หุ่นจำลองพระราชวังหลวง

หุ่นจำลองพระราชวังหลวง

จากแบบจำลองสามมิติที่เรามักจะได้เห็นในเฟซบุ๊คของ สันติ เล็กสุขุม อยู่บ่อยๆ วันนี้ได้ออกมาสู่ในรูปแบบหุ่นจำลองสันนิษฐานของพระราชวังหลวง

 แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการสนับสนุนของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีพิธีเปิดและส่งมอบอาคารและสื่อการเรียนรู้ไปเมื่อ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา

จากซากปรักหักพังของโบราณสถานที่เหลือเพียงฐานราก เราต้องใช้จินตนาการบนพื้นฐานของความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี มาสู่หุ่นจำลองที่ช่วยเติมเต็มภาพความคิด พร้อมรายละเอียดที่เปิดภาพในอดีตขึ้นมาอีกครั้ง

ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม กล่าวว่า “เดิมทีภายในบริเวณพระราชวังหลวงเป็นซากโบราณสถานซึ่งร้อยวันพันปีไม่ค่อยมีคนเข้ามา กลายเป็นที่รกร้างจริงๆ ทำยังไงถึงจะทำให้คนสนใจเพราะเข้ามาก็มาชมแค่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์แล้วก็จบ ทำอย่างไรให้คนสนใจพระราชวังโบราณซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระราชธานี ศูนย์กลางของความศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์กลางของการปกครอง และทุกอย่าง นี่คือโจทย์หลัก”

ดังนั้นอาจารย์จึงเริ่มต้นสำรวจพื้นที่ในอาณาเขตพระราชวังหลวงทุกตารางนิ้ว พร้อมกับศึกษาบันทึกของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้มีชื่อเสียงด้านการบุกเบิกประวัติศาสตร์กรุงเก่า คำให้การกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด จากนั้นมาเขียนเป็นแผนผังโดยอาศัยข้อมูลจาก ประทีป เพ็งตะโก ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เมื่อครั้งเป็นนักโบราณคดีอยู่ทำงานขุดค้นในอยุธยามาเป็นเวลานับสิบปี

 "ผมเดินสำรวจ วิเคราะห์ตีความว่าอะไรน่าจะใช่ อะไรน่าจะไม่ใช่ ในประเด็นความเห็นของพระยาโบราณ และคุณประทีป เพราะสิ่งที่เหลืออยู่เป็นซาก บางส่วนมีการต่อเติมภายหลัง แม้แต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีการปรับปรุงหลายๆอย่าง รวมทั้งการบูรณะของกรมศิลปากรด้วยทำให้หลักฐานทุกอย่างที่เราคิดว่าเป็นหลักฐานเบื้องต้นของซากโบราณสถานมันไม่ใช่เสียแล้ว เพราะว่า มันถูกแตะต้องปรับปรุงไแล้ว เราต้องมาพยายามทำความเข้าใจ เนื่องจากมีข้อมูลลวงอยู่เยอะเพราะว่าการซ่อมสมัยอยุธยา สมัย 300-400 ปีมาแล้ว

ผมศึกษาด้วยการอ่านเอกสารโบราณว่ารูปทรงเป็นอย่างไร เช่น คำให้การกรุงเก่าที่เล่าไว้ว่าอาคารเหล่านี้มีลักษณะเป็นอย่างไร เช่นมียอดแหลม มีห้ายอด ใช้ประสบการณ์ ข้อมูลของเราที่ทำเรื่องศิลปะอยุธยา นำมาผสมผสานออกมาเป็นรูปทรงสันนิษฐาน ไม่พยายามเลียนแบบพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นแบบจำลองของรัตนโกสินทร์ไป

แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำลักษณะบางอย่างที่น่าจะเป็นไปได้มาใช้เช่น พระมหาปราสาทองค์หนึ่ง คือ พระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ เรารู้ว่าในรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งตามแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สร้างไปไม่นานฟ้าผ่าไฟไหม้หมด เลยให้สร้างหลังใหม่จำลองแบบพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ ไปสร้างเป็นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กรณีนี้ไม่ใช่เป็นการก้อปปี้เลียนแบบ แต่เป็นการนำแรงบันดาลใจบางอย่างไป

