เรื่อง(ไม่)ดราม่า นักการเมืองหญิง
โดนวิจารณ์ยับ ทั้งเรื่องจริง เรื่องไม่จริง รวมทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม กาลเทศะ สารพัดเรื่องราวที่เจอ พวกเธอผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ยังไง
"รู้ตลอดว่า ไม่ใช่เวทีที่ง่ายสำหรับผู้หญิง" ตั๊น-จิตภัสร์ กฤดากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เล่า
"เรื่องของเพศไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน แล้วการทำงานให้สำเร็จเพื่อประชาชน เดียร์ว่า สำคัญกว่าเสื้อผ้า หน้า ผม" ส่วน เดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี พรรคพลังประชารัฐ บอก
"ถูกวิจารณ์ครบทุกส่วนของร่างกาย ที่ผ่านมาเป็นนักการเมืองหญิงที่โดนวิจารณ์เยอะที่สุด และเวลาที่เราพูดถึงเจ้าสังเวียนการเมืองก็ต้องเป็นเรื่องผู้ชาย ผู้หญิงจึงมีราคาที่ต้องจ่าย..." ช่อ-พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ เล่า
----------------------------
เสียงจากสามสาวนักการเมืองรุ่นใหม่ ต่างพรรค ต่างความคิด แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือ เป็นผู้หญิงที่เข้าใจซึ่งกันและกัน พวกเธอมีเรื่องเล่าบนเวที ดราก้อนฟลาย 360 เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนทางความคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และการเรียกร้องสิทธิสตรี ไม่ควรจำกัดแค่กลุ่มผู้หญิง
-1-
ว่ากันว่า ในสังคมไทยหรือในสภาผู้แทนราษฎร ผู้ชายมักมีบทบาทและสิทธิบางอย่างมากกว่าผู้หญิง นั่นเป็นเหตุผลหนึ่ง ทำให้นักการเมืองหญิงหน้าใหม่ และนักการเมืองหลากหลายทางเพศ ที่คิดต่างจากจารีตเดิมๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นข่าวทุกวันในช่วงเปิดสภา
ในโลกยุคดิจิทัล แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์วิสัยทัศน์ในการทำงานและความคิด กลับวิจารณ์เรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม ไปจนถึงเรื่องส่วนตัว
ตั๊น-จิตภัสร์ เล่าถึงเรื่องนี้ว่า เข้ามาทำงานในแวดวงการเมืองนานกว่าสิบปี ถูกขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวและเรื่องครอบครัว ทั้งๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เป็นนักการเมือง แต่ใฝ่ฝันมานาน อยากทำงานเพื่อบ้านเมือง
"ตั๊นเข้ามาทำงานการเมือง เพราะอยากแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่สิ่งที่ตั๊นเจอและผู้หญิงหลายคนก็เจอคือเรื่องใส่ร้ายป้ายสี แต่งเติมข่าว บิดเบือนข้อมูล ผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายจะโดนมากกว่าผู้ชาย ถ้าผ่านมาได้ ก็จะทำให้เราเป็นตัวเรา อะไรที่เป็นเรื่องผู้หญิงๆ ก็อยากให้ก้าวผ่านจุดนั้น มาแข่งขันกันเรื่องความสามารถและความรู้ดีกว่า และที่เราเป็นเป้า อาจเป็นเพราะเรามาจากครอบครัวมีฐานะ จึงมีการขุดคุ้ยทั้งเรื่องส่วนตัวและธุรกิจครอบครัว จนต้องเปลี่ยนนามสกุล"
ส่วน เดียร์-วทันยา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกถ่ายรูปเยอะมาก และเรื่องเสื้อผ้า หน้าผม รองเท้า กระเป๋า ก็ถูกวิจารณ์ไม่น้อย เธอเล่าว่า เมื่อมาทำงานตรงนี้ เราห้ามความคิดคนไม่ได้
"การเป็นเพศหญิงหรือชายไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน อยู่ที่ว่านักการเมืองจะสร้างศรัทธากับประชาชนยังไง การทำงานเพื่อประชาชน เดียร์ว่าท้าทายกว่าเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ในโลกนี้มีผู้นำประเทศหญิงหลายคน ทั้งในเยอรมนี นิวซีแลนด์ ฮ่องกง พวกเธอสามารถก้าวมาถึงจุดสูงสุดทางการเมือง จึงมีความกดดันไม่ต่างจากผู้ชาย"
