วันเพ็ญเดือนสิบสอง ‘ขยะ’ นองล้นตลิ่ง

วันเพ็ญเดือนสิบสอง ‘ขยะ’ นองล้นตลิ่ง

เมื่อเบื้องหลังการขอขมาสายน้ำ คือกองขยะมหาศาล คนไทยจะช่วยพระแม่คงคาได้อย่างไรบ้าง

เราต่างโตมากับความเชื่อที่ว่า การลอยกระทงคือการขอขมาและขอบคุณสายน้ำ ที่หล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ ทว่ากระทงของพวกเรากำลังทำร้ายแม่น้ำและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่หรือไม่ และเราเองก็เริ่มถอยห่างเจตนารมย์ของประเพณีอันดีนี้ไปทุกที

หลายปีที่ผ่านมาผู้คนเริ่มตื่นตัวในการใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น อย่างปีที่แล้วกับการรณรงค์ ‘1 กระทง 1 ครอบครัว’ เพื่อลดจำนวนกระทงที่จะไปเป็นขยะในแม่น้ำ พร้อมๆ ไปกับการออกแบบกระทงให้ง่ายต่อการย่อยสลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนว่าปริมาณขยะยังไม่ลดลงเท่าไรนัก วัสดุที่ว่าย่อยสลายได้ยังต้องใช้เวลานานและต้องดึงออกซิเจนจากน้ำมาใช้ในกระบวนการย่อยสลายเมื่อจมลงใต้น้ำ มีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อาจกินขยะเข้าไปโดยไม่รู้ว่านั่นคือสิ่งที่อันตรายสำหรับมัน ถิ่นอาศัยใต้น้ำที่เคยดีกลับเริ่มเน่าเสีย เพราะน้ำมือมนุษย์

  • กระทงหลงทาง

ไม่ว่าจะวันเพ็ญเดือนสิบสองของปีไหนๆ เพียงชั่วข้ามคืนกระทงที่หญิงชายลอยลงแม่น้ำ ก็กลายเป็นซากกระทงที่เรียกว่า ‘ขยะ’ ทว่าปริมาณในแต่ละปีจากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วเมืองหลวง พบว่าปี 2561 ที่ผ่านมา กระทงที่เก็บได้ในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 8.4 แสนใบ เป็นกระทงวัสดุธรรมชาติกว่า 7 แสนใบ โดยรวมแล้วเป็นขยะที่รอการย่อยสลายราวๆ 100 ตัน

“การลอยกระทงมันสร้างความเข้าใจผิดหลายๆ อย่าง ทำให้คนเกิดภาพจำในการเอาขยะลงในแม่น้ำได้โดยมีข้ออ้างว่าเป็นเทศกาลลอยกระทง” รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอ่ยถึงภาพจำของการลอยในมุมของสิ่งแวดล้อม

และต้องบอกว่าการสร้าง ‘ภาพจำ’ เป็นสิ่งที่อันตรายมากยิ่งความเชื่อที่ว่า เป็นการทิ้งความทุกข์ความโศกให้ไหลไปตามสายน้ำนั้น อาจารย์เจษฎาบอกว่า ฟังดูตลก เพราะนั่นเท่ากับคุณกำลังทิ้งสิ่งที่จะกลายเป็นขยะ กำลังทำลายแหล่งน้ำที่อ้างว่าหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างจงใจ ต้องกลับมาทบทวนถึงวัตถุประสงค์กันให้ดี หากิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่เป็นการเพิ่มขยะมหาศาลในวันๆ เดียว

“เราต่างก็รู้ดีว่า ไม่ว่าจะเอาสิ่งใดลงไปในน้ำ แม้จะเป็นกระทงวัสดุธรรมชาติ จากขนมปัง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาขยะในแม่น้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าเป้าหมายคืออยากจะมีความสุขร่วมกันในเทศกาลสำคัญของไทย อยากจะรำลึกถึงสายน้ำที่หล่อเลี้ยงเรามาตามความเชื่อ ก็ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย”

