ฮ่องกงกับชั่วโมงต้องมนต์

ถ้า..จิมซาโจ่ย, มงก๊ก, โซโห, หว่านไจ๋ หมายถึงหน้าตาที่สวยงามของฮ่องกง “ไท่โอ” ก็คงจะเป็นจิตวิญญาณอันแข็งแกร่ง สงบงาม และทรงเสน่ห์ไม่แพ้กัน
รอยย่นบนใบหน้าของลุงคนนั้น บ่งบอกกาลเวลาที่ผ่านมาช่างยาวนานนัก สายตาที่เฉยชา ไม่ได้หมายความว่า ลุงเป็นคนเฉยเมย เพราะรอยยิ้มน้อยๆ ที่ปรากฏอยู่ริมมุมปาก เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความยินดี แม้ลุงจะไม่ได้เอ่ยปากพูดออกมา แต่ท่าทีนั้นช่างชัดเจนและตรึงตราใจ
ฉันยืนอยู่บนสะพานแบบชักมือสีฟ้าในหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะลันเตา อันเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่นี่ไม่มีสินค้าแบรนด์เนม ไม่มีเสียงพ่อค้าแม่ค้าโหวกเหวกโวยวาย ไม่มีรถราแล่นไปมาให้ต้องระวัง มีเพียงรถจักรยาน ร้านค้า และสินค้าท้องถิ่นเท่านั้นที่พบเจอ
หันมองไปที่เก้าอี้ตัวเก่าที่เพิ่งเดินผ่านมา ลุงคนนั้นยังคงนั่งมองความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งรอบกาย จนหลายนาทีต่อมาจึงค่อยๆ ยันตัวลุกขึ้น แล้วใช้ไม้ค้ำช่วยเดิน เดินกลับไปยังบ้านพักหลังเล็กๆ ที่อยู่ปลายถนนเส้นนั้นเงียบๆ คนเดียว
ความเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า บางขณะดูคล้ายจะหยุดนิ่งไปพร้อมกาลเวลา ทำให้ฉันหลงคิดไปว่า ที่นี่คือหมู่บ้านลับแลที่ตั้งสวนกระแสอยู่กับโลกในยุคปัจจุบัน
เย็นวันนั้น ฉันใช้เวลาเดินช้าๆ อยู่ในหมู่บ้านที่แสนเงียบงัน จนเกือบลืมไปว่า ที่นี่ ฮ่องกง
.................
ไท่โอ (Tai O) เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งชุมชนมายาวนานกว่า 300 ปี โดยก่อนหน้านี้เคยมีสถานะเป็นแหล่งกบดานของผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อเมื่อกาลเวลาผันผ่านไป ไท่โอกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนว slow life ที่ดึงดูดให้ใครต่อใครเดินทางมาเยี่ยมชม
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่าน่าจะมีคนอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ยุคหิน แต่ที่พิสูจน์ได้จริงๆ คือราว 300 ปีที่ผ่านมา โดยสถานที่แห่งนี้เคยเป็นฐานของการขนถ่ายสินค้าของเรือโจรสลัด เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่อยู่ในเวิ้งทะเล หน้ามรสุมก็สามารถหลบพักได้ ที่นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมในการหลบซ่อน
กระทั่งปี พ.ศ.2143 โปรตุเกสได้เข้ามายึดครองบริเวณไท่โอเป็นระยะเวลาสั้นๆ และราวปี พ.ศ.2272 ระหว่างสงคราม Tamao ก็ได้มีการสร้างป้อม Fan Lau ขึ้น เพื่อป้องกันเรือสินค้าผิดกฎหมาย เช่น ปืน บุหรี่ ยาเสพติด มาขนถ่ายสินค้า ตลอดจนป้องกันพวกหลบหนีเข้าเมืองที่มาจากแผ่นดินใหญ่ด้วย
