From Monet to Kandinsky อิ่มใจที่ได้ชม
ฉันเดินไปตามถนนกับเพื่อนสองคนในยามพระอาทิตย์ตก ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดงดั่งเลือด
ฉันหยุดและพิงรั้วด้วยความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจนพูดไม่ออก ลิ้นแห่งไฟและเลือดแผ่ซ่านไปทั่วฟยอร์ดสีดำอมฟ้า
เพื่อนของฉันยังคงเดินดุ่มไปในขณะที่ฉันเดินตามสั่นระริกด้วยความกลัวต่อมา...ก็ได้ยินเสียงกรีดร้องออกมาอย่างไม่สิ้นสุด ...เอ็ดเวิร์ด มุ้งค์
เราเข้าชมนิทรรศการ From Monet to Kandinsky ในช่วงที่ The Scream ภาพเสียงหวีดร้องที่มีชื่อเสียงที่สุดของมุ้งค์ ปรากฏขึ้นบนผนังสูง 3 เมตรที่โอบล้อมรอบตัวเราแบบ 360 องศา เป็นความรู้สึกตื่นตาตื่นใจและตื่นเต้นที่ได้เห็นผลงานของศิลปินคนโปรดในรูปแบบกราฟิกแอนิเมชั่นชนิดเต็มตา และที่สำคัญคือ เราสามารถเดินไปรอบๆห้อง พร้อมทั้งถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอได้อย่างอิสระ เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการศิลปะที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้คนในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
นิทรรศการมัลติมีเดีย From Monet to Kandinsky เปิดให้ชมแล้วที่ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ บางค็อก ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นผลงานวิดิโอดิจิทัล ฉายจากโปรเจ็กเตอร์30 ตัวลงรอบบนผนังห้องสูง 3 เมตร ในพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ความยาว 65 นาที ซึ่งฉายวนไปเรื่อยๆผู้ชมจะเข้าหรือออกจากห้องจัดแสดงเวลาไหนก็ได้
โดยเนื้อหาจะเริ่มต้นที่ โคลด โมเนต์ (Claude Monet) จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์คนสำคัญในช่วงคริสตวรรษที่ 19 ปิแอร์ ออกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre Auguste Renoir) เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) อ็อองรี รูสโซ (Henri Rousseau) อองรี ตูลูส-โลเทร็ค (Henri Toulouse-Lautrec) กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) พอล ซีญัค (Paul Signac) มองเดรียน (Piet Mondrian) อเมเดโอ โมดิกลิอานี (Amedeo Modigliani) พอล โกแก็ง (Paul Gauguin) วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh) ฮวน กรีส์ (Juan Gris) พอล เคล (Paul Klee) เอ็ดเวิร์ด มุ้งค์ (Edward Munch) คาซีมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) และ จบลงที่ วาซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky) จิตรกรหัวก้าวหน้าในแนวนามธรรม
เวลา 65 นาทีถือว่าอิ่มใจมากสำหรับคนที่ชื่นชอบจิตรกรในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 – 20 ในขณะที่บางคนมองว่าอาจจะดูนิ่งไปสักหน่อยหากเทียบกับผลงานดิจิทัลอาร์ตของทีมแลป ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง มร.โอเลก มารินิน Managing Partner บริษัท Vision Multimedia Projects GmbH ผู้สร้างสรรค์นิทรรศการนี้บอกว่า เป็นคนละสไตล์กัน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพงานของเขาอารมณ์จะคล้ายๆกับภาพยนตร์ฝรั่งเศสมาก
“เราพยายามไม่ให้เป็นเพียงสไลด์โชว์ธรรมดา แต่ก็ไม่อยากใส่สเปเชี่ยลเอฟเฟคลงไปมากนัก เพราะไม่อยากให้รบกวนผลงานที่รวบรวมมากว่า 1,500 ภาพจากพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง 20 แห่ง ส่วนดนตรีเราคัดเลือกเพลงในช่วงเวลาเดียวกันมาใช้ เพราะว่าในช่วงเวลาที่จิตรกรกำลังสนใจสิ่งใหม่ๆ โดยปฏิเสธรูปแบบเดิมในอดีต ในทางดนตรีก็เป็นช่วงแสวงหาเช่นกัน
เริ่มต้นเรื่องที่โมเน่ต์ เพราะว่าเป็นจิตรกรคนสำคัญในยุคอิมเพรสชั่นนิสต์ ที่กล่าวได้ว่าเป็นคนปฏิวัติวงการศิลปะในยุคนั้น ขณะเดียวกันงานของเขาก็ส่งอิทธิพลให้กับจิตรกรในยุคต่อมาในการค้นหาแนวทางสร้างสรรค์เป็นของตนเองจนกระทั่งมาจบที่คันดินสกี้ ซึ่งเป็นจิตรกรในแนวธรรมนาม”
มร.โอเลก กล่าวว่า นิทรรศการ From Monet to Kandinsky เปิดแสดงที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เป็นเวลา 1 ปีเต็ม สำหรับในบ้านเราถือว่าเป็นการจัดแสดงครั้งแรกในทวีปเอเชีย
ลินดา เชง กรรมการผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้แบงค็อก กล่าวว่า “ในนิทรรศการมัลติมีเดีย เราอาจไม่ได้เห็นร่องรอย น้ำหนักของฝีแปรง แต่เราอยากให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสถึงผลงานของศิลปินระดับโลก เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้เห็นผลงานตัวจริงที่จัดแสดงในมิวเซียมได้ แต่มัลติมีเดียทำให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่าย ลินดาคิดว่าเมื่อมาดูนิทรรศการนี้แล้ว จะทำให้หลายคนอยากไปดูผลงานจริงในมิวเซียมต่อไป”
สำหรับเราการได้ยืนอยู่ในท่ามกลางผลงานศิลปะที่ชื่นชอบ ชนิดที่เดินชมได้ 360 องศารอบตัวนั้นถือเป็นประสบการณ์พิเศษ ที่สำคัญจะอยู่ชมมากกว่า 1 รอบก็ได้ ทั้งนี้ห้องจัดแสดงมีด้วยกัน 2 ห้อง นอกจากห้องใหญ่ที่มีพื้นที่ 1,200 ตารางเมตรแล้ว ยังมีห้องจัดแสดงที่มีขนาดเล็กกว่าจัดฉายวิดิโอดิจิทัลเหมือนกัน แต่ให้อารมณ์ต่างกันนิดหน่อยในเรื่องของพื้นที่ซึ่งในห้องนี้มีเบาะรองนั่งให้เอนนั่งชมได้สบายๆ ถ้าจะให้ดีชมห้องใหญ่ก่อนแล้วมาซึมซับต่อที่ห้องเล็กอีกรอบ
ส่วนพื้นที่ตรงกลางระหว่างห้องจัดแสดงทั้งสองห้อง จัดแสดงข้อมูลและไทม์ไลน์ของศิลปินทั้ง 16 คนให้เราทบทวนและทำความรู้จักด้วย
นิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ก.ค. เปิดให้ชมทุกวัน เวลา 10.00-22.00 น. ณ อาร์ซีบี แกลเลอเรีย (RCB Galleria) ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ซื้อบัตรได้ทาง www.zipeventapp.com หรือที่อาร์ซีบี แกลลอรี ชอป ชั้น 2 ราคา 350 บาท
โทร. 02-237-0077-8
เรื่อง : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น
ภาพ : อนันต์ จันทร์สูตร์