลง เพราะแรงเสียดทานหรือเปล่า ที่ล้มเพราะแรงโน้มถ่วงของโลกหรือเปล่า ผมก็จะบอกว่า สิ่งที่หมุนในจักรวาลมีอีกเยอะ โลกหมุนเป็นพันๆ ล้านปี แล้วกาแลกซี่ทั้งหมด กฎเดียวกัน สามารถอธิบายตั้งแต่สิ่งของเล็กๆ จนถึงจักรวาล เมื่อเราเข้าใจเรื่องพวกนี้ ก็จะเข้าใจจักรวาล

สอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กเรียนชั้นอนุบาลและประถม ไม่เร็วเกินไปหรือ
ดร.โก้ -ผมสอนมา 10 ปีแล้ว สอนแบบอาสา ทั้งเด็กอนุบาลและเด็กประถม
สุทธิพร -ตอนนั้นลูกชายคนโตอยู่อนุบาล 1 พ่อโก้ก็สอน และตามไปสอนประถมหนึ่ง จนเขามาเปิดโรงเรียนโฮมสคูล คือ กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม
ดร.โก้ - เด็กๆ พวกนี้มีความคิดอยากทำโน้นทำนี่ ประดิษฐ์สิ่งของ แก้ปัญหาชีวิตประจำวัน อย่างอุปกรณ์ป้องกันน้ำมันกระเด็น ถุงมือล้างจาน เด็กๆ ก็ทำเอง เราก็ให้เขาคิดสิ่งประดิษฐ์ในชีวิตประจำวัน
สุทธิพร-เด็กๆ เอาท่อพีวีซีมาต่อ เพื่อทำเป็นที่ตั้งกระดาน ต่อมาพัฒนาเป็นล้อเครื่องที่ได้ พวกเขาประดิษฐ์ที่จับยุง เอามอเตอร์ติดกับกระป๋องนมติดตาข่าย ดูดยุงเข้าไปเก็บ แล้วถอดออกมาได้ แต่ปรากฎว่ามอเตอร์แรงไป ยุงตายหมด (หัวเราะ)

ลูกๆ คุณ พัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง
ดร.โก้ -ในอนาคตเด็กจะมีความอยากเรียนรู้ และมีความสามารถ เด็กๆ เหล่านี้ มีเวลามากกว่าเด็กในระบบการศึกษาปกติ
สุทธิพร - ลูกคนโตจะชอบประดิษฐ์ของเล่น เครื่องดีด ยิ่งธนู ลูกคนรอง ชอบทำขนม ส่วนลูกผู้หญิงคนสุดท้อง ชอบต่อเลโก้ 400 ชิ้น นั่งทน เพราะเด็กสนุกไปกับทุกเรื่องรอบตัว พวกเขาชอบฟังและอ่าน แล้วก็ต่อยอดด้วยตัวเอง

อะไร คือปัญหาการเรียนรู้ของเด็กไทย
เราใช้เวลาเรียนเยอะเกินไป แต่เด็กไม่รู้จริง สอบเสร็จก็ลืม เด็กไม่มีเวลาย่อย เรียนจบแล้วมีความรู้ติดตัวน้อยมาก

คุณคาดหวังอะไรกับลูกๆ
เราหวังว่า เมื่อเขาโตแล้ว จะมีเรื่องที่เขาสนใจและทำได้เอง ตอนนี้เราก็พยายามให้เขาเห็นกว้างๆ ว่าในโลกมีอะไรบ้าง ทุกสัปดาห์ผมพยายามหาคลิปแปลกๆ เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในโลกมาสอนเด็กประถม อย่างเรื่องราวเครื่องทำแพนเค้ก หรือหุ่นยนตร์นั่งวาดรูปชายหาด ขาเทียมพิเศษมีมอเตอร์ใช้สัญญาณจากกล้ามเนื้อ ทำให้คนสามารถเดินได้ปกติ เพื่อให้เห็นว่า โลกนี้มีของวิเศษอีกเยอะที่ไม่ถูกสร้าง

เคยมีพ่อแม่เด็กมานั่งดูดร.โก้สอนไหม
พ่อแม่เด็กก็ได้เรียนรู้ไปกับเด็ก พวกเขาบอกว่า ตอนเด็กๆ อยากให้มีครูสอนแบบนี้ หน้าที่ผมไม่ได้เอาความรู้ไปใส่หัวเด็ก ผมอยากให้เด็กมีความสนใจ แล้วมีความฝัน กล้าทำ ผมเอาของเล่นมาเล่นกับเด็ก ผมต้องเตรียมสิ่งของที่จะนำมาประดิษฐ์ ต้องเป็นของหาไม่ยาก ทำไม่ยาก ผมก็ลองผิด ลองถูก ผมสอนทุกวันอังคาร ผมสอนแล้วบันทึกไว้ในเวบไซต์ อยากให้คนลองไปทำ

