ธนบัตรปลอม ในหนังฮอลลีวู้ด
เปิดที่มา "ธนบัตรปลอม" ในหนังฮอลลีวู้ด ผลิตจากไหน ถูกกฎหมายหรือไม่ และขั้นตอนการผลิตยากง่ายอย่างไรบ้าง
สำหรับใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ที่เรารู้จักกันดีในนาม "ฮอลลีวู้ด" คงเคยเห็นในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับอาชญากรรม การปล้นธนาคารหรือในคาสิโน ภาพนักแสดงกับเงินดอลลาร์สหรัฐกองโต หลายคนอาจสงสัยว่า เงินที่เห็นเป็นเงินจริงหรือไม่ หรือถ้าทำขึ้นมา ก็คงเสียเวลาตัดกระดาษขนาดเท่าๆ กันจำนวนมาก และนำธนบัตรจริงมาใส่ไว้ตรงใบแรก
แต่จริงๆ แล้ว การทำธนบัตรปลอม โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ มีกรรมวิธีและระเบียบจุกจิกมากมาย เพราะทางการสหรัฐฯ มีกฎหมายที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการทำธนบัตรปลอม ริช แรพพาพอร์ต หรือ อาร์เจ เจ้าของบริษัทอาร์เจอาร์พร็อพ ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาพร็อพให้กับบริษัทสร้างภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ได้ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า บริษัทของเขาเชี่ยวชาญในการทำธนบัตรปลอมให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น The Wolf of the Wall Street, the Fast and the Furious และ Ozark ของ Netflix การพิมพ์ธนบัตรเพื่อใช้ในภาพยนตร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เขาต้องปรึกษาหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐบ่อย ๆ
- ฉากในภาพยนตร์เรื่อง Ozark -
"ผมต้องการความแน่ชัดเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ บริษัททำพร็อพอื่นๆ ผลิตธนบัตรปลอม ที่จริงๆ แล้วผิดกฎหมาย และอาจทำให้บริษัทถูกปิด โดนดำเนินคดีหรือจำคุกได้" ริช แรพพาพอร์ต กล่าว
ในทางเทคนิคแล้ว ธนบัตรปลอมในสหรัฐ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง คือ ต้องพิมพ์บนด้านเดียวของกระดาษเท่านั้น และต้องเล็กหรือใหญ่กว่าธนบัตรจริง แต่มีคนไม่ปฏิบัติตามนั้นทำให้เกิดเรื่องขึ้น เมื่อปี 2001 ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Rush Hour 2 ที่ลาสเวกัส ธนบัตรประมาณ 1 พันล้านเหรียญที่ใช้ในภาพยนตร์ถูกระเบิดทำลาย แต่ธนบัตรบางฉบับสามารถเล็ดลอดการถูกทำลายมาได้ และถูกนำไปใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับต้องเข้ามาจัดการ
อาร์เจ กล่าวว่า เขาพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาลเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย และเพื่อผลิตเงินปลอมที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ธนบัตรที่บริษัทเขาผลิตมี 2 ประเภท คือ 1.แบบที่ทำออกมาสำหรับถ่ายใกล้ๆ และ 2.แบบที่ทำออกมาดูเหมือนจริงเมื่อมองจากระยะ 15 นิ้ว
"สำหรับแบบที่ 2 เราจะพิมพ์ทั้ง 2 ด้านของกระดาษ แต่เมื่อนำมาดูใกล้ๆ ก็จะรู้ว่า เป็นของปลอม และหากมีคนนำไปใช้ก็จะรู้ว่า เป็นของปลอม สำหรับแบบที่ 1 นั้น เราจะพิมพ์ด้านเดียวเท่านั้น เมื่อถ่ายใกล้ๆ เช่น ขณะที่นักแสดงกำลังนับเงินหรือเอามาใส่มืออีกคน ก็จะเหมือนธนบัตรจริงๆ" อาร์เจ กล่าว
และเพื่อทำตามกฎหมาย การผลิตธนบัตรปลอมจะมีการดัดแปลงภาพและดีไซน์ ซึ่งแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน "เราเริ่มจากศูนย์และพัฒนามาเรื่อยๆ เริ่มด้วยกระดาษเปล่า แต่เป็นกระดาษที่คุณภาพดีมาก กระดาษของเราเปลี่ยนสีจากชมพู-เหลือง-ชมพู หรือ เขียว-เหลือง-เขียว โค้งงอไปมาได้ เราเป็นบริษัทเดียวในโลกนี้ที่ใช้กระดาษชนิดนี้ เพราะมันแพงมาก แต่เราต้องการให้มันเหมือนของจริงมาก"
