ตามรอยบุพเพฯ เที่ยวเท่ยั่งยืน
น่าดีใจที่เห็นคนไทยเที่ยวไทยกันอุ่นหนาฝาคั่ง แต่ก็น่าห่วงใยว่าพอกระแสผ่านไป ความเงียบสงัดจะกลับคืนมา
ใครจะคิดว่าตามวัดเก่า เมืองเก่า ทั้งในพระนครศรีอยุธยารวมถึงลพบุรี ซึ่งเป็นซีนในละครดัง ‘บุพเพสันนิวาส’ จะมีคนแห่แหนมาเที่ยวจนแน่นขนัด แม้ไม่นับหัวก็พอประเมินได้ว่ามากกว่าเก่าหลายเท่าตัว
ลากยาวตั้งแต่งานอุ่นไอรักที่พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า มาจนถึงกระแสละครฮิต การแต่งชุดไทยไปเที่ยวกลายเป็นความเฟี้ยวฟ้าว ที่ใครจะแซวไม่ได้แล้วว่าแต่งตัวไปรำแก้บน ทำให้ช่วงนี้ตามโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์คลาคล่ำด้วยพี่หมื่นและแม่หญิง ลูกเล็กเด็กแดงก็ไม่เว้นถูกจับแต่งไทยเป็นกุมารน้อยน่ารักดี
...นั่นคือกระแสที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนไทย
แต่ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ การบุกเข้ามาเที่ยวไทยของชาวจีน จำนวนไม่น้อยมาตามรอยภาพยนตร์ Lost in Thailand ส่วนมากจะมุ่งหน้าไปยังโลเคชันในหนังคือเชียงใหม่ และเมื่อบวกกับละครไทยหลายเรื่องที่ไปสร้างชื่อในแดนมังกร คนจีนที่ตามรอยละครยิ่งเพิ่มเข้ามาอีก
โมเดลการใช้สื่อบันเทิงทั้งภาพยนตร์ ละคร และเพลงเพื่อส่งออกวัฒนธรรมและดึงคนเข้ามาเที่ยวในประเทศได้ยอดเยี่ยมคงไม่พ้นเกาหลีใต้ ทุกผลิตภัณฑ์ของเกาหลีใต้ถูกยกระดับแล้วใส่เป็นส่วนหนึ่งของสื่อบันเทิงอย่างแยบยล เช่น ภาพลักษณ์ของศิลปินเกาหลีใต้ที่ใช้โทรศัพท์ซัมซุง, ในละครมีสินค้าสัญชาติเกาหลีใต้เต็มไปหมด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ น้ำฝน บุณยะวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองว่าคือกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จมาก แม้ในไทยจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่กระแสเที่ยวตามรอยละครบุพเพสันนิวาสก็มีมุมที่น่าสนใจ
“เรามีความต้องการเห็นคนไทยเที่ยวในประเทศมาตลอด แต่เราไม่สามารถบังคับคนได้เพราะการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ถ้าเราอยากให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ สิ่งที่มากไปกว่านั้นคืออยากให้ท่องเที่ยวแล้วรู้สึกภูมิใจ อยากรู้จักประเทศตัวเอง อยากศึกษาหาข้อมูล ไม่ใช่แค่เที่ยวแบบเกาะกระแส เราไม่ตำหนิคนที่เกาะกระแสเพราะนั่นก็ดีแล้วที่เขาอยากเดินทาง แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ นี่คือสิ่งที่เรายังทำไม่สำเร็จ”
จากสถิติที่ สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เฉพาะที่วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งเป็นโลเคชันยอดนิยมของคนตามรอยออเจ้า เดิมทีมีนักท่องเที่ยวในวันธรรมดา วันละประมาณ 600-900 คน แต่เดี๋ยวนี้จำนวนพุ่งไปถึงวันละ 5,000-6,000 คน!
