ไขข้อสงสัย ‘โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง’ เกิดขึ้นได้ที่เปลือกตา!

ไขข้อสงสัย ‘โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง’ เกิดขึ้นได้ที่เปลือกตา!

ชวนรู้จักโรค “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” บางชนิดที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการ “หนังตาตก” ทำให้มองเห็นไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้เทปใสมาแปะเปลือกตาเพื่อป้องกันไม่ให้หนังตารบกวนการมองเห็น

หากคุณเห็นใครบางคนที่มีลักษณะตาปรือ หนังตาตก หรือมีการใช้เทปใสติดเปลือกตาเพื่อดึงให้หนังตาเปิดกว้างมากขึ้น อย่าเพิ่งทำท่าทางแปลกใจหรือไปบูลลี่พวกเขาเหล่านั้น ให้รู้ไว้เลยว่า.. พวกเขาอาจกำลังต่อสู้กับอาการป่วยของโรค “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” บนใบหน้าหรือที่เรียกว่า โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (Myasthenia Gravis : MG)

จริงๆ แล้ว “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง” มีอยู่ 2 ชนิดคือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิดเอแอลเอส (ALS) ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ตามร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก และกล้ามเนื้อลีบ และถัดมาคือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิดเอ็มจี (MG) เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอีกประเภทหนึ่ง มักเกิดกับกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณใบหน้า เกิดจากสาเหตุการทำงานสื่อสารกันระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลายผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบนใบหน้าอ่อนแรง เช่น กล้ามเนื้อเปลือกตา เป็นต้น

โดยเฉพาะ “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” ชนิดเอ็มจี (MG) มีความน่าสนใจตรงที่เป็นโรคไม่ร้ายแรง แต่กลับเป็นโรคที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? วันนี้จะชวนมารู้ลึกถึงสาเหตุ อาการของโรค และวิธีรักษาโรค “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” ชนิดเอ็มจี (MG) กันให้มากขึ้น

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) คืออะไร?

โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (Myasthenia Gravis : MG) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิดเอ็มจี เป็นคำมาจากภาษาละติน แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "grave muscular weakness" ซึ่งแปลเป็นไทยคือ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั่นเอง โดยมักเกิดกับกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณใบหน้า

158288855914

สาเหตุเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของคนๆ นั้นผิดปกติ จนไปทําลายตัวรับสัญญาณประสาทที่อยู่บนกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ เช่น กล้ามเนื้อเปลือกตา เป็นต้น จนทําให้เกิดอาการ "กล้ามเนื้ออ่อนแรง" เนื่องจากไม่สามารถรับสัญญาณประสาทที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อเปลือกตาอ่อนแรงและเกิดอาการ “หนังตาตก” จนรบกวนการมองเห็น นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อตาส่วนที่ช่วยในการกลอกตาผิดปกติ ซึ่งก็ส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ลึกลงไปของการเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) อย่างแน่ชัด มีเพียงการตั้งสมมติฐานว่า เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก เช่น ไวรัส อาจเป็นสาเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองไปทําลายตัวรับสัญญาณประสาทที่กล้ามเนื้อได้

อย่างไรก็ตาม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) จะสามารถดีขึ้นได้เองแล้วอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก คล้ายกับโรคภูมิคุ้มกันตัวเองชนิดอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไปการดําเนินโรคจะต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้ป่วยบางรายอาการอาจจะดีขึ้นได้ แต่บางรายอาการอาจจะคงอยู่หลายปีหรือตลอดไป

  • อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG)

อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) คือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ช่วยยก เช่น เปลือกตาและกล้ามเนื้อตา ทําให้เกิดหนังตาตกและเห็นภาพซ้อน หรือในบางรายก็มีอาการหนังตาตก ตาเหล่ รวมถึงการกลอกตาผิดปกติ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) จะวินิจฉัยได้ยาก เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติของการกลอกตานํามาก่อนการวินิจฉัยได้นานเป็นปี

