เสน่หา 'นครศรีฯ'

“คนใต้ใจดี” นี่คือประโยคที่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้นิยามความเป็นคน “นครศรีธรรมราช”
หญิงชรายกผ้าพระบฎผืนโตขึ้นทูนหัว ก่อนจะว่าคำอธิษฐานต่างๆ นานา แล้วจัดแจงห่มผ้าผืนนั้นลงบนเจดีย์บริวารที่ตั้งอยู่รอบ “พระบรมธาตุเจดีย์” ภายในวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
ฉันนั่งหลับตา ยกมือขึ้นมาพนมพร้อมภาวนาบางอย่าง แล้วหันไปสบตากับหญิงชราที่นั่งอยู่ข้างๆ ท่านหันมายิ้มและส่งผ้าพระบฎผืนยาวให้ ฉันยกมือไหว้รับไว้ ก่อนจะลุกขึ้นยืนเพื่อร่วมห่มผ้าไปพร้อมๆ กับหญิงชราผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตาอย่างมีความสุข
นครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ฉันรู้สึกคุ้นเคย และคิดถึงทุกครั้งเมื่อเดินทางมายังแดนดินถิ่นใต้ เพราะเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสุราษฎร์ธานีแห่งนี้ มีของดีที่เพียบพร้อม และรอคอยให้ทุกคนเข้ามาสัมผัส
ไหว้พระธาตุเมืองนคร
แม้โบราณสถานที่เป็นมิ่งขวัญของชาวนครอย่าง “พระบรมธาตุเจดีย์” ในวันนี้จะอยู่ในระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์ ทว่า อุปกรณ์นั่งร้านเกะกะรกตาเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้ภาพความยิ่งใหญ่อลังการของพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าพันปีลดน้อยถอยลงไป ในทางกลับกัน เราได้เห็นความงดงามของอดีตที่ส่งมาถึงปัจจุบัน ผ่านร่องรอยแห่งกาลเวลา ถือว่าเป็นภาพที่มีค่ามากจริงๆ
ทุกครั้งที่ได้มาเยือนนครศรีธรรมราช ฉันมักพาตัวเองมายืนมองพระบรมธาตุเจดีย์ที่ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร แห่งนี้เสมอๆ อาจเพราะชื่นชมในความงามของพระบรมธาตุเจดีย์ที่เป็นสถาปัตยกรรมทรงระฆังคว่ำ และทึ่งในความสำคัญที่วัดนี้เป็นดั่งศูนย์กลางของชุมชนโบราณในคาบสมุทรภาคใต้ หากใครมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดเช่นกัน
ไม่เพียงแค่พระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์บริวารทั้ง 149 องค์ หรือพระอุโบสถเท่านั้นที่ควรค่าแก่การมาชม แต่ภายในวัดยังมีวิหารรูปทรงต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งวิหารพระทรงม้า, วิหารเขียน, วิหารโพธิ์ลังกา, วิหารสามจอม, วิหารทับเกษตร, วิหารคด, วิหารธรรมศาลา, วิหารหลวง, วิหารโพธิ์พระเดิม และวิหารพระแอด ซึ่งภายในวิหารหลังสุดนี้มีพระพุทธรูปที่เต็มไปด้วยเรื่องราว “เขาเล่าว่า” จึงถูกบรรจุไว้ในโครงการ “เขาเล่าว่า” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ด้วย
