มั่นใจและถ่อมตน อย่างรู้กาลเทศะ
ในวงการศึกษาบ้านเรามักกังวลกับการสร้างความมั่นใจ กล้าแสดงออกให้กับเยาวชน แต่ปัจจุบันคนไทยรุ่นใหม่มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก กล้ามีความเห็นที่แตกต่างจากผู้อาวุโส ประเด็นอยู่ที่ว่าเราควรมีความมั่นใจเพียงใด และแสดงออกอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ในวงการศึกษาบ้านเรามักกังวลกับการสร้างความมั่นใจ กล้าแสดงออกให้กับเยาวชนของเรา อาจเพราะค่านิยมไทย แต่โบราณกาลที่ฝังลึกอยู่ในสายเลือด ก็คือการให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสกว่า การรู้จักเกรงใจคน การรู้จักไปลา มาไหว้ ขอบคุณ ขอโทษ อ่อนน้อมถ่อมตน
ค่านิยมต่างๆ เหล่านี้อาจจืดจางเลือนหายไปตามกาลเวลา วัฒนธรรมไทยได้ถูกผสมและกลืนไปด้วยวัฒนธรรมของชาติอื่น และความรวดเร็วของเทคโนโลยี คนไทยรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากชาติตะวันตกมีความมั่นใจกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด ผู้นำรุ่นใหม่พึงมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล คิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ ท้าทายความเชื่อเก่าๆ ที่ได้รับการพิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่ถูกต้อง กล้ามีความเห็นที่แตกต่างจากผู้อาวุโส
ถามว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ดิฉันคิดว่า การกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก กล้าท้าทาย ความคิดโดยไม่จำเป็นต้องท้าทายบุคคล เป็นเรื่องที่ลูกหลาน นักเรียนนิสิตนักศึกษา ลูกจ้าง พนักงานและประชาชนทั่วไป เป็นคุณสมบัติที่ควรมี มิฉะนั้นโลกของเราคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามาจนทุกวันนี้ หากเราคงยังเชื่อว่าโลกแบน พระอาทิตย์หมุนรอบโลก เราคงไม่ได้มีการส่งยานอวกาศไปสำรวจโลกอื่น เพื่อแสวงหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้ชาวโลกที่ได้ทำลายโลกนี้ไปมากมายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความเห็นแก่ตัว
ประเด็นอยู่ที่ว่าเราควรมีความมั่นใจและความกล้าในการคิด พูด ทำ เพียงใด และแสดงออกอย่างไรจึงจะเหมาะสม พอดีเพื่อสร้างผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถบริหารความมั่นใจ และความกล้าได้พอดีในทุกสถานการณ์ ผู้นำบางคนมั่นใจจนออกอาการอวดดี ก้าวร้าว ขัดแย้งกับคนรอบข้างจนเสียงาน และเสียตำแหน่ง ในขณะที่ผู้นำหลายคนก็อ่อนน้อมจนไม่มีจุดยืน เสียงาน เสียความเชื่อถือที่ได้รับจากผู้อื่น เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยการฝึกอบรมจากผู้มีประสบการณ์ เริ่มจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ เพราะกว่าจะมาถึงมือนายจ้างหรือโค้ช ผู้บริหารมันก็อาจจะยากสายเกินแกงไปเสียแล้ว
