'ซัปโปโรโมเดล' เปลี่ยนเมือง 'น่ายี้' เป็นเมือง 'น่าอยู่'

'ซัปโปโรโมเดล' เปลี่ยนเมือง 'น่ายี้' เป็นเมือง 'น่าอยู่'

ขยะล้นเมืองไม่ใช่เรื่องทิ้งๆ ขว้างๆ แต่ต้องร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม

ไม่เช่นนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้จะเปลี่ยนเมืองใหญ่ให้กลายเป็นสวรรค์ของเชื้อโรคร้าย

"...การสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Revenant คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติของโลก โลกที่เราพบว่า ปี 2015 เป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ในระหว่างงานโปรดักชั่นของเรา เราต้องย้ายสถานที่ถ่ายทำลงทางขั้วโลกใต้มากๆ จึงจะพบหิมะ

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกคือเรื่องจริง และเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และนี่คือเรื่องที่น่ากลัวและเร่งด่วนที่สุดซึ่งเผ่าพันธุ์เราต้องเผชิญ และเราจำเป็นต้องร่วมมือกัน หยุดผัดวันประกันพรุ่ง..." นี่เป็นสปีชของ ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ขณะขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ 2015 เมื่อไม่นานนี้ จนเป็นที่กล่าวถึงและเรียกเสียงชื่นชมจากผู้คนทั่วโลกได้ในชั่วพริบตา

แต่ที่น่าสงสัยและน่าสนใจคือ ทั้งๆ ที่ปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกสั่งสมมานานแสนนาน องค์กรมากมายพยายามรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำไมผลกระทบจึงยังคงไม่ลดลง มิหนำซ้ำยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

Sapporo Model

หนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาวะของประชาชนก็คือ ขยะ เมืองใหญ่หลายๆ เมืองในโลกประสบปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ขณะที่อีกหลายเรื่องยังไม่มีรูปแบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ขยะทั้งบนพรมและใต้พรมจึงกลายเป็นเรื่องหมักหมมที่รอวันโชยกลิ่นออกมา

แต่ไม่ใช่กับเมืองสำคัญของญี่ปุ่นอย่าง ‘ซับโปโร’ เมืองที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของเกาะฮอกไกโด และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ

อดีตเมืองซัปโปโร ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งสร้างขยะ ทั้งจากอุตสาหกรรมและการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน แม้แต่วิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นที่มีความน่ารักกระจุกกระจิกเต็มไปด้วยรายละเอียดก็ก่อให้เกิดขยะอย่างมหาศาล เช่น หีบห่อขนม บรรจุภัณฑ์พลาสติก และอื่นๆ

แต่ภาวะขยะล้นเมืองไม่ได้ทำให้ประชาชนและทางการซัปโปโรถอดใจหรือยอมจำนนต่อสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาพลิกฟื้นบ้านเกิดเมืองนอนด้วยของดีในมือ ทั้งเทคโนโลยี แนวคิด และจิตสำนึก จนทุกวันนี้ซัปโปโรสะอาดสะอ้าน มีพื้นที่ว่างให้หิมะปกคลุมได้สมกับเป็นเมืองแห่งความหนาวเย็น

The Sapporo Recycling Complex หรือ ศูนย์จัดการสิ่งแวดล้อมและคัดแยกขยะซัปโปโร หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ศูนย์คัดแยกขยะนากานุมะ เป็นสถานที่สำคัญของกระบวนการพลิกฟื้นจาก ‘เมืองน่ายี้’ ให้กลายเป็น ‘เมืองน่าอยู่’

ศูนย์คัดแยกขยะนากานุมะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 โดยเริ่มจากคัดแยกขยะกลุ่มขวดแก้ว กระป๋อง และขวดเพ็ท (PET) จากข้อมูลบ่งชี้ว่าตัวเลขปริมาณขยะกลุ่มดังกล่าวในซัปโปโรมีมากถึงปีละกว่า 36,000 ตัน นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่งและตัวเลขค่อนข้างใกล้เคียงกันในทุกๆ ปีจนถึงปัจจุบัน แต่ มร.ฮามากิ ผู้จัดการศูนย์คัดแยกขยะแห่งนี้ อธิบายว่าที่ยังเห็นเมืองซัปโปโรสะอาดตาก็เพราะขยะจำนวน 25,000 ตัน (คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์) ถูกส่งมาที่นี่เพื่อจัดการ อีกส่วนน้อยถูกส่งไปที่ศูนย์คัดแยกขยะอีกแห่งในเมืองเดียวกัน

ขยะจากบ้านเรือนจะถูกลำเลียงมาที่นี่แล้วส่งสู่สายพานจากชั้นล่างขึ้นไปยังชั้นสูงสุดของอาคารจัดการขยะ สายพานนี้ยาว 50 เมตร ขยะที่อยู่ในถุงพลาสติกจะผ่านเครื่องฉีกถุงพลาสติกให้ขยะออกมาแล้วตกไปยังจุดต่อไป

นอกเหนือจากขยะที่นำมาจัดการที่ศูนย์แห่งนี้ ยังมีขยะอื่นๆ ปะปนมาในถุงด้วย เช่น หม้อ กระทะ ถาด ฯลฯ ก็จะถูกคัดไปยังสายพานขยะที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว ในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยแรงงานคนเข้ามาช่วย

“การบริหารจัดการของที่นี่เป็นไปตามกฎหมายการจัดการสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นโลหะต่างๆ ที่ไม่ใช่กระป๋องเครื่องดื่มจะไม่ถูกนำมาจัดการที่นี่แม้ว่าจะเป็นโลหะชนิดเดียวกันก็ตาม” ผู้จัดการศูนย์ฯ บอก

หลังจากนั้นจะมีแม่เหล็กกำลังสูงคอยดูดขยะประเภทเหล็กออกจากสายพานแล้วนำไปอัดเป็นก้อนขนาด 20 x 20 เซนติเมตร แล้วขายต่อให้บริษัทรีไซเคิลกระป๋องเหล็ก เมื่อเหลือกระป๋องอะลูมิเนียม ขวดเพ็ท ขวดแก้ว ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย ก็จะเข้าสู่กระบวนการหลักของศูนย์คัดแยกฯ โดยใช้เครื่องเป่าลมเป่าให้ขยะเบาอย่างกระป๋องอลูมิเนียมและขวดเพ็ทปลิวไปอีกจุด ส่วนขวดแก้วก็ตกลงยังข้างล่าง เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ง่ายแต่ได้ผลดีมาก

หลังจากผ่านกระบวนอีกหลายขั้นตอน จากขยะจะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับนำไปรีไซเคิล เช่น ขวดเพ็ท ซึ่งเป็นพลาสติกจะถูกปั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ชิพ’ แล้วชิพก็จะถูกนำไปแปรเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่เครื่องใช้พลาสติก ของเล่น ถาดใส่ไข่ ขวดเพ็ท (อีกหลายรอบ) ไปจนถึงเสื้อผ้าคุณภาพดี นั่นเท่ากับว่าขยะที่รีไซเคิลได้ทั้งหมดจะไม่สูญเปล่าแม้แต่นิดเดียว

สำนึกรักซัปโปโร

ผลลัพธ์ที่ได้จากศูนย์คัดแยกขยะนากานุมะอาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสมบูรณ์แบบในการบริหารจัดการ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ใช่แค่เครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสม้ัยเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ลองย้อนกลับไปดูที่ต้นทางว่า คนซัปโปโรเขาทำอย่างไรให้ขยะไม่ใช่แค่ขยะ

ปัจจัยแรกที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ ลักษณะประจำชาติของชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความมีระเบียบ มีวินัย มีจิตสำนึก จนทั่วโลกยอมรับ ซึ่งคุณลักษณะแบบนี้คือกุญแจดอกสำคัญต่อการเปลี่ยนเมือง