เมื่อเดินเข้าไปภายในวิหารหลังเล็ก ฉันพบว่ามีหญิงชายคู่หนึ่งนั่งพนมมือไหว้พระแอดอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาอาจจะไม่ได้มารักษาอาการปวดตามความเชื่อที่ว่า ถ้าใครปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง ให้นำไม้มาค้ำยันที่ด้านหลังองค์พระแอดแล้วจะหาย แต่พวกเขาคงมาเพราะต้องการลูกหญิง-ชาย ที่เป็นอภินิหารหนึ่งในความเชื่อว่าท่านจะบันดาลให้ได้นั่นเอง
มองไปรอบๆ วิหาร ก็พบว่ามีภาพเด็กแรกเกิดนับร้อยๆ ภาพถูกจัดวางอยู่ในมุมต่างๆ และสิ่งนี้ก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในความเชื่อของผู้คน
หนังตะลุง ตอน มุ่งสืบสาน “ทรัพย์สิน”
กว่า 3 เดือนแล้วที่ “สุชาติ ทรัพย์สิน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(หนังตะลุง) ประจำปี 2549 ลาจากโลกนี้ไป ทว่า สิ่งที่เหลือไว้คือความภาคภูมิใจของชาวนคร ชาวใต้ และชาวไทยทุกๆ คน
คำว่า “นายหนัง” เป็นคำที่ดูขลึมขลัง และทรงพลังที่สุด ซึ่งกว่าจะได้คำนี้มา นายหนังทุกคนต้องผ่านช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ดิ้นรนมานับไม่ถ้วน สุชาติ ทรัพย์สิน ก็เช่นกัน
“พ่อแกะหนังตั้งแต่อายุ 13 แล้วพออายุ 15 ถึงได้เล่นหนัง พ่อทำหนังตะลุงขายนายหนังจนปี 2527-2528 จึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง และถวายหนังตะลุงทั้งหมดแด่พระองค์ ในหลวงตรัสว่า ให้พ่อเก็บหนังตะลุงไว้ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง แล้วพ่อก็ได้ทำในสิ่งที่พระองค์ท่านตรัสไว้จริงๆ” อาจารย์วาที ทรัพย์สิน บุตรชายของนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน เล่าให้ฟัง ก่อนจะบอกว่า ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่สำคัญของประเทศ
วันที่ฉันไปเยือน พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา อาจเพราะความเศร้าที่ยังปกคลุม เราเดินผ่านร่างไร้วิญญาณของนายหนังสุชาติที่อยู่ในห้องด้านหน้าแล้วยกมือขึ้นไหว้ทำความเคารพ ก่อนจะเดินเข้าไปชมหนังตะลุงและเครื่องดนตรีที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์
หนังตะลุงหลายร้อยตัว อายุบางตัวมากกว่า 100 ปี ถูกจัดแสดงไว้อย่างน่าสนใจภายใต้ชายคาของบ้านหลังใหญ่ที่เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง ไม่เพียงแค่หนังตะลุงของไทยเท่านั้น แต่ยังมีหนังตะลุงของชาติต่างๆ และตัวละครที่สำคัญๆ สะท้อนให้เห็นถึงความมานะพยายามในการรักษา “ทรัพย์สินของชาติ” เหล่านั้นไว้ได้เป็นอย่างดี
“พ่อไม่จำเป็นต้องสั่งเสียงานด้านวัฒนธรรม เพราะพ่อสั่งสอนไว้เยอะแล้ว ซึ่งการทำบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ พ่อทำตามพระราชดำรัสของในหลวง แต่ผมทำเพื่อทดแทนคุณของหนังตะลุง พ่อผมแกะหนัง แม่ผมระบายสี ผมถูกสอนให้แกะหนังมาตั้งแต่เด็ก แล้วผมก็แกะหนังเลี้ยงตัวเองจนเรียนจบ ผมได้ทุกอย่างมาเพราะหนังตะลุง เพราะฉะนั้นผมทำเพื่อทดแทนหนังตะลุง” อาจารย์วาที บอกอย่างนั้น
กินขนมจีน-จิบชา
มาถึงนครศรีธรรมราชทั้งที ถ้าไม่ได้ลิ้มลองขนมจีนที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ และโดยเฉพาะของชาวนครแล้วละก็ เหมือนมาไม่ถึงเมืองนครจริงๆ เพราะขนมจีนเป็นอาหารท้องถิ่นยอดนิยม ที่มักทานคู่กับน้ำพริก น้ำยา แกงไก่ แกงไตปลา ส่วนผักเคียงก็สารพัดชนิดที่จะหาได้ ไม่ว่าจะเป็น ผักกูด ผักบุ้ง ลูกเนียง ผักเหมียง สะตอ ผักหมุย ใบสัง ยอดมันปู ฯลฯ
ในเมืองนครมีร้านขนมจีนเจ้าดังมากมาย แต่ครั้งนี้ฉันฝากท้องไว้กับ ร้านสลัดน้ำ ร้านอาหารเพื่อคนรักสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะมีขนมจีนรสเด็ดแล้ว ยังมีเมนูสลัดเป็นหมัดเด็ดชวนลองอีกด้วย และแน่นอนว่า ผักทั้งหมดที่นำมาใช้ในร้านเป็นผักออร์แกนิกที่เจ้าของร้านอย่าง วาริน ชิณวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช และเจ้าของร้านสลัดน้ำ ตั้งใจปลูกและดูแลเองทุกกระบวนการ
ขนมจีนอยู่ในวิถีชีวิตของชาวใต้ฉันใด “ร้านน้ำชา” ก็เป็นสิ่งที่จะขาดไปเสียไม่ได้เมื่อมาเยือนเมืองนคร เพราะสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนนครมานาน นานจนบางครั้งบางคนอาจลืมไปว่า ร้านน้ำชาคือถิ่นแดนที่แสดงฐานะและชนชั้นทางสังคม
ฉันมีโอกาสได้คุยกับ สุธรรม ชยันต์เกียรติ เจ้าของร้านโกปี๊แห่งเมืองนคร ที่มีร้านสวยงามโดดเด่น เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกิส ซึ่งลุงสุธรรม บอกว่า ในยุคเริ่มแรกนั้น ร้านน้ำชาเป็นสถานที่ที่คนมีฐานะจะเข้ามานั่งละเลียดกับรสชาติชา ว่าง่ายๆ ก็คือเครื่องบ่งบอกฐานะและรสนิยม
“ในยุคก่อนนั้นร้านชาต้องสวยงาม มีแต่คนมีระดับเข้ามานั่ง ไม่ใช่ร้านริมทางเหมือนเดี๋ยวนี้ เวลาจะคุยงาน ติดต่อกับคนต่างบ้านต่างเมืองก็ต้องนัดคุยกันที่ร้านน้ำชา ซึ่งบรรยากาศการตกแต่งร้านจะหรูหรา คลาสสิค เป็นร้านของคนมีเงินที่จะเข้าไปนั่ง” สุธรรม เล่าให้ฟัง
เมื่อเวลาผ่านไป บริบทหลายๆ อย่างในสังคมเปลี่ยนแปลง แต่ความนิยมในการบริโภคน้ำชายังคงเดิม ดังจะเห็นว่ามีร้านน้ำชาทั้งแบบหรูหราและแบบ “บ้านๆ” เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าอย่างหลังจะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะว่าเข้าถึงง่าย
ฉันใช้เวลาหลังอาหารค่ำไปกับการนั่งดื่มด่ำในรสชาติชา ณ ร้านป้าหนอม ร้านชาที่มีสาขามากถึง 11 สาขา ตามจำนวนลูกของ “ป้าหนอม” ที่เป็นคนก่อตั้งร้านชา ซึ่งร้านที่ฉันนั่งในวันนี้คือ ร้านป้าหนอม สาขา 9 ที่มีทีเด็ดอยู่ที่ “ชาเฉย” รสดี ดื่มแล้วคิดประโยคเด็ดให้เมืองนี้ได้ทันทีว่า “คนนคร นอนดึก ดื่มชา อารมณ์ดี” อารมณ์ดีจริงๆ นะ ดื่มชาเข้าไปแล้วทุกคนสามารถสนทนากันได้ “ยันหว่าง”
ล่องเรือหา “โลมาที่รัก(ษ์)”
จริงๆ กิจกรรมล่องเรือหาโลมาไม่น่าพิศมัยเท่าไรสำหรับคนที่ “เจ็บมาเยอะ” อย่างฉัน เพราะจะบอกว่า นี่เป็นการล่องเรือครั้งที่ 4 แล้ว แต่ไม่เคยเห็นโลมาสีชมพูใกล้ๆ แบบที่ใครต่อใครเขาเห็นกันเลย หรือบุญเราจะไม่ถึงจริงๆ
