โศกนาฏกรรมแห่ง 'มังงะ'

โศกนาฏกรรมแห่ง 'มังงะ'

ถามคอการ์ตูนทั้งหลาย.. คุณรอหนังสือเล่มโปรดครั้งสุดท้ายนานเท่าไหร่ ? หรือที่จริง ไม่ต้องรออะไร แค่คลิกโหลดง่ายๆ ก็ได้อ่านฟรี

เฮือก!! ผ่าง!! เปรี้ยง!! ถ้าเป็นภาษาการ์ตูนก็คงต้องใช้เอฟเฟคต์ทำนองนี้แบบตัวใหญ่ๆ เมื่อหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในบ้านเราถึงคราวถดถดอยอย่างรุนแรง ทั้งลดจำนวนพิมพ์การ์ตูนลง กระทั่งถึงเลิกพิมพ์เลยก็มี

ว้า!? ทำไมถึงเป็นยังงี้ ไม่ถามแฟนๆ ซักคำ!!! น่าเสียใจนะ แต่เอ๊ะ! แล้วอีกหน่อยเราจะไม่ได้จับการ์ตูนเล่มๆ แล้วใช่มั้ย อ้าววว แล้วที่ซื้อเก็บๆ ไว้ มันจะครบชุดเหรอ ตายละวางานนี้!?

สำหรับแฟนการ์ตูนญี่ปุ่นที่สู้อุตส่าห์สะสมเล่มโปรดมาเป็นแรมปี แน่นอนว่า หลายคนย่อมผ่านยุคตั้งตารอว่าเมื่อไหร่การ์ตูนเล่มต่อจะวางแผงสักที รอกันเป็นเดือนๆ ก็เคยมาแล้ว แต่ก็ไม่เคยรู้สึกหมดหวังเท่ากับตอนนี้ที่บางเล่มเลิกพิมพ์ไปเสียเฉยๆ

แต่นี่มันยุคดิจิทัลนะ โหลดสิ.. จะรออะไร !!

 

เพื่อนรักวัยเยาว์

“สมัยก่อนอ่านการ์ตูน เราไม่รู้ เราต้องรอว่าเรื่องไหนจะออก ต้องซื้อ (แมกกาซีนการ์ตูน) รายสัปดาห์ตามตลอด” ชล อุดมพานิช ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ที่เป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี เล่า เขาโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นที่ต้องคอยแวะทั้งร้านซื้อร้านเช่าระหว่างทางไปโรงเรียน ค่าขนมของเขาครึ่งหนึ่งก็จะถูกแบ่งมาเป็นค่าหนังสือการ์ตูนอยู่บ่อยๆ

“การ์ตูนทุกเรื่องไม่ใช่จะลงในนิตยสารรายสัปดาห์ เราจะไม่รู้ว่ามาเมื่อไหร่ เราต้องคอยตามๆๆ ร้านการ์ตูนเขาจะวางปกใหม่ๆ ไว้ด้านหน้า เราดูปุ๊บ เราก็จะรู้เลยว่า วันนี้อะไรออก” ชลเล่าต่อ

จากวัยประถมที่อ่านการ์ตูนของพี่ก็กลายเป็นเลือกซื้อเองในวัยมัธยม และมีติดกระเป๋าไปโรงเรียนสำหรับอ่านเวลาพักและแบ่งให้เพื่อนคอเดียวกันอ่าน จนปัจจุบันเขามีการ์ตูนเก็บสะสมไว้กว่า 8,000 เล่ม หากจะถามว่า ชอบอ่านเรื่องอะไร ก็เหมือนเป็นปัญหาโลกแตก เพราะเรื่องไหนๆ เขาก็ตามอ่านหมด

"สมัยก่อนสำนักพิมพ์มิตรไมตรี ทำการ์ตูนรายสัปดาห์ชื่อ The Talent เป็นเทคนิคการพิมพ์ที่สุดยอด เขาส่งทีมงานคนนึงไปอยู่ญี่ปุ่น ให้ซื้อหนังสือการ์ตูนมา แกะเล่มออกแล้วสแกน ส่งแฟกซ์กลับมาที่ไทย ที่ไทยก็แปล มีเวลาแปล 1 วัน ทำอีก 1 วัน พิมพ์แล้วก็ขาย ใช้เวลา 5 วัน แฟกซ์สภาพมายังไง หน้าพับ เบี้ยว อะไรมา ก็อ่านยังงั้น สมัยก่อนเขาแข่งกันด้วยความเร็ว ทำเรื่องดรากอนบอลแข่งกัน 3 เจ้า ก็ผิดลิขสิทธิ์แหละ เราก็อ่านเพราะมันเป็นกระแสของเด็กในยุคนั้น ก็เริ่มติดตาม จนกระทั่งเริ่มมาอ่านโดเรมอนดูในทีวีมันสนุก เราก็มาอ่านในหนังสือการ์ตูนบ้าง เพราะว่ามันมีตอนที่ไม่มีในทีวี" ชลเล่าถึงการผจญภัยไปในอีกโลกผ่านภาพและตัวอักษร

