ปอดอักเสบ อย่าปล่อยให้รุนแรง
เรียนรู้เรื่องปอดอักเสบ สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และการรักษา สิ่งสำคัญอย่าปล่อยปละละเลยจนอาการรุนแรง
จากสถานการณ์โรคระบาดที่สร้างความกังวลให้กับประชาชน เกี่ยวกับเรื่องปอดอักเสบนั้น การไม่ตื่นตระหนกและรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแพทย์ที่มีประสบการณ์ ก็จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และโรคที่เกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นการระมัดระวังและป้องกันอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ โรคปอดอักเสบ ทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาตามขั้นตอน จะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้ในเร็ววัน
ศ.เกียรติคุณ นพ.สว่าง แสงหิรัญวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวม เป็นการอักเสบของเนื้อปอดและหลอดลม โดยเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ
1.การติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อนิวโมค็อกคัส (Pneumococcus) เชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS Virus) อื่น ๆ ได้แก่ เชื้อรา พยาธิ ฯลฯ
2.การไม่ติดเชื้อ ได้แก่ สำลักเศษอาหารเข้าไปในปอด หายใจเอาควัน ฝุ่น เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก
3.การแพ้ภูมิตัวเอง ภูมิต้านทานต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE)ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด เด็กขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์นานๆ หรือ ในบางกรณีอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน เป็นต้น
อาการที่ควรสังเกตคือ ไอ มีเสมหะ มีไข้สูง อาจตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่นมาก หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว อาจเจ็บแปลบหน้าอกเวลาหายใจเข้า อาจไอแรงร้าวไปที่หัวไหล่หรือสีข้าง แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยจะใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด หลังจากนั้นหากต้องทำการตรวจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจเสมหะRP33 (Respiratory Pathogen Panel33) เป็นต้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ด้านการรักษาโรคปอดอักเสบ แพทย์จะทำการพิจารณารักษาตามอาการและสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่พบและนัดติดตามอาการเป็นระยะ
หากอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นจะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เหนื่อยหอบรุนแรง เจ็บหน้าอก และรับประทานอาหารลำบาก อาจต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
วิธีการป้องกันคือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ช่วยให้ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบคือ อีกหนึ่งทางเลือกของการป้องกัน แต่จำเป็นจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจพิจารณาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ
ที่สำคัญ โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่ไม่ควรละเลย เพราะการตรวจพบในระยะแรกเริ่มของโรคและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นแต่ยังทำให้หายขาดได้โดยเร็ว