เราจึงได้เห็นภาพเด็กเล็กๆ ในโรงเรียนที่ได้รับการอบรมให้กล้าแสดงออก จนเด็กพยายามแสดงออก ซึ่งความสามารถมากเกินไป ข่มเพื่อนฝูง ยึดเวทีในการแสดงเรียกร้องความสนใจเพียงคนเดียว เมื่อเป็นเด็ก จึงอาจไม่ถูกตำหนิ คนทั่วไปมองดูแล้วขำๆ ว่าเด็กแก่แดด แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ในที่ทำงาน หรือในที่ประชุมชนพูดอยู่คนเดียวเพราะเชื่อว่าตนเองรู้ดีกว่าคนอื่น คนรอบข้างจะรู้สึกอย่างไร? เชื่อว่ามีตั้งแต่ชื่นชมเสมอ ดีจังได้เห็นคนเก่งแสดงออก หรือหมั่นไส้นิดๆ ว่าช่างโอ้อวดตนเอง รู้แล้วว่าเก่ง แต่ไม่ต้องโชว์ทุกงานได้ไหม หรือเบื่อเซ็งที่ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงออกบ้าง หรือเบื่อและเหม็นหน้าขนาดหนัก
ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้แทนที่จะได้รับความชื่นชมขอบคุณจากคนรอบข้าง กลายเป็นได้รับการต่อต้านแทน ดังนั้นผู้นำทุกท่านจึงควรประเมินคะแนนนิยมที่คนรอบข้างมีต้อท่านเป็นระยะๆ ว่าความมั่นใจและความถ่อมตนของท่าน ได้รับการตอบรับอย่างไร เพื่อปรับสมดุลให้เหมาะกับกาลเทศะ
- ถ่อมตนดีกว่าอวดตน
ในภาพรวมเรื่องนี้จะได้รับความชื่นชอบมากกว่าการอวดตน ไม่จพเป็นต้องอ้างถึงวัฒนธรรมของไทยและเอเชีย แต่ในโลกตะวันตก อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา นักบริหาร ผู้นำ ตลอดจนนักวิชาการด้านภาวะผู้นำ และวัฒนธรรมองค์กรรุ่นลายครามอย่าง "เอ็ดการ์ ไชน์" ได้แต่งหนังสือกับบุตรชาย เรื่อง "ผู้นำถ่อมตน - พลังแห่งสัมพันธภาพ ความเปิดเผย และความไว้วางใจ" (Humble Leadership: The Power of Relationships, Openness, and Trust) แสดงมุมมองว่า ช่องว่างระหว่างผู้นำและลูกน้องมันหดตัวเล็กลงเรื่อยๆ ภาวะผู้นำที่ดีคือการมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิด มีความเป็นส่วนตัวกับลูกน้อง มีการสื่อสารแบบเปิดและเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้การประสานงาน การแก้ปัญหาต่างๆ และการสร้างนวัตกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ผู้นำในยุคดิจิทัลต้องมีจินตนาการใหม่ออกนอกกรอบแนวคิดดั้งเดิม ต้องตระหนักว่า ในยุคนี้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในทีม การสื่อสารที่ได้รับผลกระทบจากความรวดเร็วของเทคโนโลยี ความหลากหลายของพนักงาน (Diversity) และความแตกต่างของวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ในและนอกองค์กร ที่ล้วนเรียกร้องให้ผู้นำต้องมีความถ่อมตน เปิดใจที่จะเข้าใจว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ มีผลกระทบต่อความคิด ความต้องการ และกระบวนการทำงานของทีมอย่างไร
ผู้นำทุกระดับต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความยืดหยุ่น (Agility) ของความคิดและการทำงาน ให้เกียรติลูกทีม กระตุ้นให้คนคิดต่าง ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกทีมรู้สึกมั่นใจ สบายใจและปลอดภัยที่จะคิดต่าง ลองผิดลองถูก โดยผู้นำลดบทบาทการนำ การสั่ง การควบคุม แต่เพิ่มบทบาทเป็นผู้สนับสนุนและ ให้คำปรึกษาเพื่อสร้างโอกาสให้ลูกทีมได้คิด พูด ทำเต็มศักยภาพ
