รู้จัก 'สังเคราะห์แสง' จาก 'Portrait of Charoenkrung'
เพราะเชื่อว่าภาพถ่ายควรจบลงที่การปริ้นท์ลงบนแผ่นกระดาษที่จับต้องได้ ไม่ใช่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ กลุ่มช่างภาพ 4 คน จากโรงเรียนสังเคราะห์แสงจึงตระเวนถ่ายภาพผู้คนในย่านเจริญกรุงแล้วนำมาล้าง อัดขยายลงบนกระดาษ จัดแสดงในนิทรรศการPortrait of Charoenkrung
แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช 1 ใน 4 ของโรงเรียนสังเคราะห์แสง ซึ่งประกอบไปด้วยโต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์และ เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน กล่าวถึงการรวมตัวของคนทั้งสี่ที่มีความฝันต่างกัน คือ
“โต้เป็นช่างภาพโฆษณาที่อยากทำแมกกาซีน เอ็กซ์ หรือ ฉลามเอ็กซ์อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติเป็นเซียนขาวดำที่อยากทำห้องมืด ตุลย์เป็นช่างภาพที่มีความฝันว่าอยากเปิดโรงเรียนสอนถ่ายภาพให้กับคนที่ไม่เรียนมาทางด้านการถ่ายภาพแต่รักในการถ่ายภาพ ให้ถ่ายภาพอย่างสนุกและรักในภาพถ่ายของตัวเอง ส่วนผมเป็นชอบทำกิจกรรม ฝันอยากทำกิจกรรมถ่ายภาพที่มีอิมแพคกับสังคม”
แบงค์ ทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟของนิทรรศการ Portrait of Charoenkrungส่วนอาชีพหลักเป็นช่างภาพภาพยนตร์ (เจ้าของรางวัลนาฏราช ปี 2562 สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม จากละครเรื่อง “เลือดข้นคนจาง”และรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม ปี 2561 จากภาพยนตร์เรื่อง “มะลิลา”)
เดิมทีโรงเรียนสังเคราะห์แสดงเปิดดำเนินการโดยตุลย์แต่เพียงผู้เดียว โดยตั้งอยู่ที่สวนจตุจักร เมื่อได้แนวร่วมจึงย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่สามย่าน เปิดเป็นสังเคราะห์แสงเวอร์ชั่น 2 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2020 ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ให้โจทย์ในการผลักดันธุรกิจสร้างสรรค์ด้านถ่ายภาพและฟิล์มแลบ ช่างภาพ 4 คนจึงมาระดมความคิดแล้วได้ข้อสรุปว่าต้องโฟกัสไปที่ “คน” ไม่ใช่อาคารบ้านเรือน หรือ สถาปัตยกรรม
“ผมปิ๊งโปสเตอร์หนังเกาหลีเรื่องParasite ทำไมโปสเตอร์หนังนี้ถึงดังและสื่อสารคนได้ทั่วโลก ยุคหนึ่งเราเคยมองว่าถ่ายรูปครอบครัวแบบนี้มันเชย แต่พอโลกมันหมุนมุมมองก็เปลี่ยน ผมส่งไอเดียนี้เข้าไปในไลน์กรุ๊ปสังเคราะห์แสง พวกผมมีกฎว่าถ้าจะทำอะไรต้อง4ต่อ0เท่านั้น
ปรากฏว่า 4 ครบ ตกลงกันที่ภาพถ่ายครอบครัวเหมือนเวลาที่เราเข้าไปบ้านใครสักคน เราอยากจะรู้จักคนในบ้านเขา เราก็ไปดูรูปครอบครัวเขาบนฝาผนัง”
ต้นคิด 4 คน แต่ทำงานเป็นทีมใหญ่ไม่ต่างจากงานโฆษณา เพราะมีทีมรีเสิร์ชข้อมูลลงพื้นที่เจริญกรุง ตลาดน้อย ดังนั้นก่อนลงมือถ่ายภาพของแต่ละครอบครัวทีมงานจะได้รับทราบประวัติที่มาของแต่ละบ้าน อันเป็นโจทย์ที่พวกเขาต้องหาคำตอบแล้วสื่อสารออกมาบนภาพถ่าย 1 ภาพ และพวกเขาก็เอาอยู่ชนิดอยู่หมัด
“เริ่มต้นถ่ายภาพแรกที่ร้านเอี๊ยะแซ เราเถียงกันว่าจะถ่ายในบ้านหรือนอกบ้านดี ครอบครัวเขาจะมากันกี่คน ถ้ามากันครบ ต้องถ่ายกันหน้าบ้าน เพราะความครบคือสำคัญ เรื่องเราชัดเจนเราอยากให้เห็นภาพทายาทรุ่นที่ 3 รุ่นที่ 4 และ 5 ซึ่งสืบทอดกิจการร้านขายยาจีน โดยมีหลานสาวที่เรียนแพทย์แผนจีนอยู่ด้วย”
เมื่อภาพทำหน้าที่เล่าเรื่องราวได้ครบถ้วนทั้งเนื้อหาและอารมณ์ ภาพครอบครัวเอี๊ยะแซร้านยาในตำนานจึงเป็นต้นแบบในการทำงานและเป็นภาพอ้างอิงให้ชาวเจริญกรุงได้เข้าใจ จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะบันทึกภาพ 30 ครอบครัว ในที่สุดต้องเพิ่มเป็น 50 ครอบครัว
