ใจเซไป ‘ทะเลน้อย’
ให้ผืนน้ำกว้างใหญ่ ดอกบัวสวยงาม และควายน้ำแสนน่ารัก เป็นส่วนหนึ่งของการพักผ่อนสุดวิเศษ
จะมีสถานที่สักกี่แห่งที่แม้จะเคยไปแล้ว พอได้ยินชื่อหรือแค่หวนนึกถึงก็รู้สึกอยากกลับไปอีกครั้ง ไม่ว่าจะเพื่อกลับไปตักตวงความสุขให้เต็มหัวใจ หรือแค่ไปพักร่างกายที่เหนื่อยล้า...โดยไม่ต้องเดินเข้าป่า
ผืนน้ำไกลสุดสายตาที่มีชื่อว่า ทะเลน้อย นับเป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น เพราะไม่ว่าจะเคยไปมาแล้วกี่ครั้ง ไอเย็นของน้ำ ความงามของทิวทัศน์ และสารพัดสิ่งมหัศจรรย์ของทะเลน้อยยังชโลมจิตใจได้ดีเสมอ และนี่เป็นอีกครั้งที่หัวใจเพรียกหาให้กลับมาอีกหน
หลังจากอ่อนเปลี้ยเพลียแรงจากหลายหลากมากสิ่ง ความรู้สึกแบบนั้นก็ถูกปิดสวิตช์ให้หยุดทำงานทันทีเมื่อเบื้องหน้าของผมคือ ‘ทะเลน้อย’ หรือที่มักเรียกกันว่า อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นเขตห้ามล่าสัตว์แห่งแรกของไทย ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แม้จังหวัดพัทลุงจะไม่มีอาณาเขตติดทะเล แต่ทะเลน้อยกลับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อเสียงลือลั่นไม่แพ้ทะเลของจังหวัดใดๆ ด้วยความที่ที่นี่เป็นทะเลสาบน้ำจืดกว้างใหญ่ไพศาล กินพื้นที่ตำบลนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาด้วยคลองนางเรียมยาว 2 กิโลเมตร
จึงเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำ (แรมซาร์ไซต์) แหล่งสำคัญระดับโลก เพราะเป็นที่ตั้งของพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียนซึ่งเป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 1 ของประเทศไทย และลำดับที่ 948 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ลักษณะเป็นพื้นที่พรุไม้เสม็ดขาว มีน้ำท่วมขัง พื้นมีกก หญ้ากระจูด กระจูดหนู ขึ้นอยู่หนาแน่น ชุมชนละแวกใกล้เคียงจึงนิยมนำหญ้ากระจูดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานเพื่อใช้งานและจำหน่าย โดยที่ไม่ได้มีแค่เครื่องจักสานธรรมดาดีไซน์คลาสสิกเท่านั้น แต่ชาวบ้านใส่ภูมิปัญญาเพิ่มลวดลาย สีสัน การออกแบบเป็นเครื่องใช้หลากหลายการใช้งาน และไม่ลืมความงามชนิดที่ใครถือกระเป๋ากระจูดสุดคูลนับว่า hipster เชียวละ
แวบไปชมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเสร็จ กลับมาที่พระเอกของเรา หากถามว่าเที่ยวทะเลน้อยช่วงไหนดี ตอบได้ทันทีว่าเที่ยวได้ทั้งปี ซึ่งแต่ละฤดูกาลก็จะมีไฮไลท์ไม่เหมือนกัน เช่น เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมที่นี่จะเป็นทะเลบัวแดง หรือเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนนาข้าวริมน้ำก็จะออกรวงสวยสะพรั่ง เป็นต้น