ส่วนช่อ-พรรณิการ์ นักการเมืองหญิงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม และเรื่องส่วนตัวเยอะที่สุด บอกว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยมีนักการเมืองหญิงที่เป็นเจ้าวงการได้ เพราะเวลาพูดถึงเจ้าสังเวียนการเมืองก็ต้องเป็นผู้ชาย
"ผู้หญิงมีราคาที่ต้องจ่าย เคยพูดไปหลายครั้งแล้ว วันแรกที่เข้าสภาก็มีการรับน้อง แซวแบบต่อหน้าต่อตา ทั้งๆ ที่อยู่ห่างจากบัลลังก์ประธานไม่ถึง 10 เมตร ตอนเดินขึ้นไปโหวตบนเวที ส.ส.ชายคนหนึ่ง คงไม่ต้องพูดชื่อพรรค ทำท่าพูดโทรศัพท์ดังกว่าปกติ (ทั้งๆ ที่ห้ามใช้โทรศัพท์) "เฮ้ย...มึงมาที่สภาสิ สาวๆ สวยๆ เยอะมาก" ทั้งๆ ที่ประธานนั่งอยู่ตรงนั้นและรอบๆ มีเพื่อน ส.ส.นั่งอยู่เต็ม แต่ทุกคนรู้สึกปกติกับเรื่องนี้ ไม่มีใครมีสีหน้าประหลาดใจ"
เธอ เปรยให้เข้าใจว่า นี่เป็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เป็นการลวนลามด้วยคำพูด เพื่อน ส.ส.ข้ามเพศก็เจอแบบนี้ ทั้งๆ ที่พื้นที่สภาควรได้รับความเคารพในเรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาค
"เราโดนทั้งเรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม เรื่องส่วนตัวจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ก็เล่าลือกันไป ถ้าเป็นผู้ชายจะโดนเรื่องเนื้อหาสาระที่เขาพูดมากกว่า ไม่ค่อยมีคนด่าเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครด่า ส.ส.ชายว่าอ้วน หัวล้าน ลงพุง สูทไม่สวย แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะโดนว่าแต่งตัวบ้าอะไร อีอ้วน อีดำ อีนั่น อีนี่ โฟกัสเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แต่เวลาโจมตีผู้หญิง ไม่ใช่แบบนั้น คนไปจับประเด็นอะไรไม่รู้มาโจมตี บดบังสาระที่พยายามทำ"
และอีกเรื่องที่เธอเพิ่งผ่านไปหมาดๆ โดยโยงกับเรื่องคุณวุฒิและวัยวุฒิ
"ถ้าเราอยู่ในวงการอื่น อายุ 30 กว่าๆ ไม่เด็กแล้ว แต่เป็นนักการเมืองเราเป็นเด็กทุกๆ เวที ตอนไปเป็นกรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในภาคใต้และเยี่ยมค่ายทหาร วันแรกอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานกรรมาธิการนั่งหัวโต๊ะ ไม่มีปัญหา วันที่สองอาจารย์กลับกรุงเทพฯ เราต้องนั่งหัวโต๊ะแทน เพราะเป็นรองกรรมาธิการ เกิดบรรยากาศบางอย่าง เพราะเราเป็นเด็กนั่งหัวโต๊ะ แล้วมีรองแม่ทัพภาค และผู้ใหญ่อีกสามสิบคน ท่านเหล่านั้นไม่ได้มีปัญหา ให้เกียรติและต้อนรับดี"
-2-
เมื่อมีโอกาสทำงานการเมือง ผู้หญิงสวยทั้งสามคน ย่อมอยากผลักดันนโยบายบางอย่างเพื่อผู้หญิงบ้าง พรรณิการ์ บอกว่า อยากทำสองเรื่อง คือ สิทธิการลาคลอด เพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชาย
"เพราะเวลานายจ้างจะรับผู้หญิงเข้าทำงาน จะคิดก่อนว่าเดี๋ยวผู้หญิงก็ท้องและลาคลอด ถ้าอย่างนั้นรับผู้ชายเข้าทำงานดีกว่า ดังนั้นควรมีกฎหมายรับรองก็จะดีกว่าไม่มี พรรคอนาคตใหม่กำลังจะเสนอกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ มีข้อหนึ่งที่เพิ่มเข้าไปคือ การเพิ่มสิทธิลาคลอดจำนวนวันเป็นสองเท่า ให้คนเป็นพ่อและแม่เด็กแบ่งกันใช้วันลาได้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสก้าวหน้าทางหน้าที่การงานมากขึ้น"
