Ginger Farm Kitchen อาหารพื้นถิ่นเมืองเหนือจากเกษตรอินทรีย์
ร้านอาหารพื้นบ้านเมืองเหนือตำรับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย เริ่มเปิดร้านแรกภายในฟาร์มเกษตรอินทรีย์อำเภอสารภี ขยายสาขาสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ จนมาเปิดสาขาแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คนเชียงใหม่เองก็รู้จัก คนกรุงเทพฯ หรือนักชิมจากที่ไหนๆ ขึ้นไปถึงเชียงใหม่ Ginger Farm Kitchen (จินเจอร์ ฟาร์ม คิทเชน) ก็เป็นร้านอาหารอีกร้านหนึ่งที่นักชิมปักหมุดอยากไปลองลิ้มชิมรส
เวลานี้ ‘จินเจอร์ ฟาร์ม คิทเชน’ ได้รับการเชื้อเชิญจากผู้บริหาร บจก. แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ให้มาเปิดสาขาแรกในกรุงเทพฯ ที่โครงการมิกซ์ยูส วันโอวัน เดอะเทิร์ด เพลส (101The Third Place) ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 101 กับซอย 101/1
จินเจอร์ ฟาร์ม คิทเชน ที่เชียงใหม่ สร้างชื่อเสียงจากการนำ ‘วัตถุดิบคุณภาพ’ ตั้งแต่ ผัก-ผลไม้ปลอดสาร ไปจนถึง เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงแบบปล่อย (free range) และผลผลิตประเภทอื่นๆ ที่ทั้งปลูกเอง เพราะเจ้าของร้านมีฟาร์มผัก-นาข้าวปลอดสาร และเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอยู่ที่อำเภอสารภี กับผลผลิตอีกส่วนที่ผ่านการคัดสรรและร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ท้องถิ่น มานำเสนอในรูปแบบ อาหารพื้นบ้าน ปลอดผงชูรส พร้อมไปกับ เครื่องดื่มสุขภาพ ด้วยผลผลิตตามฤดูกาล อาหารแต่ละจานเหมือนได้กิน ‘กับข้าวของคุณตาคุณยาย’ รสชาติต้นตำรับที่ผู้ใหญ่ทำกินกันมาแต่ไหนแต่ไร
ความจริง ‘จินเจอร์ ฟาร์ม คิทเชน’ ร้านแรกตั้งอยู่ภายในฟาร์มที่อำเภอสารภี คนไปเที่ยวฟาร์มอยากกินอาหาร เจ้าของฟาร์มเลยเปิดร้านอาหาร ร้านได้รับความนิยมมากขึ้นจนต้องมาเปิดสาขาในตัวเมืองเชียงใหม่ที่โครงการ วัน นิมมาน (One Nimman) ต้นถนนนิมมานเหมินท์ กลางเมืองเชียงใหม่ และกลายมาเป็นคอนเซปต์ของร้านทั้งที่มาและอาหาร ‘จากฟาร์มสู่เมือง’ หรือ From Farm to City และตอนนี้มาถึงกรุงเทพฯ แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เชียงดาออร์แกนิคผัดไข่
ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่พบมากของภาคเหนือ เรียกได้ว่าเป็นผักริมรั้ว ทำกับข้าวได้หลายอย่าง “ใบเชียงดารสชาติจะมันๆ ขมๆ ลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้ ถ้าแกงจะขม เพราะใบคายยางออกมา” ธนกฤต ทาศักดิ์ พ่อครัวร้านจินเจอร์ ฟาร์ม คิทเชน กล่าวพร้อมกับแนะนำเมนูผักเชียงดายอดนิยมประจำร้าน เชียงดาออร์แกนิคผัดไข่ (135 บาท) ซึ่งคนภาคเหนือแทบจะทำกินกันทุกบ้าน เพราะเมื่อนำมาผัดกับไข่แล้ว รสชาติจะเข้ากันได้ดี
จานนี้ก็สดจากฟาร์ม ยำมะเขือยาวออร์แกนิคกุ้งสด (225 บาท) มะเขือยาวจากฟาร์มที่สารภี เผาแล้วลอกเปลือก ราดน้ำยำที่มีส่วนผสมของหมูสับ กุ้งสด กุ้งแห้งบด รสชาติจัดจ้านกำลังดี โรยหน้าด้วยไข่นกกระทาต้มสุกและดอกอัญชัน
ยำมะเขือยาวออร์แกนิคกุ้งสด
ปูอ่อง
