DRAG Culture โลกของชายแต่งหญิง การแสดงและการเข้าใจตัวตน
รู้จักวัฒนธรรมบนเพศสภาพอันหลากหลาย การเน้นตัวตนให้เด่นชัด มิใช่เพื่อกีดกั้น แต่เพื่อยอมรับทางเลือกอันไม่จำกัดบนโลกใบนี้
Drag Queen – แดรก ควีน ศัพท์ไม่ใหม่ แต่ไม่คุ้นชิน และด้วยเสียง ศัพท์ หรือการรับรู้จากสื่อใดสักแห่งก็ทำให้เราเห็นภาพสาวประเภทสองในชุดโชว์เวอร์วังอลังการขึ้นมา แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่แน่ใจว่าว่า แดรก (Drag) คืออะไร
กำลังจะมีเรียลลิตี้โชว์ใหม่ Drag Race Thailand ซึ่งเมืองไทยได้ลิขสิทธิ์มาจากรายการดัง Rupual’s Drag Race ของอเมริกา โดยทาง LINE TV ร่วมกับกันตนาผลิตขึ้นมา ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้ลิขสิทธิ์ ซึ่งใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะได้มา เมื่อได้มาแล้วความคาดหวังก็ใหญ่ไม่ใช่เล่น เพราะเราต้องยอมรับว่าชื่อเสียงของสาวประเภทสองในเมืองไทยนั้นไม่แพ้ใครในหล้า หากจะมีการแข่งเพื่อค้นหาสุดยอดแดรก ควีน ขึ้นในไทย นั่นต้องเป็นเรื่องระดับปรากฏการณ์
ทว่า “แดรก” นั้นคือสาวประเภทสองแต่งหญิงเริ่ดๆ แรงๆ ร้องเพลงลิปซิงค์เท่านั้นหรือ?
“คุณจำกัดความสาวประเภทสองว่าอะไรล่ะ” อาร์ต – อารยา อินทรา สไตลิสต์ชื่อดังผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชั่น ที่นั่งแท่นโฮสต์ และ Executive Producer ของรายการถามกลับ
“คือต้องมีนม ผมยาว กินยาคุมอย่างนั้นหรือเปล่า? ตรงนี้ไม่มีใครมีเลยนะ ทุกอย่างยังเป็นผู้ชายครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ จะเรียกว่าเราเป็นสาวประเภทสองก็ไม่ใช่ จริงๆ แล้วเราคือเกย์ ถ้าเรียกตามเซ็กส์ชวล แล้วเรายังมาแดรกข้ามไปเป็นอีกไอเท็มหนึ่งด้วย”
สำหรับอาร์ต อารยา “แดรกคือ Performer คือ Artist คือศิลปินที่กล้าแสดงออก โดยใช้เรือนร่างเป็นเฟรม”
สำคัญคือจำกัดความของแดรกอยู่บนพื้นฐานที่ว่าคนคนนั้นมีร่างกายเป็นชาย จะมีเพศสภาพเป็นชายแท้หรือเกย์ก็ได้ แต่ในชีวิตปกติพวกเขาก็แต่งตัวเป็นผู้ชาย ไม่ได้ปรารถนาที่จะแปลงร่างกายของตัวเองให้กลายเป็นหญิง แต่ในบางเวลาก็ “แสดง” ออกมาเป็นหญิงอย่างตระการตา ซึ่งนั่นเกี่ยวกับ “โชว์” หรือ “การแสดง” พวกเขาจะสร้างสรรค์ลุคออกมาจากความคิดและฝีมือของตัวเองล้วนๆ ทั้งการแต่งหน้า ทำผม การแต่งกาย และการแสดงที่สุดพลังมากกว่าปกติ