ส่วนคนที่อยากชมวิวทะเลน้อยแบบตระการตา ช่วงเวลาที่ฟ้ากำลังจะเป็นสีทองแบบทไวไลท์ในยามเช้าน่าจะเหมาะสมที่สุด เพียงแค่ยอมตื่นเช้ามากแข่งกับดวงตะวันที่กำลังจะออกมาเผยกายพร้อมแสงสว่าง ในห้วงเวลาที่ฟ้ายังมืดมิดบน สะพานปากประ เป็นจุดขวัญใจช่างภาพตั้งแต่มือใหม่ยันช่างภาพอาชีพ พวกเขามักจะมาจับจองพื้นที่บนสะพานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ข้างหน้าคือน่านน้ำทะเลน้อย ที่มี ยอยักษ์ เครื่องมือจับปลาของชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ ซึ่งกำลังหลบเร้นในเงามืด แม้ยังไม่เห็นอะไร แต่ทุกคนรู้ดีว่าอีกไม่กี่อึดใจ สิ่งที่พวกเขารอคอย (และยอมฝืนตื่นเช้า) ต้องคุ้มค่าแน่นอน
มีมืดย่อมมีสว่าง แสงรำไรที่เส้นขอบฟ้าค่อยๆ ทาให้มวลเมฆและผืนฟ้ากลายเป็นสีสันต่างๆ และค่อยๆ ทวีความจัดจ้ามากขึ้นในทุกวินาที จนกระทั่งยอยักษ์และเรือลำน้อยที่ซ่อนตัวในราตรีค่อยๆ โชว์ตัว เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของภาพทะเลน้อยจากมุมนี้
ด้วยระบบนิเวศหลากหลายที่นี่จึงเป็นแหล่งอาศัยของปลาน้อยใหญ่ ทุกคืนชาวประมงจะมาวางเบ็ดราวและอุปกรณ์การประมงอื่นๆ รวมทั้งยอ เพื่อหาสัตว์ทะเลจากคุ้งน้ำนี้จนเป็นเรื่องปกติ ทว่าสำหรับคนนอก...เครื่องมือประมงและชาวประมงเป็นเสน่ห์ของทะเลน้อย โดยมี คลองปากประ เป็นฉากชีวิตที่ชวนหลงใหล
คลองปากประเป็นคลองโบราณ เป็นพื้นที่ทำประมงที่มียอเป็นเครื่องมือหลัก ยอขนาดใหญ่สร้างจากไม้ท้องถิ่นโดยชาวประมงผู้ชำนาญ ซึ่งจะต้องคำนวณสัดส่วนให้ยอโน้มลงไปใต้ผิวน้ำได้ไม่ว่าน้ำจะลดลงต่ำแค่ไหน
โดยทั่วไปยอจะถูกสร้างขึ้นริมตลิ่งให้ปลายด้านหนึ่งใช้จับสัตว์น้ำ ส่วนอีกด้านเป็นฝั่งบันไดชี้ขึ้น ตรงกลางของยอเป็นจุดหมุน หากจะยกยอขึ้นก็ใช้วิธีถ่วงน้ำหนักจนด้านหนึ่งสัมผัสพื้น ด้านที่เป็นยอจะถูกยกสูงขึ้นแล้วใช้เชือกที่ติดไว้ตรงกลางยอค่อยๆ ดึงก้นยอ จากนั้นใช้กระชอนด้ามยาวตักสัตว์น้ำออกมา ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบทอดมา และทำให้พวกเขามีกินจนถึงทุกวันนี้
อีกบทบาทหนึ่งของยอยักษ์ ไม่เพียงเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวทะเลน้อย แต่ยังเป็นงานศิลปะกลางทะเล เมื่อประกอบกับท้องน้ำ ผืนฟ้า และแสงอาทิตย์ แต่ละวันนักเดินทางจะได้ชื่นชมงานศิลป์ชิ้นเอกนี้ได้ไม่ซ้ำกันเลย
นอกจากบนสะพาน ที่ผืนน้ำก็เป็นพื้นที่ที่ควรย่างกรายเข้าไปมากกว่าแค่ใช้สายตามองจากระยะไกล เพราะที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวใกล้ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ มีจุดลงเรือชมบัวแดง อัตราค่าเรือคิดเหมาลำ มีหลายเส้นทาง ราคามาตรฐานตามระยะทางเริ่มต้นที่ลำละ 450 บาท หากไปไกลหน่อยก็ประมาณ 800 บาท เป็นเรือหางยาวนั่งได้มากสุด 8 คน