กับข้าวที่ชาวเหนือคุ้นเคย ปูอ่อง (135 บาท) ทำจาก ‘มันปูนา’ ที่จับได้ในนาข้าวปลอดสารของฟาร์ม แคะมันปูกวนกับไข่ไก่ให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย กระเทียมโขลก ตักใส่กระดองปูนาล้างสะอาดแล้วนำไปย่าง พอสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม แต่เนื้อสัมผัสยังคงความข้น(creamy) กินแกล้มกับผักสดออร์แกนิคตามฤดูที่มีกลิ่นหอมฉุนและความกรอบ เช่น ผักชีลาว แตงกวา มะเขือไข่เต่าขาว-ม่วง
อีกหนึ่งเครื่องเทศพื้นบ้าน ‘มะแขว่น’ กลิ่นหอมแรง รสชาติเฉพาะตัว ชาวเหนือนิยมใส่ในพริกแกงและใช้หมักเนื้อสัตว์ ที่นี่นำมาทำเป็นเมนู หมูหมักมะแขว่น (185 บาท) หมูทอดเสิร์ฟกับน้ำจิ้มแจ่ว ซึ่งพ่อครัวบอกว่า จริงๆ น้ำจิ้มภาคเหนือนิยมออกรสเค็ม แต่ที่ร้านสาขานี้ปรับให้มีรสเปรี้ยวขึ้นคล้ายน้ำจิ้มแจ่วที่คนกรุงเทพฯ คุ้นลิ้น
หมูหมักมะแขว่น
ตำขนุนหมูกรอบตะไคร้
จานนี้ก็เป็นตัวแทนอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ ตำขนุนหมูกรอบตะไคร้(225 บาท) ขนุนที่ไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไปต้มสุก โขลกให้แหลกพักไว้ ตำเครื่องแกงที่มีส่วนผสมของมะแขว่น พริกคั่ว กระเทียม ตะไคร้ ใบมะกรูด กะปิหยาบ ผัดเครื่องแกงให้หอม ใส่ขนุนที่โขลกไว้ลงผัดในเครื่องแกง
“ชาวเหนือนิยมกินตำขนุนกับแคบหมู เราเลยขอเปลี่ยนจากเครื่องเคียงเดิมๆ ที่ทุกคนหาซื้อได้เอง โดยประยุกต์เป็นหมูกรอบ” คุณธนกฤต กล่าว
แกงผักหวานปลาสลิดใส่วุ้นเส้น
ถ้วยนี้ผู้เขียนชอบมากเป็นส่วนตัว แกงผักหวานปลาสลิดใส่วุ้นเส้น (225 บาท) รสชาติและกลิ่นหอมของน้ำแกงที่ปรุงรสด้วยปลาป่นแห้งแทรกซึมอยู่ในผักหวานนุ่มๆ ที่ยังสีเขียวสดน่ากิน ใส่วุ้นเส้นเพิ่มความนุ่มให้แต่ละคำเข้าไปอีก มีปลาสลิดแกะเอาแต่เนื้อให้เคี้ยวหนุบหนับ เป็นกับข้าวที่กินกับข้าวสวยได้ดีมาก
‘เห็ดถอบ’ พืชท้องถิ่นขึ้นเฉพาะภาคเหนือและอีสาน นำมาทำเป็น คั่วเห็ดถอบใบมะขามอ่อน (220 บาท) คั่วเห็ดถอบผ่าซีกให้เข้ากันกับกะปิ หมูสับ กุ้งแห้ง กระเทียม พริก ข่า ใบมะขามอ่อน โดยไม่ใช้ซอสปรุงรส ผิวเห็ดถอบกัดแล้วจะกรุบๆ นิดหน่อย
คั่วเห็ดถอบใบมะขามอ่อน
ยำขนมจีนข้าวกล้อง
มื้อกลางวันอยากกินจานด่วน ยำขนมจีนข้าวกล้อง (175 บาท) จานเดียวก็อิ่มได้ จัดเต็มด้วยเส้นขนมจีน เนื้อปลาทู ถั่วฝักยาวซอย หอมแดงซอย พริกแห้ง ครบรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด และน้ำปลาร้าปรุงสุก กินแนมผักสดที่วางในจาน
หมวดเครื่องดื่มมีให้เลือกมากมายทั้งน้ำผลไม้สกัดเย็นและชา (แก้วละ 120 บาท) อาทิ Juicy Guava ได้คุณประโยชน์จากน้ำฝรั่ง แตงกวา แอปเปิ้ลและขิง, ใครสั่ง Forest Harmony ก็ได้เครื่องดื่มสีม่วงจากชาดอกอัญชัน น้ำสับปะรด น้ำผึ้ง น้ำมะนาว น้ำผักขึ้นฉ่าย ผักโขม และกลิ่นใบกะเพรา
ของหวานก็เป็นผลผลิตภาคเหนือ มันม่วงนึ่งราดกะทิและซอร์เบต์มะม่วง (155 บาท) เพิ่มความเปรี้ยวให้สดชื่นด้วยเสาวรสครึ่งผล
อาหารพื้นถิ่นเมืองเหนือด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์
ร้าน Ginger Farm Kitchen สาขากรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 โครงการวันโอวัน เดอะ เทิร์ด เพลส (101 The Third Place @ True Digital Park) มีทางเดินเชื่อมจากบีทีเอส สถานีปุณณวิถี 300 เมตร เปิดบริการทุกวัน 10.00-23.00 น. โทร.0 2010 5235 หรือ Facebook/Ginger Farm Kitchen