ช่วงยุครุ่งเรื่องของการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งร้านเช่า ร้านหนังสือ แผงขายหนังสือ จะเป็นที่โปรดปรานของเด็กๆ อย่างเขาเอง ถ้ามีเล่มไหนที่ไม่อยากเก็บหรือซื้อไม่ทัน แต่อยากรู้เรื่อง ก็จะไปตามหาที่ร้านเช่า

สำหรับ ปลา-อาศิรา พนาราม อีกหนึ่งคอการ์ตูนที่อ่านมาเกือบ 30 ปี เริ่มต้นจากการ์ตูนรักหวานแหวว มาสู่การ์ตูนกีฬา การ์ตูนนักสู้ สืบสวน ฆาตกรรม ไปจนถึงเรื่องผีๆ และแนวอาหาร แต่ถ้าถามหาการ์ตูนโปรดในดวงใจ ปลาบอกว่า ขอยกให้ผลงานของ อ.ชิโนฮาร่า จิเอะ คือ “ที่สุด”

“จริงๆ เริ่มต้นคืออ่านการ์ตูนผีเล่มละบาท แล้วมีอยู่วันนึง ที่แผงหนังสือเล็กๆ ที่ซื้อประจำ อยู่ดีๆ ก็มีการ์ตูนญี่ปุ่นวางขาย เราตอนนั้นอยู่ ป.3 ก็แบบกรีดร้องมาก วิ่งกลับบ้านไปแคะกระปุกมาสิบกว่าบาทมาซื้อกลับไปอ่าน ทั้งๆ ที่มันเป็นการ์ตูนเรื่องความรัก ที่ไม่ได้เหมาะกับเด็กประถมเลย แต่ไม่สนใจ เพราะมันเป็นอะไรที่อยากอ่านมานานแล้ว” เธอเล่า

จนเมื่อได้เข้ามาเรียนต่อ ม.1 ที่กรุงเทพฯ โลกการ์ตูนของเธอก็เปิดกว้างขึ้น "ซื้อทุกอย่างที่อยากอ่านเลยล่ะ(ยิ้ม) พอยิ่งได้อ่าน ก็ยิ่งรู้ว่า มันมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าความสนุก มันมีทั้งปรัชญาการดำเนินชีวิต การตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต แม้กระทั่งการ์ตูนอย่างซอมบี้มันยังสะท้อนถึงการแย่งที่อยู่ที่ยืนของคนเราเลย ส่วนการ์ตูนอาหารนี่.. อ่านแล้วหิว อย่าง ข้าวกล่องรถไฟ ก็ทำให้เราได้รู้จักอาหารญี่ปุ่นอย่างละเอียดมาก เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นแบบถือหนังสือการ์ตูนไปด้วยเพื่อจะตามรอย แล้วก็พบว่า ไอ้ที่อยู่ในการ์ตูนน่ะ มันเหมือนของจริงเด๊ะเลย คือ ทึ่งมาก" ปลาเอ่ย และบอกว่า ปัจจุบันเธอยังตามซื้อการ์ตูนเล่มโปรดอยู่เหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือ ช่องทางใหม่ๆ อย่างแอปพลิเคชั่น เว็บตูน ที่ทำให้เธอได้รู้จักกับการ์ตูนไทยซึ่งพัฒนาดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

หรืออย่าง น้ำผึ้ง แฟนการ์ตูนวัย 31 ปีที่อ่านการ์ตูนมาตั้งแต่ 7 ขวบ ก็เป็นอีกคนที่อาศัย “ยืมเพื่อนอ่าน” เพื่อจะได้ทันเรื่องราวที่ออกมาใหม่อยู่เรื่อยๆ