อีกมุมหนึ่ง วันลอยกระทงหรือเทศกาลสำคัญๆ ในบ้านเรามักสร้างความตระการตา และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลมาได้มาก กลายเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ฉากหน้าคือการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดี แต่เบื้องหลังคือการทำลายสิ่งแวดล้อม

“ขยะที่ลอยเกลื่อนแม่น้ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ จากที่เก็บได้ตามปากแม่น้ำเกือบๆ ล้านใบ ยังไม่นับที่จมลงไปใต้น้ำไม่สามารถเก็บได้อีก กลายเป็นสารตกค้างที่อยู่ในแม่น้ำ สร้างความเสียหายให้แหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น” อาจารย์เจษฎา พูดถึงผลกระทบจากขยะในเทศกาลสำคัญ

157345464968

การจัดเก็บขยะตลอดทางไหลของกระแสน้ำใช้ทรัพยากรมากและบ่อยครั้งที่ขยะหลุดออกสู่ทะเล ติดอยู่ตามทางระบายน้ำ กอผักตบชวา ป่าโกงกางที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดจำนวนขยะที่จะปะปนอยู่ในแหล่งน้ำเปิด ซึ่งเป็นต้นเหตุของขยะที่ไหลสู่ทะเล การลอยกระทงในสระปิด ย่อมง่ายต่อการจัดเก็บ ขณะเดียวกันการลอยกระทงในพื้นที่ปิด ย่อมสร้างมลภาวะให้กับพื้นที่นั้นเช่นกัน

ช่วงหลังมานี้ เริ่มมีกระแสในโซเชียลให้ยกเลิกการลอยกระทง แต่พยายามรักษาในส่วนของวัฒนธรรม ถ้าอยากเคารพหรือขอขมาพระแม่คงคา สามารถทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อแหล่งน้ำได้มากกว่านี้ เช่นการขุดลอกคลอง การเก็บขยะในแม่น้ำ การเพิ่มออกซิเจนให้แหล่งน้ำ การไม่ทิ้งขยะเพิ่ม อย่างที่โจอี้บอย เจ้าพ่อแร็ปเปอร์ชื่อดังที่ออกมาพูดถึงการช่วยกันบูรณะแม่น้ำ ที่เป็นการขอขมาแม่น้ำจริงๆ หากจะลอยกระทงก็ขอให้เลือกวัสดุที่มั่นใจได้ว่าไม่เป็นปัญหาตามมา อย่างกระทงน้ำแข็ง หรือช่วยเคร่งครัดในกติกา 1 กระทง 1 ครอบครัว เพื่อลดจำนวนกระทง ลดขยะในแม่น้ำได้ ก็จะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างเข้าใกล้ต้นเหตุมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเป้าหมายคือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ก็แค่ลดจำนวนการลอยลง หรือหันไปลอยกระทงออนไลน์ที่ปลอดภัยไร้ขยะ

  • หลังคืนวันพระจันทร์เต็มดวง

แม้แนวโน้มการใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้ากระทงดังกล่าวนี้ก็เป็นภาระในการจัดเก็บ และเป็นปัญหาในกระบวนการย่อยสลายไม่ต่างจากกระทงโฟม รวมถึงกระทงขนมปังที่เป็นข้อครหากันอยู่ว่า คือต้นเหตุให้น้ำเน่าเสีย ลองมาดูกันว่ากระทงแต่ละชนิดใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายสักกี่แรมปี

สำหรับกระทงที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่า ใช้เวลาในการย่อยสลายนานนับ 100 ปี ก็คือกระทงโฟม น้อยคนนักที่จะใช้มันเป็นตัวแทนในการขอขมาแม่น้ำ กลายมาเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ พวกต้นกล้วย กาบกล้วยที่นิยมมากขึ้น เพราะสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพได้ ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายราวๆ 14 วัน ย้ำว่าถ้าเก็บขึ้นมาจากน้ำได้ หากจมลงไปใต้น้ำจะมีเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อราต่างๆ ช่วยย่อยตามธรรมชาติ ถ้ามีมากเกินไปจะกลายสภาพเป็นอาหารของจุลินทรีย์ เพิ่มค่าบีโอดีหรือค่าสารอินทรีย์ในน้ำให้สูงขึ้น ทำให้น้ำเน่าเสียได้เช่นเดียวกับกระทงขนมปังหรือโคนไอศกรีม ที่ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อนำลงไปในน้ำแล้วไม่มีปลากินหรือกินไม่ทันจะจมเร็วมากซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแหล่งน้ำนัก