ปันปัน - แพน นาคประเสริฐ โฮสต์อีกคนของรายการ เสริมว่า “แดรกลึกไปมากกว่าการแต่งหญิง เป็นศิลปะอีกขั้นหนึ่ง ฉะนั้น แดรกจะมีองค์ประกอบของการแสดงอยู่เยอะมาก การแต่งแดรกไม่ได้แต่งเพื่อสนองความต้องการอยากเป็นผู้หญิง แต่เป็นการแสดงมากกว่า การเป็นทรานส์ (Transgender) กับแดรกไม่เหมือนกัน คนที่เขาทรานส์คือเขารู้สึกถึงความเป็นหญิงข้างใน แต่ 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นแดรก จะรู้ตัวว่าเป็นผู้ชาย ไม่อยากเปลี่ยนเพศสภาพตัวเองเป็นหญิง ใช้ชีวิตประจำวันเป็นผู้ชาย แต่บางเวลาชอบแต่งหญิง”
ปันปัน จบการศึกษาจาก UCLA เขาเป็นครูสอนเต้นแวกกิ้ง (Waacking) (รูปแบบการเต้นสะบัดไม้ สะบัดมือ และควงแขนร่ายรำไปมาตามจังหวะดนตรี เกิดขึ้นในคลับเกย์ ลอสแองเจลิส ตั้งแต่ยุคดิสโก้ ช่วงปี1970) ชีวิตประจำวันของเขาคือหนุ่มหน้าตาดี ที่สาวๆ อยากจะกรี๊ดตาม เพียงแต่พวกเธอรู้ว่าจะผิดหวัง ปันปันสร้างเพจ Pangina Heals หรือ Pangina ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งคาแรกเตอร์ของตัวเอง ในรูปลักษณ์สาวผมบลอนด์ ช่างจิกกัด เมื่อสวมบทบาทนี้ปันปันจะมีน้ำเสียง บุคลิก การเดินเหินที่ต่างไปจาก “แพน” โดยสิ้นเชิง
ปันปันมีโชว์ทุกคืนวันอาทิตย์ที่ร้านแมกกี้ ชูส์ และคืนวันอาทิตย์วันหนึ่ง ค่ำคืนแห่งเกย์ไนท์ เราได้ไปพบกับปันปันและอาร์ต อารยาที่นั่น
“เกย์ไนท์” ที่เราเพิ่งเคยไปเป็นครั้งแรกเปิดโลกอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน แดรก ควีน มีโชว์ของตัวเอง แต่แดรกก็ไม่เท่ากับ “นางโชว์” ที่เราเข้าใจทั่วๆ ไป
“บ้านเรามีแต่คำว่านางโชว์ เรารู้จักแค่นั้น นางโชว์ต่างกับแดรกควีนที่ นางโชว์ไม่ได้คิดคอนเซปท์ แต่งหน้า ทำผม ทำพรอพเอง ถ้าเขาทำเองทั้งหมด แล้วเพอร์ฟอร์มเป็นคนๆ นั้น ใช้ได้ เขาก็เป็นแดรก ไม่ใช่แค่หน้าตาดี รูปร่างดี ร้องลิปซิงค์ได้ แต่มีคนมาแต่งหน้าให้ บอกว่าต้องแต่งหน้าแบบนี้ ใส่วิกนี้ แต่งตัวอย่างนี้ ทำท่าอย่างนี้ นั่นคือนางโชว์”
แดรกคือการบำบัด
การเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเต้น การออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวตัวเองอย่างกระฉับกระเฉง ล้วนแต่มีผลในการผ่อนคลายความเครียดได้ทั้งนั้น ในคืนเกย์ไนท์ ขณะที่นั่งสังเกตการณ์อยู่ เราก็รู้สึกขึ้นมาว่า มากไปกว่าความบันเทิงที่รับส่งกันระหว่างผู้ชมและผู้แสดง “การแสดงออก” เป็นแดรกคือการปลดปล่อยเข้าขั้นบำบัดจริงๆ เหมือนอย่างที่ปันปันว่าไว้
“รายการ Rupual’s Drag Race เป็นสาเหตุแรกที่ทำให้ปันแต่งหญิงเลย คือเพิ่งรู้ว่ามีวัฒนธรรมแบบนี้อยู่ด้วย เราเป็นเกย์ที่เรามีความรู้สึกว่าอยากเป็นผู้หญิงได้ด้วยเหรอ เป็นตัวของตัวเองได้มากกว่านี้ ได้รักตัวเองจากการแต่งหญิง เหมือนได้ฮีลลิ่ง (Healing) มาก”