ส่วนช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนกระแสละครมีนักท่องเที่ยวรวมเสาร์-อาทิตย์ประมาณ 2,000 คน แต่เดี๋ยวนี้เสาร์-อาทิตย์มีมากถึง 25,000 คน! เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นยิ่งกว่าก้าวกระโดด ในแง่ดีทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เฟื่องฟูอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อุทยานมีรายได้จากค่าเข้าชมเพิ่มหลายเท่า เกิดอาชีพใหม่มากมาย เช่น ร้านให้เช่าชุดไทย แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ใช่ว่าการที่คนแห่กันมาจนล้นโบราณสถานจะมีแต่ข้อดี ผอ.สุกัญญา ชี้แจงว่าตั้งแต่ละครออกอากาศโดยมีฉากเป็นสถานที่ในพระนครศรีอยุธยา เริ่มมีเพจท่องเที่ยวตามรอย หลังจากละครออกออากาศไป 4 ตอน คนเริ่มมาเที่ยวที่วัดไชยวัฒนาราม แต่ยังไม่มากและยังไม่แต่งชุดไทยกัน จำนวนที่กำลังจะเพิ่มขึ้นมาพร้อมกับประเด็นร้อนที่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมปีนป่ายโบราณสถาน ถ่ายภาพไม่เหมาะสม โพสต์ลงโซเชียลโดยใช้คำในเชิงละเมิดกฎระเบียบ ทำให้อุทยานฯต้องเตรียมรับมือขนานใหญ่
“แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขนาดนี้เข้าไปในพื้นที่โบราณสถาน สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบต่างๆ แต่เราก็ใช้วิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาสรณรงค์ว่าทำตัวอย่างไรให้ถูกต้อง เพราะตอนนี้คนสนใจเรื่องนี้กันเยอะ พอมีเรื่องโบราณสถานที่ถูกทำลายออกไปปั๊บ ทำให้คนรู้สึกทนไม่ได้แล้ว จะออกไปเที่ยวเฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีการอนุรักษ์ด้วย จึงเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เช่น มีนักท่องเที่ยวทำให้โบราณสถานเสียหาย อีกฝ่ายก็จะมาวิพากษ์วิจารณ์แล้วว่านี่คือสิ่งไม่ดี เกิดเป็นมุมมองของสังคมที่มีต่อเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน”
สำหรับสถานที่หลักที่นักท่องเที่ยวมาตามรอยแม่การะเกดกัน ในพระนครศรีอยุธยามีอยู่หลายแห่ง อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, วัดไชยวัฒนาราม, วัดพุทไธศวรรย์, วัดธรรมาราม, วัดเชิงท่า, เพนียดคล้องช้าง (วังช้างอยุธยา), วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่ เป็นต้น
ยอดนิยมที่สุดเห็นจะเป็น วัดไชยวัฒนาราม หรือ วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง
วัดนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนที่ดินบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสิ้นพระชนม์ก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดนี้
ก่อนกรุงแตก พ.ศ.2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วัดไชยวัฒนารามได้ถูกปล่อยทิ้งให้ร้างเรื่อยมา บางครั้งมีหัวขโมยเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ ตัดเศียรพระพุทธรูป รื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ.2530 กรมศิลปากรได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2535
นอกจากการเบียดเบียนโดยฝีมือมนุษย์ โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554 ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรหลังวัดไชยวัฒนาราม และท่วมโบราณสถานในวัดบางส่วนด้วยระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ทำให้เกิดความเสียหายพอสมควร
