เปิดตำนาน “ผูกเสี่ยว” ชวนเที่ยวขอนแก่นฉลองครบ 222 ปี!
หนาวนี้ชวนไป "เที่ยวขอนแก่น" ช็อป ชิม ชิล ในเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2562 พร้อมชมนางรำจำนวนกว่าแสนคน รำบวงสรวงเมืองขอนแก่นในโอกาสครบรอบ 222 ปี
หลังจากที่รอมานานในที่สุดสายลมหนาวก็พัดมาทักทายคนไทยสักที ใครที่กำลังแพลนไปเที่ยวรับลมหนาวอยู่ล่ะก็...ลองแวะไปเที่ยวทางภาคอีสานดูสิ รับรองว่าหนาวไม่แพ้ภาคเหนือเลยทีเดียว โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นตอนนี้กำลังมีงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2562 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ณ บริเวณสนามหน้าสนามกลางจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการจัดต่อเนื่องกันมานานถึง 40 ปีแล้วนะ!
ซึ่งหากได้มาเที่ยวแนดินถิ่นอีสานก็มักจะได้ยินคำว่า "ผูกเสี่ยว" อยู่บ่อยๆ ใช่มั้ย? แล้วการผูกเสี่ยวในทางภาคอีสานนี่คืออะไรกันแน่? นักท่องเที่ยวหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายที่แน่ชัด ถ้าอย่างนั้นมาทำความรู้จักประเพณีเก่าแก่นี้ก่อนที่จะไปเที่ยวขอนแก่นกันดีกว่า พร้อมเจาะไฮไลต์เด็ดๆ ของงานไหมขอนแก่นในปีนี้ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
- ลูกอีสานเป็นเพื่อนกันต้อง “ผูกเสี่ยว”
คำว่า “เสี่ยว” ในภาษาอีสานแปลว่า “เพื่อนรัก” พิธีผูกเสี่ยวเป็นประเพณีเก่าแก่และสำคัญของชาวอีสาน ว่ากันว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว และมีการสืบสานกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังพบข้อมูลในพงศาวดารล้านนาไทยที่ปรากฏความว่า พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนงำเมือง ได้จัดให้มีพิธีกรรมปฏิญาณตนเป็น "สหาย" หรือ "เสี่ยว" กัน โดยกรีดเลือดลงในจอกสุรา แล้วทรงดื่มเลือดของกันและกัน พร้อมกับกราบไหว้เทพาอารักษ์ให้เป็นพยาน จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญของการผูกเสี่ยว
การผูกเสี่ยวนั้นพ่อแม่จะนำลูกหลานในวัยเดียวกันมาเข้าพิธีผูกฝ้ายที่ข้อมือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ให้ลูกหลายทั้งสองเป็นเพื่อนกันอย่างเป็นทางการ และต้องมีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน มีความผูกพันกันทางใจอย่างจริงจังและเต็มใจ ไม่มีสิ่งใดจะมาทำให้ความเป็นเพื่อนขาดสะบั้นลงได้ โดยในพิธีผูกเสี่ยวจะมีผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือในชุมชนนั้นๆ มาเป็นสักขีพยาน ในบางพื้นที่ของชุมชนภาคอีสานผู้ที่เข้าร่วมพิธีผูกเสี่ยวจะต้องมีการกล่าวคำสาบานด้วย เช่น กล่าวคำว่า “เราทั้งสองมาสาบานต่อกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าใครคิดคดทรยศต่อกันขอให้คนนั้นต้องมีอันเป็นไป" เป็นต้น จากนั้นจะดื่มน้ำสาบานต่อหน้าผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ประกอบพิธีก็ผูกข้อมือให้แก่คู่จองเกลอก็เป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีผูกเสี่ยวลักษณะนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน พบเห็นได้เพียงแค่บางพื้นที่ของภาคอีสานที่ยังมีการถือปฏิบัติอยู่บ้างประปราย หากมองในมิติทางสังคมวิทยา การผูกเสี่ยวนี้ถือเป็นประเพณีเก่าแก่และเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้สังคมของชาวอีสานเข้มแข็ง เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเสี่ยวหรือเพื่อนรักเพื่อนตาย และเครือญาติของทั้งสองฝ่าย การผูกเสี่ยวเป็นการสร้างความเป็นเพื่อน สร้างความรัก ความผูกพัน ความนับถือกันให้เกิดขึ้นในหมู่ชน ความรักความผูกพันดังกล่าวไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้เป็นเสี่ยวกันเท่านั้น แต่แผ่กระจายไปถึงพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายด้วย เมื่อสถาบันครอบครัวเข้มแข็งสมัครสมานสามัคคี ก็จะส่งผลให้ชุมชนนั้นๆ เข้มแข็งตามไปด้วย
- ประเพณีผูกเสี่ยว งานไหม และงานกาชาดขอนแก่น
ขอนแก่นเป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคอีสานที่ยังคงสืบสานประเพณีผูกเสี่ยวเอาไว้ โดยในทุกๆ ปี จะมีการระลึกถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ผสมผสานเข้ากับอีเวนท์ระดับจังหวัดอย่างการอนุรักษ์ผ้าไหมอีสานและกิจกรรมช็อปชิมชิลในงานกาชาดประจำปี กลายเป็นงานไหมขอนแก่นยิ่งใหญ่สุดอลังการที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาร่วมงานอย่างเนืองแน่นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะปี 2562 นี้มีความพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นปีที่เมืองขอนแก่นย่างเข้าสู่อายุ 222 ปี ทางจังหวัดขอนแก่นจึงได้จัดอีเวนท์พิเศษขึ้นมาด้วยการเชิญชวนชาวขอนแก่นมารำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 10 อย่างของเมืองขอนแก่นในวาระดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวขอนแก่นเป็นอย่างดี มีนางรำอาสาสมัครมาร่วมรำบวงสรวง ณ ศาลหลักเมืองขอนแก่นจำนวนมากกว่า 1.2 แสนคน ที่สำคัญคือมีดาราสาวลูกหลานชาวขอนแก่นอย่าง “มิน พีชญา วัฒนามนตรี” มาเป็นผู้นำขบวนรำบวงสรวงในครั้งนี้ด้วย