อย่างเช่นในโรงเรียนหลายแห่ง อาหารกลางวันของเด็กนักเรียนถูกจัดสรรให้เหมาะสมทั้งคุณค่าอาหารและเรื่องการจัดการขยะ นั่นคือนักเรียนต้องรับประทานแต่พอดีหากไม่อิ่มจึงเติมได้ แต่ไม่ตักเผื่อจนเหลือทิ้ง เมื่อรับประทานเสร็จนักเรียนต้องแยกเศษอาหารและขยะรีไซเคิลออกจากกัน เศษอาหารจะมีหน่วยงานมารับไปเป็นอาหารสัตว์ ส่วนขยะรีไซเคิลก็เข้ากระบวนการ

ในระดับครอบครัวทุกครัวเรือนต้องแยกขยะตั้งแต่ภายในบ้าน เพราะทางการจัดเก็บขยะตามการคัดแยก ประชาชนต้องรู้ว่าวันใดรถเก็บขยะรีไซเคิลจะมาเก็บขยะแบบใด เช่น วันจันทร์เก็บขวดเพ็ท วันอังคารเก็บขวดแก้ว วันพุธเก็บกระป๋องอลูมิเนียม เป็นต้น โดยทางการ ซัปโปโรจะเป็นผู้กำหนดวัน

ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคจะต้องรับบทบาทนี้เท่านั้น เพราะการจัดการอย่างเต็มระบบย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์อันสมบูรณ์แบบ มร.ฮิมากิ บอกว่าผู้ผลิตคือฟันเฟืองสำคัญที่ก่อให้เกิดขยะ พวกเขาได้รับผลประโยชน์ เงินทอง จากการสร้างขยะเหล่านี้ เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องร่วมรับผิดชอบ

“บนขวดเพ็ทที่ญี่ปุ่น จะมีสัญลักษณ์พร้อมกับตัวเลขกำกับ หากเป็นขวดที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิลและเลขหนึ่งและคำว่า PET ผู้ที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการจัดการรีไซเคิลคือผู้ผลิตขวด ผลิตฉลากพลาสติก ผลิตฝาขวด หรือแม้แต่ผลิตเครื่องดื่มข้างใน ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรีไซเคิล”

ผู้จัดการศูนย์คัดแยกขยะนากานุมะเล่าต่อว่า นอกจากคัดแยกขยะไปรีไซเคิลเป็นสิ่งของเครื่องใช้จับต้องได้ ก็มีขยะบางส่วนที่เป็นขยะเผาได้ แต่ไม่ใช่เผาเปล่าๆ ปลี้ๆ เพราะพลังงานความร้อนจากการเผาก็นำไปขายต่อให้หน่วยงานที่ต้องการพลังงานความร้อนได้อีกทอดหนึ่งด้วย เรียกว่าเป็น Supply Chain Management หรือ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน ขนานแท้

นี่คือสาเหตุให้ซัปโปโรเป็นจุดหมายสำคัญที่เยาวชนไทยซึ่งชนะการประกวด Thailand Go Green 2015 เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อนำกลับมาประยุกต์ใช้กับบ้านเมืองตัวเอง

ฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล  ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เล่าว่าโครงการ Thailand Go Green เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน โดยในแต่ละปีมีเยาวชนเข้าร่วมประกวดอย่างล้นหลาม จนเมื่อปีที่แล้วเป็นปีที่ 9 ซึ่งประกวดในหัวข้อ ‘แปลงขยะเป็นทอง’ การดูงานที่ซัปโปโรคือการจุดประกายให้เยาวชนเห็นตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และมีต้นแบบคือเมืองและชาวเมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

“เราต้องปลูกฝังเด็กไทย สร้างความตระหนักเรื่องการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และให้รักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญ จะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องนี้ สู่ผู้คน สู่ชุมชน สู่สังคมไทยต่อไปในอนาคต”

ด้าน ศศมน ศุพุทธมงคล ผู้จัดการอาวุโส ส่วนกิจการสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บอกว่าที่ต้องพาเยาวชนมาดูศูนย์คัดแยกขยะแห่งนี้เพราะตลอดหลายปีมานี้พบว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญคือแก้ที่วิถีชีวิต

