ลมรวยรินเฮือกสุดท้าย

ลมรวยรินเฮือกสุดท้าย

คนส่วนใหญ่ไม่อยากพูดถึงความตาย ถ้าเมื่อไหร่ความตายมาเยือน คุณจะจัดการอย่างไร

"การเป็นมิตรกับความตาย ก็คือ การกลับมาให้ความสำคัญกับชีวิตในปัจจุบัน” วรรณา จารุสมบูรณ์ ที่ปรึกษาและวิทยากรหลักสูตรเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา และผู้รับผิดชอบโครงการ “ความตายพูดได้” กล่าว

บทสนทนาความตาย กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตของเธอ กว่าสิบปีที่เธอทำงานเรื่องนี้ และคงทำต่อไปจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะเป็นมิตรกับความตาย

เธอ บอกว่า แทนที่จะกังวลเรื่องความตาย หันมาใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มีความหมายไม่ดีกว่าหรือ มีอะไรบ้างที่อยากทำก่อนตาย ก็ทำซะ

"ถ้าถามว่าอยากทำอะไรก่อนตาย เราเคยคิดว่า อยากเจอครูประจำชั้นสมัยเรียนมัธยม ก็หาจนเจอในไลน์ แล้วนัดเพื่อนในกลุ่มเจอกัน มีความสุขมาก อีกเรื่องอยากดูแลพี่สาวที่เจ็บป่วย ถ้าต่อไปเราไม่อยู่แล้ว อยากให้เขาดูแลตัวเองได้ อยากพาพี่สาวขึ้นเครื่องบิน อันนี้ยังไม่ได้ทำ และอยากขอบคุณคนที่มีความหมายกับชีวิตเรา"

แล้วคุณล่ะ อยากทำอะไรก่อนตาย...

  • วินาทีแห่งความตาย

วินาทีที่คนเราต้องจากโลกนี้ บางคนจากไปอย่างสงบ บางคนดิ้นทุรนทุราย

การตายทางการแพทย์ จะเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะภายในและระบบการทำงานของร่างกายหยุดทำอย่างถาวร และกระบวนการที่อวัยวะต่างๆ หยุดทำงานจะเร็วช้าต่างกัน ยกตัวอย่าง เมื่อหยุดหายใจ ก็จะทำให้ขาดออกซิเจน หมดสติในเวลารวดเร็ว จากนั้นหัวใจหยุดเต้นในเวลา 5-10 นาที เมื่อหัวใจหยุดเต้น คนไข้จะหายใจได้อีกไม่เกิน 1 นาที แล้วหยุดหายใจ หรือบางครั้งมีอาการหายใจเฮือก และหยุดหายใจ สมองจะบาดเจ็บรุนแรงและตายในเวลา 3-5 นาที

เพียงแค่ไม่กี่นาทีที่คนเราต้องเผชิญกับความตาย แล้วจะเตรียมใจอย่างไร

พระไพศาล วิสาโล กล่าวในงานอบรมเป็นมิตรกับความตายว่า ถ้าเรารู้สึกว่า ความตายเป็นอันตรายกับเรา ความตายก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจเรา

“แต่ถ้าเมื่อใด เรารู้สึกเป็นบวกกับความตาย หรือรู้สึกเฉยๆ กับความตาย ความตายก็จะไม่เป็นภัยต่อจิตใจเรา ถ้าไม่อยากให้ความตายเป็นศัตรูกับเรา เราก็ต้องเป็นมิตรกับความตาย”

เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ยากเหลือเกินสำหรับคนเรา ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงต้องมีการเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับความตาย

“เด็กบางคนยอมรับความตายได้ มีเด็กคนหนึ่งอายุ 13 ปีเป็นโรคหัวใจ รู้แล้วว่าจะต้องตาย ลาญาติพี่น้องแล้ว เขาบอกว่าอยากบวช และได้บวช ตอนนั้นเขามีความสุขมาก ทำให้อยู่ได้นานกว่าเดิม เท่าที่เห็นพ่อแม่ที่มีพื้นฐานทางศาสนา จะมีความเข้าใจเรื่องความตายได้ดีกว่าพ่อแม่ที่ไม่สนใจเรื่องนี้” สยมพร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ซึ่งดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โรงพยาบาลเด็ก เล่า