ภาพ : FB Mykhonkaen
สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเล่าว่า สำหรับการรำบวงสรวงในครั้งนี้มีจิตอาสามาชาวขอนแก่นมาร่วมซ้อมและรำในวันจริงจำนวนมากถึง 1.2 แสนคน เพื่อประกอบพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองขอนแก่น บริเวณถนนศรีจันทร์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น อีกทั้งยังถือเอาฤกษ์งามยามดีนี้บวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น ฉลอง 222 ปี และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อีกด้วย สำหรับ 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ รอบบริเวณศาลหลักเมืองขอนแก่น ประกอบไปด้วย
1. พระพุทธอภัยมงคลสมังคี
2. พระพุทธพระลับ
3. พระธาตุขามแก่น พระธาตุประจำจังหวัด
4. เจ้าพ่อมอดินแดง
5. ศาลหลักเมืองขอนแก่น
6. พระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก
7. ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์
8. พระพุทธรูปจากวัดหนองแวง
9. พระพุทธรูปจากวัดกลาง
10. พระพุทธรูปจากวัดป่าแสงอรุณ
สำหรับประชาชนที่มาร่วมการฟ้อยรำบวงสรวงเมืองขอนแก่นมีทุกเพศทุกวัย โดยฝ่ายชายสวมเสื้อเหลืองดอกคูน กางเกงขายาวสีดำ ผ้าขาวม้าคาดเอวลายแคนแก่นคูน ซึ่งเป็นลายประจำจังหวัดขอนแก่น ส่วนฝ่ายหญิงสวมเสือเหลืองดอกคูน ผ้าถุงลายแคนแก่นคูน ผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยง ลายเดียวกัน โดยเพลงที่ใช้ในการรำ มีจำนวน 3 เพลง ความยาว 19 นาที ประกอบไปด้วย 1.ขอนแก่นวันนี้ 2.ฟ้อนผูกเสี่ยว 3.ดอกคูนเสียงแคน และปีนี้เป็นปีที่จังหวัดขอนแก่นฉลองการสถาปนาเมืองขอนแก่น ครบ 222 ปี จึงได้มีการแปรริ้วขบวนเป็นลายขิด 222 Khonkaen อีกด้วย ซึ่งบวนนางรำกว่าแสนคนดังกล่าวได้รำบวงสรวงไปเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา
- งานผ้าไหมขอนแก่นและงานกาชาด นักท่องเที่ยวห้ามพลาด!
สำหรับใครที่พลาดชมขบวนนางรำบวงสรวงไปก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะวันนี้คุณยังสามารถเดินทางไปเที่ยวช็อป ชิม ชิล ในเทศกาลงานไหมและงานกาชาดที่ขอนแก่นได้ นางสาวศิริวรรณ สีหาราช ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น เปิดเผยว่า งานไหมขอนแก่นปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 41 แล้ว ภายในงานมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ซึ่งจะประดับตกแต่งขบวนโดยเน้นให้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น การจัดพิธีผูกเสี่ยวและคุ้มศิลปวัฒนธรรม นำเสนอวัฒนธรรมการผูกเสี่ยวซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเมืองขอนแก่น พร้อมนำเสนอการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านต่างๆ ผ่านการแสดงที่สนุกสนาน
อีกทั้งมีงานฝีมืออันงดงามประณีตให้ได้เลือกชมเลือกช็อป เช่น การแสดงวงโปงลาง การประกวดพานบายศรี การประกวดกลองยาว หมอลำกลอน การประกวดสรภัญญ์ รวมถึงการจัดประกวดนางงามไหมขอนแก่น ชิงเงินรางวัล 1 แสนบาท การแสดงนวัตกรรมด้านวิชาการที่เกี่ยวกับเส้นไหม ผ้าไหม ซิ่นไหม การออกร้านธารากาชาด การแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ จีน ลาว เวียดนาม และเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินดารายอดนิยมเป็นประจำทุกคืน
สำหรับไฮไลต์ในงานคงจะหนีไม่พ้น “ผ้าไหมลายแก่นคูน” ผ้าไหมลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองขอนแก่น โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 จังหวัดขอนแก่นได้รับการรับรองจาก สภาหัตถกรรมโลก World Craft Council (WCC) UNESCO ให้เป็น "เมืองหัตถกรรมโลก แห่งผ้ามัดหมี่" แห่งแรกในเอเชีย เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังชุมชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการเรื่องผ้า พร้อมเดินหน้าสู่ตลาดผ้าไทยในเวทีนานาชาติแบบครบวงจร
เอาเป็นว่า...ใครที่ชื่นชอบผ้าไหมไทยสวยๆ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ หนาวนี้ไม่ควรพลาดไปปักหมุดเที่ยวขอนแก่นแดนดอกคูณในช่วงที่มีอากาศดีและวิวเมืองสวยงามที่สุดในรอบปี