Pangina Heals ก็บอกอยู่แล้วว่าเมื่อปันปันปีนตึกขึ้นส้นสูง จิตใจของเธอก็เหมือนได้รับการบำบัดไปพร้อมกัน ปันปันขยายความถึงความเชื่อมโยงระหว่างบุคลิกยามแดรกของเธอกับการเยียวยาภายใน
“การที่เราใช้ชีวิตเป็นคนคนหนึ่ง บางครั้งอาจเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีมา ในชีวิตประจำวันเราเป็นผู้ชายใช่มั้ยครับ การที่เราแต่งหญิงเหมือนเราได้หนีออกไป ปัญหาพวกนั้นมันไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เราได้ให้เวลากับปัญหาของเรา แล้วดูว่าถ้าเป็นอีกเวอร์ชั่นของเรา เขาจะดีลกับปัญหานี้อย่างไร พอได้ยืนออกมาไกลกว่าปัญหา แล้วมองกลับไป ปัญหานั้นจะดูเล็กลงเรื่อยๆ อย่างสมมติปันแต่งหญิง แล้วมีคนไม่ชอบปันมากๆ จนมาทะเลาะกับปัน ตื่นมาปันเป็นผู้ชาย ก็เออ ช่างมัน วันนี้เราเป็นผู้ชายแล้ว หรือวันไหนเป็นผู้ชายแล้วไปทะเลาะกับใครมา แล้ววันนั้นปันแต่งหญิง ก็จะรู้สึกว่าปัญหาไม่ได้อยู่กับปันตอนนี้ สำหรับปันเหมือนการทำสมาธิอย่างหนึ่งเลยนะ”
รู้ได้ไงว่าใจไป “แดรก”
“ความเป็นแดรก ควีน” สงวนไว้สำหรับชายร่างชายที่อยากแสดงออกเป็นหญิง แต่ “การมีความเป็นแดรก” สามารถมีได้ทั้งกะเทยสาว (เพศสภาพภายนอกเป็นหญิง ใช้ชีวิตเป็นหญิง) และผู้หญิงแท้ๆ จะลุกขึ้นมาแดรกก็ได้ แต่จะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าความชอบของเรามุ่งไปทางแดรก
“ถ้าอยู่ที่บ้านแล้วคุณอยู่นิ่งๆ ไม่เป็น มีความรู้สึกว่าอันนั้นสวย อันนี้สวย อยากเอามาใส่กับตัวคุณ เห็นเขาทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วอยากจะทำบ้าง นั่นคือคุณเริ่มจะมีแนวโน้มที่จะเป็น เขาเรียกว่า ‘ผู้กล้า’ ถ้าเกิดวันหนึ่งเรากล้าแสดงออก เราก็เอาทุกอย่างที่เราเก็บสะสมมาบวกเราเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการแต่งหน้า ทักษะในการทำผม ทักษะในการแต่งตัว โดยเข้าใจมู้ดแอนด์โทนว่าวันนี้คุณจะทำอะไร นั้นล่ะ แปลว่าคุณพร้อมแล้วล่ะ” อาร์ต อารยา แนะแนวพร้อมเสริมว่า “ตัวจริงกับร่างแดรกก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เป็นคนละคนได้เลย ตัวจริงสงบเสงี่ยมเรียบร้อยไปผ้าพับไว้ พอแดรกปุ๊บ แรดสุดพลัง ตีลังกาได้ ปีนเสาได้ ปากจัดได้ นั่นคือร่างทรงที่เราต้องการครีเอทขึ้นมา”
สู่ความเป็นแดรก ควีน
ย้ำอีกครั้งว่าแดรกไม่เท่ากับนางโชว์ มีโจทย์ที่แดรกควีนต้องทำให้ถึงหลายอย่าง ถามแดรก ควีนอย่างปันปันว่าหากเขาจะเริ่มแดรกขึ้นมาสักคาแรคเตอร์หนึ่ง จะเริ่มจากอะไร
“ปันเป็นคนที่ชอบรีเสิร์ชมากๆ สมมติจะทำเกี่ยวกับมาริลีน มอนโร ปันจะรีเสิร์ชชีวิตของเขาเลย เพราะมันน่าเบื่อที่จะดูเรื่องความสวยงามอย่างเดียว ปันไปดูปัญหาของเขาก่อนเลย เช่น ปัญหาเรื่องจอห์น เอฟ. เคเนดี้ ปัญหาเรื่องยา เริ่มจากรีเสิร์ชข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อย่างที่ 2 คือแฟชั่น ที่สามคือรายละเอียด เสื้อผ้า หน้า ผม เครื่องประดับ อย่างที่ 4 คือจริต 5 คือดูสัมภาษณ์ของเขา เวลาพูดเขาเป็นยังไง ปันก็จะสวมบทบาทแบบนั้นเลย”
การรู้ประวัติศาสตร์แฟชั่นจะยิ่งทำให้แดรกเป๊ะขึ้น แต่ไม่จำเป็น ทั้งหมดทั้งมวลคือความรู้เรื่องศิลปะ การจัดองค์ประกอบ มีเซนส์เรื่องศิลปะ การแสดงออก ยิ่งมีครบก็จะยิ่งปูทางสู่ความเป็นแดรก ควีน ที่มีอะไรมากไปกว่าการก๊อปปี้ให้เหมือนสักคาแรคเตอร์หนึ่ง แน่นอนว่าแดรก ควีน ย่อมสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ที่ไม่เคยมีอยู่บนโลกขึ้นมาได้เช่นกัน
โลกที่มีทางเลือก
เราพยายามหาคำจำกัดความ แยกประเภทของความเป็นแดรกออกมาให้ชัดเจน แต่การชี้ชัดความแตกต่างไม่ได้เพื่อต้องการขีดเส้นแบ่งแยกมนุษย์ออกจากความเป็นมนุษย์ เพียงเพื่อย้ำความเข้าใจว่าโลกมีหลากสี ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ มนุษย์ก็ไม่ได้มีแค่หญิงกับชาย แต่มีมิติสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก มีทั้งพลังงานบวกและพลังงานลบ แต่ทุกคนย่อมมีทางเลือก และมีที่ทางของตัวเองในโลกนี้เสมอ
“ท้ายที่สุด ไม่ว่าเป็นเพศไหน ใครก็ตามที่มีความเป็นมนุษย์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีพลังงานบวก คุณมีพื้นที่ของคุณบนโลกใบนี้แน่นอน” อาร์ต อารยา กล่าว
////////////////////
DRAG มาจากคำว่า Dress Resembling A Girl คือการแต่งตัวเหมือนผู้หญิง เกิดขึ้นราวปลายยุค 1800s – ต้น 1900s จากการสวมบทบาทตัวละครหญิงโดยนักแสดงชายในละครเวที ยุคเริ่มต้นของแดรกเกิดขึ้นในยุโรป ที่ละครเวทีเฟื่องฟู เมื่ อเรื่องราวแนวโศกนาฏกรรมเป็นที่นิยม ความจริงจังโศกเศร้าก็ต้องการบทบาทตลกเข้ามาผ่อนคลาย ตัวละครชายแต่งหญิงจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่เสมอ และสร้าง “ดาวเด่น” ในบทบาทนี้ขึ้นมา แดรกพัฒนาการมาตามยุคสมัย ทั้งบทบาทที่หลากหลายขึ้น จากละครเวที สู่นางแบบ นักร้อง นักแสดง รวมถึงสไตล์ก็เป็นที่นิยมตามดาวดังแห่งยุค แต่ทั้งหมดยังคงเกี่ยวข้องกับการแสดงเสมอ
และนอกจากแดรก ควีนแล้ว ยังมี แดรก คิง (Drag King) ผู้หญิงซึ่งแต่งตัวเป็นผู้ชายด้วยนะ มีคำจำกัดความไม่ต่างจากแดรก ควีนเพียงแค่สลับเพศกัน คือแดรก คิง เป็นการแต่งตัว และเปลี่ยนบุคลิคเป็นชายเพื่อ “การแสดง” ต่างจากการเป็นทอมบอยเพราะอยากเป็นชาย โดยที่ผู้หญิงคนนั้นจะเป็นหญิงแท้ ทอม หรือเลสเบี้ยนก็ย่อมได้