ซัวเถา...ระหว่างเรา ระหว่างทาง

ซัวเถา...ระหว่างเรา ระหว่างทาง

ไม่ใช่การเดินทางเพื่อย้อนอดีต ไม่ใช่การตามหาความแปลกใหม่ในชีวิต แต่‘ซัวเถา’คือเรื่องเล่ามีชีวิตของอดีตและปัจจุบัน

เอ่ยปากบอกใครว่าจะไป"ซัวเถา" ถ้าไม่โดนล้อว่าจะกลับไปเยี่ยมบรรพบุรุษ ก็แสดงท่าทีเป็นห่วงเป็นใยเรื่่อง‘สุขา’ เพราะว่ากันว่าเมืองจีนนั้นขึ้นชื่อทั้งเรื่องสีและกลิ่น แต่อยากจะบอก "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าไปสัมผัสด้วยตัวเอง..."

เช้ามืดของวันธรรมดาที่ไม่ธรรมดา การเดินทางครั้งแรกสู่แดนมังกรจึงเริ่มต้นขึ้น ณ สนามบินดอนเมือง ด้วยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย มุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติเจียหยาง เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง

.............................

3 ชั่วโมงคือเวลาที่ใช้เดินทางลัดฟ้ามาซัวเถา ฝนโปรยมาเบาๆ ทันทีที่สองเท้าก้าวลงสู่สนามบิน นึกถึงเรื่องเล่าการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของคนจีนในสมัยก่อนที่ต้องนั่งเรือหัวแดงกันแรมเดือน ลำบากตรากตรำแทบเอาชีวิตไม่รอดกว่าจะถึงเมืองไทย ส่วนลูกหลานที่มาอยู่เมืองไทยจะเดินทางกลับไปเยี่ยมญาติที่ซัวเถาแต่ละครั้งก็ไม่ใช่ง่าย ต้องต่อเครื่องต่อรถกันหลายทอด วันนี้หลับไปงีบเดียวก็ถึงแล้ว

ซัวเถาต้อนรับสาวไทยที่บังเอิญหน้าตาละม้ายคล้ายคนแถวนั้นแบบเกินคาด ทั้งสภาพบ้านแเมืองและการจราจร จากสนามบินเรามุ่งหน้าสู่เมืองแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ทางเหนือของซัวเถาไปประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อย้อนรอยต้นรากของ “ชาวแต้จิ๋ว” คนจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่อพยพเข้าไปลงหลักปักฐานในเมืองไทยในสมัยหลังอยุธยา

แต้จิ๋ว ในการรับรู้ของคนไทยหมายถึงกลุ่มชาวจีนที่พูดภาษาถิ่นเดียวกันคือ “ภาษาแต้จิ๋ว” แต่ในเมืองจีน แต้จิ๋วเป็นชื่อเมืองโบราณที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ปัจจุบันเมืองแต้จิ๋วเป็นหนึ่งในสามจังหวัดของมณฑลกวางตุ้ง ร่วมกับจังหวัดซัวเถา และจังหวัดกิ๊กเอี๊ย

ใครไปใครมาเมืองนี้ควรต้องหาโอกาสไปคารวะท่านหานหยี่ (Han Yu) บุคคลผู้มีคุณูปการกับชาวแต้จิ๋ว อนุสาวรีย์ของท่านตั้งอยู่ใน ศาลหานเหวินกง ที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ภายในมีภาพเขียนบอกเล่าความเป็นมาเป็นไปไว้เตือนใจคนรุ่นหลังถึงเรื่องคุณธรรมความดี

เล่ากันว่า หานหยี่ คือขุนนางผู้ใหญ่ที่ถูกเนรเทศให้มาปกครองเมืองแต้จิ๋ว สมัยนั้นแต้จิ๋วถือว่ากันดารห่างไกลเมืองหลวง แต่หานหยี่เป็นขุนนางที่มีความสามารถและรอบรู้ในเรื่องวัฒนธรรม เพียง 8 เดือนที่ปกครองเมืองท่านได้ริเริ่มสิ่งต่างๆ ที่นำความเจริญมาสู่เขตนี้ ชาวแต้จิ๋วจึงรักใคร่ยกย่องเป็นอันมาก ตั้งชื่อแม่น้ำว่า “แม่น้ำหาน” และได้มีการตั้งศาลบูชาชื่อศาลหานเหวินกงไว้แสดงความกตัญญูกตเวที

