วัดราชบพิธฯ วิจิตรศิลปกรรมกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์-งานประดับมุก
ประวัติความเป็นมาของ วัดราชบพิธฯ ความงามวิจิตรของงานตกแต่งพระอุโบสถ พระวิหาร พระมหาเจดีย์ งานศิลปกรรมกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ลายไทยประเพณีผสานลายดอกไม้-ใบไม้อย่างตะวันตกอันลือลั่น และงานประดับมุกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์สุดบรรจง
ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิด ‘ราชวรวิหาร’ เมื่อพ.ศ.2412 สืบเนื่องจากทรงมีพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่ และทรงปฏิบัติตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาหรือทรงปฏิสังขรณ์พระอารามเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่มที่ 11 พ.ศ.2466 ซึ่งเป็นงานพระนิพนธ์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดราชบพิธฯ ไว้ว่า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินที่เคยเป็นวังของ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ’ และบ้านเรือนราษฎรริมคลองสะพานถ่าน เพื่อสร้างเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม และโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง ทรงก่อพระฤกษ์สร้างวัดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2412
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงเป็นช่างเอกผู้ปั้นหล่อ ‘พระสยามเทวาธิราช’ และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างสิบหมู่
หลัง ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ’ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ.2428 รัชกาลที่ห้าโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เป็นแม่กองอำนวยการสร้างต่อ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงพระปรีชาในด้านงานช่าง ทรงร่วมรับหน้าที่บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี พ.ศ.2425 และทรงรับผิดชอบงานโยธาในการก่อสร้าง ‘พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย’ เป็นอาทิ
วัดราชบพิธฯ ดำเนินการก่อสร้างมาจนเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เป็นแม่กองอำนวยการก่อสร้าง ดำเนินการส่วนที่ยังค้างอยู่จนแล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์
ในการสร้างวัดราชบพิธฯ รัชกาลที่ห้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในพระอารามอย่างวิจิตรงดงาม ด้วยการผสมผสานระหว่าง สถาปัตยกรรมไทย และ ตะวันตก ได้อย่างลงตัว
ทรงกำหนดการวางผังพระอารามตามอย่างโบราณที่ใช้ พระมหาเจดีย์ เป็นหลักสำคัญ แล้วจึงสร้าง พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศ และ พระระเบียงคด ล้อมรอบ
พระมหาเจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ถ่ายแบบมาจากเจดีย์ทรงระฆังอยุธยาตอนกลาง จัดเป็นทรงระฆังแบบอยุธยาแท้ที่มีลักษณะเฉพาะ คือการใช้ มาลัยเถา รองรับองค์ระฆัง และมี เสาหาร ล้อมรอบก้านฉัตร แต่มีส่วนที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่ การเจาะช่อง จระนำ (ซุ้มคูหา) สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่ฐานประทักษิณ จำนวน 14 ซุ้ม
องค์พระมหาเจดีย์ทั้งหมดตั้งแต่ฐานไพทีไปจนกระทั่งถึงยอด ประดับด้วย กระเบื้องเคลือบ ทั้งองค์ เป็นกระเบื้องแบบเบญจรงค์ แต่ละส่วนตกแต่งด้วยลวดลายหลายประเภท โดยรวมเรียก ลายแผลง หรือ ‘ลายแผง’ เป็นลวดลายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สี่เหลี่ยมจัตุรัส เช่น ลายกลีบบัว ลายเทพพนม ลายดอกไม้-ใบไม้ทั้งแบบไทยประเพณี แบบตะวันตก และแบบผสมผสานกัน