“ตอนยังไม่มีลิขสิทธิ์ ตอนนั้นยังเด็กมากก็เลยยืมคนอื่นอ่าน เรื่องไหนชอบมากก็อ่านซ้ำๆ พออายุสิบเอ็ด สิบสอง ก็เริ่มมีการ์ตูนลิขสิทธิ์ออกมา เราก็เก็บตังค์ซื้อเท่าที่ซื้อไหว” น้ำผึ้ง บอก

แต่ “ความฝัน” ที่ตั้งใจจะเก็บการ์ตูนให้ครบชุดของเธอก็ต้องสลายลง เมื่อจู่ๆ สำนักพิมพ์ก็หยุดพิมพ์ และเรื่องราวพวกนั้นก็หาอ่าน “ยาก” และ “แพง” กว่าเดิม

“มีหลายเรื่องที่ไม่มีสำนักพิมพ์พิมพ์ต่อ ก็จะหายไปเลย ถ้าอยากอ่านจริงๆ ก็คงจะต้องไปซื้อฉบับภาษาญี่ปุ่นมาอ่าน” นั่นเพราะยังเป็นความโชคดีที่เธอรู้ภาษาญี่ปุ่น

 

วิถีของแฟน

หนังสือการ์ตูนก็ไม่ต่างจากสิ่งพิมพ์อื่นที่มียอดพิมพ์ดิ่งลง จากการเทียบยอดการพิมพ์การ์ตูนในปี 2558 กับปี 2557 ลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่า จะลดลงเรื่อยๆ หาก “กำลังซื้อ” ของคอการ์ตูนมีไม่มากพอ (ปัจจุบันหนังสือการ์ตูนราคาเฉลี่ยที่ 50-60 บาท) ส่วนใหญ่จึงขยับไปอ่าน “ฟรี” บนออนไลน์กันมากขึ้น

โดยเฉพาะแมกกาซีนการ์ตูนที่ชัดเจนแล้วว่า “ปลิว” ไปก่อนเพื่อน

“ในแมกกาซีน 1 เล่ม อย่างมากที่สุดเราซื้อลิขสิทธิ์มาได้แค่ 6 เรื่องเต็มที่ แต่ของผิดลิขสิทธิ์ที่เขาขึ้นตามเว็บต่างๆ จะมีเป็นสิบเป็นร้อยเรื่อง มันเริ่มจากลักษณะเป็นแฟนคลับ นิตยสารหรือหนังสือออกมาก็จะมีคนสแกน แล้วมีฝรั่งที่อ่านภาษาญี่ปุ่นได้ ไปแปลเป็นภาษาฝรั่ง ก็ลบตัวภาษาญี่ปุ่นออก แล้วใส่เป็นภาษาอังกฤษเข้าไป ทีนี้มันแปลไปทั่วโลกไง ก็เลยไปสร้างตลาดใหม่” อิศเรศ ทองปัสโณว์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารการ์ตูน ‘BOOM’ เท้าความให้เห็นคอมมูนิตี้ในโลกการ์ตูนญี่ปุ่นที่ไม่ง้อสำนักพิมพ์มาเป็นระยะหนึ่งแล้ว

ความเป็นแฟนทำให้อยากรู้เรื่องในการ์ตูนที่กำลังตามติดให้ทันคนอื่น การจะรอให้กว่าจะพิมพ์เป็นเล่มจึงไม่ใช่วิถีของ “ตัวจริง” เท่าไหร่ และนี่ก็ส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิตการ์ตูนญี่ปุ่นในไทย

คอนเทนต์สำคัญมากที่สุด คนอยากดูเนื้อหา ไม่ได้อยากเก็บสสาร มันจะกลายเป็นของสะสมเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แฟนการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างชลร่วมเสริม

เขาก็เป็นคนหนึ่งในหลายๆ คน ที่ปัจจุบันติดตามอ่าน “สปอยล์” (บอกเนื้อหาสำคัญ) การ์ตูนตามเว็บไซต์ต่างประเทศทันทีที่เรื่องนั้นๆ หน้านั้นๆ ถูก “ปล่อย” ออกมา ไม่ว่าจะเป็นในภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ หรือไทยก็ตาม เขาเปรียบเทียบว่า เหมือนกับการดูฟุตบอลสดกับดูเทปย้อนหลังที่ “อารมณ์” ย่อมต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“อย่างสปอยล์อาจจะไม่ได้สแกนครบทุกหน้า เราอยากรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นต่อไป ในฉากต่อไปจะมีอะไร ไอ้ตัวนี้มันจะเป็นยังไง พอยต์ของมัน คือ เราอยากรู้เรื่องพวกนี้เพื่อที่จะตามทันคนอื่น ถ้าเราจะปิด ไม่ดูพวกนี้ แล้วเจอเพื่อนคนอื่นคุยกันเรื่องนี้ แล้วเราไม่รู้ว่า เราโดนเพื่อนสปอยล์ รู้สึกแย่นะ” ชลเล่าต่อ

แม้จะตามอ่านในโลกออนไลน์อยู่เรื่อยๆ แต่ชลก็ยังเห็นความสำคัญของการ “สนับสนุน” การ์ตูนในแบบที่เป็นเล่ม นิสัยชอบสะสมของเขายังคงอยู่ ทุกๆ เดือนเขาจะมีการ์ตูนญี่ปุ่นเล่มใหม่เก็บใส่เข้าชั้นประมาณ 50-60 เล่ม แล้วแต่ความสนใจ หรือกระแสตอนนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม เขาก็ยอมรับว่า “ยังห่อพลาสติกกองอยู่เป็นตั้งๆ อยู่เลย” หรือบางครั้งก็เคยพบว่า ตัวเองซื้อเล่มซ้ำกันมาถึงสามสี่เล่ม!!

นอกจากจะไม่มีเวลาอ่าน ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะเขารู้เรื่องราวพวกนั้นหมดแล้ว

มันเปลี่ยนจุดมองนะ จากซื้อเพื่อที่จะอ่านคอนเทนต์จริงๆ กลายเป็นตอนนี้เราซื้อเพื่อเก็บสะสมมากกว่า ชลบอก

“ก็ยังซื้อเก็บอยู่เพราะว่าไม่ใช่คนที่อ่านการ์ตูนบนคอมพ์” น้ำผึ้งบอกอีกเสียง

แม้ว่าร้านขายและเช่าการ์ตูนอย่างเดียวจะหายากขึ้น แต่เธอก็ยังขยันซื้อ เพียงแต่ลดจำนวนลง และเลือกเรื่องที่อยากเก็บจริงๆ เท่านั้น

ปัจจุบันแฟนการ์ตูนที่เป็นนักสะสมตัวยงมีน้อยลงกว่าเดิมมาก มีการวิเคราะห์กันว่า คนเจนเนอเรชันที่เป็นกำลังสำคัญในการซื้อ (วัยนักศึกษา-วัยทำงาน) ไม่คุ้นกับการ “จ่าย” ต่อให้เป็นอะไรก็ตามไม่ว่าจะหนัง เพลง การ์ตูน ต่างก็พร้อมจะหันหาทางที่ง่ายและฟรีทันที

“อย่างบาคุแมน (Bakuman) เป็นหนังสือรวมเล่มคอลเลคชัน มันจะต้องผ่านด่านเป็นแมกกาซีนมาก่อน แล้วพอปั้นเป็นแมกกาซีนขึ้นมาถึงจะมารวมเล่ม แล้วตัวนักเขียนเขาจะต้องเป็นผู้ช่วยคนอื่นขึ้นมาก่อน เพราะงั้นมันจะต้องมีหนังสือแมกกาซีนใหม่ๆ เข้ามาเพื่อรองรับตัวนักเขียนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาเป็นอาชีพเรื่อยๆ อุตสาหกรรมถึงจะอยู่ได้ ในลักษณะนี้ เมื่อคนเริ่มเบี่ยงเบนไปอ่านออนไลน์กัน ตัวหนังสือพอขายไม่ออก แมกกาซีนใหม่ไม่งอก มันก็ชะงักทันที” อิศเรศ ร่ายยาวถึงสาเหตุที่ทำให้แมกกาซีนการ์ตูนอยู่ไม่ได้

 

อุปสรรคถาโถม

นอกจากร้านเช่าทั่วประเทศกว่า 8,000 ร้าน ที่เป็นตัวการันตียอดขายของสำนักพิมพ์จะหายไปเกินครึ่ง และพฤติกรรมการยอมจ่ายเพื่อ “สินค้าฟุ่มเฟือย” อย่างการ์ตูนเป็นไปได้ยาก ก็ยังมีอุปสรรคอยู่ที่การขยับตัวของสำนักพิมพ์เองให้ทันโลกออนไลน์

“อุตสาหกรรมหนังสือญี่ปุ่นเขาใหญ่มาก มันเหมือนช้างตัวใหญ่ เวลาขยับตัวมันขยับยาก ทั้งๆ ที่เราอาจจะมองเห็นปัญหาล่วงหน้าแล้วว่า วันหนึ่งพออินเทอร์เน็ตมันมา แล้วมันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดหนังสือเนี่ยด้วยความที่แบบเขาค่อนข้างจะ tradition มากๆ เวลาขยับตัวจะเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ก็ยาก” อดีตบรรณาธิการหนังสือบูมให้ความเห็น

ความเร็วของโลกออนไลน์เหมือนกับ “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ที่แม้สำนักพิมพ์จะใหญ่ และมีประสบการณ์มานานก็ส่อแววจะล้มเอาได้ง่ายๆ ถ้าไม่รีบเปลี่ยนแปลง หลายๆ ที่จึงย้ายคอนเทนต์ไปอยู่บนอีบุ๊คส์บ้างแล้วเพื่อความอยู่รอด และอาจเป็นทางเดียวที่จะต่อกรกับภัยการผิดลิขสิทธิ์ที่คุกคามอยู่อย่างไม่หยุดหย่อนได้

"จริงๆ เราอยากจะทำอีบุ๊คส์มานานแล้ว แต่ว่าปัญหามันมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือญี่ปุ่นไม่มั่นใจในระบบอีบุ๊คส์ของไทย ก่อนหน้านี้ยังไม่มีพวกอุ๊คบี (Ookbee-ช่องทางอ่านหนังสืออนไลน์) อะไรพวกนี้ แบบนั้นเวลาจะขายอีบุ๊คส์ บางทีโหลด 1 เล่มเอาไปปั๊มแจกกันกี่ร้อยกี่พันเล่มก็ไม่รู้ อย่างตัวที่เด่นมากๆ อย่างนารูโตะ วันพีซ ญี่ปุ่นเขาไม่ให้แน่นอน” อิศเรศบอก

สำนักพิมพ์ไทยจะมีอุปสรรคเรื่องเวลาที่อาจจะเร่งให้เนื้อหาไปอยู่บนออนไลน์เร็วขึ้นอีก เพราะเมื่อยอดพิมพ์ลดลงจนไม่คุ้มกำลังการผลิต หากดึงดันจะพิมพ์ก็ต้องปรับราคาขายให้สูงขึ้น แน่นอนว่า คนซื้อก็ย่อมน้อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่คนอ่าน “ไม่คุ้มที่จะซื้อ” และหยุดซื้อในที่สุด เวลานั้นอีบุ๊คส์จะมีความสำคัญขึ้นทันที แต่ความท้าทายที่ยังไม่รู้ปลายทางก็คือ จะทำอย่างไรให้คนอ่านยอมควักกระเป๋าจ่ายสำหรับการอ่านอีบุ๊คส์

ถ้าถามความเห็นของนักอ่านอย่างชล เขามองว่า แม้ตัวเขาเองและหลายๆ คน (ในวัยเขา) จะไม่ค่อยโอเคกับการอ่านการ์ตูนบนจอมือถือ แต่ในที่สุดอย่างไรเนื้อหาก็ต้องย้ายไปอยู่ที่จอบนฝ่ามือ เพราะเด็กรุ่นที่กำลังโตอยู่นี้คุ้นเคยกับช่องทางนี้แน่นอน

“มันไม่ตายหรอกครับ ตราบใดที่คนญี่ปุ่นอ่านขนาดนั้น เชื่อว่า คอนเทนต์พวกนี้มันจะถูกขึ้นไปอยู่บนออนไลน์อย่างถูกกฎหมายได้ สำนักพิมพ์จะมีความเป็นผู้จัดจำหน่ายน้อยลง อาจจะมีหน้าที่แค่ซื้อลิขสิทธิ์ แปล ใส่ตัวหนังสือ แล้วก็ขายออนไลน์อย่างเดียวก็ได้ในอนาคต” ชลเอ่ย และเสริมว่า แม้จะยังชอบจับหนังสือที่เป็นเล่มมากกว่า แต่ก็ยอมรับได้ หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ไม่ต่างอะไรกับที่เขาต้องคอยไปอ่านสปอยล์การ์ตูนตามเว็บไซต์ เพราะต้องยอมรับว่า เราฝืนกระแสโลกไม่ได้