จากศาลหานเหวินกงมองไปที่แม่น้ำ จะเห็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งนั่นคือ สะพานวัวคู่ หรือในชื่้อภาษาจีน เซียงจื่อเฉียว สะพานโบราณแห่งนี้สร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ปีค.ศ. 1170 ใช้เวลาสร้างยาวนานถึง 57 ปี ตัวสะพานยาว 515 เมตร ความน่าสนใจอยู่ที่ช่วงกลางของสะพานซึ่งมีความกว้างประมาณ 100 เมตร เกิดจากการนำเรือ 18 ลำมาจอดเรียงกันและยึดด้วยไม้เพื่อใช้สำหรับคนเดินข้าม เมื่อต้องการเปิดให้เรือโดยสารหรือเรือบรรทุกสินค้าผ่านเข้าออกก็แค่ถอดสลักและนำเรือที่จอดเรียงกันนั้นออกมา ถือเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ไม่เพียงเหมาะสมกับการใช้งานยังไม่ต้องลงทุนไปกับโครงสร้างถาวรเทอะทะ และที่เห็นสวยงามผ่านกาลเวลามาได้ถึงวันนี้ก็เพราะเขามีการบูรณะซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา

สำหรับนักเดินทางชาวไทยที่นิยมไหว้พระขอพร จากสะพานโบราณสามารถเดินลัดตัดตรงย่านเมืองเก่าไปที่ วัดไคหยวน วัดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองแต้จิ๋วได้ สองข้างทางมีร้านขายของสารพัดทั้งอาหาร งานฝีมือ ของที่ระลึกต่างๆ ไม่ทันเหนื่อยก็ถึงวัดดังที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 687 (บางข้อมูลว่า ค.ศ.738) ภายในมีพระอุโบสถและเจดีย์รูปทรงสวยงาม บางส่วนเป็นศิลปะสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน วัดแห่งนี้เคยถูกไฟไหม้ไปหลายครั้งแต่ก็ได้รับการบูรณะให้กลับมามีสภาพคงเดิมทุกครั้ง แสดงถึงความศรัทธาของผู้คนที่ไม่เคยเสื่อมคลาย

ระหว่างทาง...เราแวะชิมและช้อปกันพอหอมปากหอมคอ ดูเหมือนว่าคนเมืองนี้จะคุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดีและพร้อมมอบไมตรีให้เสมอ

.................................

“กากี่นั้ง” ฉันนึกถึงคำนี้ขึ้นมาทันทีที่ได้ยินไกด์หมวยเล่าเรื่องความใกล้ชิดสนิทสนมของคนไทยกับคนซัวเถา ก่อนจะไล่รายชื่อนักการเมือง-นักธุรกิจหลายตระกูลในเมืองไทยที่มีบ้านเดิมอยู่ในเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋ว รวมถึงเมืองซัวเถา ที่ในอดีตเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ

รถแล่นผ่านใจกลางเมือง ซัวเถาวันนี้ช่างต่างจากภาพในจินตนาการอย่างสิ้นเชิง ตึกสูงเรียงรายสองฝั่งถนน คอนโดมีเนียมหรูหรา ห้างสรรพสินค้าทันสมัยรองรับการเติบโตของเมือง นึกไม่ออกเลยว่าย้อนหลังไปแค่ไม่กี่สิบปีเมืองนี้ยังอยู่ในสภาพห่างไกลความเจริญ