“การกิน การอยู่ การใช้ของเราส่งผลกระทบหมดเลย เพราะการกินต้นทางก็ต้องผลิต ก็เกิดขยะขึ้นตามรายทาง ปัญหาโลกร้อนทั้งหมดที่ทุกวันนี้แก้ไม่ได้เพราะมันแก้ไม่ครบวงรอบ เราทำเรื่องหนึ่งแต่เราลืมต่อจิ๊กซอว์อีกเรื่องหนึ่ง นี่เป็นการต่อจิ๊กซอว์เด็ก หนึ่งคุณต้องใช้ชีวิตให้ถูกให้ดี สองต้องมีเทคโนโลยี การบริหารจัดการมารองรับเขา การดูงานจะทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมด เด็กจะได้เข้าใจว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาวมันเป็นอย่างไร”

ในอดีตบ้านเรามีโครงการ ‘ตาวิเศษ’ โครงการที่รณรงค์ให้ทิ้งขยะลงถัง แต่นั่นคือเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน พอมาถึงรุ่นนี้แค่การทิ้งขยะลงถังนั้นไม่พอแล้ว แต่ต้องไปถึงการแยกขยะด้วย ศศมน บอกว่าถ้าวางรากฐานให้คนไทยรุ่นใหม่คัดแยกขยะได้ อนาคตการคัดแยกขยะจะกลายเป็นระบบของประเทศไทย

“ถ้าเด็กๆ ทำ จะเป็นเสียงไปถึงผู้ใหญ่ ว่าเขาจะแยกขยะแล้วผู้ใหญ่ช่วยด้วยได้ไหม และมันจะเกิดระบบขึ้นจริงๆ การดูงานจะสร้างประสบการณ์ให้เขา เขาจะได้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ แต่เป็นเรื่องระดับโลกที่คนทั่วโลกทำกันอยู่ เราคือส่วนหนึ่งของโลก เราอยากอยู่ในที่ที่ดีเหมือนที่ญี่ปุ่น เราก็ต้องมีระบบบริหารจัดการการใช้ชีวิตของเราเหมือนที่เขาเป็น”

กว่าซัปโปโรจะจัดการตัวเองได้ ไม่ใช่ผลงานของคนใดคนหนึ่ง เด็กทำ ผู้ใหญ่ทำ ภาครัฐทำ ภาคเอกชนทำ เห็นอย่างนี้พอมองกลับมาละแวกบ้านเราอาจตะขิดตะขวงใจและไม่เชื่อว่าจะทำกันได้ ทว่าไม่นับหนึ่งก็ไม่มีวันถึงร้อย วันนี้ทั้งนักเรียนทั้งครูหลายคนได้เห็นแล้วว่าประเทศไทยในฝันนั้นเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้ต้องไม่หยุดแค่ฝัน และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราลงมือทำ อีกไม่นานก็คงได้ยินเสียงสะท้อนในด้านบวกเหมือนที่เรากำลังชื่นชมสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นก็เป็นได้

อัยวรมณย์ ธีร์ตระกูล ตัวแทนครูโรงเรียนเด็กดีพิทยาคม จ.เชียงราย ที่ร่วมศึกษาดูงานบอกว่า ญี่ปุ่นคือต้นแบบที่ดีโดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัย ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม การรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งต่างๆ ทำให้ญี่ปุ่นมีสังคมน่าอยู่ ตัวอย่างดีๆ แบบนี้ต้องเกิดขึ้นในบ้านเราแน่นอน อย่างน้อยต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียนของเธอ

“สิ่งหนึ่งที่จะนำไปต่อยอด คือเรื่องการปลูกฝังจิตสำนึก ทำให้ทุกคนมีจิตสำนึกในเรื่องนี้ แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ แต่ก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอนถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน เมื่อเด็กๆ ได้รับการปลูกฝังนิสัยที่ดีเหล่านี้ติดตัวไป จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”

...และบ้านเมืองที่มีคนคุณภาพก็ย่อมเป็นบ้านเมืองที่มีคุณภาพ