‘หลง’ไฮฟอง รักฮาลองเบย์
“นานเท่าไหร่แล้วนะที่เราไม่ได้พบกัน...” ฉันนั่งนับวันเวลาที่ไม่ได้มาเหยียบแผ่นดินลุงโฮ ก่อนจะตอบตัวเองว่า...นานมาก
เสียงประกาศจากกัปตันบอกให้รู้ว่า อีกไม่กี่อึดใจนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกของเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากกรุงเทพฯ สู่เมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนาม ที่เดินทางมากับสายการบินเวียตเจ็ท ก็จะได้สัมผัสกับอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส พร้อมการต้อนรับอย่างอบอุ่น ณ สนามบิน Cat Bi เมืองไฮฟอง
ฉันหยิบเสื้อคลุมตัวหนาออกจากกระเป๋า ยิ้มเล็กๆ ให้กับตัวเองที่ไม่ประมาทกับอากาศเดือนพฤศจิกายนของเพื่อนบ้านที่ต่างกันอย่างเหลือเชื่อกับอุณหภูมิในกรุงเทพฯ
ชมอ่าวเข้าถ้ำ ‘มรดกโลก’
70 กิโลเมตรจากเมืองไฮฟอง ...ฮาลองเบย์คือความทรงจำที่ย้อนมาอีกครั้งหนึ่ง
แม้อากาศจะดูครึ้มฟ้าครึ้มฝน แต่ผู้คนยังคงคึกคัก นักท่องเที่ยวทยอยกันลงเรือเพื่อเดินทางชมทัศนียภาพของอ่าวที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกถึง 2 ครั้ง
ตามข้อมูลระบุว่า ฮาลอง เบย์ เป็นอ่าวแห่งหนึ่งในพื้นที่ของอ่าวตังเกี๋ย อยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม มีพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร และมีชายฝั่งยาว 120 กิโลเมตร มีเกาะหินปูนจำนวน 1,969 เกาะโผล่พ้นขึ้นมาจากผิวทะเล
ด้วยความงดงามของภูเขาหินปูนเหนือระดับน้ำทะเลที่สูงลดหลั่นกัน ทำให้ฮาลองเบย์ไม่เพียงเป็นสวรรค์ของนักเดินทาง ยังเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความโดดเด่น กระทั่งยูเนสโกต้องการันตีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของอ่าวแห่งนี้ด้วยการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ.2537 และปี พ.ศ.2543
สมัยก่อนคนไทยที่ตั้งใจมาสัมผัสกับความตระการตาของฮาลองเบย์ มักเริ่มต้นจากฮานอย ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันออกประมาณ 170 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันเมื่อมีเที่ยวบินมาลงที่เมืองไฮฟองก็ช่วยร่นระยะเวลาไปได้มาก
ตอนสายของวันฝนโปรย เราค่อยๆ ละเลียดอ่าวมังกรผู้ดำดิ่งนี้อย่างช้าๆ พร้อมจิบชาอุ่นๆ บนเรือที่จัดไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว ทอดสายตาชมเกาะแก่งที่มีอยู่มากมาย รวมถึงเกาะเล็กๆ ที่ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์ในธนบัตรของเวียดนาม ทุกคนจึงกรูกันไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
เล่าย้อนนิดนึงว่าชื่อ ‘ฮาลองเบย์’ ตามการออกเสียงในภาษาเวียดนามเขียนได้ว่า “Vinh Ha Long” หมายถึง “อ่าวแห่งมังกรผู้ดำดิ่ง” มีเรื่องเล่าเป็นตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับมังกรผู้ปกป้องแผ่นดินเวียดนาม รวมถึงการที่อัญมณีและหยกพุ่งกระเด็นออกมากลายเป็นเกาะแก่งน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่วอ่าวเพื่อเป็นเกราะป้องกันผู้รุกราน แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เก็บตำนานไว้ก่อน แล้วลงไปสำรวจถ้ำที่ว่ากันว่ามีอยู่นับร้อยนับพันบนเกาะแก่งต่างๆ เหล่านี้กันดีกว่า