สถานะของไท่โอค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเมื่ออังกฤษเข้ายึดครองเกาะฮ่องกง หมู่บ้านไท่โอ จึงเป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านของชาวตั่งกา(ตั้นเจีย - Tankas) หรือชาวเรือ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์กลุ่มย่อยในตอนใต้ของจีนที่ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ในเรือ โดยมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับฮ่องกง และหลังยุคปฏิวัติประชาชนจีน ไท่โอกลายเป็นจุดเริ่มต้นของผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง โดยมีชาวจีนเชื้อสายต่างๆ พากันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นชาวกวางตุ้งและชาวฮกเกี้ยน(ฮักกา)
ไม่เพียงเท่านั้น ไท่โอยังเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตเกลือสำคัญของฮ่องกงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 โดยมีการบันทึกไว้ว่า ไท่โอมีบ่อเกลือขนาดใหญ่กว่า 70 เอเคอร์ หรือราว 280,000 ตารางเมตร สามารถผลิตเกลือได้ราว 1,512 ตันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ราวปี พ.ศ.2543 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ บ้านหลายหลังถูกกองเพลิงเผาวอดวาย จึงมีการซ่อมแซมและสร้างบ้านเรือนขึ้นใหม่ โดยใช้สเตนเลสเป็นวัสดุหลัก และนี่ก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายคนมายลโฉมบ้านสเตนเลสของชาวไท่โอ
แน่นอนว่า เรื่องราวกว่า 300 ปีที่ถูกย่อเหลือเพียงไม่กี่บรรทัด อาจแสดงภาพของชุมชนไท่โอได้ไม่ชัดเจนเท่าไร วันนี้มีโอกาสมาฮ่องกง ฉันจึงอาศัยช่วงเวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง เดินชมหมู่บ้านเพื่อย้อนเวลาไปชมหมู่บ้านโบราณแห่งนี้สักครั้ง
....................
การเดินทางมาไท่โอมาได้หลายทาง จะนั่งรถประจำทางมาจากในตัวเมืองที่ตุงชุงก็ได้ แต่อาศัยว่าครั้งนี้ฉันเดินทางขึ้นไปไหว้พระใหญ่ถินถ่านที่นองปิง 360 มาก่อน จึงโดยสารรถเมล์สาย 21 ที่อยู่ด้านหลังร้านกาแฟบนนองปิงมายังหมู่บ้านไท่โอ
ทันทีที่รถจอด ป้าย “ยินดีต้อนรับสู่ไท่โอ” ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า ไม่พูดพร่ำ ฉันเดินจ้ำไปตามทางเล็กๆ ที่จะพาลัดเลี้ยวเข้าไปยังหมู่บ้านทันที แต่...
ยังไม่ทันพ้นป้ายต้อนรับก็ต้องหยุด “กึก” เมื่อสายตาหันไปพบกับ Tofu Station หรือสถานีเต้าหู้ เคยอ่านข้อมูลมาว่าเต้าหู้ หรือเต้าฮวย ที่นี่เด็ดนัก ว่าแล้วก็แวะก่อนเลยตั้งแต่วินาทีแรกที่พบเจอ พร้อมสั่งเต้าฮวย 1 ถ้วยโตมาชิม
