สงกรานต์วันแล้งน้ำ

สงกรานต์วันแล้งน้ำ

เมื่อปริมาณ ‘น้ำในเขื่อน’ เหลือน้อย เราอาจต้องคิดหนักสักหน่อยถึงปริมาณ ‘น้ำในขัน’ ที่กำลังจะสาดออกไปในวันสงกรานต์ปีนี้

ดินแตกระแหง น้ำในคูคลองแห้งขอด ต้นไม้ใบหญ้าแห้งตาย เหมือนเป็นภาพภาวะวิกฤตของโลกใบนี้ที่เห็นได้จากสื่อต่างๆ หรือหนังจำพวกที่เล่าเรื่องวันสิ้นโลก แต่ในวันนี้ประเทศไทยได้เดินมาถึงจุดที่เรียกว่าประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ภาพน่าตระหนกเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นจริงแบบไม่อิงนิยาย

Welcom to ภัยแล้ง!


จากสถิติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 สภาพอากาศร้อนระอุทะลุจุดเดือดทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยจนน่าใจหาย อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำเหลือเพียง 33 เปอร์เซ็นต์, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำเหลือเพียง 42 เปอร์เซ็นต์, เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีน้ำเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เหลือเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ หรือเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เหลือเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณการเก็บกักน้ำเมื่อปีก่อนๆ ทุกเขื่อนเหลือน้ำน้อยกว่าทั้งสิ้น!


ตัวเลขแบบนี้ยืนยันได้ดีว่าภัยแล้งไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่หลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี สระแก้ว ฯลฯ ต่างได้เข้ามาเป็นหนึ่งในรายชื่อจังหวัดที่ประสบภัยแล้งเรียบร้อยตามข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นั่นหมายถึงเกษตรกรรมที่ใช้น้ำต้องหยุดชะงัก ผลผลิตเสียหาย ปศุสัตว์ต้องอดน้ำตาย


นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘หมอหม่อง’ คุณหมอหัวใจนักอนุรักษ์อธิบายถึงอภิมหาภัยแล้งครั้งนี้ว่าเกิดจากการสะสมปัญหาสิ่งแวดล้อม จริงอยู่ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะแล้งสลับไม่แล้ง แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติค่อยๆ รุนแรงมากขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก


“เราไม่มีระบบภูมิคุ้มกันอีกต่อไป หมายความว่าป่าต้นน้ำของเราเสื่อมโทรมอย่างมาก เมื่อก่อนถ้าป่าต้นน้ำเรายังดี เมื่อถึงรอบปรากฏการณ์แบบนี้ก็ยังพอทำเนาไป หลายคนบอกว่าต้องสร้างเขื่อน แต่นี้เป็นสัญญาณชัดเจนว่าเขื่อนไม่มีน้ำอยู่เลย เขื่อนไม่ได้ทำให้มีน้ำ แต่ป่าต้นน้ำทำให้มีน้ำ อยากให้รู้ว่าสร้างเขื่อนไปก็สูญเปล่า ไม่ใช่เราไม่มีน้ำใช้เพราะไม่มีเขื่อน แต่เป็นเพราะเราไม่มีป่าต้นน้ำที่กักเก็บความชื้นและทำให้ฝนตกตามฤดูกาล”


อาจยังไม่ถึงคิวคนกรุงเทพฯ อย่างเต็มตัว แต่ใช่ว่าภัยแล้งจะไม่คืบคลานเข้ามาสู่เมืองหลวง เพราะตอนนี้ในบางพื้นที่ก็มีสัญญาณเตือนอยู่บ้างแล้วว่า

“น้ำน้อย...โปรดใช้สอยอย่างประหยัด”


น้ำประปากร่อย เป็นดั่งเสียงไซเรนบ่งบอกว่าภัยแล้งมาแล้ว เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยลงโดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งถือเป็นเขื่อนหลักที่ส่งน้ำมายังเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อนำมาผลิตน้ำประปาที่ตอนนี้การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่าเหลือน้ำรวมกันไม่ถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร หมายความว่าภายในไม่ถึงเดือนนับจากนี้หากฝนไม่ตกจนน้ำในเขื่อนมีปริมาณเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่สภาวะลิ่มน้ำเค็มรุกสูง ซึ่งจะทำให้น้ำประปามีรสชาติกร่อย ประชาชนรับรู้ได้เมื่อดื่ม เพราะการประปานครหลวงไม่มีปริมาณน้ำดิบที่มากพอจะมาไล่ลิ่มความเค็ม


