ทำไมต้องเรียก 'ผีน้อย' ? เปิดที่มาฉายาแปลกที่คุณอาจไม่เคยรู้
ไม่ใช่แค่คำว่า ‘ผีน้อย’ เท่านั้นที่เป็นชื่อเรียกเฉพาะที่สื่อถึงแรงงานไทยผิดกฎหมาย แต่ยังมีฉายาหรือชื่อเฉพาะในการทำงานผิดกฎหมายแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน เรารวบรวมแต่ละคำมานำเสนอให้ทราบกัน ดังนี้
ไม่กี่วันมานี้มีรายงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ระบุว่า กลุ่มคนไทยผู้ลักลอบไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ หรือที่เรียกว่า ‘ผีน้อย’ เริ่มทยอยเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2563 ทำให้ทางการไทยต้องออกมาตรการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค ‘โควิด-19’ ที่อาจติดมากับคนกลุ่มนี้ จากประเด็นดังกล่าวทำเอาหลายคนหันมาสนใจเรื่องราวของ ‘ผีน้อย’ จนเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง
เชื่อว่าหลายคนคงรู้ความหมายและที่มาของคำว่า ‘ผีน้อย’ กันมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่? ไม่ใช่แค่คำว่า ‘ผีน้อย’ เท่านั้นที่เป็นชื่อเรียกเฉพาะที่สื่อถึงแรงงานไทยผิดกฎหมาย แต่ยังมีฉายาหรือชื่อเฉพาะในการทำงานผิดกฎหมายแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน เรารวบรวมแต่ละคำมานำเสนอนำให้ทราบกัน ดังนี้
- ‘ผีน้อย’
คำว่า ‘ผีน้อย’ เป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกกลุ่มคนไทยลักลอบเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ หรือสรุปง่ายๆ คือ เป็นคำที่ใช้เรียก “แรงงานผิดกฎหมาย” ในประเทศเกาหลีใต้ มีข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของไทย ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีคนไทยทำงานในเกาหลีใต้ประมาณ 160,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมี “ผีน้อย” มากถึง 140,000 คน
อาชีพที่ “ผีน้อย” ชาวไทยมักจะเข้าไปทำงาน ได้แก่ กลุ่มแรงงานในภาคการเกษตร, แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์, พนักงานขาย, พนักงานร้านนวด, ลูกจ้างทั่วไป เป็นต้น
ที่มาของคำว่า ‘ผีน้อย’ นั้นมีสันนิฐานว่าเริ่มใช้กันเองภายในกลุ่มคนที่ลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ จากนั้นจึงแพร่กระจายไปสู่บุคคลภายนอก
เมื่อตีความหมายตามหลักภาษาแล้ว คำว่า ‘ผีน้อย’ หรือ ผี นั้นแปลได้ว่า การไร้ตัวตน จับต้องไม่ได้ จึงสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของกลุ่มผีน้อย ที่ต้องลักลอบอยู่แบบผิดกฎหมาย ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ หรือทำธุรกรรมต่างๆ ได้เลย การกระทำต่างๆ จึงไม่ต่างอะไรกับการเป็นผี แต่ในบริบทสังคมไทยนั้น ‘ผีน้อย’ มักจะถูกใช้ไปกับกลุ่มแรงงานผิดกฏหมายที่ประเทศเกาหลีที่เดียว ส่วนแรงงานไทยผิดกฎหมายประเทศอื่นๆ อาจจะเรียกผีน้อยอยู่บ้างเช่นกัน แต่ภาพไม่ชัดเจนเท่า ผีน้อยในเกาหลีใต้
- โรบินฮู้ด
ไม่ใช่แค่เฉพาะเกาหลีใต้ประเทศเดียวเท่านั้นที่มีแรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่ในสหรัฐอเมริกาก็ถือเป็นประเทศยอดฮิตที่มีสถิติลักลอบเข้าไปค้าแรงงานผิดกฎหมายเช่นกัน กลุ่มคนเหล่านี้มักถูกเรียกหรือเรียกตัวเองว่า ‘โรบินฮู้ด’
เพจเฟซบุ๊ค ‘กลุ่มสาธารณะบ้านคนไทยในอเมริกา’ นิยามว่า โรบินฮู้ด คือ กลุ่มคนเข้าเมืองอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย หรือกลุ่มแรงงานเถื่อน (undocumented workers/ illegal workers) โดยใช้วิธีการเข้าไปในประเทศด้วยวีซ่าท่องเที่ยว แต่อยู่เกินกำหนด
ดังนั้น ‘โรบินฮู้ด’ และ ‘ผีน้อย’ คือกลุ่มคนที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน
ส่วนที่มาเหล่าของชื่อโรบินฮู้ดนั้นสันนิฐานว่ามาจากตำนานจอมโจรโรบินฮู้ด (Robin Hood ) ทางตอนเหนือของอังกฤษ ที่เป็นวีรบุรุษนอกกฎหมายชื่อดังที่มีชื่อเสียงจากการปล้นคนรวยเอาเงินไปช่วยคนจน คำว่า นอกกฎหมาย จึงอาจจะโยงเข้ากับกลุ่มคนที่ลักลอบเข้าแบบผิดกฏหมายดังกล่าว จึงอาจจะทำให้เกิดการเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นพวก ‘โรบินฮู้ด’ นั่นเอง
- มือปืน
คำว่า มือปืน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอาชีพมือปืนจริงๆ แต่หมายถึงคำศัพท์เฉพาะที่เอาไปเรียกกลุ่มคนรับจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนขับรถตู้โดยสาร หมายความถึงกลุ่มคนที่รับจ้างขับรถตู้โดยสารแบบไร้สังกัด ไร้บริษัท เรียกให้เข้าใจมากขึ้นก็คือ freelance ขับรถตู้
ลักษณะการทำงานคือเป็นมือขับรถตู้ในช่วงที่คนขับประจำไม่เพียงพอ หรือช่วงหน้าเทศกาลที่ผู้คนมีความต้องการโดยสารรถตู้เป็นจำนวนมาก จนคนขับรถตู้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่คนขับตัวจริงไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ หากเกิดเหตุฉุกเฉินเหล่านี้กลุ่มมือปืนรถตู้ก็จะถูกเรียกใช้งาน
โดยกลุ่มมือปืนรถตู้เหล่านี้มีความหลากหลายและมีความคลุมเครือทางกฎหมายอยู่มาก เพราะบุคคลที่สามารถขับรถตู้โดยสารได้นั้นจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่ประเภท 2 ที่สามารถขับรถสาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็น รถตู้ หรือรถหกล้อ
แต่ถ้าเหล่ามือปืนรถตู้ที่มีแค่ใบขับขี่รถประเภท 1 คือใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีใบขับขี่ประเภท 2 แต่ดันมารับจ้างขับรถตู้ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ส่วนคำว่ามือปืนที่เอามาใช้เป็นคำศัพท์เรียกเฉพาะนั้น สันนิฐานว่ากับลักษณะสอดคล้องกับอาชีพของมือปืนที่ผิดกฎหมาย และการทำงานที่ไม่สามารถระบุเวลาหรือสถานที่แน่ชัดได้ จึงถูกนำมาเรียกกลุ่มนี้เหล่านี้เช่นเดียวกัน
- ฝิ่น - รับฝิ่น
คำนี้เป็นคำที่แพร่หลายในวงการอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทักษะความคิดสร้างสรรค์สายครีเอทีฟ เช่น นักเขียน คอลัมนิสต์ ครีเอทีฟโฆษณา ช่างภาพ เป็นต้น ส่วนนิยามของคำว่า ‘รับฝิ่น’ ก็คือ การทำงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานประจำ โดยเฉพาะจากบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทที่ตนเองสังกัดอยู่
โดยที่มาของคำนี้มาจาก 2 สาเหตุหลักคือ การผันเสียงมาจากคำว่า ฟรีแลนซ์ (Freelance) กลายเป็น ฝิ่น เพื่อเป็นคำเรียกเฉพาะ ใช้เมื่อต้องการหลีกเลี่ยงการพูดถึงโดยตรงเพื่อลดผลกระทบที่เกิดในที่ทำงานหลัก (ในกรณีที่เอางานเสริมมาทำในบริษัทประจำ)
นอกจากนี้กลุ่มในวงการครีเอทีฟยังนิยามที่มาของคำว่า ‘ฝิ่น’ เอาไว้ว่า มาจากการที่ทำงานเยอะ (ทั้งงานหลักและงานเสริม) จึงต้องใช้พลังงานเยอะ เหมือนดูดฝิ่นให้ร่างตื่นตัวมาทำงานให้เสร็จ
การทำงานแบบ ฝิ่น หรือรับฝิ่นนั้น ไม่ได้เข้าข่ายการผิดกฎหมาย เป็นเพียงการรับ ฟรีแลนซ์ เท่านั้น แต่ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นกับตัวบุคคลหรือองค์กรได้ ถ้างานนั้นกระทบกับงานหลักตามแต่เงื่อนไขของแต่ละองค์กร
โดยสรุปแล้วทั้ง 4 คำนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำเฉพาะในการเรียกสายอาชีพต่างๆ เท่านั้น ยังมีคำอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม.. ไม่ว่าจะทงานำอะไร หรือทำอาชีพไหนๆ ก็ควรทำงานอย่าซื่อสัตย์สุจริตและถูกกฎหมายดีกว่าลักลอบทำแบบผิดกฎหมายแน่นอน