“ปลูกป่าในใจ” พระราชปณิธานในหลวง
จากแห้งแล้งกลับกลายเป็นชุ่มชื้น จากผืนดินแตกระแหงกลับกลายเป็นผืนป่าด้วยพระบารมี
“...อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมถึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดินแล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่า ไม่อย่างนั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ดิน และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินภูเขาจะหมด ไปกระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำทำให้น้ำท่วม นี่นะ เรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ...” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเล่าถึงแรงบันดาลใจในความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ป่า น้ำ ดิน ไว้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2512
ใครที่ติดตามพระราชกรณียกิจมาโดยตลอดคงจะจำภาพที่พระองค์เสด็จฯไปยังท้องถิ่นทุรกันดาร ไม่ว่าจะเป็นเทือกดอยหรือป่าเขา ในมือทรงถือแผนที่ ที่พระศอมีกล้องถ่ายรูปทรงซักถามพูดคุยกับชาวบ้าน ณ ที่นั้นด้วยความสนพระราชหฤทัย นั่นเป็นเพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาป่าเสื่อมโทรม ว่าส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเรื่องดินเรื่องน้ำเท่านั้น หากยังโยงใยถึงปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คุณธรรมและระบบนิเวศ
ด้วยเหตุนี้ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงมีแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่ามากมาย และเกิดเป็นโครงการพระราชดำริอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งครอบคลุมหัวใจหลักใน 3 ด้าน คือ การอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสภาพป่าและการปลูกป่า และการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
ป่าไม้สาธิต... พระราชดำริเริ่มแรกส่วนพระองค์
เว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนาได้เล่าถึง “ป่าไม้สาธิต... พระราชดำริเริ่มแรกส่วนพระองค์” ว่าในระยะต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นประจำแทบทุกปี โดยในระยะแรกจะเสด็จฯ ด้วยรถไฟพระที่นั่ง ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมดีขึ้น จึงเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่ง ประมาณปี พ.ศ. 2503-2504 ขณะเสด็จพระราชดำเนินผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรีและเพชรบุรี เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีนั้น มีต้นยางขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายทั้งสองข้างทาง จึงมีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่ายางนี้ไว้ให้เป็นส่วนสาธารณะ แต่ในระยะนั้นไม่อาจดำเนินการได้เนื่องจากต้องจ่ายเงินค่าทดแทนในอัตราที่สูง เพราะมีราษฎรมาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นจำนวนมาก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองในบริเวณแปลงทดลองปลูกต้นยางนาพร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาในลักษณะป่าไม้สาธิต นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิตนั้นเพื่อทรงศึกษาธรรมชาติวิทยาของป่าไม้ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งในปี พ.ศ. 2508
ปลูกป่าในใจคน
ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยที่ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้แนวพระราชดำริมากมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยพระปรีชาญาณพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับจิตสำนึกของประชาชนเป็นอันดับต้นๆ ประหนึ่งว่างานด้านอนุรักษ์ป่าไม้และต้นน้ำลำธารจะประสบผลดีมีความต่อเนื่อง และรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้อย่างยั่งยืนเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจิตสำนึกของชาวบ้านเป็นสำคัญ หากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ร่วมใจ ไม่เห็นด้วยงานในพื้นที่นั้นก็ย่อมยากที่จะประสบความสำเร็จ
เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปหน่วยงานต้นน้ำพัฒนาทุ่งจือ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2514 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่ที่เฝ้ารับเสด็จฯความว่า
“...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมหน่วยงานอย่างเอาพระราชหฤทัยใส่ และทรงหนุนช่วยอย่างจริงจัง ทรงรับรู้ถึงสภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ ทุกข์สุขของผู้ปฏิบัติงาน เป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้คนทำงานและชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์นั้นได้ปลูกจิตสำนึกรักและหวงแหนป่าไว้ในใจผู้คนแล้ว
ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
“...ทิ้งป่านั้นไว้ 5 ปี ตรงนั้นไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านั้น สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง...” พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นคำอธิบายอย่างดีถึงแนวคิดในการปลูกป่าโดยไม่ต้องเพาะกล้าไม้เลยสักต้น
สำหรับทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกนี้ เว็บไซต์สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ อธิบายเพิ่มเติมว่า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงทรงพยายามค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริหลายวิธีการ อาทิเช่น กลยุทธ์การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกซึ่งเป็นไปตามหลักการกฎธรรมชาติ (Natural Reforestation) อาศัยระบบวงจรป่าไม้ และการทดแทนตามธรรมชาติ (Natural Reforestation) คือการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตของต้นไม้และควบคุมไม่ให้มีคนเข้าไปตัดไม้ ไม่มีการรบกวนเหยียบย่ำต้นไม้เล็กๆ เมื่อทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งต้นไม้ก็จะงอกงามขึ้นเองตามธรรมชาติ
การปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูกนั้นทรงให้แนวทางไว้ 3 ข้อ คือ “ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว”
"ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น…”
และสุดท้าย “ในสภาพป่าเต็งรังป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีกถึงแม้ต้นไม้สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้”
การปลูกทดแทน
ในห้วงเวลาที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการปลูกป่าทดแทนตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสมกล่าวคือ ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
“...การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น แล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้นควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเสียก่อน เพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น ในปีต่อไปก็ให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีก ต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี...”
การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา
"...จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆ ชนิด เพื่อให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์ คือ มีทั้งไม้ผล ไม้สำหรับก่อสร้างและไม้สำหรับทำฟืน ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งเมื่อตัดไม้ใช้แล้ว ก็ปลูกทดแทนหมุนเวียนทันที...
การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง
"...ต้องมีการปลูกป่าโดยปลูกไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย...
นอกจากนี้ยังมีแนวทางอื่นๆ อาทิเช่น ให้มีการปลูกป่าที่ยอดเขา เนื่องจากสภาพป่าบนที่เขาสูงทรุดโทรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำตอนล่าง และคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีเมล็ดเป็นฝักเพื่อให้เป็นกระบวนการธรรมชาติ ปลูกต่อไปจนถึงตีนเขา ปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเหนืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีความชุ่มชื้นยาวนานพอ ปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำและแหล่งน้ำให้มีน้ำสะอาดบริโภค
ปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต ปลูกป่าเสริมธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า เป็นต้น โดยพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับพืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ทรงเตือนให้ระวังการนำพันธุ์ไม้ต่างถิ่นเข้าไปปลูก โดยไม่ได้ศึกษาอย่างดีพอมาก่อนด้วย
ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง
ไม่เพียงทรงอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงมุ่งหวังที่จะให้ทรัพยากรธรรมชาติยังประโยชน์สูงสุดและทั่วถึงแก่ประชาชน ทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตร วนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมไว้เป็นมรรควิธี ดังมีพระราชดำรัส ความว่า
“ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ใน คำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ เป็นสวนหรือจะเป็นสวนมากกว่าป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม หรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตาม นั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือเป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้...”
นอกจากนี้ยังได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า
“การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่างแต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหลตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ...”
กระแสพระราชดำรัสเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เหล่านี้ ไม่เพียงเป็นแนวทางในการทำงานของของโครงการพระราชดำริต่างๆ ตลอดถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นหลักคิดให้กับประชาชนในการสืบสานพระราชปณิธานด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นต้นธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยทั้งแผ่นดิน