กล่าวคือ โดยรอบตั้งแต่ฐานถึงชั้นประทักษิณ เป็นลายดอกไม้ประเภท ลายก้านแย่ง (ลายดอกไม้-ใบไม้) พื้นสีเหลืองทอง ลวดลายในชุดแบบเบญจรงค์
ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดประดับ กระเบื้องเคลือบสีเหลือง ไม่ประดับลวดลาย ถือเป็นพัฒนาการอย่างใหม่ของงานช่างในการสร้างเจดีย์ เพราะสมัยก่อนใช้การ ‘ลงรักปิดทอง’ หรือทาสี ‘น้ำปูน’ ที่เป็นสีขาวเท่านั้น จนมาถึงรัชกาลที่ห้าจึงเปลี่ยนมาเป็นกระเบื้องเคลือบ ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและงดงามยิ่ง
พระอุโบสถ
สร้างตามแบบประเพณีนิยมที่มีมาแล้วแต่อดีต ก่อผนังสูง ผนังทั้งสี่ด้านประดับ กระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพพนม เต็มพื้นที่ทั้งหมด ตามประวัติกล่าวว่า พระอาจารย์แดง จาก วัดหงส์รัตนาราม เป็นผู้เขียนลายต้นแบบและส่งไปเผาที่เมืองจีน
หลังคาพระอุโบสถเป็น ‘หลังคาซ้อนชั้น’ ด้านละ 2 ชั้น ประดับเครื่องลำยองครบองค์ประกอบล้วนลงรักปิดทองประดับกระจก หน้าบันด้านหน้าอัญเชิญ พระราชลัญจกรรัชกาลที่ห้ารูปพระจุลมงกุฎ ประดิษฐานเหนือพานรองรับ เป็นลายประธานกลางหน้าบัน ซ้ายขวาประดิษฐานพระแสงขรรค์คู่เหนือช้าง 7 ช้าง (จำนวนช้างเผือกที่ปรากฏในแผ่นดินรัชกาลที่ห้า) ขนาบข้างด้วยฉัตรเจ็ดชั้นโดยมีราชสีห์และคชสีห์ประคองซ้ายขวา ล้อมรอบด้วยลายกระหนกเปลวเต็มพื้นที่
หน้าบันของมุขโถงที่อยู่ต่ำลงมา เป็นเครื่องไม้แกะสลัก พระนารายณ์ทรงครุฑ ลงรักปิดทอง ล้อมรอบด้วยลวดลายกระหนกและประดับกระจกเต็มพื้นที่
งานตกแต่งภายในมีลักษณะพิเศษเหมือนโบสถ์คริสต์ในศิลปะแบบโกธิค ฝ้าเพดานเป็นวงโค้ง ประดับลวดลายใบไม้-ดอกไม้แบบตะวันตก มีเสาเซาะร่องแบบศิลปะตะวันตกรองรับ สีพื้นเป็นสีเขียว ลวดลายและเสาเซาะร่องเป็นสีทอง
ประตูและหน้าต่างพระอุโบสถมีลักษณะเป็น ซุ้มทรงยอดปราสาท ตามแบบประเพณีนิยมที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวซุ้มประกอบด้วยฐานสิงห์รองรับเสากรอบย่อมุม ส่วนโคนเสาประดับกาบพรหมศร ส่วนหัวเสาเป็นบัวแวงมีปลายสะบัด ตอนกลางเสาประดับลายประจำยามอก ส่วนยอดปราสาทมีลักษณะเป็นเรือนชั้น ซ้อนหลายชั้น ลดหลั่นกัน ยอดแหลมเหนือขึ้นไปเป็นเหม ส่วนยอดเป็นทรงคลุ่มเถาปลีและปลียอด คล้ายพระที่นั่งต่างๆ ที่เป็นทรงปราสาทในพระบรมมหาราชวัง
บานประตู-หน้าต่างเป็นงาน ประดับมุก ลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นหนึ่งจาก 5 ตระกูล เรียงจากบนลงล่าง ได้แก่ นพรัตนราชวราภรณ์, มหาจักรีบรมราชวงศ์, ปฐมจุลจอมเกล้า, มหาวราภรณ์ และ มหาสุราภรณ์ แต่ละสำรับประกอบด้วยสายสะพาย ดวงตรา ดารา และสังวาลวางทาบบนสายสะพาย
เฉพาะบานประตูพระอุโบสถด้านหน้า หากสังเกตเหนือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 'นพรัตนราชวราภรณ์" ช่างมุกแกะภาพ พรหมจตุรพักตร์ ประดับไว้ที่มุมบนทั้งเบื้องซ้ายและขวา และยังแกะสลักภาพเรียงเป็นคู่ๆ ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละสำรับตามลำดับ ดังนี้ เทพพนม เทพธิดาฟ้อน กินนรรำ หนุมานเหาะ และ อินทรชิตเหาะ
บานประตู-หน้าต่างประดับมุกชุดนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในงานประดับมุกชิ้นเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยช่างมุกต้องอาศัยความวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งในการฉลุชิ้นมุก เฉพาะลวดลายของแพรแถบสายสะพาย ต้องใช้มุกชิ้นเล็กๆ จำนวนนับไม่ถ้วนที่จะล้อให้มีลวดลายเหมือนแพรแถบที่มีริ้ว รวมทั้งสังวาลซึ่งมีลวดลายวิจิตร
