เรื่องนี้สีรุ้ง เวลาทองของ LGBT ในซีรีส์ ?

เรื่องนี้สีรุ้ง เวลาทองของ LGBT ในซีรีส์ ?

ช่วงเวลาทองของซีรีส์เกย์ ที่ต้องสื่อสารประเด็นใหม่ๆให้สร้างสรรค์กว่าเดิม

ถ้าซีรีส์ที่มีตัวละครเพศที่สาม ทำให้เรารู้จักคำศัพท์ อย่าง “นก-เท-ผู้-สร้างแลนด์มาร์ค-#วนไปค่ะ” อย่างติดหู …ช่วงเวลาที่ซีรีส์เกย์กำลังเกลื่อนหน้าจอเช่นในขณะนี้ ย่อมถึงเวลาสื่อสารประเด็นใหม่ๆ ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศให้สร้างสรรค์กว่าเดิมได้แล้ว

 

มันน่าจะเป็นจูบของ “โต้ง” กับ “มิว” ในหนัง “รักแห่งสยาม” ซึ่งทำให้ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มผู้ชาย 2 คน ในครอบครัวธรรมดาๆ แหลมคมขึ้น จากนั้นก็เป็นเรื่องของ “ภู” กับ “ธีร์” ใต้ผ้าห่ม ในฮอร์โมนเดอะซีรีส์ ซึ่งทำให้เว็บกระทู้ดังต้องร้อนฉ่า เพราะไม่ได้คาดคิดว่าตัวละครหล่อๆ เท่ๆ จะมีชีวิตอีกด้าน

เช่นเดียวกับกรณีของ “มิ้นต์” กับ “มิว” ใน Club Friday To be continued “ก้อย” กับ ”ดาว” ในฮอร์โมนฯ ซีซั่น 3 ที่ไม่ว่าเพศไหนๆ ก็อมยิ้ม และอยากเอาใจช่วย นี่ยังไม่รวมไปถึงมุขดีๆ ใน “ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์เดอะซีรีส์” และอีกสารพัดรายการ ที่สุดท้ายกลายเป็นไวรัลแชร์กันสนุก และเป็นหลักฐานซึ่งแสดงถึงการมีอยู่ของพล็อต LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Transsexual) ในสื่อซึ่งมีพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย

การเกิดขึ้นของ Content ที่หลากหลายผนวกกับสังคมที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น จากที่ต้องเคยพูดถึงเพราะปรากฏการณ์มีไม่บ่อย มาวันนี้ “ทำไมซีรีส์เกย์ถึงเยอะจัง” กำลังกลายเป็นเรื่องที่ถูกตั้งข้อสังเกต เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าในความ “เยอะ” เหล่านั้น จะมีสักกี่มากน้อยที่นำเสนอเรื่องราวความหลากหลายทางเพศอย่างตรงไปตรงมา ให้สมกับที่เป็นช่วงเวลาทองของซีรีส์เกย์จริงๆ

 

ตลาดเกย์ มาแรงส์

ไม่เฉพาะแค่เป็นตัวละครสร้างสีสันเท่านั้น ไม่กี่ปีมานี้ ดูเหมือนว่า พื้นที่ของความเป็น LGBT จะมีมากขึ้นในสื่อ ยิ่งถ้าโฟกัสไปที่ละครซีรีส์ซึ่งมีกลุ่มคนดูหลัก คือผู้ชมในประเทศ จะพบว่าขณะนี้ซีรีส์โทรทัศน์ที่มีเนื้อหาความสัมพันธ์แบบชายรักชายมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะช่องโทรทัศน์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายคนชั้นกลางในเมืองเป็นหลัก

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับ และอดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มองว่า ความมากของเนื้อหา LGBT เหล่านี้ อธิบายได้ด้วยหลัก Demand และ Supply แบบการตลาดทั่วๆ ไป เพราะเมื่อมีคนดูจึงมีผู้ผลิต ขณะเดียวกันมันก็แสดงให้เห็นว่าสังคมได้เปิดกว้างขึ้น ในเวลาเดียวกับที่ประเด็นความหลากหลายทางเพศได้เด่นชัดขึ้นในสังคมไทย ทั้งตัวปัจเจกบุคคลที่หลายคนเลือกเปิดตัวเองออกมา (Coming out) และสังคมภาพรวมที่มองเห็น LGBTจนต้องสะท้อนออกมาในสื่อ

ขณะที่ ภาวิน มาลัยวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งติดตามเรื่องความหลากหลายทางเพศในสื่อมาอย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า นอกจากจำนวนที่เยอะขึ้นจะบอกถึงความต้องการของคนดูแล้ว ในแง่หนึ่งมันยังเป็นกลยุทธ์ของการแข่งขันของสถานีโทรทัศน์เองด้วย โดยเฉพาะสถานีที่เจาะกลุ่มตลาดคนเมือง ชนชั้นกลาง ซึ่งสะท้อนลักษณะของกลุ่ม LGBT ได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น เมื่อคนชั้นกลางรู้สึกมีส่วนร่วมกับเนื้อหา LGBT เท่าไร เนื้อหาแบบนี้ก็เปรียบเสมือนจุดขายให้แก่สถานีนั้นๆ เพื่อใช้ต่อกรกับช่องใหญ่ที่ยังระมัดระวังเนื้อหาลักษณะดังกล่าวนี้ที่รัดกุมมากกว่า

“มันเลยเป็นเรื่อง วิน-วิน ทั้งคนดูและคนทำ คนดูเขาก็อยากเห็นอะไรที่มันสนุก มันแฟนตาซีในเรื่องที่เขาไม่รู้ ไม่เข้าใจ เลยเป็นความบันเทิงประเภทหนึ่ง ส่วนสถานีที่ให้พื้นที่แก่ซีรีส์เกย์ หรือจะเป็น LGBT เองก็จะสังเกตได้ว่า เป็นสถานีลำดับรองๆ ลงมา หรืออาจจะเป็นช่องทางที่มันเป็นทางเลือก ซึ่งอาจยังไม่ใช่ช่องหลักที่ยึดกุมผู้ชมกว่าค่อนประเทศ พอวิธีการผลิตซีรีส์เกย์นี้มันได้ผลในเชิงความนิยม จึงเป็นที่มาของการสร้างละครซีรีส์ที่มีเนื้อหาลักษณะประมาณนี้เพิ่มมากขึ้น”

สารพัดซีรีส์และเกมโชว์ที่ปรากฏอยู่ในโทรทัศน์ กระทั่งรายการในแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงนี้ จึงเปรียบได้กับช่วงเวลาพาร์มไทม์ของเนื้อหาประเภท LGBT ที่พร้อมจะถูกจัดวาง รอให้มีผู้ชมขานรับ ไม่ว่าจะเป็นสาวกละคร Yกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มคนดูเพศไหนๆ ก็ตาม

“ซีรีส์บางเรื่องโอเคนะ แต่บางเรื่องก็แค่เอาเด็กวัยรุ่นผู้ชายมาจิ้นกัน มีฉากเอาหน้าผากมาชนกัน ทั้งๆ ที่เกือบตลอดทั้งเรื่องยังไม่ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ด้วยซ้ำว่าเป็นอย่างไร”หนุ่มออฟฟิศที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์คนหนึ่งพูดถึงสูตรละครซีรีส์ที่เห็นๆ กันอยู่

 

“สายฮา” กับ “ดรามา”

  เคท ครั้งพิบูลย์ (ครูเคท) ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในนามเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยวิเคราะห์ว่า แม้จะมีซีรีส์, รายการโทรทัศน์ ที่มีตัวละครซึ่งไม่ใช่ชายจริง-หญิงแท้ มากขึ้น จนเหมือนเป็นกระแส แต่ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังไม่ต่างอะไรกับภาพที่เข้าใจในอดีต นั่นคือมักถูกผูกติดกับความเป็นตัวตลก ถูกแกล้งให้คนอื่นหัวเราะ หรือไม่ก็จะมีชีวิตที่สุดโต่ง ประเภทเศร้าสุด-ดรามา (Drama) สุดขีด

“ถามว่ามันเยอะขึ้นไหม เท่าที่ติดตามดูก็เห็นว่ามันเยอะขึ้น จะดูเรื่องไหนก็จะมีละครที่เป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นเลสเปี้ยนอย่างน้อยหนึ่งคน แต่ถ้าถามว่าภาพมันเปลี่ยนไปไหม มันก็เหมือนเดิม ยังไม่มีประเด็นอะไรใหม่ คือเน้นแค่สีสัน เป็นสายฮา ไม่ก็ผิดหวังในความรัก ต้องตายเพราะความหึงหวง ตายเพราะโรค ขณะเดียวกันบุคลิกก็จะออกแนวที่บ้านมีฐานะหน่อย ขาวๆ ล่ำๆ ดูดี เป็นลักษณะของกลุ่มเกย์ที่มีความเป็นชนชั้นกลาง มีอันจะกิน มีเวลานินทาคนอื่นเขา ซึ่งภาพลักษณ์ก็เป็นแบบนี้มานาน”

ทิชากร ภูเขาทอง ซึ่งทำปาร์ตี้ Trasher เขียนบทและร่วมกำกับซีรีส์ออนไลน์ GAY OK Bangkok บอกอีกมุมหนึ่งว่าความสุดโต่งของเพศทางเลือกในซีรีส์ละคร มันอาจเป็นเพราะนิสัยคนดูที่ต้องการเสพอะไรที่สุดทาง ซึ่งไม่สมหวังก็ต้องเศร้าที่สุด จึงไม่แปลกที่ภาพลักษณ์ของเกย์และกลุ่ม LGBT ในสื่อจึงต้องประนีประนอมกับตลาดคนดูมากกว่าจะสะท้อนความจริงออกมาทั้งหมด

“เมื่อเพศทางเลือกกำลังเป็นอาวุธทางการตลาด แง่หนึ่งมันถือเป็นเรื่องดีเรื่องหนึ่งที่จะทำให้คนมีของได้มีพื้นที่สื่อสารมากขึ้น ได้มีโอกาสแสดงความเป็น LGBTมากขึ้น ได้สื่อสารความเป็นตัวเองออกมาให้จริงที่สุด มันจึงมีโอกาสให้ประเด็นการพูดคุยที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ สิทธิทางเพศมันเดินหน้า”

อย่างเรื่อง GAY OK Bangkok ซึ่งเป็นซีรีส์ออนไลน์ ที่กลุ่มเกย์รู้จักกันดีนั้น ทิชากร บอกว่า เขาพยายามนำเสนอถึงความรักของกลุ่มเกย์ ซึ่งสามารถมีความรักที่แท้จริงได้ ไม่ต่างอะไรกับชาย-หญิง มีความไว้ใจ ความเชื่อใจ และความซับซ้อนทางความรู้สึกแบบเดียวกับที่แต่ละชีวิตพึงมี ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อ HIV ซึ่งมีทางบำบัดให้ใช้ชีวิตอยู่ได้เป็นปีๆ ไม่ได้หมดหวังเหมือนกับที่สื่อในอดีตเสนอถึงความน่ากลัว

“มันไม่ต้องสร้างสรรค์สังคม ไม่ต้องแหลมคมขนาดนั้น แต่มันต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เห็นว่าเกย์เองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง อธิบายถึงความเป็นมนุษย์ที่มีหลายแบบ ไม่ได้มีแค่มุมตลก หรือต้องเศร้าอย่างเดียว คนที่เป็นเกย์บางคนก็เงียบๆ ไม่ได้ตลก หรือขาว ตี๋ หุ่นล่ำ แบบเดียวกันหมด พวกเขาก็เหมือนทุกคน อาจจะต่างกันที่เขาไปรักเพศเดียวกัน” เขาบอกและว่า รวมๆ กันแล้ว เวลานี้เป็นความท้าทายหนึ่งของคนทำสื่อ LGBT ที่ต้องสะท้อนภาพความจริง และประคองคนดูให้ต้องคิดในระหว่างทางนี้ด้วยพร้อมๆ กัน

 

เวลาทอง ถกประเด็น LGBT

  บางคนมองเพียงว่าสถานะของเนื้อหา LGBT ที่ปรากฏอยู่ในสื่อทุกวันนี้ คือการแสดงออกถึงการยอมรับ มีตัวตน หากแต่คนดูจะเข้าใจถึงแก่นจริงๆ ของความเป็นเพศทางเลือก ซึ่งมีหัวใจหลักคือความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง

ใช่-มันคงไม่ผิดนัก นั่นเพราะสังคมไทยเองก็รู้ว่าสมาชิกที่มีเพศสภาวะแตกต่างจากเพศกำเนิดในสังคมนั้น “มีอยู่จริง” แต่จะให้มาสนับสนุน ประเด็นภายในที่ซ่อนอยู่ อาทิ ความเท่าเทียม เสรีภาพ ความรุนแรง ฯลฯ คงไม่มีใครอยากจะคิด

เคท มองว่าถ้ายังดูเนื้อหา LGBT ในสื่อแล้วติดกับดักแค่ว่า คนเป็นเพศที่สามต้องตลก หรือต้องผิดหวังในความรัก มันคงไม่มีโอกาสที่สังคมนี้จะถกเถียงเรื่องสิทธิเพศอื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า ในเวลาที่ LGBT กำลังมีพื้นที่อย่างการแต่งงานของเพศเดียวกัน ความเท่าเทียมของเพศในแต่ละอาชีพ การละเมิดสิทธิ ความรุนแรง และอีก ฯลฯ

ขณะที่ ภาวิน คาดการณ์ว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาทองที่สังคมกำลังเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น กระทั่งมีซีรีส์ที่เล่าเรื่องกลุ่ม LGBT มากขึ้น แต่ลึกๆ แล้วรูปแบบของคนเหล่านี้ยังถูกซ่อนในโครงสร้างเรื่องแบบชายจริง-หญิงแท้อีกชั้นหนึ่งอยู่ดี จึงทำให้ประเด็นสร้างสรรค์แบบข้างต้น ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนออกมา ซึ่งในทางหนึ่ง คนทำเองก็อาจไม่มั่นใจว่า ลำพังเฉพาะประเด็น LGBT มันจะไปได้ด้วยตัวของมันเอง

“รูปแบบละครแบบนี้ เป็นอะไรที่คนดูคุ้นเคย เขาชอบที่จะดูอะไรที่มันประโลมใจ ดูอะไรที่มันบันเทิง ซึ่งที่มีอยู่มันตอบสนองเขาได้ แต่ประเด็นเรื่องสิทธิของเพศ ความหลากหลายทางเพศ มันควรจะถูกพูดในละคร แต่คงไม่ต้องพูดกันตรงๆ ซึ่งทำให้มันถูกยัดเยียดมากไป ซึ่งเรื่องนี้มันก็แล้วแต่มุมมอง”

วันนี้หรืออนาคตอันใกล้ “ความเยอะ” ของเนื้อหา LGBT จึงเป็นเพียงการโยนหินถามทางไปก่อน เช่นเดียวกับการซ่อนปมเรื่องของเกย์-LGBT ที่จะต้อง“เนียน” ไปกับประเด็นของครอบครัว ความสัมพันธ์ของเพื่อน และความรักของเด็กหนุ่มสาว

“แต่กับความหลากหลายอื่น ซึ่งเป็นความจริง เช่น LGBT ที่มีรายได้น้อย LGBT สูงอายุ LGBT ในแต่ละอาชีพ ซึ่งต้องเจอกกับความรุนแรงที่เกิดจากการไม่ยอมรับ-ความแปลกแยกระหว่างเพศหลักชาย-หญิง ยังดำรงอยู่”

  ถ้าเชื่อว่าความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริง ในเวลาที่ซีรีส์เกย์ดำเนินไปตามแผนการตลาดอยู่นี้ บางที – นี่อาจเป็นโอกาสดีด้วยซ้ำที่สังคมต้องคิดและทบทวนเรื่องที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กันด้วย

มิเช่นนั้น ในเวลาทองที่ความเป็นเกย์ และ LGBT ยังไปได้ และ “ขายดี” บนหน้าจอ แต่ขณะเดียวสังคมกลับไม่ได้อะไรเลย นอกเสียจากมุขขำๆ ,ฉากดรามา “แย่งผู้”, คำศัพท์พีคๆ #วนไปค่ะ