รสชาติเต้าฮวยจืดสนิท แต่เมื่อกินคู่กับน้ำตาลทรายแดงที่ราดหน้ามาก็พอกล้อมแกล้มได้ ตอนแรกไม่โดนใจเท่าไร แต่ทำไปทำมาก็กินจนหมดถ้วยเหมือนกัน เพราะทนความนุ่มเนียนของเนื้อสัมผัสของเต้าหู้ไม่ไหว ส่วนรสชาติก็ลืมๆ ไปก่อน(ฮา)
จบเมนูเต้าหู้ยอดอิตแล้ว ของว่างอีก 1 อย่างที่มาแล้วจะพลาดไม่ได้(ใครบอกไว้เหรอ – ฉันเอง) ก็คือ “ลูกชิ้นปลา” ขอบอกว่าไม่ธรรมดาไก่กาอาราเล่นะ เพราะลูกชิ้นปลาที่นี่นอกจากจะลูกโตกว่าลูกปิงปองแล้ว ยังไม่คาวเลยสักนิด เนื้อนุ่ม ละเอียด ไม่ผสมแป้งเลย โดยมีซอสให้เลือก 2 แบบ คือแบบดั้งเดิมกับแบบเผ็ด มาจากเมืองไทยก็ขอชิมแบบแซบๆ แล้วกัน ปรากฏว่า แสบสิคะ น้ำซอสผสมพริกเคลือบไว้บางๆ ที่ผิวลูกชิ้นปลา เวลากัดความแสบจะสัมผัสที่ริมฝีปาก เรียกว่า ต้องร้องหาน้ำเย็นกันเลยทีเดียว
ลูกชิ้นปลาขนาดยักษ์มักขายเป็นไม้ ไม้ละ 2 ลูก สามารถเลือกซอสได้ ราคาขายไม้ละ 14 ดอลล่าร์ฮ่องกง หรือราว 60 บาท (แพงเหมือนกันนะ)
ท้องอิ่มเบาๆ ได้เวลาเดินเล่นแล้ว ฉันเดินเลาะมาทางด้านขวา ผ่านร้านค้าที่จำหน่ายปลาตากแห้ง กะปิ และอาหารทะเลสด-แห้งอีกหลายชนิดมาจนถึงท่าเรือเล็กๆ ซึ่งตรงนี้มีบริการนั่งเรือชม “โลมาขาว” หรือโลมาสีชมพูแบบที่บ้านเราเรียก พร้อมชมหมู่บ้านประมง สนนราคาคนละ 20 ดอลล่าร์ฮ่องกง(ประมาณเกือบ 90 บาท) ก็สามารถนั่งเรือออกทะเลได้
ไม่ผิดจากนั่งเรือชมโลมาสีชมพูที่ขนอมเท่าไร อาจจะยากกว่าด้วยซ้ำ เพราะตลอด 30 นาทีที่เราลอยลำอยู่กลางทะเลจีนใต้นั้น ไม่มีวี่แววว่าโลมาขาวจะโผล่มาให้ชมเลย คนเรือกลัวผิดหวังเลยพาขับเลยไปชม “หินพิงผา” ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลและคลื่นลม จนทำให้เป็นช่องโหว่ขนาดย่อม หรือมองคล้ายงวงช้างก็ได้ พร้อมชี้ให้ดูสะพานที่ยาวที่สุดในโลก คือราว 50 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างจูไห่ในแผ่นดินใหญ่แถบกวางเจา มาถึงมาเก๊า และฮ่องกง โดยมีบางช่วงที่ตัดถนนมุดน้ำทะเลด้วย
หลังผิดหวังจากโลมา เรือพาเราเลาะกลับมาที่หมู่บ้าน ก่อนจะลอดผ่าน “สะพานไท่ชุง” (Tai Chung) ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของไท่โอ คือเป็น 1 ใน 2 สะพานที่เชื่อมการเดินทางของชาวบ้านให้ไปมาหาสู่กันได้ ซึ่งความพิเศษของสะพานนี้คือสามารถชักรอกเพื่อเปิดสะพานเวลามีเรือขนาดใหญ่เดินทางผ่านได้ ซึ่งในอดีตการเดินทางในทะเลต่อเข้าแม่น้ำถือเป็นเรื่องปกติ เลยมีเรือมากมายในแม่น้ำปากอ่าวแห่งนี้ มากมายจนหลายๆ คนยกให้ที่นี่เป็น “เวนิสแห่งฮ่องกง” เลยทีเดียว
บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือตั้งอยู่บนเสาค้ำยันจำนวนมาก บางคนเรียกหมู่บ้านแบบนี้ว่า บ้านบนไม้ค้ำ(Stilt House) หรือบ้างก็เรียกว่า หมู่บ้านสเตนเลส ด้วยวัสดุที่ก่อสร้างของบ้านเรือนฝั่งขวาของแม่น้ำเป็นสแตนเลสแทบทั้งหมด แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร สำหรับฉันรู้สึกว่า บ้านของชาวไท่โอสร้างอย่างเรียบง่าย และอยู่กันได้อย่างมีความสุขจริงๆ