บานประตู-หน้าต่างมุกนี้ เป็นฝีพระหัตถ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ทรงกำกับกรมช่างมุกราวพ.ศ.2421-2434
แต่เดิมบานประตู-หน้าต่างมุกที่พระอุโบสถมีไม่ครบทุกบาน จึงใช้บานไม้แกะสลักลายแทนไว้
ต่อมาในพ.ศ.2465 พระทายาทได้นำบานประตูหน้าต่างมุกซึ่งทรงทำค้างไว้มาถวาย ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า’ เจ้าอาวาสขณะนั้น จึงได้ซ่อมแซมบานมุกจนสำเร็จ และนำบานประตูหน้าต่างไม้จำหลักเดิมของพระอุโบสถไปติดเปลี่ยนที่ ‘พระวิหาร’ แทน
พระวิหาร
มีขนาดและลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ ตามการออกแบบผังให้เกิดความสมมาตรกันทั้งสองด้าน คือมีเจดีย์ประธานอยู่ตรงกลาง มีระเบียงกลมล้อมรอบ มีพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า และพระวิหารอยู่ด้านหลัง
งานตกแต่งภายใน ‘พระวิหาร’ เดิมมีลวดลายเฉพาะเพดาน ผนังเป็นพื้นสีขาว เมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (พ.ศ.2525) จึงมีการทำผนังใหม่ให้มีงานประดับตกแต่งผนังระหว่างช่องหน้าต่างเป็นลาย ‘อุณาโลม’ สลับกับอักษรย่อ ‘จ’ พระนามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทาสีพื้นผนังเป็น สีชมพู ตามสีประจำวันพระบรมราชสมภพรัชกาลที่ห้า
งานประดับประตู-หน้าต่างที่เป็นลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นหนึ่งจาก 5 ตระกูล ไม่ใช่งานประดับมุก แต่เป็น งานจำหลักไม้ทาสี แต่ละดวงมีดาราสีทองอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยแพรแถบสายสะพายจับจีบเป็นวงกลม ผูกชายและห้อยดวงตราลงเบื้องล่าง ลงสีตามสีเครื่องราชอิสริยาภรณ์จริง ระหว่างวงสายสะพายประดับลายพรรณพฤกษา
พ.ศ.2563 ระหว่างวันที่ 23 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับการบันทึกไว้ว่า คณะวัดราชบพิธสถิตมหารสีมาราม ประกอบด้วยคณะสงฆ์ นำโดย เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ตลอดจนหน่วยงานภาคี เช่น โรงเรียนวัดราชบพิธ ราชบพิธสมาคม และองค์กรภาครัฐภาคเอกชน ได้ร่วมกันจัดงานสมโภช ศุภมงคลสมัย 150 ปีแห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อเผยแพร่ประวัติความเป็นมาและศิลปกรรมอันงดงามวิจิตรภายในพระอารามหลวงแห่งนี้ ซึ่งล้วนเป็นศิลปกรรมชั้นเอก มีความประณีตงดงาม ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อันแฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัด เพื่อสืบทอดคุณค่าความเป็นไทย และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนเป็นโอกาสอันดีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รู้จัก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มากขึ้น นำไปสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในสายตาของชาวต่างประเทศ เป็นชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย
งานศิลปกรรมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความวิจิตรเพียงส่วนหนึ่งของครูช่างไทยซึ่งฝากฝีมือไว้อีกหลายศาสตร์หลายแขนง อาทิ พระพุทธรูป ศาลาราย พลับพลาเปลื้องเครื่อง พระวิหารทิศ หอระฆัง ซุ้มและบานประตู พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ สุสานหลวง
และทุกส่วนได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาอย่างดีมาตลอดระยะเวลาร่วม 150 ปี
หมายเหตุ : ข้อมูลจากนิทรรศการ ‘งานสมโภชศุภมงคลสมัย 150 ปีแห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม’ และหนังสือ ‘นำชมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม’