ตามรอย “ผ้าไทย” สไตล์อีสาน เจาะเส้นทางท่องเที่ยววิถีไทย

ตามรอย “ผ้าไทย” สไตล์อีสาน เจาะเส้นทางท่องเที่ยววิถีไทย

เที่ยวตามรอย "ผ้าไทย" ในหมวดของผ้าทอพื้นบ้านสไตล์อีสาน ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะถิ่น บางแห่งทำเองทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเลี้ยงไหมเอง ย้อมเอง ทอเอง จนได้ออกมาเป็นผืนผ้าอันทรงคุณค่า

ถ้าพูดถึงเทรนด์เสื้อผ้าของคนไทย ไม่ว่าจะปีไหนๆ เทรนด์หนึ่งที่มาแรงเสมอไม่เคยเปลี่ยนก็คือ “ผ้าไทย” ไม่ว่าจะมิกซ์แอนด์แมชต์กับอะไรก็ดูเก๋ เท่ เข้ากันได้ดี แถมสมัยนี้การออกแบบและตัดชุดจากผ้าไทยก็มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่ใช่เสื้อผ้าสำหรับคนแก่อีกต่อไปเพราะไม่ว่าวัยรุ่นหรือวัยทำงานก็สวมใส่ได้ไม่มีเคอะเขิน สมัยก่อนเราอาจจะคุ้นเคนกับผ้าทอเมืองเหนือ หรือพวกผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าบนยอดดอย แต่จะบอกว่าทุกวันนี้ผ้าทอสไตล์อีสานก็มาแรงไม่แพ้กัน

  • คนไทยรู้จัก “ทอผ้า” มาตั้งแต่เมื่อไหร่?

ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าต้นกำเนิดของการทอผ้าในประเทศไทยมีความเป็นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า "การทอผ้า" เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้รู้จักทำขึ้น ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

หากย้อนเวลากลับไปช่วงประมาณ 7,000-8,000 ปีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบว่ามนุษย์โบราณมีการตกแต่งหม้อดินเผาด้วยรอยเชือกและรอยตาข่ายทาบ ณ บริเวณบ้านเชียง จ.อุดรธานี จึงมีการสันนิษฐานว่ามนุษย์น่าจะรู้จักทำเชือกและตาข่ายก่อน โดยนำพืชที่มีใยมาฟั่นให้เป็นเชือก แล้วนำเชือกมาผูกหรือถักเป็นตาข่าย จากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเป็น “การทอผ้า” ด้วยเทคนิคง่ายๆ แบบการจักสาน คือ นำเชือกมาผูกกับไม้หรือยึดไว้เป็นด้ายเส้นยืน แล้วนำเชือกอีกเส้นหนึ่งมาพุ่งขัดกับด้ายเส้นยืนเหมือนการจักสาน จนเกิดเป็นผ้ากระสอบแบบหยาบๆ ขึ้นมา

อีกทั้งพบหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีที่บริเวณบ้านเชียงอีกเช่นกัน นั่นคือ พบกำไลสำริดซึ่งมีสนิมและมีเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิมนั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สนิมเป็นตัวกัดกร่อนโลหะ แต่กลับเป็นตัวอนุรักษ์เนื้อเยื่อผ้าให้คงทนไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา และยังพบ แวดินเผา (spindle whorl) ซึ่งเป็นอุปกรณ์การปั่นด้ายแบบง่ายๆ และพบลูกกลิ้งแกะลาย สำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเชียงเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว รู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายลงบนผ้าอีกด้วย

157718521112

  • ผ้าทอในสังคมไทยในสมัย ร.6

ในยุคต่อมา คนไทยก็รู้จักการทอผ้าสืบต่อกันมาเรื่อยๆ โดยเป็นการทอผ้าเพื่อใช้เองในระดับครัวเรือน โดยใช้เครื่องมือทอผ้าอย่างง่ายๆ และมีลักษณะธรรมชาติที่สุดในโลก นั่นคือ การผูกด้ายเส้นยืนเข้ากับนิ้วมือข้างหนึ่ง และใช้นิ้วมืออีกข้างหนึ่ง พุ่งด้ายเข้าไปถักทอ โดยอาจใช้เข็มหรือกระดูกช่วย วิธีนี้เรียกว่า ฟิงเกอร์ วีฟวิง (finger weaving) หรือ “การทอผ้าด้วยนิ้ว” ผ้าที่ได้จะมีลักษณะแคบและยาว เช่น ผ้าคาดเอว แต่ก็สามารถนำมาเย็บต่อเป็นเสื้อผ้าได้ เป็นต้น

ถัดมาผู้คนเริ่มใช้อุปกรณ์ทอผ้าที่เรียกว่า “กี่ผูกเอว” พบในหมู่ชาวบ้านหรือชาวเขา ที่อยู่ห่างไกลขึ้นไปบนยอดดอย ในปัจจุบันมีข้อมูลพบว่ามี ชาวบ้าน เช่น ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดราชบุรี และชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนือของไทยยังคงใช้กี่ผูกเอวทอผ้ากันอยู่ ต่อมาเริ่มพัฒนาไปใช้ “กี่มือ” บางแห่งก็ใช้ “กี่กระตุก” ซึ่งสามารถใช้มือกระตุกกระสวยให้พุ่งไปมาได้อย่างรวดเร็วมากกว่า กี่มือเหมาะสำหรับการทอผ้าที่ไม่มีลวดลายมาก เช่น ผ้าขาวม้า ผ้านุ่ง เป็นต้น

สำหรับ “กี่กระตุก" นี้พบว่าคนไทยเพิ่งมีใช้กันในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี โดยชาวจีนที่อาศัยอยู่แถบสำเพ็งเป็นผู้นำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อใช้ทอผ้าขาย เพื่อทอผ้าให้ได้ปริมาณมากขึ้นสำหรับขายชาวเมือง อย่างไรก็ตามกี่กระตุกก็ยังเป็นเครื่องทอผ้าที่ใช้มือคนอยู่นั่นเอง

ยุคต่อมาใน พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหม ได้ตั้งโรงงานทอผ้าสำหรับใช้ในราชการทหารขึ้น เรียกว่า "โรงงานฝ้ายสยาม" เพื่อผลิตเสื้อผ้าและสำลีสำหรับทหาร มีการสั่งเครื่องจักรทอผ้าและฝ้ายจากต่างประเทศเข้ามา นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการทอผ้า ด้วยเครื่องจักร สามารถผลิตผ้าได้จำนวนมาก และไม่มีลวดลายตามแบบผ้าพื้นบ้าน ซึ่งอุตสาหกรรมการทอผ้าด้วยเครื่องจักรในประเทศไทยนี้ ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในยุคหนึ่งเมืองไทยสามารถส่งออกผ้าทอจากเครื่องจักรได้ในปริมาณมากทุกๆ ปี แต่ขณะเดียวกันก็ ทำให้ลวดลายและวิธีการทอผ้าแบบภูมิปัญญาไทยค่อยๆ จางหายไป

157718521291

  • "ผ้าทอมือ" และผ้าย้อมครามสไตล์อีสาน

กลับมา ณ เวลาปัจจุบัน พบว่ายุคนี้เป็นยุคที่เฟื่องฟูมากๆ ของ “ผ้าไทย” ทั้งฝ้าฝ้ายทอมือและผ้าไหมทอมือ เพราะมีการรื้อฟื้นการทอผ้าด้วยมือและรื้อฟื้นลายผ้าไทยๆ ในสมัยก่อนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้ ที่หันมาให้เคุณค่ากับผ้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบภาคอีสานที่หลายหน่วยงานช่วยกันส่องสปอร์ตไลท์ให้ผ้าทออีสานเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้คนที่รักและชื่นชอบ “ผ้าไทย” ไม่พลาดที่จะมาปักหมุดเที่ยวชมผ้าทอมือสไตล์อีสานที่เป็นผลมาจากภูมิปัญญาและฝีมือล้วนๆ แถมเป็นการผลิตสินค้าแฮนด์เมดแทบทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น เลี้ยงไหมเอง สาวเส้นไหมเอง ย้อมสีเอง ทอเอง แถมขายได้ราคาดีจนสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านได้อีกทางเดียว

