คำถามนางงาม ไม่เคยหนีพ้นจากการเมือง
มองการเมืองในวงการนางงาม ที่การประกวดสาวงาม ไม่ได้ต้องการแค่ ‘ความงาม’ มาตั้งนานแล้ว
ในที่สุดโลกก็ได้ Zozibini Tunzi สาวงามจากประเทศ South Africa ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สคนที่ 68 ของโลกไปครอง ในเวที Miss Universe 2019 ขณะที่ ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น ตัวแทนสาวไทยในฐานะ Miss Universe Thailand 2019 ได้ทะลุเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย มีโอกาสจับไมค์ตอบคำถามวัดทัศนคติก่อนตัดสิน
และจากคำถามกับคำตอบของฟ้าใส ปวีณสุดา ปีนี้ ก็ได้มีคำวิพากษ์วิจารณ์ไปในมุมมองต่างๆ มากมาย จนทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า การประกวดนางงามที่มีรอบตอบคำถามเป็นธรรมดาอยู่แล้วทุกปี ทำไม กระแสทั้งคำถาม และคำตอบในปีนี้ถึงได้ตีกลับมาที่เรื่องของการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เลยเถิดไปจนถึงการกล่าวโทษ “ลุงตู่” และรัฐบาลว่าเป็นผู้ผิดในกรณีนี้ไปเสียได้
ไหนจะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาบอกว่า การเมืองก็คือการเมือง จะไปเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆได้ยังไง ยิ่งเรื่องบันเทิงเริงใจอย่างเรื่อง “นางงาม” ก็ยิ่งไม่ใช่เข้าไปใหญ่ มันคนละเรื่องกัน .. แต่พอได้เห็น “คำถาม” ของนางงามในพักหลังๆ ที่ผ่านมานี้ ก็ต้องถามกลับหน่อยแล้วล่ะว่า “นางงาม” กับ “การเมือง” มันไม่เกี่ยวกันจริงๆ หรือ?
คำตอบที่อาจไม่ ‘ตอบโจทย์’
หลังจากที่สาวไทยได้เข้าไปในรอบลึกติดต่อกันมาปีแล้วปีเล่า และทุกๆ ครั้งที่นางงามบ้านเราได้จับไมค์ตอบคำถาม ก็พบว่ามักจะได้คำถามที่ใครก็ต่อใครต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ยาก” ยิ่งไปกว่านั้นก็มักจะเป็นประเด็นที่อยู่ในแนวทางเดียวกันอย่างเรื่อง “การเมือง” เสียเป็นส่วนใหญ่
ตั้งแต่ปีที่ น้ำตาล - ชลิตา ส่วนเสน่ห์ ที่เข้ารอบลึกใกล้เป็นคนแรกๆ ต่อจาก แนท - อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ที่เข้ารอบ Top 10 ส่วนน้ำตาลเข้าไปรอบลึกถึง 6 คนสุดท้าย
คำถามที่น้ำตาลได้คือ “ผู้นำระดับโลก ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน หรืออดีต ที่คุณชื่นชมคือใคร และเหตุผลว่าทำไม?”
คำตอบของน้ำตาลคือ "สำหรับคนนั้นก็คือ ในหลวง ตั้งแต่ดิฉันเกิดมา ท่านทรงงานหนักมาตลอด ไม่เคยบ่นแม้แต่น้อย และท่านก็เปรียบเสมือนพ่อของทุกคนในประเทศไทย ขอบคุณค่ะ"
ถัดมาในปีของ มารีญา พูลเลิศลาภ มากับคำถามที่ว่า "อะไรคือความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ เพราะอะไร"
ซึ่งมารีญาได้ตอบว่า “ฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือการที่เรามีสังคมสูงวัย แต่ความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดก็คือเยาวชน เยาวชนคืออนาคต คือสิ่งที่เราควรลงทุน เพราะว่าพวกเขาคือคนที่ต้องดูแลโลกที่เราอยู่”
และล่าสุด ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น ที่เข้าไปจนถึงรอบตอบคำถามคว้ามงอีกครั้ง กับคำถามที่ว่า “ในหลายรัฐบาลต้องการสร้างความเป็นส่วนตัว และขณะเดียวกัน ก็ต้องการสร้างความปลอดภัย คุณจะเลือกอะไรระหว่างความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย"
สาวงามตัวแทนประเทศไทยตอบว่า "ฉันเชื่อว่าทุกๆ ประเทศนั้น รัฐบาลจะมีมาตรการ หรือนโยบายที่จะรักษาความปลอดภัยของพวกเรา และฉันก็ยังเชื่อมั่นว่าความปลอดภัยนี้ไม่ควรข้ามเส้นของความเป็นส่วนตัว เพราะว่าเราทุกคนเองมีสิทธิ์ที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราเอง อย่างไรก็ตามความปลอดภัยนั้นก็จำเป็นและสำคัญ ดังนั้นฉันจึงเชื่อมั่นว่า การที่เราทุกคนจะสามารถอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นได้นั้น รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องของขอบเขตของความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยให้พอเหมาะพอดีเพื่อความสงบสุขของสังคม"