ซึ่งบทบาทใหม่นี้ท้าทายและยากกว่าบทบาทเดิมๆ ที่ผู้นำหลายคนชินกับการผูกขาดทางความคิดและการตัดสินใจ ไม่ไว้ใจใครนอกจากตนเอง เป็นนักสมบูรณ์ แบบนิยม (Perfectionist) ทนความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ ลักษณะแบบนี้ทำให้มั่นใจในตนเองมากจนกลายเป็นคนอวดตน เห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง เปิดใจยาก นำไปสู่พฤติกรรมชอบควบคุม หนักเข้าก็ชอบสั่งการ เพราะคิดว่าจะเร็วกว่าการมานั่งประชุมฟังความเห็นที่แตกต่าง แต่ก็ไม่จริงเสมอไป ถ้าเจอการต่อต้านเงียบ การชอบควบคุม ชอบสั่ง ไม่ช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นให้กับตนเอง ทีมงานและองค์กรในยุคดิจิทัลต้องการความยืดหยุ่น เพราะอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงเร็วแบบไม่ทันตั้งตัวเสมอ ผู้นำที่รู้จักถ่อมตน ยอมรับว่าตนเองไม่รู้ ไม่เก่งทุกอย่าง จะรับฟังมากขึ้น มีมุมมองที่กว้างขึ้น ให้อภัยตนเองและคนอื่นได้มากขึ้น รับความผิดพลาดได้มากขึ้น ปรับตัวแก้ไขปัญหาความผิดพลาดได้เร็วขึ้น
- รู้จักกาลเทศะ (Timeliness)
คำนี้สะกดไม่ยากแต่สอนยาก แปลว่ารู้ว่าควรทำอะไรที่เหมาะสมกับบุคคลหรือสถานการณ์ต่างๆ เรื่องหลายเรื่องของกาลเทศะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความนิยมของคนในแต่ละสังคม ไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องของผิดถูกที่ต้องศึกษาท่องจำว่าในวงการนี้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด ผู้นำที่ปรับตัวเก่งคือผู้ที่รู้กาลเทศะ เนื่องจากในสัปดาห์นี้เราเน้นเรื่องของความมั่นใจ และความถ่อมตน จึงขอคุยเรื่องกาลเทศะ สำหรับการแสดงความมั่นใจและถ่อมตนเป็นหลักนะคะ มีโอกาสจะคุยเรื่องกาลเทศะอย่างละเอียดในครั้งต่อไป
โดยทั่วไปสังคมยกย่องเอ็นดูผู้นำที่รู้จักถ่อมตนมากกว่าอวดตน เป็นเรื่องสมควรที่ผู้นำเก่งๆ ไม่ควรอวดตัวเองมากเกินไป แต่ในสถานการณ์ที่ต้องแสดงความสามารถในงาน ต้องนำเสนองาน ก็จงมีความมั่นใจที่จะนำเสนอความสำเร็จที่ได้รับการยกย่อง แสดงรางวัลที่ได้รับให้ลูกค้าหรือผู้ที่รับฟังอยู่รู้สึกมั่นใจเชื่อถือในคุณภาพของตัวเรา งานของเราและองค์กรของเรา
แต่การแสดงความสามารถ ไม่ได้หมายถึงการบอกว่าผู้อื่นหรือคู่แข่งไม่มีคุณสมบัติหรือไม่มีความสามารถอย่างไร หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ผู้อื่นในทางลบ การนำเสนอ ปัจจัยที่สถาบันที่รับรองมาตรฐานงานให้ผู้ฟังได้ทราบ และชี้แจงว่างานของเราได้รับมาตรฐานในปัจจัยบ้างเป็นเรื่องควรทำ ส่วนผู้อื่นขาดมาตรฐานในปัจจัยใด ให้คนฟังตัดสินเอง ไม่ต้องไปจี้จุดจับผิด เว้นแต่ได้รับการเรียกร้องให้ชี้แจงเปรียบเทียบก็ทำด้วยหน้าตา น้ำเสียงธรรมดาๆ ไม่เหยียดหยามเยาะเย้ย ดูถูกผู้ที่ด้อยกว่า ถือเป็นมารยาทที่ผู้นำพึงรักษา พึงตระหนักว่าสังคมไทยไม่นิยมผู้ชนะที่เหยียบย้ำผู้อื่น เผลอๆ อาจเห็นใจและไปเทใจให้ผู้แพ้ก็ได้
อยากทราบว่าตนเองเป็นผู้นำที่มีความมั่นใจและถ่อมตนเหมาะสมหรือไม่ ให้ลองสอบถามความเห็นคนใกล้ตัวที่ไว้ใจที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่ทำงานได้ การรับฟัง คำประเมินอย่างเปิดใจเป็นก้าวแรกของความถ่อมตน...เพื่อความเจริญในวันหน้าค่ะ