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวตามรอย “ผ้าทออีสาน” ที่อยากแนะนำให้ไปปักหมุดเที่ยวดูสักครั้ง มีด้วยกัน 3 แห่ง ในเส้นทางท่องเที่ยวขอนแก่น-อุดรธานี ได้แก่

1. “ไหมแท้ที่แม่ทอ” ผ้าไหมสีธรรมชาติเมืองขอนแก่น

เริ่มกันที่ “กลุ่มไหมแท้ที่แม่ทอ” บ้านนาคำ ต.บ้านเม็ง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น มีกลุ่มชาวบ้านที่ผลิตผ้าไหมอีสานทอมือเองจำหน่ายโดยการสั่งแบบพรีออร์เดอร์ โดย นางสุทัศน์ แสนองอาจ เล่าว่ากลุ่มไหมแท้ที่แม่ทอ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2558 มีสมาชิก 28 คน และเลือกตั้งชื่อกลุ่มที่ว่าไหมแท้ที่แม่ทอ ก็เนื่องจากเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงความภูมิใจที่คนรุ่นแม่เคยสอนให้รู้จักการทำผ้าไหม ซึ่งยังคงรักษาวิถีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบดั้งเดิมไว้ สืบสานเป็นชิ้นงานสวยงามที่มีคุณภาพ

157718521178

157718521297

ที่นี่ผลิตเส้นไหมจากตัวหนอนไหมที่เลี้ยงเอง และมีการย้อมสีธรรมชาติ 100% จากเปลือก ผล และใบไม้ เช่น มะเกลือ สะเดา ยูคาลิปตัส ประดู่ เมียด ฝาง คลั่ง ที่ปลูกอยู่ตามบ้านและภายในชุมชน นอกจากได้ชมผ้าไหมแท้ที่ชาวบ้านเลี้ยงไหมเอง ฟั่นเส้นไหมเอง ย้อมสีเอง และทอเองแล้ว ยังได้เดินชมวิธีการเลือกชนิดของพืชพรรณให้สีต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาย้อมเส้นไหมด้วย ถือว่าได้เรียนรู้วิถีภูมิปัญญาชาวบ้านไปในตัว

จุดเด่นของผ้าไหมจากกลุ่มทอผ้า “ไหมแท้ที่แม่ทอ” คือ เน้นผ้าไหมสีพื้นๆ ที่เป็นธรรมชาติ สีที่ได้แต่ละครั้งจะออกมาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับธรรมชาติจริงๆ บางช่วงปี แม้ว่าจะใช้เปลือกไม้ชนิดเดียวกันมาย้อมสี แต่เมื่อย้อมออกมาก็อาจได้เฉดสีที่แตกต่างกัน ถือว่าได้สีผ้าไหมที่เป็นสีนี้ผืนเดียวในโลกส่วนสีของผ้าไหมที่โดดเด่น แปลกตา ไม่ซ้ำใครก็คือ “ผ้าไหมสีใบอ้อย” ให้สีเขียวอ่อนอมเหลืองนวลๆ สวยดูดีทีเดียว

สินค้าที่น่าสนใจ : ผืนผ้าสำหรับตัดเสื้อ, ผ้าคลุมไหล่, ผ้าพันคอ เป็นต้น ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 800-900 บาทเท่านั้น เป็นผ้าไหมแท้ที่ราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ใครอยากสนับสนุนกลุ่มผ้าทอชาวบ้านแบบออริจินอลจริงๆ สามารถสั้งแบบพรีออร์เดอร์ได้ที่กลุ่มไหมแท้ที่แม่ทอ เบอร์ 085-229-6796

การเดินทาง : จากตัวเมืองขอนแก่น สามารถเดินทางจากถนนมะลิวัลย์ สายขอนแก่น - ชุมพร พอถึงอำเภอหนองเรือ แยกเข้าสู่ถนนสายหนองเรือ - บ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ระยะทางจากหนองเรือ - ตำบลบ้านเม็ง ระยะทาง 4 กิโลเมตร