น่าสังเกตว่าทุกๆ ปีตลอดการเข้ารอบลึกที่ผ่านมาตัวแทนสาวไทยถูกคำถามมาแนวการเมืองตรงๆ มาโดยตลอด จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่เป็นคำถามประกวดนางงาม ข้อสอบรัฐศาสตร์ หรือคำถามต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันแน่ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐประหารในปี 2557 จนถึงปัจจุบันที่แม้จะเลือกตั้งแล้ว การเมืองของไทยไม่ว่าจะทำอะไรก็ถูกเพ่งเล็งทุกย่างก้าว เพราะยังก้าวไม่พ้นคำว่ารัฐบาลที่มาจากทหาร และประชาชนถูกแทรกแซงจากทุกช่องทางอยู่ดี
คำถามฟ้าใส ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
มีรายงานชื่อ “เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต (Freedom on the Net)” จัดทำขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชนภาครัฐของสหรัฐ จะทำการทดสอบและให้คะแนน 65 ประเทศทั่วโลกในทุกๆ ปีเกี่ยวกับเสรีภาพที่ประชาชนมีในอินเทอร์เน็ต ซึ่งหมายถึงการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในโลกออนไลน์ ผลออกมาว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 48 หรือจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีเสรีภาพในโลกอินเทอร์เน็ต
โดยรายงานยังบอกอีกว่า สถานการณ์อินเทอร์เน็ตในไทยดูเหมือนกำลังถูกจำกัดอย่างหนักตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เพราะมีการใช้อินเทอร์เน็ตโจมตีหรือกีดกันฝ่ายตรงข้าม ยิ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากรัฐประหารมาแล้วกว่า 5 ปี ก็ยิ่งทำให้มีการสอดแนมจากรัฐบาลมากจนประชาชนขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นอกจากรายงานที่อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว โลกความเป็นจริงในเรื่องความปลอดภัยนั้น ยังมีรายงานการวิจัยข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี ของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอีกหนึ่งชิ้น ที่เปิดเผยว่าในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 มีคดีการฟ้องปิดปากสูงขึ้นมากถึง 68% และส่วนมากมักจะเป็น “คดีหมิ่นประมาท”
รายงานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในไทยนั้น ผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาสาสมัคร และนักข่าว ในขณะที่กิจกรรมที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องได้แก่ การแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักที่เมื่อไทยแลนด์ผ่านเข้าไปถึงรอบตอบคำถาม เหล่าคณะกรรมการจะมองเห็นปัญหาเหล่านี้แล้วกรองออกมาเป็นคำถามยากๆ ให้ตอบ ชนิดที่ว่าในขณะที่นางงามประเทศอื่นได้รับคำถามเกี่ยวกับสิทธิ ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อม แต่นางงามที่ห้อยสายสะพายไทยแลนด์กลับได้รับคำถามการเมืองตลอดมา
การเมืองเรื่องลุ้นมง
“ฉันคิดว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด ทางฟิลิปปินส์ก็เคยเป็นเมืองอาณานิคมของอเมริกาด้วย เพราะฉะนั้นหากมาตั้งฐานทัพที่นี่ ฉันก็ยินดี ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้นค่ะ” — เปีย วุลซ์บัค มิสยูนิเวิร์ส 2015 (ฟิลิปปินส์)
คำตอบของ เปีย วุลซ์บัค น่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนที่สุดถึงประเด็นนางงามกับการเมือง เพราะหลังจากที่เธอตอบคำถามรอบตัดสินไปในมุมมองของการเห็นด้วย ในคำถามเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ คะแนนของคำตอบนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สมาครองได้ในปี 2015 แสดงให้เห็นว่าคำถามเกี่ยวกับการเมืองเป็นคำถามที่สามารถวัด “ท่าที” ของพลเมืองในประเทศนั้นๆ ได้ไม่มากก็น้อย
นั่นเป็นเพราะเรื่องของนางงามนั้นยึดโยงกับพลเมืองบางส่วนในประเทศ เป็น soft power ที่ถูกยกให้เป็นตัวแทนของคนในประเทศนั้นๆ โดยการเมืองในการประกวดนั้น ฉายแววให้เห็นกันมาตั้งแต่เก็บตัวกับกองประกวดแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากการมีภาพนางงามประเทศต่างๆ ได้ร่วมทำกิจกรรมและและสนิทสนมกันสามารถสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี
นอกเหนือจากนั้น การประกวดนางงามยังมีคีย์หลักอยู่ที่การปฏิบัติภารกิจหลังได้รับตำแหน่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อสร้างสันติภาพระหว่างประเทศและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั่วโลก โดยมีตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สภายใต้กองประกวดของ “สหรัฐฯ” เป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์
เพราะฉะนั้น คำถามที่เกี่ยวกับการเมืองจึงถือว่าถูกตั้งขึ้นมาเพื่อลองเชิง วัดท่าที และแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนหรือกระบอกเสียงเชื่อมมิตรไมตรีได้อย่างแยบยล และคงไม่แปลกที่ทางกองประกวดจะต้องการสาวงามที่มอบคำตอบอย่างที่พวกเขาต้องการได้ ดังเช่นที่ เปีย วุลซ์บัค ทำ
อันที่จริงเมื่อหันกลับมามองภาพการเมืองในกองประกวดนางงามที่โครงสร้างเล็กลงมาอีกหน่อยอย่างการเมืองในการประกวดนางงามระดับประเทศนั้น ในไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่การประกวดนางสาวไทยปี 2477 มีจุดประสงค์เพื่อฉลองรัฐธรรมนูญและเผยแพร่การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีตำแหน่งหน้าที่ก็คือประชาสัมพันธ์งานให้รัฐบาล ผลพลอยได้ที่ตามมาคือสามารถสร้างความเป็นชาตินิยมและเกิดความเป็น “ตัวแทนหญิงไทย” ทั้งชาติเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้
สรุปก็คือ มีการเมืองสอดแทรกอยู่ในการประกวดนางงามมาตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ และยิ่งไปกว่านั้น การประกวดนางงามในไทยเริ่มต้นด้วยการ “ผสม” อยู่ในการเมืองเลยเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็มีนักวิชาการอิสระ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้ออกมาวิเคราะห์คำถามและการตอบของมิสยูนิเวิร์สปีนี้ในมุมมองอื่นนอกจากเรื่องของการเมืองในการประกวดที่เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเกี่ยวข้องกับการให้อัตลักษณ์ที่พึงปรารถนาของนางงามในเวทีนี้เช่นกันว่า กองประกวดอาจต้องการนางงามที่มีความมั่นใจ ชัดเจน กล้าตัดสินใจ และสามารถเป็นผู้นำได้ การตอบคำถามควรจะเป็นการฟันธงให้ชัดเจนว่าต้องการที่จะเลือกอะไรระหว่างความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัว รวมไปถึงควรชี้ให้เห็นว่า ความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องเคารพ ในขณะที่ความปลอดภัยนั้นสามารถจัดการในรูปแบบอื่นได้
ด้าน ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมและกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ต่อยอดคำถามนี้ในทวิตเตอร์ส่วนตัวออกไปในมุมมองที่ว่า หากมีการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้วยข้ออ้างความมั่นคง เรียกว่าเป็นการคุกคาม รวมถึงมีความเสี่ยงว่าอาจจะเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์และการรักษาอำนาจอีกด้วย
ขณะที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเกี่ยวกับคำถามที่ฟ้าใสได้รับเช่นกันว่า การดูแลเรื่องความมั่นคงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในประชาชนนั้น เป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชนเพื่อไม่ให้ถูกละเมิด และไม่มีการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน โดยพุทธิพงษ์ยืนยันว่า ทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้ โดยที่รัฐไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งยังสามารถดูแลความมั่นคงปลอดภัยให้ประชาชนได้ด้วย
จริงๆ แล้วช่วงพักหลังมานี้ ต้องยอมรับว่านางงามบ้านเรามีโปรไฟล์ที่ดี มีทักษะการใช้ภาษา และการตอบคำถามที่ “พอใช้ได้” กันหลายคนอยู่แล้ว แต่ติดอยู่ตรงที่ว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยเราจะยอมเอื้อ Privacy (ความเป็นส่วนตัว) ให้นางงามตอบคำถาม “ตามใจ” ได้อย่างมี Security (ความมั่นคง ปลอดภัย) สักที!?
การประกวดนางงามล้วนแล้วแต่มีการเมืองเป็นส่วนประกอบ เพราะการเมืองอยู่ทุกที่ ทุกส่วนในชีวิตของเรา ที่สำคัญคือ ไม่เพียงแต่นางงามที่ต้องตระหนักเรื่องความปลอดภัย และความสิทธิความเป็นส่วนตัวเท่านั้น แต่ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ควรตระหนักและรับรู้ถึงสิทธิของตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะปัญหานี้ ถือว่าถูกสะท้อนผ่านคำถามที่นานาชาติส่งมาให้แล้ว