เรือมาหยุดที่ท้ายหมู่บ้าน ณ ริมสะพานของบ้านหลังหนึ่ง สืบไปสืบมาพบว่าเป็นบ้านของคนขับเรือนั่นเอง เขาจอดเรือให้เราขึ้นที่ท่านี้เพื่อแวะเข้าห้องน้ำและเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินชมหมู่บ้านไท่โอนั่นเอง
บ้านเรือนถูกสร้างอย่างง่ายๆ แต่แข็งแรงทนทาน โดยสร้างอิงอาศัยติดๆ กันไปตามความยาวของแม่น้ำ ส่วนมากเป็นบ้านชั้นเดียวเล็กๆ แต่ก็มีบางช่วงที่สร้างหลายชั้น แต่ทุกชั้นคือมีครอบครัวอาศัยอยู่ภายในทั้งสิ้น
ถนนเล็กจนทำให้คนเดินอย่างฉันรู้สึกว่าตัวใหญ่คับถนนไปเลย เมื่อเวลามีชาวบ้านขี่จักรยานสวนผ่าน ถึงกับต้องหากำแพงเกาะกันเฉี่ยวกับจักรยาน ซึ่งระหว่างที่เดินชมหมู่บ้านอยู่นั้น พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่ใช้จักรยานเป็นหลัก ที่ใช้แรงเดินก็มีอยู่มาก แต่ไม่มากเท่าจำนวน “รถเข็น” ที่เป็นพาหนะสำคัญของคนชรา
ถ้าไม่ได้บอกว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนว slow life จะบอกว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านคนชราก็คงไม่ผิด เพราะทุกคนที่เราเดินไปพบเจอมีแต่สูงวัยแล้วทั้งนั้น มัคคุเทศก์ที่พาเราไปจึงบอกว่า หมู่บ้านไท่โอก็เหมือนชุมชนห่างไกลหลายๆ แห่งในเมืองไทย ที่อาชีพใช้แรงงานไม่ได้ถูกยอมรับจากลูกหลาน เมื่อเติบโตขึ้นเด็กๆ หนุ่มสาวเหล่านั้นได้ไปเรียนหนังสือในเมือง จบแล้วก็ไปทำงานนอกหมู่บ้าน ทิ้งไว้เพียงคนชราเท่านั้นที่อยู่อาศัยจริงๆ และอาชีพประมงก็มีคนสานต่อน้อยเต็มที
อย่างไรก็ดี ระหว่างทางเราพบว่ามีตะแกรงตากเกลือ แต่ไม่พบบ่อเกลือโบราณ มีปลาตากแห้งแขวนอยู่หน้าบ้านเต็มไปหมด แสดงว่า ทะเลจีนใต้และปากแม่น้ำแห่งนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ สมกับที่ชาวบ้านบอกว่าที่นี่คือ “ธนาคารอาหาร” ของฮ่องกง
ในหมู่บ้านมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งวัด โรงเรียน โรงงิ้ว สถานีตำรวจ เอ่ยถึงสถานีตำรวจแล้ว ที่นี่มีอาคารสถานีตำรวจเก่าที่ถูกนำมาประยุกต์เป็นโรงแรมขนาดเล็กที่สวยงาม ชื่อว่า Tai o Heritage Boutique Hotel เปิดให้บริการปี พ.ศ.2555 มีห้องพักให้บริการเพียง 9 ห้อง แต่ให้อารมณ์เหมือนย้อนเข้าไปสู่ยุคศตวรรษที่ 16 อย่างไรอย่างนั้น
สำหรับวัดที่สำคัญ ได้แก่ วัด Yeung Hau ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2242 นอกจากนี้ยังมีวัด Kwan Tai ที่อยู่บนถนน Kat Hing Back สร้างปี พ.ศ. 2284 ติดกับวัด Tin Hau ที่อยู่บนถนนเดียวกัน ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2315 โดยทางด้านซ้ายของวัดสามารถเดินเชื่อมไปยังวัด Kwan Tai ได้