ไกด์สาวชาวซัวเถาเล่าต่อว่า สมัยก่อนคนเชื้อสายจีนจากเมืองไทยกลับมาเยี่ยมญาติที่ซัวเถาต้องเอาเสื้อผ้าอาหารมาฝาก แต่ทุกวันนี้คนไทยมาช้อปเสื้อผ้ากลับไปเป็นของฝาก เรื่องอาหารการกินที่เคยอดอยากนั้นเป็นแค่ตำนาน เพราะอาหารในเมืองนี้มีหลากหลายและรสชาติดีไม่แพ้ที่ไหน โดยเฉพาะอาหารทะเลสดๆ ที่มีให้เลือกมากมายในราคาสมเหตุสมผล

ส่วนห้องน้ำน่ะเหรอ ลบภาพอันเลวร้ายในอดีตไปเลย ถ้าขีดวงเฉพาะในเมืองหรือในแหล่งท่องเที่ยว มาตรฐานไม่ได้ด้อยกว่าเมืองไทย ยิ่งถ้าเข้าไปในห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรมสบายใจหายห่วง แต่ถ้ามีธุระด่วนต้องไปเข้าตามศาลเจ้าหรือห้องน้ำสาธารณะข้างทาง อาจมีบ้างที่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมๆ....เปิดประตู แล้วปิดตาเอาแล้วกันนะ!

ความเจริญแบบก้าวกระโดดนี้ต้องยกความดีให้กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีนที่ยกระดับซัวเถาเป็นเมืองท่านานาชาติ ก่อนจะเลื่อนขั้นให้เป็น 1 ใน 4 เมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ซึ่งประกอบไปด้วยเซินเจิ้น, จูไห่, เซี่ยะเหมิน และซัวเถา

และแม้ว่าอดีตอันแร้นแค้นจะจางหายไป แต่เรื่องเล่าการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของชาวแต้จิ๋วผ่านเมืองท่าซัวเถายังถูกเล่าซ้ำ บางข้อมูลระบุว่าคนจีนกลุ่มนี้อพยพไปเป็นจำนวนมากในสมัยที่พระเจ้าตากสินทรงครองราชย์ เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระบิดาเป็นชาวแต้จิ๋ว และชาวแต้จิ๋วส่วนหนึ่งก็ได้มีบทบาทในการสู้รบเพื่อกอบกู้เอกราช หลักฐานเรื่องสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ปรากฎ ณ สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองซัวเถา

สำหรับคนไทยแล้วการได้ไปสักการะสุสานแห่งนี้ถือเป็นสิริมงคลอย่างหนึ่ง บริเวณสุสานมีป้ายหินแกรนิตสีชมพูสลักตัวอักษรจีนสีทอง แปลความได้ว่า “สุสานฉลองพระองค์และพระมาลาของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงสยาม” สร้างขึ้นในปีที่ 47 แห่งรัชสมัยเฉียนหลง ค.ศ. 1784 บูรณะเมื่อฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1985 มีประวัติเล่าว่าหลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินสวรรคตได้ 2 ปี ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามา 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดไทย อีกชุดหนึ่งเป็นชุดจีน กลับมามอบให้พระญาติที่หมู่บ้านหัวฝู่ พวกพระญาติจึงสร้างสุสานบรรจุสิ่งของเหล่านี้ไว้สักการะ

นอกจากบางหน้าประวัติศาสตร์ที่จดจารร่วมกัน ความสัมพันธ์ไทย-จีนยังปรากฎในสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งในเมืองนี้ อาทิ ศาลไต่ฮงกง ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของเมืองเฉาหยาง แต่เดิมเป็นสุสานของซ่งไต่ฮงกงโจวซื่อ ผู้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือชาวเมืองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติและให้กำเนิดป่อเต๊กตึ้งในจีน กระทั่งกลายเป็นที่มาของมูลนิธิป่อเต๊กตึ้งในเมืองไทย ปัจจุบันได้มีการปฏิสังขรณ์ให้มีอาณาบริเวณกว้างขึ้นกว่าเดิม ภายในศาลามีรูปแกะสลักของท่านไต่ฮงกงประดิษฐานอยู่โดยใช้หยกขาวที่นำเข้าจากพม่ามาแกะสลัก วัดความสูงได้ 2.8 ม. หนัก 3.5 ตัน เป็นที่นับถือของชาวจีนในพื้นที่และชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นตัวอย่างของการเสียสละซึ่งน่านับถือเป็นอย่างยิ่ง

