ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ จุดขายที่ 'แปลก-และแตกต่าง'

ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ จุดขายที่ 'แปลก-และแตกต่าง'

ความสำเร็จของโครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ ปี 2561 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยร่วมกับเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์

เอก ทองประเสริฐ,ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และศรันรัตน์ พรรจิรเจริญและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรพิบูลย์กุล,ทรงวุฒิ ทองทั่วและปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ สานต่อ ‘โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัย ชายแดนใต้’ (Contemporary Southern Batik by OCAC) อีกในปี 2562 ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาสู่ระดับสากล

โดยคอลเลกชั่นล่าสุดจาก แบรนด์EK Thongprasert(เอก ทองประเสริฐ),T-ra Chantasawasdee(ธีระ ฉันทสวัสดิ์),Sarunrat Panchiracharoen(ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ) และดีไซเนอร์Eric Choong(เอริค ชุง) จากมาเลเซีย และEdwin Ao(เอ็ดวิน อาว) จากฟิลิปปินส์ ร่วมกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์Daniel Tseu(แดเนียล ซู) จากมาเลเซีย และ Nonita Respati(โนนิตา เรสปาตี) จากอินโดนีเซีย ผ่านการออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายแต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิค โดยถือเอาความงามและความละเมียดละไมของงานบาติกบนผืนผ้าทั้งหลายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งคอลเลกชั่นนี้รังสรรค์ลวดลายบาติกบนผืนผ้าร่วมกับผู้ประกอบการบาติก 15 ชุมชน จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลา

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าการพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้นี้ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังขยายตลาดผ้าไทยออกสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ จนผ้าบาติกไทยได้ความนิยมในพื้นที่แถบอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ถือเป็นการยกระดับ ผ้าบาติกสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น 

เอก ทองประเสริฐ ผู้สร้างแบรนด์ Ek Thongprasert กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักและศึกษา จนเกิดความเข้าใจอัตลักษณ์และคุณค่าของแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งการเข้าถึงชุมชนทำให้เห็นรายละเอียดที่สามารถนำมาใช้ในการออกแบบลวดลาย และได้รับแรงบันดาลใจ ที่ลึกซึ้งกว่า ซึ่งสามารถใส่เข้าไปในผลงาน จนเกิดเป็นผลงานลวดลายผ้าใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกาย และออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านมุมมองและเทคนิคของดีไซเนอร์จนเกิดเป็นผลงานที่มีความร่วมสมัย โดยคงความซื่อตรงต่ออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ไว้อย่างงดงาม และผ้าบาติก มีความโดดเด่นตรงที่เหมาะกับการสวมใส่ในประเทศไทย และยังเป็นผ้าที่มีความสนุกสนานสะท้อนถึงสีสันของธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นผ่านผืนผ้า

ด้านอานี ชูเมือง ผู้ประกอบการร้านรายาบาติก จังหวัดปัตตานี กล่าวว่าผ้าบาติกเป็นอุตสาหกรรมที่มีมาช้านานในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) ด้วยการออกแบบลายผ้าที่แปลกและแตกต่างที่มีผืนเดียวในโลกกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เป็นจุดขาย โดยมีดีไซเนอร์แนะนำเรื่องการสร้างลวดลาย

เทรนด์สีในกระแสแฟชั่น และการเลือกใช้วัตถุดิบ มาปรับให้ตรงกับความนิยมตรงกับความต้องการของตลาด

ซึ่งนอกจากลวดลายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ยังจะมีการพัฒนาเทคนิคการทำลวดลาย การให้สีที่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย สำหรับออกแบบผลิตภัณฑ์ จะเน้นการต่อยอดจากลายผ้า และการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา ซึ่งเป็นการแปลงขยะจากการผลิตให้มีมูลค่าขึ้นด้วย 

ทั้งนี้ ในปีนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ต่อยอดการดำเนินการจากปีที่ผ่านมา โดยนำนักออกแบบชาวไทย จำนวน 6 คนและนักออกแบบอาเซียนจำนวน 4 คนลงไปในพื้นที่ เพื่อพัฒนาลวดลายผ้า และออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าร่วมกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้ชุดผลงานออกแบบเครื่องแต่งกาย ออกมาเป็น 61 ชุดผลงาน และผลิตภัณฑ์ 36 ชิ้น ชมผลิตภัณฑ์ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ ได้ตั้งแต่วันที่ที่ 29 ส.ค.– 1 ก.ย. 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-จากแดนไกล : คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัยแบรนด์ Wisharawish
-เอกลักษณ์ผ้าไทย งานฝ้ายทอใจครั้งที่11 ชูกลยุทธ์เข้าถึง เข้าใจ ใช้เป็น
-วธ.ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทย จับมือเอกชน จัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
-พณ.เร่งปิดจุดอ่อนธุรกิจผ้าไหมไทย จับมือ ททท. ขยายตลาด