สะพานสีแดงตรงกลางหมู่บ้านคือ สะพานซันกี (Sun Ki) เป็นสะพานไม้ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ซึ่งก่อนสร้างสะพานนี้ชาวบ้านไปมาหาสู่กันโดยใช้เรือท้องแบนพายข้ามไปมา จนเมื่อสะพานสร้างเสร็จภายในเวลาเพียง 1 เดือนด้วยงบของชาวบ้านที่ช่วยกัน การเดินทางจึงสะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากคนชราและเด็กเล็กๆ แล้ว เราพบว่าที่ไท่โอมีแมวเยอะมาก เดินไปซอกมุมไหนก็มีแต่แมว แต่ละตัวน่ารักและไม่กลัวคนเลย น่าแปลกเหมือนกันที่หมู่บ้านแห่งนี้ทำอาชีพหาปลาเป็นหลัก แต่กลับเลี้ยงแมวไว้มากมาย ไม่กลัว “แมวขโมย(ปลา)”กันเลย
นอกจากโฮมสเตย์ของชาวบ้าน ไท่โอก็มีโฮสเทลเล็กๆ เก๋ๆ ต้อนรับนักท่องเที่ยวเหมือนกัน มีร้านกาแฟนั่งชิลล์หลายร้าน มีคาเฟ่แมว วาฟเฟิลโบราณของคุณลุงคนดังแห่งไท่โอ และของกินที่เป็นขนมคล้ายกาละแมบ้านเรา ซึ่งร้านรวงต่างๆ เหล่านี้จะตั้งอยู่บนถนนใกล้กับตลาดไท่โอ นักท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีเวลามักเดินขึ้นมาชมแค่บริเวณนี้แล้วกลับ แต่เราว่า บรรยากาศในหมู่บ้านน่ารักและควรค่าแก่การเดินทอดอารมณ์มากๆ
ขากลับฉันเดินข้ามสะพานไท่ชุงกลับมายังท่าเรืออีกด้าน เพื่อนร่วมคณะหลายคนสนใจของฝากอย่างกะปิ กระเพาะปลา หอยเชลล์ตากแห้ง เป๋าฮื้อ ฯลฯ แต่ฉันเลี่ยงมายืนชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่ด้านหน้าของหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดจอดรถบัสดีกว่า
ตอนที่ฟ้ากำลังเปลี่ยนสี มีเงาของเรือประมงเล็กๆ หลายลำแล่นผ่านแสงสีทองที่สะท้อนอยู่ในทะเลแห่งนั้นจนเรือมีสีดำสนิท ไม่นานเท่าไรพระอาทิตย์ก็ค่อยๆ ลับหายไปหลังผืนน้ำ ชั่วโมงแห่งความเงียบงันปรี่เข้ามาครอบคลุมหมู่บ้านแห่งนั้นทันที
...................
คล้ายได้เดินทางย้อนเวลาไปสัก 40-50 ปี เพราะที่นี่ยังคงมีรูปแบบในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย แม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมตั้งแต่หลังไฟไหม้(พ.ศ.2543) เป็นต้นมา แต่ชาวบ้านไท่โอก็ยังรักษาระยะห่างระหว่างตัวเองกับ “คนนอก” อย่างนักท่องเที่ยวไว้ได้เป็นอย่างดี
ฉะนั้น อย่าแปลกใจหากชาวบ้านหลายคนจะทำเฉยเมยใส่นักท่องเที่ยว เพราะเขาเองก็อาจจะอยากมองดูการท่องเที่ยวในแบบของเราอยู่อย่างเงียบๆ และเป็นส่วนตัวก็เป็นได้
..............
การเดินทาง
แอร์เอเชีย มีเที่ยวบินให้บริการจากเมืองไทยไปฮ่องกงหลายเส้นทาง คือดอนเมือง-ฮ่องกง วันละ 3 เที่ยวบิน, ภูเก็ต-ฮ่องกง วันละ 1 เที่ยวบิน และเชียงใหม่-ฮ่องกง วันละ 1 เที่ยวบิน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.airasia.com