จะชมโลมาได้ต้องไปที่อำเภอขนอม อดีตเมืองท่าที่มีความเป็นมากว่า 800 ปี ในวันนี้ขนอมยังทำหน้าที่ “ชุมชนสำคัญ” แต่เปลี่ยนสถานะเป็น “ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์” โดยมีกิจกรรมล่องเรือชมโลมาเป็นสื่อกลาง
ฉันนั่งเรือชาวบ้านที่ ท่าเรือแหลมประทับ ออกไปเพื่อตามหาโลมาสีชมพู ปากก็ถามไถ่พี่สาวคนขับเรือว่า เห็นโลมาตั้งแต่เมื่อไร หญิงสาววัยกลางคนปลายๆ บอก ตั้งแต่เกิด
เธอว่า โลมาสีชมพู มีมากมายเมื่อเธอยังเด็กๆ แต่วันนี้แทบจะนับตัวได้ เพราะสิ่งแวดล้อมโลกเปลี่ยนไป ทรัพยากรใต้ทะเลน้อยลง และผู้คนก็น่ากลัวมากขึ้น (ในที่นี้เธอหมายถึงคนที่ละโมบโลภมากและอยากได้ทุกอย่างที่อยู่ในทะเล)
“เมื่อก่อนมีเจ้าโทน เป็นโลมาสีชมพูรับแขกที่ใครมาก็ต้องเอาปลามาให้มันกิน แต่เจ้าโทนมันตายไปแล้ว เพราะมันคงกินปลาจากนักท่องเที่ยวเยอะไป” ในน้ำเสียงที่บอกเล่า สะท้อนความจริงของการท่องเที่ยวที่ “เอาแต่สนุก” ได้เป็นอย่างดี
บนเรือไม่มีปลา และโลมาก็ออกมาให้เห็นเพียงไม่กี่นาที อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะถ้ามันมาให้เห็นนานๆ เราอาจจะอยาก “อยู่ใกล้” มันมากกว่านี้
พี่สาวคนขับเรือชวนเราชม “เขาพับผ้า” ที่เกิดจากการตกตะกอนในทะเล โดยมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน และผ่านกาลเวลาจนกลายเป็นชั้นหินซ้อนกันเหมือนผ้าพับไว้ และไม่ไกลกันคือ “เกาะนุ้ย” สถานที่ในตำนานที่เชื่อกันว่า หลวงปู่ทวดเดินทางมาเหยียบน้ำจนทะเลจืด เพราะมีบ่อน้ำจืดรูปร่างคล้ายรอยเท้ากว้างราว 30 นิ้ว และมีน้ำผุดออกมา รสชาติจืดกว่าน้ำทะเลในบริเวณเดียวกัน
มัดแล้วย้อมก่อนจากที่ “คีรีวง”
ดินแดนที่ได้ชื่อว่าอากาศดีที่สุดในประเทศไทยอย่าง หมู่บ้านคีรีวง ซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก ณ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และเมื่อได้เข้ามาสัมผัส ก็รู้สึกได้ถึงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่อยู่รายรอบ
คีรีวง โด่งดังขึ้นมาเพราะมีการระบุว่า เป็นจุดที่มีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย คือมีค่าสิ่งแปลกปลอมเพียง 9 ไมครอนต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร (เกณฑ์มาตรฐานอากาศดีต้องมีสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 300 ไมครอนต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งบริสุทธิ์กว่าค่ามาตรฐานถึง 100 เท่า เมื่อเรื่องราวถูกประชาสัมพันธ์ออกไป ใครๆ ก็อยากมาคีรีวงเพื่อสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ดังว่า
มาถึงแล้ว ไม่ใช่จะมีแค่สวนผลไม้ ซึ่งมี “มังคุด” เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่คีรีวงยังมีกิจกรรมสนุกๆ ชวนให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลงมือด้วย นั่นคือ การทำผ้ามัดย้อมกับ กลุ่มใบไม้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อรังสรรค์ผลงานศิลปะบนผืนผ้าผ่านการนำธรรมชาติเข้ามาประยุกต์ใช้