ส่วนอีกเรื่อง ควรมีกฎหมายป้องกันความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากผู้หญิงไม่สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายอาญาได้ เพราะสังคมอยากให้รักษาสถาบันครอบครัว จึงเปิดโอกาสให้ไกล่เกลี่ยได้ แต่ไม่ควรตัดสิทธิการฟ้องอาญา
"ผู้หญิงบางคนโดนซ้อมจนพิการ ก็ไม่อยากไกล่เกลี่ยแล้ว แต่อยากฟ้องให้พิจารณาตามกฎหมายอาญา ผู้หญิงก็ควรได้รับสิทธินี้" พรรณิการ์ แสดงความเห็น
ส่วน วทันยา บอกว่า ต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์ขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ สนับสนุนการเลี้ยงดูตั้งแต่ท้องจนถึง 6 ขวบ รัฐพยายามผลักดันโครงการ "มารดาประชารัฐ"
"ในบทบาทนักการเมืองหญิง สิ่งที่ทำได้เลยสำหรับเดียร์คือ การลงมือทำ การวางตัว กิริยามารยาท ความคิด"
จิตภัสร์ บอกว่า สำหรับผู้หญิงแล้วอยากให้มีสิทธิลาคลอดเพิ่มขึ้น มีเงินดูแลคุณแม่ที่กำลังท้องจนลูกอายุ 9 ขวบ นโยบายนี้พรรคพยายามผลักดัน
"รากฐานความมั่นคงทางการศึกษาสำคัญ ถ้าเด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสิทธิและโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ก็จะทำให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ เข้าใจสังคมและมีความรับผิดชอบ เรื่องเหล่านี้แก้ปลายทางไม่ได้”
- หากถามว่า ทั้งสามรับมือในสภาอย่างไร
วทันยา บอกว่า ต้องมีสติ เพราะหลีกเลี่ยงความอคติทางเพศไม่ได้
"ถ้าเราเป็นคนของประชาชน เราห้ามความคิดคนไม่ได้ เมื่อเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ เราต้องมีสติ รู้ว่ากำลังทำอะไร ไม่หลงระเริงกับคำชม เมื่อเจอคำด่าและเสียดสี จิตใจเราต้องไม่ตกต่ำไปกับมัน สำคัญมาก"
ทางด้าน จิตภัสร์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องลงมือทำ
"บางทีเรานั่งประชุมไปเรื่อยๆ แต่ในชีวิตจริงไม่ได้ลงมือทำหรือแก้ปัญหาจริงๆ ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนเวลาดูหรือฟังข่าว ก็ต้องศึกษาก่อน อย่าเพิ่งรีบเชื่อ เพราะทุกวันนี้คนใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
ตบท้ายด้วย พรรณิการ์ เล่าว่า ไม่ว่าจะพยายามทำงานมากแค่ไหน สิ่งที่คนทั่วไปและสื่อมวลชนให้ความสนใจกลับกลายเป็นเรื่องดราม่า เสื้อผ้าหน้าผม หรือเรื่องเล็กๆ เอามาตัดต่อ ดังนั้นวิธีทำให้ดราม่าไม่บานปลายก็คือไม่ตอบโต้ และเดินหน้าทำงานต่อไป
"เราเลือกที่จะเงียบในเรื่องไม่มีสาระ และกล้าหาญที่จะพูดในเรื่องที่มีคุณค่า มีสาระต่อสังคม สิ่งที่พบเจอและแก้ยากก็คือ อคติ ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว ยังรวมถึงความหลากหลายทางเพศด้วย อคติคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ทำลายความสวยงามของสังคม ทั้งๆ ที่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณเกลียดเขาเพราะอะไร แต่คุณเกลียด เมื่อเกลียดก็อคติไม่ฟังใคร ทำแบบนั้นไม่มีทางอยู่อย่างสันติได้" พรรณิการ์ กล่าว และบอกว่า
"สิ่งที่อยากให้หมดไปจากประเทศนี้มากที่สุด คือ อคติ คุณอยากให้ทุกคนในประเทศนี้ใส่เสื้อเหมือนกัน หรือทำผมทรงเดียวกันหรือ"
นี่คือ เสียงของนักการเมืองหญิงที่พยายามสะท้อนให้เห็นว่า อย่าวิจารณ์กันแค่เปลือกนอก ลองดูสิ่งที่พวกเธอทำและคิดให้สังคมไทย แล้วค่อยวิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดี แบบนี้น่าจะสร้างสรรค์กว่าเรื่องดราม่าๆ