พอเราทราบอย่างนั้น ที่อยุธยาเหลือแต่ฐานเราจึงไปดูที่พระที่นั่งดุสิต มาคิดว่าถ้าเป็นสมัยอยุธยาอันไหนควรเพิ่ม ควรลด สิ่งไหนควรมากควรน้อย โดยดูจากซากอิฐด้วยผสมผสานกัน ข้อสรุปจึงเป็นรูปแบบสันนิษฐาน เพราะว่าเราเกิดไม่ทัน ฉะนั้นเราดูรูปแบบนี้แล้ว เราจึงดูแบบจินตนาการไม่ใช่ว่าเหมือนจริง"

แม้ว่าจะเป็นหุ่นจำลองรูปแบบสันนิษฐานที่อาจารย์ย้ำเสมอว่า ไม่ใช่ว่าจะเป็นจริงดังที่จำลองมาให้ชมทุกประการก็ตามที หากหุ่นจำลองกว่า 500 ชิ้น ก็ได้ทำหน้าที่จำลองบรรยากาศของพระราชวังหลวงเมื่อครั้งที่ยังเป็นศูนยกลางการเมือง การค้าที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง

“เล่าเรื่องโดยข้อจำกัดที่พระยาโบราณราชธานินทร์เขียนไว้ เช่น ตำแหน่งนี้คือพระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตำแหน่งนี้คือพระที่นั่งจักรวรรดิไพรชยนต์ เชื่อกันว่าใครสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ฉะนั้นรูปแบบที่เรานำมาสันนิษฐานกับฐานที่เหลืออยู่ เราจึงไปนำยอดของเมรุราย จากวัดไชยวัฒนารามซึ่งเรารู้ว่าสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททองมาใส่ เพราะอย่างน้อยสุดมีข้อมูลเชื่อมโยงกันได้ ส่วนพระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตำแหน่งอยู่ข้างหน้า เราตรวจสอบพบว่ามีการบูรณะครั้งใหญ่สมัยพระเจ้าปราสาททองเราจึงทำยอดเหมือนกัน พระที่นั่งสรรเพชรปราสาท” อาจารย์อธิบายถึงวิธีการทำงานก่อนนำมาเขียนแบบเป็นรูปทรงสามมิติ แล้วส่งต่อให้วิศวกรและสถาปนิกรับหน้าที่จัดทำหุ่นจำลองจากเครื่องพิมพ์สามมิติ แล้วนำมาประกอบเป็นแผนผังของพระราชวังโบราณของกรุงศรีอยุธยาที่ประกอบไปด้วยอาคารกว่า 500 หลัง

" เราเลือกใช้สีขาวเพราะว่าเราอยากบอกว่าเราทำงานโดยใช้จินตนาการจากข้อมูล ความรู้ความเข้าใจจากประวัติศาสตร์ศิลปะหลายๆแห่งประมวลให้เข้ากับเงื่อนไขของมัน ผมพูดเสมอว่าผมเกิดไม่ทัน ผมไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แต่ผมพยายามทำตามข้อมูลและใส่จินตนาการเข้าไปเพราะว่าข้อมูลไม่เพียงพอ เหตุนี้จึงมีคนถามว่าทำไมถึงไม่ระบายสีเหมือนจริง อย่างนั้นจะทำให้คนเชื่อว่าเป็นอย่างนี้จริงมากยิ่งขึ้น ผมไม่ต้องการอย่างนั้น ผมอยากให้คนที่มาดูเกิดคำถามว่าทำไมมันจึงเป็นแบบนี้ หาคำตอบได้ หรือไม่ได้ ยังดีกว่าการเชื่อโดยยอมจำนนแล้วคิดอะไรไม่ได้เลย

ผมพูดเสมอว่าว่าถ้างานนี้ทำแล้วคนเชื่อแปลว่าผมล้มเหลว ถ้าไม่เชื่อเกิดคำถามผมคิดว่าผมสำเร็จ"

ไปชมหุ่นจำลองรูปแบบสันนิษฐานได้ที่พระราชวังหลวง รวมทั้งป้ายรูปแบบสันนิษฐานรวมทั้งแบบจำลองเพื่อการสื่อสารได้ที่ วัดพระราม วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดใหญ่ชัยมงคล และวัดแม่นางปลื้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เชื่อว่าจะทำให้การเที่ยวอยุธยาสนุกมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

พึงระลึกไว้ว่าอย่าเชื่อ แต่จงตั้งคำถาม


ภาพ : โศจิเรข คูรัตน์ , ปรียานุช เส็งหะพันธุ์