หนึ่งในถ้ำที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวฮาลอง ก็คือ ถ้ำเทียนกุง (Thien Cung Cave) มีความหมายว่า “ถ้ำวังแห่งสวรรค์” อยู่ห่างจากเกาะเด่าโก 4 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ตร.ม. โครงสร้างภายในถ้ำค่อนข้างซับซ้อนมีหลายชั้น ด้วยเพดานถ้ำที่สูงทำให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอากาศภายในมากนัก
ความสวยงามแปลกตาของถ้ำเทียนกุง นอกจากหินงอกหินย้อยหลากหลายขนาดและรูปทรงที่ชวนให้จินตนาการไปต่างๆ นาๆ แล้ว ยังมาจากการประดับประดาไฟหลากสีที่ทำให้บรรยากาศดูเหมือนงานเฉลิมฉลอง ยิ่งบวกกับเรื่องเล่าจากไกด์ท้องถิ่นที่ออกแนวฮามากกว่าจะชวนพินิจพิจารณาเรื่องธรณีวิทยาใดๆ การเที่ยวชมถ้ำที่นี่จึงได้ความเพลิดเพลินเหนืออื่นใด แต่ถึงอย่างนั้นหากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นความมหัศจรรย์ของหินงอกหินย้อยและโถงถ้ำอายุนับล้านปีที่ธรรมชาติและกาลเวลาเป็นผู้สรรค์สร้างไว้อย่างลงตัว
‘กัตบา’ สวยใสไร้มลพิษ
เรือลำเดิมพาเราลอยล่องอยู่เหนือผืนน้ำเก็บภาพทิวทัศน์หลักล้านของฮาลองเบย์ไว้จนเต็มกล่องความทรงจำ ก่อนจะนำส่งยังท่าเรือเล็กๆ เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาะกัตบา (Cat Ba Island) เกาะที่ใหญ่ที่สุดของอ่าว เกาะนี้มีพื้นที่ประมาณ 260 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฮาลองเบย์ ทว่า เป็นส่วนหนึ่งของเมืองไฮฟอง เมืองอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม
ชื่อ Cat Ba ทำให้ฉันมโนว่าต้องมีอะไรเกี่ยวกับแมวบ้างแหละ ทว่า ความจริงกลับไม่ใกล้เคียงเลยแม้แต่น้อย เพราะกัตบาในภาษาเวียดนาม หมายถึง “หาดของสตรี” (กัต หมายถึงหาดทรายและ บา หมายถึงสตรี) มีตำนานเล่าขานกันมานานหลายศตวรรษว่ามีสตรี 3 คนในราชวงศ์ตราน ถูกสังหารและร่างได้ลอยมาติดที่เกาะแห่งนี้ โดยแต่ละร่างถูกพัดมาเกยชายหาดคนละแห่ง และทั้งหมดถูกพบโดยชาวประมง จนกระทั่งเกาะนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อเกาะกัตบา
หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า มีผู้คนอาศัยอยู่บนเกาะกัตบามานานเกือบ 6,000 ปี โดยช่วงแรกตั้งรกรากบริเวณปลายเกาะทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้กับบริเวณท่าเรือบั๋นแบ่วในปัจจุบัน ในปี ค.ศ.1938 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสค้นพบซากมนุษย์ที่น่าจะเป็นชาวไคแบ่วในวัฒนธรรมฮาลอง ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ราว 4,000 และ 6,500 ปีก่อน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นประชากรกลุ่มแรกๆ ที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม
แค่ประวัติของเกาะก็ขลังแล้ว เมื่อเห็นการจัดการท่องเที่ยวยิ่งจริงจัง แม้สาวไทยจะมาพร้อมกับสัมภาระพะรุงพะรัง แต่กฎต้องเป็นกฎ การเดินทางภายในเกาะไม่อนุญาตให้ใช้รสบัสขนาดใหญ่ เราจึงต้องเคลื่อนย้ายตัวเองและข้าวของมาใช้บริการรถไฟฟ้า หน้าตาคล้ายๆ รถกอล์ฟ หรือรถรางนำเที่ยวในบ้านเรา ด้านหนึ่งก็เพื่อรักษามาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่เกือบครึ่งของเกาะเป็นอุทยานแห่งชาติ
ด้วยขนาดและความเร็วที่พอเหมาะ รถไฟฟ้าพาเราลัดเลาะไปตามถนนที่ตัดผ่านชุมชนบ้าง ไหล่เขาบ้าง สองข้างทางมีรีสอร์ทและร้านอาหารกระจายตัวอยู่เป็นระยะ ไม่นานก็มาถึงชายหาดกัตโก ซึ่งเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาซึมซับบรรยากาศ หาดทราย และคลื่นลมเบาๆ
หาดกัตโกมีสองด้าน เรียกง่ายๆ ว่า กัตโก 1 และ 2 มีเนินเขาเล็กๆ คั่นกลาง สามารถเดินข้ามโดยใช้เวลาเพียง 20 นาที ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักชื่นชอบการค่อยๆ เดินชมธรรมชาติไปตามป่าริมทะเลระยะทางราว 700 เมตร พอเหงื่อซึมๆ
