รัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งศาสตร์ทั้ง 9
'วันพ่อ' พระบารมีแผ่ไพศาล พระราชกรณียกิจยังจารึกในใจพสกนิกรชาวไทย
พระบารมีแผ่ไพศาล พระราชกรณียกิจยังจารึกในใจพสกนิกรชาวไทย
ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2470 วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งต่อมาภายหลังวันมหามงคลนี้ได้รับการจัดตั้งให้เป็น 'วันพ่อแห่งชาติ' ในปีพ.ศ. 2523 และกลายเป็นโอกาสในการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาอันยิ่งใหญ่
ทว่านับเนื่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 อันนำมาซึ่งความโศกเศร้าของพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการลงนามรับสนองพระราชโองการในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดวันสำคัญของชาติไทย กล่าวคือ ให้วันที่ 5 ธันวาคม เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ถือเป็น วันสำคัญของชาติ โดยหมายรวมถึง 1. วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 2. วันชาติ และ 3. วันพ่อแห่งชาติ
ตลอดจนได้เชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ต่างๆ 9 แขนง อันได้แก่
- พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ
- พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
- พระบิดาแห่งฝนหลวง
- พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
- พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย
- พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย
- พระบิดาแห่งการวิจัยไทย
- พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย
- พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย
กรุงเทพธุรกิจ ‘จุดประกาย’ ขอเรียบเรียงบางแง่มุมแห่งพระอัจฉริยภาพมานำเสนอไว้ ณ ทีนี้
- พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ
ด้วยเป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงว่า ‘น้ำคือชีวิต’ ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี คณะรัฐมนตรีได้เทิดพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยถวายพระราชสมัญญา ‘พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ’ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ณ ศาลาดุสิตดาลัย พระตำหนักจิตลดารโหฐาน
ตลอดรัชสมัยพระองค์ทรงพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองทั้งจากเอกสารและรายงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ทรงศึกษารายละเอียดจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศถึงพิกัดที่ตั้งหมู่บ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกล และเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจสภาพพื้นที่ภูมิประเทศจริง ทรงกำหนดโครงการต่างๆ ขึ้นบนแผนที่ จากนั้นพระราชทานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและทำให้ราษฎรได้มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตรตามความต้องการอย่างเพียงพอในทุกฤดูกาล
ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องน้ำมิใช่แต่งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำเท่านั้น แต่ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โครงการการจัดการทรัพยากรน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งนอกจากการจัดการทรัพยากรน้ำผิวดิน ยังทรงคิดค้นวิธีการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วยวิธีการอื่นๆ ในรูปของการจัดการน้ำในบรรยากาศ ได้แก่ การทำฝนเทียมหรือ ‘ฝนหลวง’ และ เครื่องดักหมอก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
ด้วยพระปรีชาสามารถทรงให้แนวพระราชดำริการแก้ปัญหาน้ำท่วมผ่านโครงการแก้มลิง โดยเป็นการระบายน้ำออกจากที่ลุ่มกรณีพื้นที่นั้นเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ลิงจะรีบปอกเปลือกเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวี หรือเต็มกระพุ้งแก้มจากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ ไม่เพียงแก้ปัญหาความทุกข์ยากให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- พระบิดาแห่งการวิจัยไทย
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงชนชาวไทย นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ตราบจนปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริมากกว่า 3,000 โครงการ เพื่อแก้ไขไขปัญหาในการดํารงชีวิตและขจัดทุกข์บํารุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข มีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้เป็น ทรัพยากรบุคคลที่เป็นพลังสําคัญในการนําชาติไทยให้ เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ”
นี่คือข้อความส่วนหนึ่งในประกาศการถวายพระราชสมัญญา ‘พระบิดาแห่งการวิจัยไทย’ เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2551
ใจความสำคัญระบุว่า โครงการต่างๆ ที่พระราชทานแก่ราษฎรโดยเฉพาะในชนบทผ่านการศึกษาวิเคราะห์วิจัย ทดลองจนปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่เทิดทูนพระเกียรติคุณทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นต้นว่า โครงการฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดฝนในภูมิภาคที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ และมีหลายประเทศได้ขอศึกษาเพื่อนําไปใช้ประโยชน์ในประเทศของตน โครงการเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ เพื่อบําบัดน้ำเสียและปรับปรุงสภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ และได้รับรางวัลเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ
โครงการแกล้งดิน ซึ่งทรงพระวิริยอุตสาหะศึกษาวิจัยทดลองเพื่อปรับปรุงดินที่แล้งร้างไร้ประโยชน์ให้กลับมีคุณภาพ สามารถเพาะปลูกพืชพรรณไม้ได้ผล โครงการหญ้าแฝก พืชที่มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยป้องกันหน้าดินอันมีอาหารโอชะมิให้พังทลายและช่วยรักษาความชุ่มชื้นใต้ผิวดิน โครงการก่อสร้างฝายอ่างเก็บน้ำและเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์สูงสุด โครงการแก้มลิง เพื่อป้องกันอุทกภัย โครงการผลิตพลังงานทดแทนไบโอดีเซล แก็สโซฮอล์ และเชื้อเพลิงเขียว โครงการทดลองปลูกยางนาและข้าวในบริเวณสวนจิตรลดาเพื่อเพิ่มผลผลิต
โครงการต่างๆ เหล่านี้ตลอดจนโครงการก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ด้านการประกอบอาชีพ เกษตรกรรมและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและอื่น ๆ อีกมาก ล้วนเป็นโครงการที่ทรงอุทิศกําลังพระวรกาย กําลังพระปัญญาและกําลังพระราชทรัพย์ในการทรงศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และทดลองจนปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เผยแพร่แก่ประชาชน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ และเป็นประจักษ์พยานถึงพระเกียรติคุณในฐานะพระบิดาแห่งการวิจัยไทย
- พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย
พระราชปณิธานอย่างหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็คือการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงงานหนัก เสด็จพระราชดำเนินไปทุกท้องที่ทั่วประเทศ เพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชนชาวไทย สมดั่งพระปฐมบรมราชโองการ ทีเคยตรัสไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวนา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเฉลิมพระเกียรติให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็น ‘พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย’ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2559 โอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย โดยทรงพระราชดําริและทรงดําเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทกําลังพระวรกายในการปรับใช้ผลการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแก่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพทํานา อาทิ การฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ก่อให้เกิดขวัญกําลังใจและความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม
ทรงค้นคิดวิธีเกษตรทฤษฎีใหม่ การทํานาขั้นบันได โครงการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ต่างๆ ที่เรียกว่า ‘แกล้งดิน’ การกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสู่เกษตรกรที่เรียกว่า ‘พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน’ ทรงพระราชทานที่ดินเพื่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรวิจัยและพัฒนาข้าว ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้แก่มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ และพระราชทานทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าวให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้วยพระวิริยะอุตสาหะทําให้ข้าวไทยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ การจัดระบบชลประทานที่เหมาะสม การขนส่งและการพัฒนาระบบการผลิตโดยรวม ประเทศไทยจึงมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ทั้งหมดนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาญาณที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute – IRRI) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ‘เหรียญรางวัลสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ’ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2539 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระผู้สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์