เด็กไทยเรียนวิทยาศาสตร์แบบท่องจำ จึงไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เรียน คุณมีคำแนะนำไหม
ดร.โก้ -คนส่วนใหญ่เรียนฟิสิกส์ แล้วเจอโจทย์ยากๆ ไม่เจอสิ่งที่สนุก ก็ไม่อยากเรียน จริงๆ แล้วควรเอาปรากฎการณ์ธรรมชาติ มาอธิบาย ตอนนั้นผมเรียนสนุกมาก เพราะสมองผมชอบแบบนั้น แต่คนส่วนใหญ่เจอโจทย์ยากๆ ต้องทำเยอะๆ พวกเขาก็ไม่เอาแล้ว
สุทธิพร - เคยไปดูพ่อโก้สอน เรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ถ้าเรียนในระบบต้องทำโจทย์คำนวณออกมา แต่ที่นี่พ่อโก้ทดลองโดยการแกว่งลูกตุ้มให้เด็กๆ ดู ให้เด็กทดลอง คิด เคยชินกับสิ่งที่ทำ
ดร.โก้ - เด็กก็จะเห็นว่า ลูกตุ้มที่มีความยาวมากกว่า จะแกว่งช้า ส่วนลูกตุ้มที่ความยาวสั้นกว่าจะแกว่งเร็ว เราให้เด็กทดลองแกว่งลูกตุ้มไป 1 วินาที กลับ 1 วินาที ให้เด็กคำนวณว่า ต้องใช้ลูกตุ้มที่มีความยาวแค่ไหน ผลการทดลองนี้ เด็กได้เห็นความเร่งของแรงโน้มถ่วง

รู้ทฤษฎี ลงมือทำ การเรียนรู้จึงเกิดขึ้น ?
ให้เรียนรู้จากการมองสิ่งของแต่ละชิ้นรอบๆ ด้าน อย่างการศึกษาในอเมริกา เด็กๆ บางทีก็คิดว่า เรียนทฤษฎีไป ไม่รู้จะใช้ยังไง ถ้าเรียนแบบนี้ก็มีปัญหา หลายประเทศมีปัญหาเรื่องการศึกษา เด็กไทยเองก็เรียนเยอะ แต่ใช้การไม่ได้ ครูต้องทำกิจกรรมอื่นๆ เยอะ ไม่ค่อยมีเวลาสอน

ระบบการศึกษาไทย มีปัญหาตรงไหน
เมื่อ 15 ปีที่แล้วผมพุูดเล่่นๆ ว่า เรากำลังเรียนแบบสิ้นชาติ เด็กเกิดมามีศักยภาพทำอะไรเยอะแยะ แต่การศึกษาไทยทำให้เด็กเป็นหุ่นยนตร์ คิดต่อไม่เป็น ไม่กล้าทำโน้น ทำนี่ เพราะมีคนบางกลุ่มที่กำหนดกรอบการเรียน นั่นคือ ความหมายของการสิ้นชาติ

ถ้าจะพัฒนาการเรียนวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย ต้องทำอย่างไร
ดร.โก้ -ต้องลดเนื้่อหาครึ่งหนึ่ง เพราะเนื้อหาเยอะไป และระบบการคัดเลือกที่ประหลาดๆ คือ เวลาสอบตั้่งโจทย์ความรู้เกินจากที่เด็กเรียนมา ทำให้เด็กต้องไปเรียนกวดวิชา เพื่อไปสอบ แต่ไม่ได้รู้ลึกซึ้ง แค่วัดทักษะการทำข้อสอบ ผมไม่รู้จะแก้ยังไง ผมจึงมาทำตรงนี้ ผมเข้าใจว่า ปัญหาการศึกษา ยากมหาศาล ไม่อย่างนั้น แก้ไปแล้ว
สุทธิพร -ระบบการศึกษาไทย เน้นใครรู้มากกว่ากัน ใครจำแม่นกว่ากัน ใครทำโจทย์ยากได้มากกว่ากัน เด็กประถม 6 แทนที่จะรู้เนื้อหาแค่นั้น ต้องมีความรู้ระดับมัธยมเพื่อไปสอบ จริงๆ แล้วเนื้อหาไม่ต้องยาก แต่เด็กต้องลงมือทำเยอะๆ