สำหรับคนที่รักความสงบ หาดกัตโก 2 น่าจะตรงใจมากกว่า แต่ถ้ามาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แล้วล่ะก็ หาดไหนๆ ก็มากมายไปด้วยนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวเวียดนาม ในวันที่เราไปถึงเป็นวันธรรมดา หาดจึงถูกจับจองด้วยคุณลุงคุณป้าที่ดูเหมือนมารำลึกความหลังกันจนน้ำทะเลจืดสนิทไปเลยทีเดียว
‘ป้อมปืนใหญ่’ โยนอดีตทิ้งไป
แม้ชายหาดสวยสงบจะดึงดูดใครต่อใครมาที่นี่ แต่ลึกลงไปในผืนดินของเกาะกัตบายังบันทึกเรื่องราวความโหดร้ายจากสงครามไว้อย่างเงียบเชียบ
เกาะแห่งนี้เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงสงครามทั้งกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เล่ากันว่าเกาะเคยถูกทิ้งระเบิดหลายต่อหลายครั้งจนชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงต้องหลบไปอาศัยอยู่ตามถ้ำซึ่งมีอยู่มากมาย
ปัจจุบัน สิ่งเตือนใจถึงสงครามทั้งสองครั้งได้ถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ ถ้ำโรงพยาบาล (Hospital Cave) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลลับที่ป้องกันแรงระเบิดได้ในช่วงสงครามของสหรัฐฯ และเป็นที่หลบภัยของผู้นำเวียดกง โดยมีการออกแบบเป็น 3 ชั้นและใช้งานมาจนถึงปี ค.ศ. 1975 อยู่ห่างจากเมืองกัตบาไปทางเหนือราว 10 กม. และอีกหนึ่งสถานที่ที่เรามีโอกาสไปเยือนก็คือ ป้อมปืนใหญ่ (Cannon Fort) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองกัตบา
ไต่ระดับไปตามความสูงชันของภูเขา 177 เมตร ป้อมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ป้องกันการรุกรานทางทะเลให้เมืองไฮฟองในช่วงสงครามเวียดนาม ทุกวันนี้แม้ว่าจะเหลือเพียงแนวบังเกอร์เก่าแก่ ฐานจอดเฮลิคอปเตอร์ และปืนใหญ่ที่จำลองภาพการสู้รบในอดีต แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเราเข้าใจถึงความโหดร้ายของสงคราม
เราเดินทางไปตามทางที่ถูกออกแบบให้รำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ก่อนจะไปหยุดตรงจุดชมวิว เพื่อให้ธรรมชาติเยียวยาจิตใจอีกครั้ง ความงดงามของทิวทัศน์รอบเกาะกัตบาคือสิ่งที่ชดเชยความสูญเสียที่คนที่นี่ได้รับ เช่นเดียวกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายทั้งบนดินและใต้ทะเล
สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว...นอกจากความสวยงามของหมู่บ้านชาวประมงและเกาะแก่งที่มองเห็นจากยอดเขาแห่งนี้ หลายคนต่างรู้ดีว่า อีกหนึ่งที่สุดของเกาะกัตบาก็คือ อาหารทะเลสดๆ ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา และกั้งตัวโตๆ เนื้อหวานๆ
หลังจากกลับลงจากป้อมปืน ก่อนเข้านอนคืนนั้น ทุกคนจึงขอจัดเต็ม(อิ่ม) เรียกว่าฝันดีกันถ้วนหน้า
‘ไฮฟอง’ ต้องห้ามพลาด
ไหนๆ ก็มาถึงไฮฟอง จะผ่านเลยไปเฉยๆ คงไม่เหมาะ เมืองนี้แม้จะไม่โดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยว แต่ก็เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือสำคัญของเวียดนาม และถือเป็นประตูสู่ฮาลองเบย์
ชื่อเมืองไฮฟอง มาจากการเรียกขานมหาสมุทรที่ทำหน้าที่ปกป้องผู้รุกราน แต่เนื่องจากสภาพบ้านเมืองเต็มไปด้วยวัดวาอารามและหาดทราย รวมทั้งมีจุดเด่นเป็นต้นไม้สีแดงสดขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ ทำให้ไฮฟองมีชื่อเล่นว่า “นครแห่งสีสัน (Flamboyant city)” ตามชื่อต้นไม้ชนิดนี้
ใครไปใครมาเมืองท่าแห่งนี้มี 3 สิ่งต้องห้ามพลาด อย่างแรกก็คือ โรงอุปรากรไฮฟอง (Hai Phong Opera House) โรงอุปรากรแห่งแรกของเมือง ซึ่งสร้างโดยคณะละครเร่ในโรงแรม Hotel des Colonies เมื่อปี ค.ศ. 1888 และได้ใช้ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1895 – 1897 ปัจจุบันแม้โรงละครแห่งนี้จะไม่เปิดให้เข้าชมภายใน แต่ก็ยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งในฐานะเมืองท่าและอิทธิพลของตะวันตกในเมืองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างที่สองคือ การไปไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลที่ วัดเหง่ (Nghe Temple) ที่มิใช่เพียงสถานที่สำคัญทางศาสนา หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเป็นสถานที่เพื่อการรำลึกถึงสตรีนาม เล ฉาน ผู้ก่อตั้งเมืองไฮฟอง และทำให้เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้น
ตามตำนาน(อีกแล้ว) กล่าวว่า เล ฉาน นั้นสิ้นชีวิตอย่างเหนือธรรมชาติ โดยเมื่อเธอกระโจนลงไปในแม่น้ำ ก็ได้กลายเป็นหินลอยไปตามแม่น้ำกิงเถยในเขตดองตรุยกลับไปถึงบ้านเกิดของเธอในเบนดา (ปัจจุบันคือ เบน บินห์) เมื่อชาวหมู่บ้านเบียนรู้ว่าเธอได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงใช้ไม้ยาวและผ้าช่วยกันช้อนหินศักดิ์สิทธิ์เพื่อนำขึ้นมาเก็บไว้ที่หมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเดินผ่านพื้นที่ซึ่งในปัจจุบันคือวัดเหง่ ก็เกิดลมพายุอย่างฉับพลัน ทำให้ผ้าขาดและก้อนหินร่วงหล่น ชาวบ้านจึงสร้างวัดขึ้นที่นี่เพื่อเป็นสถานที่สักการบูชา
ในช่วงแรก วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นศาลบูชาแต่ต่อมาได้รับการสร้างขึ้นใหม่และขยายพื้นที่ จนกระทั่งกลายเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาอันเป็นที่สักการะของคนท้องถิ่น โดยจุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่งานประติมากรรมหินที่สวยงาม
เมื่อเดินทางมายังวัดเหง่ เราตามหาของสำคัญ 2 อย่างที่ร่ำลือกันว่าต้องมาเห็นให้ได้ไม่งั้นถือว่ามาไม่ถึง ได้แก่ ฆ้องหิน และ เตียงหิน ฆ้องหินที่ว่าน่าสนใจตรงที่แกะสลักจากหินก้อนเดียวจนเป็นฆ้องหินที่มีขนาดถึง 1.6 เมตร สูง 1 เมตร ด้านหน้าของฆ้องแกะเป็นรูปมังกร 2 ตัว รายล้อมด้วยพระจันทร์และมวลเมฆ ด้านหลังเป็นมวลเมฆม้วนตัวที่งดงาม โดยทั้งสองด้านมีส่วนกลมนูนไว้สำหรับตี ซึ่งจะให้เสียงทุ้มก้องกังวานและสงบสุข ดึงความรู้สึกของผู้ฟังสู่โลกแห่งจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนเตียงหินก็มีความพิเศษเช่นเดียวกัน เพราะทำจากหินขนาดใหญ่มหึมา แม้ไม่รู้ว่าในอดีตใช้เพื่อการใดแน่ แต่ตามธรรมเนียมไทยคงต้องไหว้ไว้ก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล
ของดีอย่างสุดท้าย อันนี้ไกด์หนุ่มชาวเวียดเป็นคนแนะนำ บอกว่าเป็นขนมปังรสเด็ดเผ็ดนิดๆ ที่มีเฉพาะในเมืองไฮฟองเท่านั้น ชื่อว่า “ไบ๋หมี่ไก๋” (สะกดตามการออกเสียง ผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้) ขนมปังชิ้นเล็กๆ ขนาดใหญ่กว่านิ้วโป้ง(อ้วนๆ)เล็กน้อย ยาวเกินฝ่ามือไปหน่อย ผ่าตรงกลางใส่ไส้คล้ายเนื้อหมูปรุงรส เวลาทานต้องทางคู่กับซอสเผ็ด อร่อยเด็ดสมคำบอกเล่า
เราพิสูจน์รสชาติขนมปังเผ็ดไปคนละหลายชิ้น ก่อนจะโบกมือลาไฮฟอง เมืองที่น่าจะมีอะไรให้ลองอีกหลายอย่าง...หวังว่าคราวหน้าคงได้รู้จักกันให้มากกว่านี้