ขณะนี้ค่าความเค็มของน้ำประปาอยู่ที่ 0.2-0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะน้ำเค็ม เพราะค่าความเค็มปกติจะอยู่ที่ 0.25 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่คนกรุงอย่าชะล่าใจเพราะในกรุงเทพฯและปริมณฑลบางพื้นที่เริ่มรับรสกร่อยของน้ำประปาได้บ้างแล้ว


สงกรานต์แล้ง...ไม่ต้องแห้งแค่พอหมาดๆ


แม้เรื่องภัยแล้งจะน่าหวั่นวิตก แต่พอได้ยินว่าอีกไม่กี่วันจะถึงวันสงกรานต์ บรรดานักเล่นน้ำต่างตื่นเต้นดีใจที่จะได้หยุดยาว และแน่นอนว่าพวกเขาอยากเปียกปอนไปกับมหกรรมสาดน้ำแห่งชาติ


แต่หลายข่าวคราวจากหลายผู้จัดงานสาดน้ำนี้ก็ทำเอาคนอยากเปียกต้องเบรคกะทันหัน เพราะอภิมหาภัยแล้งกับวันมหาสงกรานต์ดันมาบรรจบกันพอดี...


สำหรับปีก่อนๆ สถิติการใช้น้ำประปาในช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจลดลงกว่าช่วงเวลาปกติด้วยเหตุผลนานาประการ แต่ก็ยังน่าวิตกเมื่อนำมาหักลบกับปริมาณน้ำดิบที่เรายังเหลือ


คือการใช้น้ำย้อนหลัง 3 ปี โดยข้อมูลของการประปานครหลวง พบว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์การใช้น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดน้อยลง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากประชาชนเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนา บริษัทห้างร้านต่างๆ ปิดทำการ


ช่วงวันที่ 11-16 เมษายน ปี 2556 เฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล ใช้น้ำประปา 28 ล้านลูกบาศก์เมตร, ปี 2557 ใช้น้ำประปา 28 ล้านลูกบาศก์เมตร และปี 2558 ใช้น้ำประปา 28.7 ล้านลูกบาศก์เมตร


แต่อย่างไรสงกรานต์ก็ยังคงดำเนินต่อ เพียงแต่ในปีนี้ทั่วประเทศต้องตระหนักสักหน่อยว่าควรมิควรแค่ไหนที่จะใช้น้ำเพื่อการนี้


อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า ปีนี้กทม.มีมติจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2559 ภายใต้คำขวัญ “ประเพณีสงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” จำนวน 3 วัน คือ 12-14 เมษายน โดยกำหนดเลิกกิจกรรมในเวลา 21.00 น.ของทุกวันจัดงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการลดการใช้น้ำ เพราะทุกพื้นที่เผชิญวิกฤตภัยแล้ง รวมทั้งรณรงค์การเล่นน้ำแบบรู้คุณค่าของน้ำ ส่วนในวันที่ 15 เมษายนขอให้เป็นวันครอบครัว โดยได้ประสานหน่วยงานระบบขนส่งมวลชนและร้านอาหาร ลดราคาค่าโดยสารและอาหารกับประชาชนที่เดินทางพร้อมทั้งครอบครัว


สำหรับการจัดงานสงกรานต์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ รองผู้ว่าฯ กทม.ชี้แจงว่า ในวันที่ 13-15 เมษายนจะมีกำหนดเลิกกิจกรรมในเวลา 21.00 น.เช่นเดียวกัน โดยเซ็นทรัลเวิลด์ได้ยกเลิกอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ และจุดเติมน้ำ 24 จุด นอกจากนี้กทม.ยังคงมีมาตรการ 5 ป. ได้แก่ 1.ประหยัดน้ำ 2.ปลอดแอลกอฮอล์ 3.ปลอดแป้ง 4.ปลอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูงขนาดใหญ่ และ 5.ปลอดโป๊ โดยขอความร่วมมือสำนักงานเขตและสำนักเทศกิจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดการจัดกิจกรรมทั่วทุกพื้นที่


