หมอล็อต กับ "ความดีที่สานต่อ ไม่ทำให้พ่อผิดหวัง"
ในชั่วโมงนี้ นอกจากความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ความเข้มแข็งและสามัคคีคือสิ่งที่ควรกระทำเพื่อให้พ่อหลวงทอดพระเนตรลงมาอย่างสบายพระทัย
รูปที่มีทุกบ้านกับคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้เด็กธรรมดาคนหนึ่งเดินมาถึงจุดที่สังคมยอมรับในฐานะสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของไทย
ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต เล่าว่าตั้งแต่เกิดก็ได้เห็นพระองค์ท่าน จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีกันทุกบ้าน แม้ตอนเด็กจะไม่รู้ประสีประสานัก แต่ก็ถูกปลูกฝังจากพ่อแม่เสมอว่า ก่อนออกจากบ้านให้ไหว้พระองค์ท่าน ไหว้พ่อ ไหว้แม่ เขาจึงทำอยู่เสมอตั้งแต่เด็กๆ และยามก่อนนอน ก็ต้องสวดมนต์
“กราบหนึ่ง กราบสอง กราบสาม กราบพระพุทธ กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์ กราบในหลวง กราบราชินี กราบพ่อ กราบแม่ กราบพี่ กราบน้อง”
พอโตขึ้นรู้ภาษามากขึ้น หมอล็อตจึงได้รับรู้เรื่องพระราชกรณียกิจ ได้รู้ลึกซึ้งว่าพระองค์ท่านเป็นใคร ทรงทำอะไร ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เขาจึงรู้สึกว่าพระองค์ท่านคือที่ยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต
“ยิ่งช่วงที่ผมทำงานช่วงแรกๆที่ค่อนข้างยากลำบากเพราะทำงานในป่า เจอปัญหาเจออุปสรรค ความท้อแท้มีอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจ คือ เมื่อเราไปที่ไหนก็จะพบเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ ทำให้เราระลึกถึงแล้วมีกำลังใจ
สำหรับการทำงาน สิ่งที่เราคิดอย่างเดียวคือเรามีหน้าที่บริการประชาชน ช่วยเหลือประชาชนในฐานะที่เราเป็นข้าราชการ เป็นตัวแทนของพระองค์ท่าน เวลาเราทำงานมันมีคำถามว่าเราจะเสียสละไปทำไม เราให้ไปแล้วเราจะได้อะไร เราควรทำสิ่งที่ทำแล้วได้อะไรตอบแทนไม่ดีกว่าหรือ สำหรับในหลวงพระองค์ทรงใช้คำว่าหลักสังฆทาน ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งคือ ให้เพื่อให้ เป็นการให้โดยไม่เลือก ไม่ได้ให้เพื่อหวังผลตอบแทน”
ณ ปัจจุบัน หมอล็อตเป็นคนที่สังคมรู้จัก แต่การที่ได้มาถึงจุดนี้ เขาพึงระลึกเสมอว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้คนมารักก็อยู่ที่ว่าเขาได้ทำอะไรให้แก่สังคม เนื่องจากต้องทำงานเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า เขาจึงยึดหลักปฏิบัติอย่างพระองค์ท่าน อันจะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่พระองค์ท่านทรงงาน พระองค์เสด็จยังพื้นที่ป่า ทุรกันดาร เสด็จในที่ที่ยากลำบาก พระองค์ท่านจะใช้วิธีการให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ คือ ให้ประชาชนเข้าใจธรรมชาติ มองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียดลออ เพราะการแก้ไขปัญหาธรรมชาติต้องใช้ธรรมชาติมาช่วยเหลือ เช่น การแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางแก้ปัญหาคือ ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูธรรมชาติ พระองค์ทรงเข้าใจธรรมชาติและมนุษย์ให้อยู่อย่างเกื้อกูลกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้สัตวแพทย์หนุ่มผู้นี้นำมาเป็นอาวุธทางปัญญา เมื่อต้องปฏิบัติงานในพื้นที่จริง
“และกรณี ในหลวงทรงได้รับเชื้อไมโครพลาสม่าจากการเสด็จไปที่สะเมิงนี้เอง อันเป็นสาเหตุของโรคพระหทัยเต้นผิดปกติเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน แม้คณะแพทย์จะพยายามเท่าใด ก็ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอด จนกระทั่งต้องทรงรับการผ่าตัดใหญ่เมื่อปี 2538 ในหลวงเคยมีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า... "ฉันขึ้น-ลงสะเมิงอยู่หลายปี จนได้รับเชื้อไมโครพลาสม่า ซึ่งในที่สุดทำให้ฉันเป็นโรคหัวใจเต้นไม่ปกติ จนเกือบต้องเสียชีวิต" นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ท่านนึกถึงสิ่งอื่นก่อนมากกว่าตัวเอง ในการทำเพื่อประชาชน”
นอกจากบทบาทผู้พิทักษ์ชีวิตสัตว์ป่า หมอล็อตมีโอกาสเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหลายวาระและโอกาส สิ่งที่เขาภาคภูมิใจที่สุดคือได้นำเรื่องราวพระราชกรณียกิจไปถ่ายทอด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ประชาชน ชาวบ้าน หรือองค์กรต่างๆ ซึ่งเขาสัญญาว่าจะทำตลอดชีวิต
“ตลอดเวลาที่ผ่านมา สายตาลูกทุกคนมองพ่อ บอกรักพ่อ และตั้งปณิธานว่า "ทำแบบพ่อ ทำดีเพื่อพ่อ" ขณะนี้ พ่อไปอยู่บนสรวงสวรรค์ มองเห็นลูกทุกคน และเฝ้ามองดูอย่างให้กำลังใจว่าจะทำอย่างที่ปฏิญาณไว้หรือไม่?
และเหนือสิ่งอื่นใดที่พ่อต้องการเห็นและลูกควรจะทำ ในขณะนี้คือ "เข้มแข็งและสามัคคี" ท่านมอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ให้ทุกคนสานต่อ อย่าให้พ่อผิดหวัง”