157718521261

157718601927

2. ผ้าทอย้อมคราม ณ บ้านเชียง

ถัดมาจะพาไปเที่ยวตามรอย “ผ้าไทย” กันที่เมืองอุดรธานี ณ ชุมชนบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานีชาวบ้านแถบนี้มีเชื้อสายเป็นชาวไทพวน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเครื่องแต่งกายโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน และในปัจจุบันได้นำเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแต่ดั้งเดิมมาสานต่อให้เกิดเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่า มีทั้งการสร้างสรรค์ลวดลายจากเครื่องปั้นดินเผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีลวดลายโบราณอื่นๆ อีกมากมาย ลวดลายผ้าไทพวนมีความแตกต่างจากผ้าพื้นเมืองในแถบอื่น เพราะมีลวดลายเฉพาะตัว

สำหรับ “กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านเชียง” มีการรวมกลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านเชียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 30-50 คน สืบทอดการทอผ้าแบบโบราณต่อกันมา จากกี่ทอผ้าโบราณ มาจนถึงการใช้กี่ทอผ้ากระตุกในปัจจุบันที่ทำให้ทอผ้าได้รวดเร็วสะดวกมากขึ้น ส่วนด้ายที่ใช้ทอผ้าเป็นด้ายที่ผลิตจากฝ้ายแล้วนำมาย้อมครามให้สีน้ำเงินสดใส ซึ่งในหมู่บ้านมีโรงย้อมครามและหน้าร้านสำหรับจำหน่ายสินค้าด้วย

แต่เดิมชาวบ้านที่นี่จะปั่นฝ้าย ย้อมคราม และทอผ้าฝ้ายย้อมครามสีพื้นเพื่อสวมใส่กันเองภายในหมู่บ้านเท่านั้น และต่อมาก็เริ่มรู้จักทำลวดลายด้วยขั้นตอนการมัดหมี่เป็นลายต่างๆ ตามที่จินตนาการ จากนั้นก็พัฒนาใช้ลวดลายของหม้อไหบ้านเชียงมาประยุกต์เป็นลายผ้า ปรากฏว่าความสวยงามและเอกลักษณ์ของลายนี้ ทำให้ผ้าฝ้ายย้อมครามลายบ้านเชียงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในประเทศไทย จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับบ้านเชียงด้วย

157718601948

สินค้าที่น่าสนใจ : ผ้าพันคอ, ผ้าตัดเสื้อ, ผ้าซิ่นมัดหมี่ 2 ตะกอ, ผ้าซิ่นมัดหมี่ 4 ตะกอ, ผ้าขาวม้า, ผ้าคลุมไหล่, และผ้าสีพื้นเรียบสำหรับตัดชุดไทพวน และรับทำผ้าตามสั่งทั่วไป ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อผ้าทอย้อมครามทางออนไลน์ได้ด้วย ราคาเริ่มตั้งแต่ 700 - 1,000 บาท ถ้าเป็นผ้าที่ตัดเป็นเสื้อแล้วราคาประมาณ 1,000-1,200 บาท

การเดินทาง : ชุมชนบ้านเชียงห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 40-50 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอหนองหาน จากตัวเมืองอุดรธานี ให้ขับรถมาตามถนนมิตรภาพ แล้วตรงไปตามทางที่จะไป อ.โพนพิสัย จากนั้นเข้าสู่ถนนหมายเลข 2410 มุ่งไป ตำบลหนองบัว แล้วตัดเข้าสู่ถนนหมายเลข 4008 มุ่งไป ตำบลบ้านแดง เพื่อไปยังกลุ่มผ้ามัดหมี่ย้อมครามบ้านเชียง