อย่างไรก็ตาม กทม.จะมีมาตรการการใช้น้ำให้น้อยลงอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทำความสะอาดหลังเลิกกิจกรรมสงกรานต์ จากเดิมที่ใช้เวลาในการทำความสะอาดมากกว่า 3 ชั่วโมง เพราะจากสถิติการใช้น้ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ใน 1 คนใช้น้ำ 200 ลิตรต่อวัน ซึ่งในช่วงเทศกาลจะมีการใช้น้ำมากกว่า 3 เท่า ดังนั้นการประปานครหลวง จะจ่ายน้ำให้น้อยลง แต่แรงดันน้ำจะแรงขึ้น


“เราไม่อยากเห็นภาพความแห้งแล้งในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพฯ เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน จึงอยากให้เห็นความแห้งแล้งของคนอื่นเป็นความทุกข์ใจของตัวเองด้วย” รองผู้ว่าฯ อมร กล่าว


มาตรการรับมือสงกรานต์ในภาวะน้ำน้อยยังเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างเช่นจังหวัดขอนแก่นที่เป็นอีกหนึ่งในรายชื่อลำดับต้นๆ ของจังหวัดที่ใช้น้ำช่วงสงกรานต์มากที่สุดในประเทศ ซึ่งตำแหน่งแบบนี้ไม่น่าพิสมัยสักเท่าไร ปีนี้เทศบาลขอนแก่นจึงปรับรูปแบบงาน ‘สุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน ถนนข้าวเหนียว’ อันแสนชุ่มฉ่ำ ให้กลายเป็นเทศกาลเล่นน้ำปลอดแอลกอฮอล์ที่เปียกแบบพอดี ด้วยการ ‘ซิดแทนสาด’


ซิด...เป็นคำอีสานแปลว่า สลัด ดังนั้นการนำขวดน้ำมาเจาะรูตรงฝาแล้วซิดน้ำกัน แม้ไม่เปียกปอนแต่ก็สนุกสนานคลายร้อนได้ดีทีเดียว


ด้าน หมอหม่อง กล่าวถึงสงกรานต์กลางภัยแล้งปีนี้ว่า คนไทยทุกพื้นที่ควรเล่นน้ำกันอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะถึงเวลาแล้วที่จะพูดได้ว่า“น้ำทุกหยดมีคุณค่า” โดยเฉพาะผู้ที่กำลังประสบภัยแล้งเต็มขั้น


“การที่คนในเมือง(และคนที่ยังไม่เผชิญวิกฤตนี้จริงๆ) เล่นน้ำ ใช้น้ำอย่างสุรุ่ยสุร่าย ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ และคงไม่ใช่ภาพของเทศกาลความสุขเท่าที่ควร ผมเองก็คุยกับลูกว่าปีนี้เราคงไม่ออกไปเล่นที่คูเมืองเชียงใหม่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่คงใช้ปืนฉีดน้ำเล่นกันนิดๆ หน่อยเพราะเด็กก็คือเด็กอยากสนุกสนาน คือเราต้องทำในสเกลที่เล็กลง”


สงกรานต์เดิมๆ (เพิ่มเติมคือความหมาย)


สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางโลกาภิวัฒน์ สงกรานต์คงไม่มีความหมายอื่นใดนอกจากวันที่คนหนึ่งจะสาดน้ำใส่อีกคนหนึ่งซึ่งอาจไม่รู้จักกันมาก่อนได้อย่างไม่ผิดมารยาท (และไม่โดนเขาชกหน้า) ลึกซึ้งหน่อยก็เป็นวันที่ผู้น้อยจะเข้าไปรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ และสุดท้ายก็จบลงที่การเล่นสาดน้ำกันอย่างบ้าคลั่ง


ทว่า นับจากนี้คือสงกรานต์อย่างที่ควรจะเป็น


“สงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ แต่เป็นแบบสุริยคติ ทุกชาติทุกภาษาต้องมีการเปลี่ยนผ่านไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หรือเวลา แต่สงกรานต์เป็นเรื่องของเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปจากปีเก่ามาสู่ปีใหม่ โดยนับการโคจรของพระอาทิตย์ เช่น เดือนเมษายนพระอาทิตย์จะเปลี่ยนจากราศีมีนเข้าราศีเมษ ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านเขาจะทำพิธีกรรมเพื่อความสวัสดิมงคล ช่วงที่เปลี่ยนผ่านเขาจะมีวันสำคัญเช่น วันเถลิงศก วันเนา เขาไม่ทำงานกัน จะทำความสะอาด สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความสวัสดิมงคลรับปีใหม่” ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา กล่าวถึงความหมายของประเพณีสงกรานต์


ส่วนสงกรานต์ที่คล้ายสงครามสาดน้ำอย่างปัจจุบันอาจารย์ท่านนี้บอกว่านี่ไม่ใช่สงกรานต์ เป็นเพียงพิธีสาดน้ำ เพราะสงกรานต์เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เป็นวาระที่ต้องเชื่อมความสัมพันธ์ในสังคม เด็กไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ สรงน้ำพระ คนที่เสมอภาคกันก็พรมน้ำกัน เข้าวัดเข้าวาปฏิบัติธรรม และรื่นเริงอย่างรู้กาลเทศะ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในท้องถิ่น ในครอบครัว แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว กลายเป็นเป็นสาดน้ำกันหลายวันหลายคืน ซึ่งรัฐเองก็ไม่รู้ความหมายของประเพณี คนปัจจุบันก็ไม่รู้ว่าประเพณีคืออะไร


ดังนั้นเราจึงได้เห็นสงกรานต์วิบัติอย่างไม่วิวัฒน์ ซึ่งนักวิชาการรุ่นลายครามคนนี้เล่าว่าเป็นเพราะค่านิยมจากชาติตะวันตก


“มันเกิดขึ้นเมื่อเราไปนิยมฝรั่ง ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช เป็นต้นไป เราถูกชาติตะวันตกครอบ จนลืมประเพณีวัฒนธรรมของเรา เราก็คิดแต่เอาของใหม่ๆ มาแทน สมัยก่อนจอมพลสฤษดิ์ พอถึงสงกรานต์จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาสรงน้ำที่ท้องสนามหลวง นี่คือสร้างความสัมพันธ์คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เอาน้ำหอมสรงน้ำพระ เอาน้ำหอมพรมคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่สาดน้ำกันตะบัน เมื่อก่อนมีกาลเทศะ มีการละเล่น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่”


นอกจากเดิมทีจะเป็นวาระที่ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนในชุมชนกับคนนอกชุมชนได้มาพบปะกัน และคนกับธรรมชาติ เช่น ต้องรักษาบ้านเมืองให้สะอาด รักษาแม่น้ำลำคลองให้สะอาด ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติด้วย เช่น ไปไหว้พระ ทำบุญให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับเพื่อความเป็นสิริมงคล


แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากสงกรานต์จะเป็นประเพณีแถบอุษาคเนย์ซึ่งมีประเทศไทยเป็นพิกัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มุมหนึ่งสงกรานต์คือแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในบ้านเรา รวมทั้งคนในประเทศก็ท่องเที่ยวกันเองด้วย นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี


อีกมุมที่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน คือ การท่องเที่ยวแบบสุดลิ่มทิ่มประตูเพื่อหวังผลเป็นเม็ดเงิน คือต้นเหตุหนึ่งของสงกรานต์กลายพันธุ์ จนอาจารย์ศรีศักรบอกว่า การท่องเที่ยวนี่แหละ “ตัวแสบ”


“กระทรวงการท่องเที่ยวกับกระทรวงวัฒนธรรมพอกัน ทั้งสองกระทรวงไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรม ก็จัดฉากละครเพื่อให้มีรายได้เข้าประเทศ เพราะสงกรานต์จริงๆ ไม่ได้สร้างรายได้นะ มันสร้างสิ่งที่เรียกว่าความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness, GNH) แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลมองแต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)”


ในความเลวร้ายอาจเป็นโอกาสดีที่สงกรานต์ปีนี้คนไทยจะได้ทบทวนกันใหม่ว่า สงกรานต์คืออะไร บางทีการสาดน้ำจนเปียกชุ่มกาย อาจสู้ไม่ได้กับการรักษาแก่นแท้ของประเพณีที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ


ที่สำคัญ...ภัยแล้งทำอะไรเราไม่ได้แน่นอน