เสน่ห์ 'เครื่องฉายโบราณ' สู่วิวัฒนาการภาพยนตร์จอใหญ่

เสน่ห์ 'เครื่องฉายโบราณ' สู่วิวัฒนาการภาพยนตร์จอใหญ่

เสน่ห์ “เครื่องฉายโบราณ” สู่วิวัฒนาการภาพยนตร์จอใหญ่

แม้ว่าตอนนี้ระบบการฉายหนังของโลกจะไปไกลระดับฉายระบบดิจิตอล ทั้งสามมิติ ทั้ง 4DX กันแล้ว แต่อย่าลืมว่าจุดแรกเริ่มของเครื่องฉายหนังมีขึ้นมาร้อยกว่าปีนี้เอง

ทางหอภาพยนตร์ที่ศาลายา จึงจัดกิจกรรมพิเศษ พาเราย้อนกลับไปชมเครื่องฉายภาพในยุคแรก ๆ ที่มีชื่อว่า เครื่องถ้ำมอง นะคะ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยยุคสมัย ร.3 ในยุคนั้นมีชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “ดาแก” นำเครื่องนี้เข้ามา โดยตัวเครื่องถ้ำมองมีลักษณะเป็นกล่อง ด้านในมีตัวรับแสงเคลือบสารเคมี พอแสงติดโลหะก็จะกลายเป็นรูปขึ้นฉายบนจอเล็ก ๆ ที่สามารถชมได้เพียงคนเดียวต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 วิวัฒนาการของเครื่องฉายภาพพัฒนาเป็น “โคมเชิดหนัง” ซึ่งใช้ฉายภาพโดยใช้แสงจากหลอดโคมเชิดหนัง แล้วค่อย ๆ ฉายแบบเปลี่ยนภาพเหมือนเครื่องฉายสไลด์ในปัจจุบัน จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการฉายภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงได้แล้ว ในตอนแรกเข้ามาฉายในรูปแบบคิเนโตสโคป ที่โทมัส แอลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ชื่อดังของโลกสร้างขึ้นมา เครื่องนี้สามารถชมภาพเคลื่อนไหวได้เพียงคนเดียว โดยรัชกาลที่ 5 เป็นคนไทยพระองค์แรกที่ได้ชมภาพยนตร์แบบนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีผู้นำมาถวายให้ทอดพระเนตรเมื่อคราวเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ในปี พ.ศ. 2439 แล้วปีต่อมา พ.ศ.2440 มีการฉายภาพเสมือนจริงครั้งแรกในเมืองไทย ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ให้ชมในวัง แต่ไม่ปรากฎว่าเรื่องที่ฉายเป็นเรื่องอะไร  แล้วการฉายหนังในบ้านเราก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เริ่มมีโรงภาพยนตร์แบบสมัยใหม่ขึ้นมาในปี 2470 เริ่มใช้เสียงคนพากย์คล้ายๆ กับพากย์โขน และต่อมมาก็เปลี่ยนเป็นการนำเสียงเข้าไปใส่ในฟิล์ม เทคโนโลยีการฉายหนังก้าวหน้าขึ้นมา จนกลายเป็นระบบการฉายหนังแบบปัจจุบัน เอนก นาวิกมูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้มองว่า เสน่ห์ของเครื่องฉายภาพยนตร์สมัยก่อนคือการพาเราไปนึกย้อนถึงอดีตวันวาน ว่าคนสมัยก่อนชมมหรสพกันแบบไหน