ภาพ : เว็บไซต์อาร์เจอาร์พร็อพ
เมื่อมองผ่านๆ ธนบัตรของอาร์เจเหมือนของจริงมาก แต่เมื่อมองใกล้ๆ ก็จะเห็นข้อแตกต่างบนธนบัตรจริง ใต้เลข 100 ตรงมุมซ้ายจะมีคำว่า "United States Federal Reserve" หรือธนาคารกลางสหรัฐ แต่ในธนบัตรปลอมจะมีคำว่า "Unreal Fake Currency Reserve" แทน ถ้าเป็นธนบัตรปลอม ใต้รูปเบนจามิน แฟรงคลิน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ก็จะไม่มีชื่อของเขาเหมือนในธนบัตรจริง ตรงประทับก็จะแตกต่างจากธนบัตรจริง ส่วนตรงที่เป็นลายเซ็นก็จะเขียนว่า "ของปลอม" (Ima Not Real) และ "เงินปลอม" (Not Real Currency) รวมถึงตรงชื่อประเทศ United States แทนที่จะสะกดด้วย U บนธนบัตรปลอมจะสะกดด้วย W แทน ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างของจริงกับของปลอม
บริษัท RJR ขายเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวน 1 มัด (100 ใบ) ที่ราคา 65 เหรียญ สำหรับเงินแบบที่ 1 ส่วนแบบที่ 2 ที่ราคา 45 เหรียญ ถ้าผู้จ้างต้องการทำให้เหมือนธนบัตรใช้แล้ว บริษัทก็จะคิดเพิ่มมัดละ 20 เหรียญ
"การทำให้เหมือนธนบัตรใช้แล้วนั้นยากมาก หลายคนคิดไม่ถึง เราต้องทำด้วยมือทุกใบ ให้มีรอยยับ มีคราบน้ำมัน หรือมีรอยไหม้จากบุหรี่ เป็นขั้นตอนที่ยาก ต้องใช้คนประมาณ 15-20 คนเลยทีเดียว"
อาร์เจเล่าว่า บริษัทผลิตเงินปลอมล็อตใหญ่ที่สุดล็อตหนึ่งให้กับบริษัทภาพยนตร์เรื่อง Ozark ของ Netflix ซึ่งทนายของแก๊งค์ค้ายา แสดงโดย เจสัน เบตแมน ซ่อนเงินจำนวนมหาศาลไว้ในกำแพงบ้านและที่อื่นๆ
"ตอนแรก เราก็ไม่รู้ว่า มันจะออกมาอย่างไร แต่มันก็ออกมาดีมากและน่าจดจำอย่างมาก" อาร์เจ กล่าว
ภาพ : เว็บไซต์อาร์เจอาร์พร็อพ
ในเมืองแอตแลนต้าที่บริษัทของอาร์เจตั้งอยู่ กลายเป็นสถานที่ๆ มีการถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อดังหลายต่อหลายเรื่อง เพราะทางการชักจูงด้วยการเก็บภาษีต่ำ จนทำให้ที่นี่ได้ชื่อใหม่ว่าเป็น "ฮอลลีวู้ดของทางใต้" ดังนั้น บริษัทอาร์เจ จึงขยายการให้บริการสร้างพร็อพสำหรับการถ่ายภาพยนตร์ให้หลากหลายขึ้น เช่น โคเคนปลอมจนถึงยานกระสวยอวกาศ
"เรามีห้องปฏิบัติการที่คุณจะเห็นได้ในโรงพยาบาล เรามีออฟฟิศหมอ เรามีห้องแล็บคอมพิวเตอร์ เรามีพร็อพสำหรับสนามบินที่มีเครื่องตรวจหาโลหะและเครื่องสแกนกระเป๋า ผมคิดว่า เรามีเครื่องบิน 5-6 ลำ บางลำคือเครื่องบินจริงๆ ที่สามารถเข้าไปถ่ายทำข้างในได้ นอกจากนั้นยังมีกล้องภาพยนตร์ที่เหมือนในรายการสมัยยุคแรกๆ ของวงการโทรทัศน์สหรัฐด้วย"
ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทจะเช่าพร็อพเหล่านี้ รวมถึงการถ่ายทำมิวสิควิดีโอที่ต้องใช้เงินปลอมจำนวนมาก แต่สำหรับเงินแล้วก็ต้องขายขาด อาร์เจเปิดเผยว่า มีบางบริษัทเหมือนกันที่ใช้เงินจริงในการถ่ายทำ แต่เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยเพราะบริษัทนั้นๆ อาจมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย
ถึงแม้จะระวังเพียงใด ธนบัตรปลอมก็ยังหลุดรอดเข้าสู่ตลาดได้นับตั้งแต่ปี 2015 ก็มีพ่อค้าหลายคนที่นำเงินปลอมนี้มาขายในอีเบย์ และเว็บอเมซอนปัจจุบัน ลูกค้าสามารถสั่งทำเงินปลอมนี้ในราคา 10 เหรียญต่อธนบัตร 100 ดอลล่าร์ 1 ใบ
เมื่อปีที่แล้ว พนักงานของห้างเซฟเวย์ในรัฐวอชิงตันแจ้งตำรวจว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งพยายามซื้อของราคา 5,000 ดอลลาร์ ด้วยเงินปลอมที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ เมื่อปี 2017 มีชายชาวจอร์เจียโดนยิงตาย เพราะนำเงินปลอมจำนวน 230,000 เหรียญ ไปซื้อโคเคนหนัก 7 กิโลกรัม
ที่มา : คอลัมน์ไร้พรมแดน จุดประกาย ฉบับวันที่ 3 มกราคม 2563