นอกจากนี้ นพ.ธรณิศร์ ดีประเสริฐวิทย์ ประสาทจักษุแพทย์จากโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก ยังได้อธิบายถึงลักาณะของผู้ป่วยที่มีอาการ “หนังตาตก” จากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิด MG ไว้ในบทความวิชาการชิ้นหนึ่ง ซึ่งระบุว่า

- ผู้ป่วยอาจมีอาการหนังตาตกเพียงตาข้างเดียว หรืออาจเป็นทั้ง 2 ข้างโดยหนังตาตกไม่เท่ากันก็ได้

- หนังตาตกจะเป็นไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา จะเป็นมากในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น

- อาการมักจะดีขึ้นในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน หรือหลังจากหลับตาพัก

- กล้ามเนื้อกลอกลูกตา ทำให้มองเห็นภาพซ้อน

- บางรายเป็นที่กล้ามเนื้อมัดอื่นๆ บนใบหน้า ทำให้มีอาการปากเบี้ยว กลืนอาหารลำบาก หายใจอ่อนแรง เป็นต้น

158288898723

  • วิธีการตรวจหาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

1. ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายของโรคนี้ แพทย์จะทำการยืนยันคำวินิจฉัยโดยการตัดชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อไปตรวจ หากพบว่ามีปริมาณของตัวรับสัญญาณประสาทบนกล้ามเนื้อลดลง ก็แปลว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) จริง และพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) มักจะมีอาการเฉพาะที่กล้ามเนื้อตาหรือเปลือกตา

2. ฉีดสารเทนซิลอน

ตรวจด้วยวิธีฉีดสารเทนซิลอน (Tensilon) ที่มีฤทธิ์ลดการกําจัดสารสื่อประสาทที่รอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เข้าไปสู่เส้นเลือดดํา มักจะพบว่าผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงดีขึ้นอย่างชัดเจนทันที เช่น ตรวจพบหนังตา ยกขึ้นได้ปกติหรือกลอกตาได้ปกติทันทีหลังฉีดยา แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียคืออาจแปลผลได้ยากในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง

3. ตรวจด้วยน้ำแข็ง

การตรวจด้วยน้ำแข็ง (Ice test) หรือการนอนหลับพัก (Sleep test) อาจช่วยในการวินิจฉัยได้ หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นชัดเจน เช่น กล้ามเนื้อเปลือกตายกขึ้น การกลอกตาดีขึ้น หลังนอนพักหรือหลังใช้น้ำแข็งในการตรวจ

4. ตรวจโดยเครื่องนํากระแสประสาท

วิธีนี้ช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างละเอียดและมีความไวสูง คือ การตรวจการนํากระแสประสาทจากเส้นประสาทสู่กล้ามเนื้อ (Electromyogram; EMG) แต่วิธีนี้ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีความยุ่งยากจึงใช้ในการตรวจไม่บ่อยนัก การพยากรณ์โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) คล้ายกับโรคภูมิคุ้มกันตัวเองผิดปกติ (autoimmune conditions) ทั่วไปที่อาจมีอาการเพิ่มขึ้นและสามารถดีขึ้นได้เอง

158288856135

  • วิธีการรักษา

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) สามารถรักษาได้ด้วยยา (ยาเม็ดสำหรับรับประทาน) ที่มีฤทธิ์ลดการทําลายสารสื่อประสาทที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่อาจส่งผลในการลดอาการหนังตาตกและภาพซ้อนได้ไม่ดีนัก

นอกจากนี้ยังสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดต่อมไทมัส อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยบางราย ดังนั้นผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ควรได้รับการตรวจหาภาวะต่อมไทมัสโตผิดปกติ ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT chest)

ทั้งนี้โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) เป็นโรคเรื้อรัง ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงควรมาพบแพทย์และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาได้มากที่สุด

--------------------

อ้างอิง: 

http://www.nanosweb.org/files/public/Myasthenia%20gravis_thai.pdf

https://eent.co.th/articles/011/

https://www.honestdocs.co/what-is-myasthenia-gravis