“ผมไม่ค่อยส่งเสริมกระทงขนมปัง เพราะการเก็บมันยาก ต้องใช้จุลินทรีย์ในน้ำในการย่อยสลาย ซึ่งกระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในน้ำ เท่ากับว่าเป็นการแย่งอากาศกันหายใจ ทำให้แหล่งน้ำนั้นขาดออกซิเจนส่งผลให้เกิดน้ำเน่าเสียเพียงชั่วข้ามคืน” อาจารย์นักสิ่งแวดล้อมคนเดิมอธิบาย

ส่วนกระทงเทียน โดยอานุภาพของเทียนการย่อยสลายในธรรมชาติคาดว่าใช้เวลานานเช่นกัน อาจจะไม่แข็งแรงเท่าโฟม แต่ที่แน่ๆ ย่อยสลายได้ยากกว่าวัสดุธรรมชาติ แต่สามารถเก็บมารีไซเคิลหล่อเป็นเทียนแท่งใหม่ใช้ได้อีก และที่กำลังเทรนด์อยู่ตอนนี้กับกระทงน้ำแข็ง ก็ไม่วายเกรงว่าเมื่อลอยกันในปริมาณมากๆ จะเป็นการไปเปลี่ยนอุณหภูมิของน้ำ อาจทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตายได้ด้วยอุณหภูมิน้ำที่ติดลบ ซึ่งอาจารย์เจษฎาก็ได้ไขข้อกังวลนี้ไว้ว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีผลทำให้อุณหภูมิในน้ำเปลี่ยนแปลงได้ต่อให้มีปริมาณมากก็ตาม อีกอย่างสัตว์น้ำเองโดยธรรมชาติถ้ามีอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงแม้เล็กน้อย มันสามารถรับรู้และว่ายหนีได้ตามสัญชาติญาณ

“ใครที่จะไปลอยกระทงปีนี้อยากให้คิดด้วยว่าจะเป็นการทำร้ายโลกหรือเปล่า ถ้าเป้าหมายของเราคือเพื่อขอขมาพระแม่คงคา ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ทำแล้วไม่กระทบสิ่งแวดล้อม กระทงออนไลน์ก็เป็นทางออกหนึ่งที่แก้ต้นตอของปัญหา แต่ถ้าทุกคนยังทำเหมือนเดิม ต่างคนต่างลอยโดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าจะเกิดปัญหาอะไรต่อไป มันก็กลายเป็นการขอขมาที่สร้างขยะ” อาจารย์เจษฎากล่าวทิ้งท้าย

  • ลอยกระทงยุค 4G

เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ผุดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาคาราคาซังของวันลอยกระทงในทุกๆ ปี ซึ่งทางเลือกในการลอยกระทงรูปแบบใหม่นี้มีมาหลายปีแล้ว กับ ‘กระทงออนไลน์’ ที่ไม่สร้างขยะเพิ่ม ไม่สร้างภาระให้สังคม

“การลอยกระทงออนไลน์เป็นแนวคิดที่ดี สะดวก และช่วยลดขยะในแม่น้ำด้วย ลดภาระให้พี่ๆ พนักงานเก็บขยะ ซึ่งส่วนตัวไม่ค่อยชอบเบียดเสียดกับคนเยอะๆ ในช่วงเทศกาล ผมชอบและสนับสนุนไอเดียดีๆ แบบนี้ครับ” สหภาพ สุระเสียง หนึ่งในเสียงจากประชานชนที่สะท้อนถึงรูปแบบของประเพณีลอยกระทง

เขายังแสดงความคิดเห็นต่ออีกว่า สิ่งที่โจอี้บอยโพสต์ไว้คงเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลที่สุด ไม่มีใครชอบที่มีคนเอาขยะมาทิ้งในบ้านตัวเอง ถ้าพระแม่คงคามีจริง แม่น้ำก็คงเป็นเหมือนบ้านของท่าน กระทงเมื่ออยู่ในมือเรามันก็คือกระทง แต่ถ้ามันลอยออกจากมือเราไปลงแม่น้ำมันก็ไม่ต่างอะไรกับขยะ

อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากประชาชนอย่าง อรุณี เกิดชื่น เธอมองว่า การลอยกระทงออนไลน์เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ข้อดีคือช่วยลดขยะในแม่น้ำ แต่ข้อเสียคือมันลบล้างวัฒนธรรมไทยให้ค่อยๆ หายไป อยู่ที่ว่าเรามองมุมไหน ซึ่งไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่ถ้ามองอีกมุมว่าจุดประสงค์การลอยกระทงจริงๆ คือการขอขมาแม่น้ำ การลอยออนไลน์ก็ตอบโจทย์เลย ไม่สร้างขยะเพิ่มให้แม่น้ำ

“ส่วนตัวคงเลือกไปลอยแบบเดิม แต่จะเลือกใชัวัสดุทำกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น กระทงน้ำแข็ง อย่างน้อยเลยคือย่อยสลายได้ แล้วได้ออกไปสัมผัสบรรยากาศของประเพณีดีๆ เป็นการรักษาวัฒนธรรมด้วย”

ทั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งประเพณีไม่ได้ปรับตัวให้เท่าทัน เดิมประเพณีนี้ใช้แสดงความเคารพและขอขมาแก่แม่น้ำแก่สิ่งแวดล้อมที่คนได้กินได้ใช้ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ลอยก่อให้เกิดปัญหาขยะตามมา ดังนั้นด้วยเจตนาของประเพณีที่อยากให้เกิดการอยู่ร่วมกัน จึงจำเป็นต้องปรับตัวทั้งวัฒนธรรมและผู้คน

  • ยุคเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน

ถ้าจะให้อธิบายในมุมของประวัติศาสตร์ อ.ดร.ชาติชาย มุกสง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครรินวิโรฒ บอกว่าวัฒนธรรมมันคือการปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปกับเศรษฐกิจที่ผกผัน การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจึงต้องตอบโจทย์ประโยชน์นิยมและการใช้ชีวิตของคนแต่ละยุค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย

“การลอยกระทงออนไลน์ มองได้ทั้งแง่ของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ซึ่งแน่นอนว่ามันดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้มันไปทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยลง อีกมุมหนึ่งคือในแง่ประเพณีการลอยกระทงออนไลน์เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ก็จริง แต่อาจจะขาดการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน เรื่องนี้จึงสำคัญในแง่ของฟังก์ชั่นประเพณี” อาจารย์ชาติชายแสดงความเห็น

อีกหนึ่งทางออกที่ดีไม่แพ้กันคือ การลอยในสระปิด ที่จะสามารถควบคุมและเก็บขยะได้ง่าย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประเพณียังคงอยู่ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาที่เกิดทุกๆ ปี มักมาจากการลอยในสระเปิดรวมไปถึงการจัดการที่ยังไม่ทั่วถึงนัก การลดจำนวนกระทงลง การเลือกวัสดุทำกระทงที่จะไม่กลายเป็นขยะที่ยากต่อการย่อยสลายเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

“ผมกำลังคิดอยู่ว่าปีนี้จะลอยแล้วเอากระทงกลับด้วย จะไม่ทิ้งไว้เป็นภาระให้ใครเก็บ ยังคงใช้วัสดุธรรมชาติจากต้นกล้วย แต่เปลี่ยนเป็น 1 กระทง 1 ครอบครัว ผมคิดว่าถ้าเราจัดการด้วยตัวเองได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะน้อยลง และเราจะได้เข้าใจวัฒนธรรมได้อย่างถ่องแท้ โดยที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบ”

 หากเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาร่วมกันทำให้ปีนี้ลดขยะกระทงลงได้มากที่สุด งดลอยกระทงโฟม เลือกลอยในแหล่งน้ำปิด ลอยออนไลน์ ใช้กระทงน้ำแข็ง กระทง 1 ใบต่อครอบครัว และอีกหลายไอเดียสุขสันต์วันลอยกระทง