“ตลาดน้อยเกิดมาจากการค้าขายส่วนหนึ่งที่ล้นมาจากฝั่งสำเพ็ง อีกส่วนหนึ่งตลาดน้อยเกิดมาจากท่าเรือท่าเรือเริ่มมาจากบ้านโซวเฮงไถ่ที่มีท่าน้ำของตัวเอง ทำให้เกิดอาชีพการทำสมอเรือ พอเพื่อนที่ทำข้อมูลเล่าให้ฟัง เราก็มีภาพในหัวคิด ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ฝ่ายข้อมูลบอกว่ามีผู้คนแล้ว ต้องมีเรื่องราวของศาสนา และต้องมีสถานทูตด้วย เพราะสถานทูตที่มาตั้งตรงนี้นำมาซึ่งส่วนราชการ ชาวต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ ท้ายที่สุดมี new comerที่ย้ายเข้ามาอยู่ในย่านนี้ด้วยก็จะกลายเป็นอนาคตของย่านนี้ต่อไป”
สำหรับเบื้องหลังการทำงาน แบงค์เล่าว่าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปถ่ายรูปที่วัด มัสยิด หรือ ห้างร้านใดๆล้วนได้รับการดูแลทั้งอาหารคาวและหวาน แถมยังได้ขนมอร่อยกลับไปกินที่บ้านอีกไม่น้อย
นิทรรศการ Portrait of Charoenkrung จัดแสดงอยู่ด้วยกัน 5 จุด ได้แก่
ผนังอาคารหน้าร้านวัวทองโภชนา เจริญกรุง 45 เป็นการนำภาพทุกภาพมาจัดเรียงรวมกันด้วยเทคนิค photomontage บอกเล่าชีวิตเรื่องราวของผู้คนในย่านนี้
โรงพิมพ์นสพ.ซิงจงเอี๋ยนรายวัน โรงพิมพ์เก่าแก่ที่พิมพ์หนังสือพิมพ์ให้กับสมาชิกเท่านั้น และไม่เคยรับงานพิมพ์อื่นใดมาเลยตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ไม่เพียงจะเปิดสถานที่ให้เป็นที่จัดแสดงผลงานภาพถ่ายส่วนหนึ่งแล้ว ทางโรงพิมพ์ยังพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษขึ้นเพื่อเป็นสูจิบัตรสำหรับนิทรรศการครั้งนี้อีกด้วย
กำแพงในตรอกข้างศาลเจ้าโรงเกือก จัดแสดงภาพถ่ายชุด Mr.Charoenkrung โดย ช่างภาพผู้หลงใหลในกล้องฟิล์ม 49 คน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนายเจริญกรุง ที่เป็นเหมือนคุณปู่ใจดีวัย 150 ปี ผ่าน ผลงานภาพถ่ายที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ลงบนแผ่นโลหะ
Pop up Studio ในซอยวาณิช 2 มีการจัดแสงแบบสตูดิโอในร้านเซียงกง เปิดโอกาสให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาเข้ามาถ่ายรูปได้ โดยมีบริการปริ้นท์รูปให้ฟรีด้วย
ท่าน้ำภาณุรังษี สถานที่จัดแสดงนิทรรศการหลักภายในอาคาร 3 ชั้น ที่แม้จะอยู่มุมไกลสุดของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพในปีนี้ แต่กลับพบว่ามีผู้คนเข้าชมนิทรรศการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวเจริญกรุงที่แทบจะยกครอบครัวมาชมภาพถ่ายด้วยกัน
“ผลตอบรับ มันทะลุมิติมากกว่าที่เราคิดไปเยอะเหมือนกันครับ” แบงค์ตอบด้วยรอยยิ้ม
“ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีคนมาดูเยอะเพราะว่ามันอยู่ไกลมาก มีอากงอาม่านั่งแท็กซี่มาดูเขาบอกว่าเขาเคยอยู่ในย่านนี้มาก่อน ดูรูปแล้วก็เล่าให้ฟังหมดเลยว่าใครเป็นใคร เขาขอบคุณเราที่ทำให้คิดถึงความทรงจำในอดีต หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ชัดเจนว่าคนที่มาดูคนที่เข้ามาดูนิทรรศการไม่ใช่คนที่มาเที่ยวย่านแต่ว่าเป็นคนในย่าน”
หลังจากจบเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2020 ทีมงานสังเคราะห์แสงจะนำภาพถ่าย Portrait of Charoenkrung ไปมอบให้เจ้าของภาพถึงที่บ้าน
“ผมเชื่อว่าภาพเหล่านั้นทำหน้าที่ของมันได้อย่างชัดเจน ภาพถ่ายควรจบลงที่การปริ้นท์ลงบนกระดาษ เพื่อเป็นที่ระลึก เป็นความทรงจำ”
ภาพถ่ายครอบครัวบนผนังที่อาจดูเหมือนเชยในช่วงเวลาหนึ่ง บัดนี้ไม่ว่าใครที่ได้เห็นก็อยากจะมีภาพถ่ายครอบครัวที่สื่ออารมณ์และความสัมพันธ์ได้อย่างครบถ้วนสักภาพประดับฝาบ้าน คุณก็คิดเช่นกันใช่ไหม