อีกวัดที่จะได้เห็นหนุ่มสาวแต่งชุดไทยเหมือนย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง คือ วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศใต้ ปัจจุบันมีอาณาเขตเนื้อที่ 46 ไร่ 2 งาน 46 ตารางวา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาวัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวง (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, 2500, หน้า 215) ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว 3 ปี โดยเลือกภูมิสถานบริเวณที่เรียกกันว่า ตำบลเวียงเหล็ก
ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารระบุว่า บริเวณวัดพุทไธศวรรย์นั้น ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุที่สำคัญถึง 2 ครั้ง คือ ในรัชกาลสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ปี พ.ศ.2258 กรมหลวงโยธาทิพทิวงคต ณ ตำหนักริมวัดพุทไธศวรรย์ จึงได้จัดงานพระศพตามพระราชประเพณี
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ได้ทิวงคตลง ณ ตำหนักริมวัดพุทไธศวรรย์ พระองค์ได้ทรงโปรดให้ทำการเมรุ ณ วัดพุทไธศวรรย์
ปัจจุบันวัดพุทไธศวรรย์ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2549 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ส่วนอีกวัดที่จะยกตัวอย่าง แม้จะไม่ใหญ่โตหรือได้รับความนิยมเท่าแห่งอื่น แต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์และบรรยากาศก็ไม่เป็นรองใคร คือ วัดเชิงท่า ตั้งอยู่ที่ตำบลวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา อยู่บริเวณท่าข้ามเรือฝั่งเกาะเมืองมายังฝั่งวัดเชิงท่า จึงเป็นที่มาของชื่อวัดเชิงท่าหรือวัดตีนท่า
วัดแห่งนี้มีตำนานการก่อสร้างหลายสำนวน ทั้งในประวัติศาสตร์และวรรณคดี เช่น ตำนานว่ามีเศรษฐีสร้างเรือนหอให้บุตรสาวซึ่งหนีตามชายคนรักไปแล้วไม่ย้อนกลับ จึงถวายเรือนหอแก่วัดที่สร้างขึ้น ชื่อว่า วัดคอยท่า ซึ่งปรากฏในนิราศทวารวดีของหลวงจักรปราณี
แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เมื่อพระยาโกษาปานราชทูตไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลับมาจากฝรั่งเศสแล้วได้มาปฏิสังขรณ์วัดนี้และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโกษาวาส รวมทั้งเป็นสถานศึกษาของนายสิน หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาภาษาไทย ขอมและพระไตรปิฎกที่วัดนี้
บริเวณวัดยังมีโบราณสถานสำคัญประจำวัด ได้แก่ ปรางค์ห้ายอดสมัยอยุธยา ซึ่งมีลักษณะพิเศษหาที่อื่นไม่ได้ โดยก่อฐานพระปรางค์เป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสร้างวิหารยื่นออกไปเป็นรูปกากบาทหรือไม้กางเขนโดยเฉพาะทางทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าวัดแต่เดิม สร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่เป็นมหาปราสาทยอดปรางค์ที่พบที่วัดเชิงท่าเพียงแห่งเดียว
ส่วนศาลาการเปรียญสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในมีธรรมาสน์ปิดทองคำเปลวงดงาม ลายจำหลักไม้หน้าบันว่ากันว่าเป็นของเดิมที่เหลือรอดมาจากครั้งกรุงแตก ซึ่งย้ายมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณและยังมีงานช่างฝีมือเล็กๆ น้อยๆ มากมาย เช่น ลายจำหลักไม้ที่ส่วนบน ที่เรียกว่านมบนของอกเลา หรือสันกลางบานประตูหน้าต่าง ซึ่งสลักลวดลายแต่ละบานไม่ซ้ำกันเลย ทั้งลายไทย จีนและฝรั่ง เสาแต่ละต้นก็มีลายมือสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนไว้อย่างบรรจงระบุชื่อช่างที่เขียนลายประดับเสาต้นนั้นๆ
จากการที่อุทยานฯล้อไปกับกระแสละครโดยเชิญชวนให้คนแต่งชุดไทยมาเที่ยว แม้ในช่วงแรกจะยังน้อย แต่การประชาสัมพันธ์ที่ดีทำให้เกิดเป็นภาพอย่างที่เราเห็นจนถึงทุกวันนี้
“เราพยายามคงกระแสนี้ไว้ เราตั้งใจว่าการเที่ยวชมโบราณสถานหรือการมาดูเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้คนอิน ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องการเลียนแบบละคร แต่งชุดไทยมาชมวัดวาต่างๆ เราพูดเสมอว่ามาได้ทุกวันนะ ไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวสะดวกและพร้อม คือ แม้เราจะตอบไม่ได้ว่ากระแสจะยังมีหรือเปล่า แต่ถ้าคุณยังพร้อมอยู่คุณก็มาได้” ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากล่าว
เป็นธรรมดาของโลก เมื่อมีเกิดย่อมดับ มีพบย่อมมีจาก กระแสที่เกิดขึ้นแล้วสร้างปรากฏการณ์ถึงขีดสุดย่อมมีวันเสื่อมความนิยมและอาจจะหายไปไม่เหลือ ตอนนี้ที่ละครเรื่องดังได้อวสานแล้ว แต่การท่องเที่ยวตามรอยอาจจะยังยืนระยะไปได้อีกช่วงหนึ่งเป็นอย่างน้อย โจทย์ที่จะต้องคิดกันมีคำสำคัญว่า ‘ยั่งยืน’ จะเที่ยวกันอย่างไรที่จะอนุรักษ์โบราณสถานและรักษาความหวงแหนสมบัติชาติได้ยั่งยืน
นอกจากนี้ สุกัญญาเล่าให้ฟังว่าแม้ละครจะจบไปหมาดๆ แต่เทศกาลสงกรานต์จะยังคงรักษาบรรยากาศแบบนี้ไว้ได้อีกหน่อย “อย่างน้อยก็ตลอดเดือนเมษายน” ขั้นต่อจากนี้คือการส่งเสริมเรื่องชุดไทยย้อนยุค
“เดิมทีมีงานคนถึงจะสวมชุดไทยออกจากบ้าน ต้องรู้เป้าหมายว่าจะไปที่ไหน แต่มันจะดีมากถ้าคนมาเที่ยวอยุธยาแล้วรู้ว่าแต่งชุดไทยได้ มาเดินได้ทั้งเมืองโดยไม่เคอะเขิน ไม่ว่ามุมมองของคนในพื้นที่ หรือมุมมองจากสังคมภายนอก ทำให้มันเป็นชีวิตประจำวัน จะไม่ต้องมีการจัดงาน แต่ต้องมีสถานที่หนึ่งเพื่อให้คนมีโอกาสเข้าไป สถานที่นั้นคือโบราณสถาน”
มาสู่คำถามที่ ผอ.ฝ่ายวางแผน ททท. ถามถึงคนอยุธยาว่า “คิดอย่างไร?” อยากให้คนเดินทางไปชื่นชมพื้นที่ด้วยความรู้สึกร่วม หวงแหน อยากรักษาด้วยความเข้าใจ หรืออยากให้พวกเขาแค่เข้าไปถ่ายรูปสวมบทบาทเป็นแม่หญิงการะเกดหรือคุณพี่หมื่นเท่านั้น
“พระนครศรีอยุธยาอยู่ตรงนี้ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นการจัดงานที่มีวันเริ่มวันจบ คุณมาอยุธยาได้ตลอดชีวิต แต่ถามว่าคุณจะมาอยุธยาได้ตลอดชีวิต อยุธยาก็ต้องมีพร้อม ถ้าเกิดคุณมาย่ำยีอยุธยา มากันเต็มไปหมด แค่มาถ่ายเอาแค่รูปตัวเองกลับไป กับการมาอยุธยาแบบรักอยุธยา มีพื้นที่ให้คนเข้ามาอิ่มเอิบกับโบราณสถานด้วยความเข้าใจ อาจใช้เทคโนโลยีมาช่วย ทำให้คนเที่ยวไปได้ความรู้ไป และอยุธยาเป็นศูนย์รวมหลายเชื้อชาติ ถ้าทำให้นักท่องเที่ยวทุกชาติมาตรงนี้แล้วเหมือนได้ย้อนรอยอดีต เห็นความสัมพันธ์ของแต่ละชาติ พวกนี้เขาต้องการเดินทางมาเรียนรู้ นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก”
คงจะดีไม่น้อยถ้าคุณไม่ได้มาพระนครศรีอยุธยาแค่ครั้งเดียวเพื่อตามรอย แต่จะมาอีกเป็นสิบเป็นร้อยครั้งเพื่อรู้จักประวัติศาสตร์และคุณค่าของสถานที่นี้อย่างแท้จริง