'คนทำหนัง-นศ.ฟิล์ม' ถกภาพยนตร์ไทยไปอินเตอร์ กรณีศึกษา Parasite
ม.เกษมบัณฑิต จัดเสวนา "คนทำหนัง-นศ.ฟิล์ม" ถกภาพยนตร์ไทยไปอินเตอร์ กรณีศึกษา Parasite
งานเสวนาประเด็นทางภาพยนตร์ศึกษา "ดู Parasite แล้วมองหนังไทยไปอินเตอร์" จัดที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา จัดโดยนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
มีผู้ร่วมเสวนา อย่าง ภาณุ อารี ผู้กำกับและผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บ.สหมงคลฟิลม์ วัฒนชัย ตุลยโกวิทย์ โปรดิวเซอร์และช่างภาพ, จิรธณ จิรอุดมพล ผู้กำกับสื่อโฆษณา และนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรี สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวเปิดงานว่า มหาวิทยาลัยแรกและมหาวิทยาลัยเดียวในไทยที่ด้านภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล เราอยากเป็นสถาบันที่จะร่วมพัฒนาวงการภาพยนตร์ให้กับประเทศไทย กิจกรรมในครั้งนี้ได้คุยกับทางหลักสูตรมาโดยตลอดว่า อยากเปิดพื้นที่ให้เหมือนเป็นชุมชนคนทำหนัง มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนทัศนะ แลกเปลี่ยนพูดคุย ซึ่งกิจกรรมกรณีศึกษาหนัง Parasite ที่เป็นหนังนอกสายตาแต่ประสบความสำเร็จ โดยให้เวทีให้คนที่อยากทำหนังและคนทำหนังได้มาพูดคุยกัน
(คลิปสัมภาษณ์ - ดร.เสนีย์ สุวรรณดี)
รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นนโยบาย เป็นความตั้งใจของสาขา เราอยากมีกิจกรรมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราเรียนทฤษฎีแล้วก็อยากมาให้ปฏิบัติ อยากส่งเสริมให้คนทำหนังและคนอยากทำหนังได้มาพบปะพูดคุย ให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ เราไม่ได้เรียนรู้ด้านโปรดักชั่นอย่างเดียว แต่เนื้อหา ความคิด การสื่อความ และถ่ายทอดเรื่องราวเป็นสิ่งสำคัญ
(คลิปสัมภาษณ์ - รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์)
สำหรับหนัง Parasite หรือ ชนชั้นปรสิต ล่าสุดคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ Golden Globes 2020 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 14 รางวัล, ผู้กำกับยอดเยี่ยม 11 รางวัล, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 8 รางวัล
ภาณุ อารี กล่าวว่า ตอนที่หนัง Parasite ยังไม่เสร็จ แต่ว่าค่ายเจ้าของหนังตัดมาให้ดู 8 นาที ดูแล้วคิดว่าคงมีสัตว์ประหลาดในหนัง แต่รออีก 5-6 เดือนหนังเสร็จได้ชมอีกครั้ง เป็นรอบจัดให้ผู้ซื้อภาพยนตร์ ได้ดูแล้วทึ่ง แต่ก่อนคิดว่ามันไม่น่าจะขายได้ในเมืองไทย เพราะตั้งแต่หนัง Train to Busan ก็ไม่ค่อยมีหนังเกาหลีที่ทำเงินเลย แต่ได้ชมหนังเต็มเรื่องครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้น
หนัง Parasite มีองค์ประกอบที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ จะมารีเมคใหม่ทำเป็นหนังไทยก็ได้ ซึ่งตัวแทนผู้จัดซื้อภาพยนตร์ไปฉาย จากฮ่องกงและอเมริกา บอกและรู้สึกเหมือนกันว่าเป็นหนังที่สนุกมากพอที่จะทำเงินได้
ส่วนหนังไทย ถ้าจะไปฉายและได้รับความนิยมในต่างประเทศ มันจะเริ่มต้นจากการเป็นหนังที่โดดเด่นในประเทศก่อน อย่างหนัง องค์บาก , เดอะ ซัตเตอร์ ซึ่งเราก็ทำแบบนั้นมาเรื่อยๆ แต่ว่าสิ่งที่พัฒนาในปัจจุบันและน่าสนใจก็คือ ทุกคนต่างมองถึงความเชื่อมโยงกัน กรณีศึกษาที่ดีของหนังไทย คือมันเป็นโมเดลที่ทุกบริษัทกำลังทำอยู่ คือกรณีหนังเรื่อง ฉลาดแกมโกง ซึ่งคนที่ซื้อหนังนี้ไป เป็นเพื่อนกันจากฮ่องกงและจีน ประเด็นที่เขาชอบในหนัง ฉลาดแกมโกง เป็นแบบเดียวกับ Parasite คือเรามีความรู้สึกถึงชาติของหนังนั้นๆ แต่เราสามารถสร้างความรู้สึกร่วมกันได้ เพราะหนังฉลาดแกมโกง กำลังพูดในเรื่องที่ทุกประเทศพูดกันอยู่คือระบบการศึกษา
ส่วนประเด็นที่สองคือ นักแสดงที่เขาเลือกมา ดูแล้วเข้าถึงได้ เพราะนางเอก (ออกแบบ ชุติมณฑน์) ดูหน้าตาจะเป็นเกาหลีหรือจีน-ไต้หวันก็ได้ นี่เป็นข้อแตกต่างสมัยหนังองค์บากดัง เพราะเราจะรู้เลยหน้าตาพระเอก (จา พนม) อย่างนี้มาจากคนไทยแน่นอน ดังนั้น มันเป็นสิ่งที่สำคัญของผู้สร้างหนังที่ได้ออกแบบทุกๆเรื่องของหนังมาตั้งแต่ต้น
"ค่ายหนังต่างประเทศ มองทุกวันนี้คนดูหนังจริงจังมากขึ้น ไม่ใช่หนังต้องหลุดโลกอย่างเดียว หนังต้องมีความเชื่อมโยงกับตัวเขาได้ เป็นประเด็นร่วมที่มีอยู่และเข้าถึงได้" ภาณุ กล่าว