อย่างที่รู้กันว่าดอกบัวตองนั้นบานอยู่บนยอดดอย... ส่วน ดอกบัวแดง นั้นบานแค่ตอนเช้า เป็นอีกกิจกรรมชมวิวที่ต้องอาศัยความใจสู้ตื่นเช้าสักหน่อย ยิ่งเช้ายิ่งได้เห็นของดี ไล่เรียงตั้งแต่อาทิตย์ขึ้นกลางทะเลน้อย ไปจนถึงดอกบัวที่บานสะพรั่งรับอรุณ พอสายๆ ดอกบัวสวยสดก็จะหดหุบกลายเป็นดอกบัวตูม เวลาที่แนะนำสำหรับการชมบัวได้ตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึง 9 โมงเช้า พอเข้า 10 โมง ดอกบัวก็จะ say goodbye แล้ว
เรือหางยาวจะพาไปล่องสู่พื้นที่ที่ดอกบัวอยู่กันหนาแน่น แล้วพาฝ่าดงดอกบัวไปอย่างใกล้ชิด จนพาลคิดไปว่ากำลังมีความรัก โลกนี้จึงเป็นสีชมพู (เข้มออกแดง) แล้วแซมด้วยสีเขียวของใบบัว
บัวแดงที่เป็นสีสันของทะเลน้อยมาเนิ่นนาน คือ บัวสาย เป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองที่แพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย ก้านใบนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ต้มกะทิ ผัดน้ำมัน หรือ ต้มจิ้มน้ำพริก ส่วนพืชพันธุ์อื่นๆ ที่จะได้ชมเป็นของแถมในการล่องเรือ ได้แก่ ผักตบชวา จอก แหน สาหร่ายต่างๆ รวมไปถึง กก กง ย่านลิเภา และกระจูด
ที่เป็นของคู่กัน มาเป็นแพ็คเกจเดียวกับชมบัวแดง คือ นกน้ำนานาชนิด เช่น นกยางกรอก นกอัญชันคิ้วขาว นกพริก หรือ นกอีแจว นกเหล่านี้ออกมาหากินในดงบัวและกอไม้น้ำต่างๆ เพราะมีแมลงและปลาน้อยใหญ่อุดมสมบูรณ์
จากข้อมูลระบุว่านกที่ทะเลน้อยมีมากกว่า 287 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่น นกกาบบัว นกกุลา นกอีโก้ นกกระยาง นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก นกเป็ดน้ำ นกกระทุง นกนางนวล นกกระเต็น นกกระสาแดง ฯลฯ ซึ่งในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนนกจะชุกชุมมากที่สุด เพราะนกอพยพจากเมืองหนาวจะบินมาอาศัยไออุ่นและหากินที่นี่รวมกับนกประจำถิ่นที่แต่เดิมก็มีมากอยู่แล้ว ส่วนนกที่เป็นเสมือนไอคอนของทะเลน้อยเพราะมีจำนวนมากที่สุด คือ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว (Whitewinged Tern) และ นกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered Tern) แต่ไม่ว่าจะนกชนิดใด ก็ทำให้ทะเลน้อยดูมีชีวิตชีวาได้เสมอ
พอกลับมาที่ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ มีอีกจุดสำหรับคนที่ไม่ต้องการลงเรือแต่อยากชมวิวดอกบัวและชมนก คือ สะพานไม้รอบที่ทำการฯ บนเส้นทางนี้จะพาไปชมทั้งบัวสายสีสวย และนกนานาชนิด เช่น นกอีโก้ง นกพริก นกอีล้ำ นกยางควาย เป็นต้น ระหว่างทางที่เดินผ่าน ตามเสาไม้และเสาปูนจะมีก้อนสีขาวหรือก้อนสีชมพูบนกอผักตบชวาหรือพืชน้ำที่ถูกกันไว้ นั่นคือ แหล่งสร้างรังวางไข่ของนกน้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น และยังเป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย
จากสะพานไม้ไปยังสะพานปูนที่ยาวและใหญ่ แถมมีสิ่งที่น่าสนใจตามรายทาง...
สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมจากอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ไปยังอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยข้ามผ่านทะเลน้อย จากบนสะพานมองลงมาตลอดความยาว 5 กิโลเมตร คือ ทิวทัศน์ของทะเลน้อยจากมุมสูง ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามสภาพภูมิประเทศและระบบนิเวศของพื้นที่แต่ละช่วง โดยมีเบื้องหลังเป็นทะเลสาบกว้าง ส่วนด้านบนบนสะพานคือถนนเรียบกริบ มีทางสำหรับจักรยานตีขนานข้างทางไปอย่างชัดเจน หากไม่นับรถยนต์ที่แล่นเร็วปานจรวด นี่คือเส้นทางจักรยานที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
นอกจากทางสวย วิวสวย ยังมี ควายน้ำ ร่างกายกำยำอีกด้วย ควายตัวเล็กตัวใหญ่อยู่กันเป็นฝูง บางตัวปลีกวิเวกออกมาเดินเล็มหญ้าหรือนอนเล่นน้ำเล่นโคลนแบบไม่แคร์สื่อ ตลอดทางที่สะพานพาดผ่าน สองข้างทางมีฝูงควายกระจายอยู่ทั่ว ที่เรียกกันว่าควายน้ำเหตุเพราะอยู่กินกับน้ำ แล้วพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ได้ดีจนได้รับสมญานามว่า “ควายน้ำ”
อันที่จริงควายน้ำ ก็คือควายบ้านๆ ควายแบบที่เราพบเห็นได้ในพื้นที่อื่น แต่ตลอดเวลา 100 กว่าปีที่ชาวทะเลน้อยเลี้ยงควายโดยปล่อยให้กินหญ้าหาอาหารบนทุ่งกว้าง ยาวน้ำลดควายก็กินหญ้าบนพื้นดินได้ตามปกติ แต่เมื่อน้ำมาหญ้าและพืชอาหารของควายก็จะจมน้ำ เป็นธรรมดาที่สิ่งมีชีวิตจะปรับตัวให้เอาตัวรอดได้โดยควายเหล่านี้ต้องว่ายน้ำไปหาอาหารและดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำได้ด้วย
ควายบางตัวเทิร์นโปร ดำน้ำได้นานหลายนาทีโดยมุดหัวลงใต้น้ำแล้วขาหลังชี้ฟ้า ส่วนลูกควายมักจะดำน้ำไปทั้งตัว แม้ควายน้ำจะมีให้เห็นตลอดทั้งปี คล้ายกับยอยักษ์ที่ไม่ได้ถูกถอดออกไปในบางฤดูกาล แต่ช่วงที่น้ำหลากอย่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ควายน้ำจะต้องลอยคอว่ายน้ำออกหากิน รวมทั้งดำน้ำกินหญ้าด้วย นับเป็นโอกาสทองของคนที่อยากเห็นภาพน่ารักที่หาชมไม่ได้ที่อื่น คิดดูสิว่าควายที่น่าตาใสซื่อบริสุทธิ์กำลังดำผุดดำว่ายกันเป็นฝูงจะ cute ขนาดไหน...แค่คิดก็ใจละลายแล้ว
ที่ทะเลน้อยสำหรับผมเป็นบรรยากาศเดิมๆ เหมือนหนังที่ฉายซ้ำ แต่มันพิเศษตรงที่ความรู้สึกที่มี ณ ขณะนั้นกลับไม่จำเจหรือซ้ำซากเลยแม้แต่น้อย จะมากี่ครั้ง ดวงอาทิตย์ที่ขึ้นเหนือคุ้งน้ำทะเลน้อยยังตื่นมาดูได้ไม่มีเบื่อ ยอยักษ์ซึ่งสะท้อนความผูกพันระหว่างคนทะเลน้อยกับสายน้ำทุกวันนี้ยังมีมนต์ขลังสะกดสายตาและความคิดของผมให้หยุดนิ่งที่มัน
หรือจะเป็นดอกบัวสายกับนกน้ำที่ต้องล่องเรือไปหา ยังเป็นสีสันที่คล้ายจะเหมือนเดิม ทว่าช่วยให้เช้าวันใหม่ไม่จืดชืดได้ดีเหลือเกิน แม้แต่ควายน้ำที่ออกมาหากินตามประสา ก็ยังฉุกความคิดให้ไม่กระเจิดกระเจิงไปกับความวุ่นวายที่จะต้องเผชิญไม่วันใดก็วันหนึ่ง
...ทุกความเหนื่อยล้า ‘ทะเลน้อย’ จะเยียวยาทุกสิ่ง