อีกแห่งที่ว่ากันว่าคนไทยกรุ๊ปไหนก็ไม่พลาด คุ้นๆ ชื่อกันดีคือ ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือ เฮียงบู้ซัว อยู่ในอำเภอลู่เฟิง ศาลแห่งนี้สร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้งจนกลายเป็นศาลเจ้าที่ใหญ่โต มีผู้มากราบไหว้บูชาอยู่เสมอ โดยเฉพาะเจ้าพ่อเสือ สิ่งศักดิ์สิทธิที่คนไทยเชื้อสายจีนนับถือและมีองค์จำลองอยู่บริเวณเสาชิงช้า ซึ่งคนทำธุรกิจเชื่อว่าในชีวิตหนึ่งควรต้องหาโอกาสมานมัสการสักครั้ง เนื่องจากร่ำลือกันว่าหลังจากนมัสการที่เฮียงบู้ซัวนี้แล้วจะทำการค้าขึ้นประสบความสำเร็จในชีวิต ทุกๆ ปีจึงมีผู้ที่มาบนบานและเดินทางกลับมาแก้บนไม่ได้ขาด

สมหวังเรื่องเงินทองแล้ว ถ้าใครอยากให้ชีวิตราบรื่นยิ่งขึ้นไปอีก ต้องปักหมุดไปที่ เกาะมาสือ บริเวณปากอ่าวซัวเถา ที่นี่เป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่ทับทิม ‘ไฮตังม่า’ หรือ ศาลเจ้าแม่ทับทิม เทวนารีผู้มีอิทธิฤทธิ์ทำให้คลื่นลมสงบ คุ้มครองชาวจีนแต้จิ๋วที่มีชีวิตอยู่กับท้องทะเลมาเนิ่นนาน นอกจากจะได้ขอพรตามที่ปรารถนาแล้วยังจะได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลสองสีซึ่งมองเห็นจากบริเวณยอดเขาบนเกาะด้วย

ส่วนใครที่สนใจวิถีวัฒนธรรมจีนเมื่อค่อนศตวรรษ ไม่ควรพลาดการไปเยือนบ้านเดิมของตระกูลหวั่งหลี ซึ่งปัจจุบันเป็น พิพิธภัณฑ์หวั่งหลี บ้านหลังนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีการจัดวางผังอย่างลงตัวสมกับเป็นตระกูลเศรษฐีที่มีลูกหลานและบริวารจำนวนมาก ส่วนต่างๆ ของบ้านมีทางเดินเชื่อมถึงกัน มีการตกแต่งอาคารด้วยโมเสกผสมผสานลวดลายแบบจีน ประตูทางเข้ามีการทำประตูกลไว้สำหรับป้องกันผู้บุกรุกด้วย แน่นอนว่าหลังจากเปิดให้เข้าเยี่ยมชม นี่คือหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวไทย

ในมุมหนึ่งของบ้านเปิดเป็นร้านขายของที่ระลึก ทันทีที่ผ่านประตูเข้าไปฉันสะดุดตากับโปสการ์ดรูปเมืองซัวเถาในโทนขาว-ดำ เลือกมาเป็นของที่ระลึกหนึ่งชุด ก่อนจะหยิบภาพที่ชอบที่สุดมาบันทึกความรู้สึกไว้ด้านหลังเพื่อเก็บไว้ในกล่องความทรงจำของตัวเอง...

ดูเหมือนว่าระหว่างเราจะมีอดีตร่วมกันมากมาย ไม่เพียงแทรกอยู่ในประวัติศาสตร์ สถานที่ เรื่องราว แต่ยังอยู่ในเลือดเนื้อของใครหลายๆ คนด้วย”