  • นาทีทองของชีวิต

ช่วงสุดท้ายของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาการทางกายที่บ่งบอกว่า ใกล้ถึงวาระสุดท้ายแล้ว อาทิ มือเท้าเย็น เขียวซีด ผิวเป็นจ้ำ ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้ม เนื่องจากการไหลเวียนของโลหิตลดลง ส่งผลให้ความดันเลือดตก ชีพจรเต้นเร็ว

บางคนมีการหายใจที่ผิดปกติ อาจหายใจตื้นๆ หยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจเร็วกระชั้น เนื่องจากภาวะความเป็นกรดด่างในเลือดผิดปกติ ดังนั้นการใส่ท่อช่วยหายใจหรือสายคาจมูกเพื่อให้ออกซิเจนจึงไม่มีประโยชน์ เพราะผู้ป่วยไม่ได้ขาดออกซิเจน แต่มีภาวะเลือดเป็นพิษหลังจากอวัยวะต่างๆ เสื่อมสภาพ

ถ้าถึงตอนนั้น จะปรับจิตปรับใจอย่างไร

พระไพศาล วิสาโล บอกว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดเสมอว่า ก่อนตาย ถือเป็น "นาทีทองของชีวิต"

"ตอนที่ความตายเคลื่อนเข้ามาหาเรา ตรงนั้นแหละนาทีทอง สามารถเปิดใจของเราให้เห็นแจ้งในความจริง ได้เข้าใจโมงยามแห่งสัจธรรม พระอรหันต์หลายท่านบรรลุธรรม พ้นทุกข์ตอนที่กำลังจะตาย บางคนป่วยหนัก มีทุกขเวทนา บางท่านถูกไฟคลอก บางท่านเห็นสัจธรรมตอนที่เอามีดปาดคอตัวเอง ตอนนั้นเองความตายได้เผยสัจธรรม ในยามที่เรามีสติเปิดใจรับรู้สัจธรรม โอกาสที่จะเกิดปัญญาเพื่อบรรลุธรรมมีสูงมาก คนที่เข้าใจเรื่องความตายจะเห็นโอกาสตรงนี้”

พระไพศาล บอกว่า ความตายสามารถนำสิ่งดีๆ มาให้ชีวิตจิตใจของเราได้ แม้บางท่านไม่ถึงกับบรรลุธรรมเหมือนที่กล่าวมา แต่เมื่อความตายใกล้เข้ามา จิตใจก็สงบลง

“หลายคนพบความสงบทางจิตใจตอนเป็นโรคร้าย เพื่อนอาตมา-สุภาพร พงศ์พฤกษ์ สองปีสุดท้ายก่อนจะตายด้วยมะเร็งเต้านม เป็นช่วงที่เธอมีความสุขมาก จิตใจสงบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เธอได้เรียนรู้การปล่อยวาง แต่ถ้าเรายังไม่ตระหนักกับความตายที่ใกล้เข้ามา ก็จะยึดติด ถ้ารู้ว่าเวลาเหลือน้อยแล้ว ก็จะรู้ว่าการยึดติดเป็นเรื่องไร้สาระ”

ท่านยกตัวอย่างเพื่อนอีกคน ช่วงที่แม่ของเขากำลังจะตาย การได้ดูแลแม่ตลอดเวลา เขารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้แม่ และเป็นช่วงที่เขาได้ใกล้ชิดกับแม่

“ถ้ามองให้ถ่องแท้ เราจะพบว่า ความตายไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอย่างเดียว แต่สามารถนำพาสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น หลายคนได้พบว่าเมื่อความตายใกล้มาถึง การคืนดีก็เกิดขึ้น สามีที่ห่างเหินกับภรรยา ลูกที่ทะเลาะกับพ่อ เพื่อนสนิทที่ผิดใจกัน ก็กลับมาคืนดีกัน อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน”

  • เตรียมใจเพื่อตายดี

“ความตายทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อการตายดี” วรรณา เปิดประเด็นเรื่องการเตรียมใจ และยกตัวอย่างบางคนได้ดูแลพ่อแม่เต็มที่แล้ว ถ้าต้องจากไป ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

"ถ้าอยากตายอย่างสงบ ไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ระโยงระยาง ก็ต้องบอกลูกหลานเอาไว้ บางครั้งเครื่องมือทางการแพทย์ก็ทำให้ทุกข์ทรมานร่างกาย และทุกข์ทรมานใจคนในครอบครัว ความรู้สึกแบบนี้ลองเข้าไปในโรงพยาบาล สังเกตคนไข้ระยะสุดท้ายที่มีเครื่องมือทางการแพทย์เต็มตัวไปหมด จะพูดก็พูดไม่ได้ หลายคนได้เห็นก็จะพูดว่า “ถ้าวันหนึ่งฉันป่วย ฉันไม่เอาแบบนี้นะ” คุณไม่มีทางรู้เลยว่า ชาติหน้ากับพรุ่งนี้ อะไรจะมาถึงก่อนกัน อาจไม่มีคำว่าพรุ่งนี้อีกแล้ว ที่พูดแบบนี้เพราะคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบลืมตาย" วรรณา เล่า เพื่อให้เข้าใจว่า การเรียนรู้ห้วงสุดท้ายของลมหายใจ ก็สำคัญไม่ต่างจากการเรียนวิชาทางโลก เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

"ในคอร์สอบรม การพูดคุยเรื่องความตายเกิดขึ้นง่ายๆ บางทีเราก็ใช้เกมไพ่เปิดใจ ทุกคนมีคำตอบของตัวเอง และบางคนบอกว่า รู้สึกขอบคุณที่ทำให้เขาชัดเจนกับชีวิตมากขึ้น นำไปใช้ในการดูแลพ่อแม่ ถ้าเราไม่คุยเรื่องนี้บ้าง เราก็ไม่รู้ความต้องการของคนในครอบครัว เพราะไปคิดว่า การพูดเรื่องความตายไม่เป็นมงคล

ถ้าวันหนึ่งพ่อแม่ต้องจากไป เราควรทำใจยังไง เราต้องยอมรับว่า วันนั้นต้องมาถึง เราเรียนรู้เรื่องพวกนี้เพื่อทำให้เราตั้งหลักได้ จะได้ใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างมีความหมาย ถ้าทำใจได้ วันสุดท้ายจะตายยังไงก็ไม่สำคัญมาก ช่วงเวลาที่เหลือที่เราได้อยู่กับคนที่เรารักสำคัญกว่า ตัวเราเองได้ฝากอะไรดีๆ ไว้กับโลกหรือยัง”

ถ้าถามว่า การอยู่กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นประจำเกือบทุกวัน พยาบาลเช่น สยมพร รู้สึกอย่างไร

“เราเองก็เขียนพินัยกรรมเอาไว้แล้ว เราไม่อยากให้ทำบางอย่างกับร่างกายของเราในช่วงที่เราช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่อยากให้ผ่าโน่น ผ่านี่ ใช้สารเคมีเยอะๆ เพื่อพยุงชีวิต เราก็ไม่รู้ว่า คนที่เราฝากฝังเรื่องนี้เอาไว้ จะทำตามที่เราบอกไหม” สยมพร เล่าและบอกว่า พยายามใช้ชีวิตที่เหลือให้มีความสุข เมื่อมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ก็ทำให้ดีที่สุด

“อย่างเด็กคนหนึ่งอยู่ในระยะสุดท้าย เขาชอบจัดงานวันเกิด เราก็จัดให้ พ่อแม่ก็มีความสุขที่ได้ทำให้ลูก เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้เลย เคยถามผู้ป่วยบางคนว่า อยากทำอะไรมากที่สุดในชีวิต ถ้าทำให้ได้ ก็ทำเลย”

กรณีนี้ พระไพศาล เตือนว่า ถ้ามัวแต่กลัวตาย โอกาสที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองและคนที่เรารักก็หายไป

“คนจำนวนมาก พอพูดถึงความตายก็อุดหู ไม่อยากฟัง พยายามที่จะหันหลังให้ความตาย ลองเผชิญหน้ากับความตายดีไหม คนเรากลัวความตายเพราะเราไม่รู้ มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งบอกว่า “ชีวิตนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ เมื่อทำเข้าใจแล้ว ก็ไม่กลัว” ก็ตรงกับคำสอนพุทธศาสนาที่บอกว่า ความกลัวเกิดขึ้นเพราะมีโมหะ มีอวิชชา เมื่อเรามีปัญญา ความกลัวก็หายไป ในบรรดาความกลัวทั้งหลาย กลัวตายยิ่งใหญ่ที่สุดในความรู้สึกคนทั่วไป จริงๆ แล้วความกลัวตาย น่ากลัวยิ่งกว่าความตาย สิ่งที่เราควรใส่ใจคือ การรู้เท่าทัน ถ้ามาถึงจุดหนึ่ง เรารู้จักความตาย ความกลัวตายก็จะหมดไป นี่คือเหตุผลทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องความตาย”

นอกจากเตือนสติเรื่องความกลัวตาย พระไพศาล ยังยกตัวอย่างกรณีหลวงพ่อคำเขียนที่จากไปอย่างนุ่มนวล

"หลวงพ่อคำเขียนเป็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง เนื้อบวม จนปิดหลอดอาหาร ช่วงหลังเริ่มปิดหลอดลม ก็ประทังชีวิตได้ด้วยการเจาะคอ เพื่อช่วยหายใจ เช้าวันหนึ่งท่านปลุกพระที่ดูแลเพราะหายใจได้ยากขึ้น ลูกศิษย์ก็ช่วยกันฉีดยา แต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นหลวงพ่อขอเข้าห้องน้ำ พอออกมา ท่านขอดินสอและกระดาษแล้วเขียนว่า “พวกเรา...ขอให้หลวงพ่อตาย” เพราะท่านรู้ว่าไม่มีประโยชน์ แล้วท่านก็พนมมือ ลูกศิษย์ก็นึกว่า ท่านขอบคุณ สักพักก็คอพับ หมดลม ลูกศิษย์มารู้ทีหลังว่า ท่านพนมมือลาตาย

ถ้าเป็นคนธรรมดาที่หายใจไม่ออก ก็จะทุรนทุราย แต่ท่านนิ่งมาก เป็นตัวอย่างของคนที่ยอมรับความตาย ใช้ชีวิตฝึกฝนอบรมตนเองในเรื่องนี้ การตายสงบไม่ใช่เรื่องของพระ ชี หรือนักปฏิบัติเท่านั้น เด็กอายุสิบขวบ คนเป็นมะเร็ง เป็นเอดส์ ก็สามารถตายสงบได้ การตายสงบเป็นสิทธิของทุกคน"

ฝึกระลึกถึงความตาย

1) ซ้อมตายก่อนนอน ลองพิจารณาว่า คืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายของเรา ร่างกายที่เคยเคลื่อนไหวจะแน่นิ่ง เย็นชืด และตายในที่สุด ถ้าวินาทีนั้นมาถึงให้ระลึกว่าคนรัก การงาน ทรัพย์ และชีวิตเรา เป็นสิ่งที่ต้องละไว้เบื้องหลัง ไม่สามารถนำไปด้วยได้ แล้วสำรวจใจตนเองว่า พร้อมที่จะปล่อยวางหรือยัง

2) ซ้อมตายขณะเดินทาง จินตนาการว่า เป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย เมื่อนั้นเราจะวางใจอย่างไร พร้อมจะตายหรือไม่ มีสิ่งใดคั่งค้างอยู่ เราจะปล่อยวางได้หรือไม่

3) เงินหาย สูญเสียทรัพย์ ระลึกว่า หากเราตายไป ทรัพย์ที่สะสมมาต้องสูญเสียไปทั้งหมด หากทำใจไม่ได้ การตายอย่างสงบ คงเกิดได้ยาก

4) นึกถึงงานศพตัวเอง เมื่อเราตาย เราอยากให้คนที่มางานศพพูดถึงเราแบบไหน เราได้ทำความดีต่อบุคคลต่างๆ มากพอแล้วหรือยัง หากว่ายัง คงยากที่ใครจะพูดถึงเราในทางที่ดี จึงควรเร่งทำดี

5) พิจารณาถึงความเน่าเปื่อยของร่างกาย เพื่อคลายความยึดติดในร่างกายและรูปลักษณ์ที่สวยงาม

หมายเหตุ : จากหนังสือปทานุกรมความตาย จัดทำโดย โครงการสื่อสารสร้างความตระหนัก วิถีสู่การตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา