“เหี้ย” มากเพราะ “นาก” หาย

“เหี้ย” มากเพราะ “นาก” หาย

ก่อนหน้านี้ข่าวการจัดระเบียบ “เหี้ย” หรือตัวเงินตัวทอง ในเขตกรุงเทพมหานครสร้างความสนใจให้กับผู้คนในวงกว้าง

ไม่เฉพาะแค่ชาวไทยเท่านั้น แต่ผู้คนทั่วโลกต่างรับรู้ข่าวคราวนี้เป็นอย่างดีจากการตีแผ่ของสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง


การกวาดล้างสัตว์ชนิดนี้เกิดขึ้นเพราะจำนวนประชากรที่มีมากจนเกินไป ทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล และเหี้ยก็เป็นสัตว์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนที่พบเจอ จนนำมาซึ่งการล้างบางในที่สุด


แต่ถ้าหากย้อนไปดูในอดีตกาล พื้นเดิมของกรุงเทพฯ นั้นมีสภาพเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยห้วย หนอง คลอง บึง เปรียบได้กับพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ และมีสัตว์ประจำถิ่นมากมาย ตัวเงินตัวทองเป็นหนึ่งในนั้น แต่นอกจากสัตว์เลื้อยคลานแล้วก็ยังมี “นาก” เป็นสัตว์ที่เคยครองพื้นที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งนากนี่แหละที่เป็นตัวควบคุมประชากรของเหี้ยไม่ให้เพิ่มปริมาณมากจนเกินไป


นาก เป็นสัตว์กินเนื้อที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ หนึ่งในอาหารหลักของมันคือ ตัวเงินตัวทองขนาดเล็กที่สามารถล่าได้ โดยในประเทศไทยพบนากเพียง 4 ชนิด ได้แก่ นากเล็กเล็บสั้น, นากใหญ่ขนเรียบ, นากใหญ่ธรรมดา(นากยุโรป) และนากจมูกขน ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในภาวะ “เสี่ยง” ใกล้สูญพันธุ์


ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขยายตัวของเมืองใหญ่ที่เติบโตไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดทำให้สิ่งแวดล้อมในเมืองเปลี่ยนไป นากถูกบีบให้ออกจากสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยอยู่และไปอาศัยในพื้นที่ที่ห่างไกล ในตัวเมืองใหญ่จึงไม่ค่อยมีใครพบ “นาก” ส่วน “เหี้ย” ก็ขยายจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจของสังคม


ความหวังยังไม่ถึงกับริบหรี่ เพราะไม่นานมานี้มีข่าวการพบนากกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแถบบางขุนเทียน เรื่องนี้ ศุภณัฐ กาหยี หรือครูท๊อฟฟี่ ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนทวีธาภิเศก บางขุนเทียน เล่าว่า ราวปี พ.ศ.2557 ครูท๊อฟฟี่พบ “นากใหญ่ขนเรียบ” ฝูงแรกบริเวณโรงเรียนจำนวน 8 ตัว จากนั้นก็จับตาดูพฤติกรรมจนพบว่าเส้นทางหากินของนากกลุ่มนี้จะอยู่รอบๆ โรงเรียน ทว่า ปัจจุบันพบเพียง 4 ตัวเท่านั้น


“นากจะมีรังประจำเป็นโพรงดินที่เขาขุดขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่โพรงดินจะอยู่ติดกับน้ำ ที่นากไม่สามารถอยู่ได้อาจเป็นเพราะน้ำไม่สะอาด แล้วก็ไม่มีอาหารของเขา ซึ่งอาหารหลักของนากจะเป็นพวกปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่นพวกหนู และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กที่เขาสามารถล่าได้ รวมถึงพวกลูกตัวเงินตัวทอง นากเป็นผู้ล่าในระบบนิเวศ เขาจะคอยควบคุมประชากรสัตว์รบกวนพวกนี้”


ครูท๊อฟฟี่ บอกว่า ด้วยความน่ารักของนากทำให้มีคนจับสัตว์ชนิดนี้ไปจำหน่ายเป็นสัตว์เลี้ยง บ้างก็ล่าเอาหนัง ไหนจะเกิดมลพิษทางน้ำแบบไม่มีขีดจำกัด ทำให้นากที่เป็นสัตว์ผู้คอยควบคุมประชากรสัตว์รบกวนในระบบนิเวศลดจำนวนลง และอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ในที่สุด