อุไร ด้วงเงิน ประธานกลุ่มใบไม้ เล่าให้ฟังก่อนลงมือมัดย้อมผ้าว่า คีรีวง มีมังคุดเป็นพืชเศรษฐกิจก็จริง แต่เมื่อหมดฤดูกาลชาวบ้านไม่รู้จะทำอะไร เธอและสมาชิกกลุ่มจึงช่วยกันคิดนำส่วนประกอบของมังคุดมาใช้ในงานศิลปะ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ จนในที่สุดก็เกิดเป็นผ้ามัดย้อมจากใบมังคุดแห่งคีรีวง
“ไม่ใช่แค่ใบมังคุดเท่านั้น แต่เราเอาพืชที่มีอยู่รอบๆ บ้านมาทดลองทำทั้งหมด ดูว่าอะไรให้สีเป็นยังไง เช่น ใบมังคุด ให้สีน้ำตาล สีส้ม สีชมพู ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของใบ ใบหูกวางให้สีเหลืองเขียว ใบเพกาให้สีเขียว อะไรแบบนี้ ทั้งหมดมาจากการทดลองและศึกษาของเรา”
เมื่อศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วจึงได้งานศิลปะที่เป็นผ้ามัดย้อมชิ้นเดียวในโลก ซึ่งอุไรคิดทำเป็นกิจกรรมเพื่อนักท่องเที่ยว โดยให้นักท่องเที่ยวเป็นคนออกแบบ “พาย” หรือย่ามที่ชาวบ้านนิยมนำไปใช้ใส่ของเวลาเดินป่า หรือเก็บผลไม้ เธออธิบายการมัดอย่างละเอียด ก่อนจะปล่อยให้เราลงมือทำ มัดไปมัดมาไม่นานก็เสร็จ จากนั้นก็ถึงขึ้นตอนการย้อม ซึ่งใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง
การมัดผ้าแบบไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนมากมาย ทำให้เราได้ลายผ้าที่สวยงามแปลกตา หรือบางที...กิจกรรมมัดย้อมผ้าอาจจะซ่อนนัยของการใช้ชีวิตบางอย่างไว้ เหมือนที่ใครๆ บอก...
ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่สบายกว่าชีวิตที่ซับซ้อนมากนัก
..................
การเดินทาง
นครศรีธรรมราชอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 780 กิโลเมตร ถ้าจะขับรถไปแนะนำให้แวะพักรถพักคนระหว่างทางบ้าง จะปลอดภัยที่สุด
แต่ถ้าสะดวกไปรถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด ก็มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ ให้บริการ โดยออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถาม โทร.1490 หรือ www.transport.co.th หรือจองตั๋วออนไลน์ที่ www.thaiticketmajor.com และ www.thairoute.com
ส่วนรถไฟมีทั้งขบวนรถเร็ว และรถด่วน ออกจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน สอบถาม โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th และทางเครื่องบิน มีสายการบินไทยแอร์เอเชียให้บริการทุกวัน สอบถาม โทร. 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com และสายการบินนกแอร์ สอบถาม โทร. 1318, 0 2900 9955 หรือ www.nokair.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.นครศรีธรรมราช โทร. 0 7534 6515-6