157718601975

3. ผ้าทอย้อมกลีบบัว บ้านโนนกอก

แหล่งชมและช้อปผ้าทออีสานสวยๆ อีกหนึ่งแห่งของเมืองอุดรฯ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ “กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก (ย้อมสีกลีบบัวแดง)” ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ที่นี่มีโรงทอผ้าและโรงย้อมสีเป็นของตัวเอง แถมยังมีโซนรับรองนักท่องเที่ยวบริเวณกว้างขวางเพื่อรองรับคนที่มาเที่ยวชมและเลือกซื้อผ้าทอย้อมสีกลีบบัวของชาวบ้าน สามารถนั่งพักและรับประทานของว่างได้อย่างสบายๆ ลมเย็นดีด้วย

กลุ่มทอผ้าแห่งนี้เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2556 โดยนายอภิชาติ พูลบัวไข หรือครูต้น ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านบ้านโนนกอก ได้ทำผลงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอาชีพชาวบ้าน คือการทอผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านโนนกอกจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และในตำบลหนองนาคำ และได้ทดลองการทอผ้าแบบโบราณด้วยตัวเองจนเกิดความชำนาญ จึงได้เริ่มทอผ้าย้อมธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น จึงเกิดแนวความคิดที่จะจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้น เพื่อขยายงานทอผ้าให้มากขึ้นและเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ภายในโรงทอผ้าจะมีการสาธิตการย้อมด้ายหรือไหมด้วยกลีบบัวแดงอุดร ซึ่งสีที่ได้จากดอกบัวแดงเป็นสีจากธรรมชาติ 100% ไม่ใช้สารเคมีในการก่อสีใดๆ สามารถนำกลีบบัวมาต้มกับน้ำได้เลย แถมสีก็ติดได้อย่างดี และมีคุณภาพได้มาตรฐาน

157718601914

สำหรับการย้อมสีนั้นมีการย้อมหลายแบบและได้ออกมาหลายสี ได้แก่ หากใช้กลีบบัวสดมาย้อมแบบเย็นจะได้สีชมพูอ่อนอมม่วงนิดๆ ถัดมาเป็นการใช้กลีบดอกบัวแห้งนำมาต้มและย้อมแบบร้อน จะได้ออกมาเป็นสีทอง ส่วนสายบัวตากแห้งเมื่อนำมาต้มและย้อมแบบร้อน จะได้เป็นสีเทา ทั้ง 3 สีนี้เป็นเอกลักษณ์ผ้าทอของที่นี่โดยเฉพาะ ส่วนลวดลายของผ้าทอก็เป็นเอกลักษณ์เช่นกัน ผ้าไหมทอมือบางผืนมีมูลค่าถึง 140,000 บาทเลยทีเดียว

สินค้าที่น่าสนใจ : ผ้าผืนสำหรับตัดเสื้อ, ผ้าซิ่น, ผ้าคลุมไหล่ ราคามีตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น และหลักแสนบาท ส่วนใหญ่จะเน้นขายทางออนไลน์ และสามารถสั่งแบบพรีออร์เดอร์ได้ สอบถามได้ที่เบอร์ 093-547-8255

157718601939

157718521147

การเดินทาง : กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก อยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี ระยะทางประมาณ 14.2 กิโลเมตร จากตัวเมืองอุดรฯ ให้ขับรถตรงไปตามถนนโพธิ์ศรี จากนั้นตัดเข้าสู่ถนนนิตโย หรือถนนหมายเลข 22 ขับตรงยาวๆ ผ่านสำนักทรัพยากรน้บาดาลำเขต 10 และผ่านโรงสีอุดรศรีสวัสดิ์ แล้วจะเห็นทางแยกซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนนาดอน จากนั้นอีกสักพักจะเจอทางแยก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนโยธาธิการ ตรงไปอีกหน่อยก็ถึงจุดหมายปลายทาง

———————————

อ้างอิง:

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=21&chap=3&page=t21-3-infodetail02.html

https://sites.google.com/site/teemarphamai/

https://www.thailandvillageacademy.com/th/22-villages-th/tambon-ban-chiang-cultural-tourism

https://utalkmagazineblog.wordpress.com/

https://www.m-culture.go.th/udonthani/ewt_dl_link.php?nid=1091&filename=slider