'ผีน้อย' ไม่ได้มีแค่ที่ 'เกาหลีใต้' เปิด 5 ประเทศที่คนไทยลักลอบขายแรงงาน

'ผีน้อย' ไม่ได้มีแค่ที่ 'เกาหลีใต้' เปิด 5 ประเทศที่คนไทยลักลอบขายแรงงาน

"ผีน้อย" ไม่ได้อยู่แค่ใน "เกาหลีใต้" แต่ยังซ่อนตัวอยู่ในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อรายได้ที่มากกว่าประเทศบ้านเกิด

“ผีน้อย” คำเรียกแรงงานผิดกฎหมายของไทยที่แอบลักลอบไปทำงานที่ “เกาหลีใต้” ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ หากมองข้ามประเด็นเรื่อง “โควิด-19” มีกลุ่มคนไทยที่ตั้งใจลักลอบทำงานผิดกฎหมายเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ในอีกหลายแห่งทั่วโลก 

ข้อมูลย้อนหลังจากอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เคยเปิดเผยข้อมูลในปี 2560 การลงโทษทางทะเบียนโดยพักใช้/เพิกถอนใบอนุญาตจัดหางานและดำเนินคดีอาญากับบริษัทจัดหางานฯ ที่กระทำผิด โดยมีการระงับการเดินทางของผู้ที่จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่ระงับการเดินทางมากที่สุด 5 ประเทศในขณะนั้น คือ 1.เกาหลีใต้ 2.บาห์เรน 3.ญี่ปุ่น 4.สาธารณรัฐเช็ก และ 5.สิงคโปร์ 

แล้วผีน้อยจากไทยไปทำอาชีพอะไรในประเทศเหล่านี้ ? 

158333085634

1. เกาหลีใต้ 

เกาหลีใต้เป็นประเทศเป้าหมายอันดับ 1 ของ ‘ผีน้อย’ ที่หลายคนอ้างว่าทั้งทำงาน ได้เที่ยว ดูมีไลฟ์สไตล์ที่ดี โดยข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้พบว่าในปี 2018 มีคนไทยในเกาหลีใต้จำนวน 168,711 คน รวมนักท่องเที่ยวและคนที่อยู่เกินวีซ่า ขณะเดียวกันก็มีแรงงานที่ถูกกฎหมายอยู่ 24,022 คน

ข้อมูลจากเรื่อง "ผีน้อยไทยในเกาหลี ทางรอดจากสังคมไร้ทางเลือก" ที่มีการสัมภาษณ์ ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ระบุว่า แรงงานผีที่เขาได้เจอส่วนใหญ่ทำงานโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในกวางจู รองมา คือ แรงงานในภาคการเกษตร และร้านนวด โดยในกลุ่มตัวอย่างเป็นคนไทยจากภาคอีสานมากสุด รองมาคือภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคกลาง

ส่วนรายได้ที่กลุ่มเฉลี่ยประมาณ 46,000 บาทต่อเดือน หรือจากข้อมูลจากผู้ที่เป็นผีน้อยโพสต์ลงในเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดีย อ้างว่ามีค่าแรงวันละ 2,000 บาท ไปจนถึงวันละ 5,000 บาท 

2. บาห์เรน 

เป็นอีกประเทศที่ผีน้อยไทยนิยมไปหางาน โดยเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2562 มีคนไทยเดินทางเข้ามาทำงานในบาห์เรน จำนวน 8,000 คน เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายประมาณ 3,000 คน ที่เหลือเข้ามาแบบผิดกฎหมาย

สะท้อนว่า มีแรงงานไทยร่วม 5,000 คนที่อยู่ในสถานะผีน้อย ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวคราวการแก้ปัญหานี้อยู่บ่อยๆ เช่น กรณีที่มีคนไทยถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวอยู่ในบาห์เรน จำนวน 126 คน ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 โดนข้อหาอยู่เกินกำหนดวีซ่าท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีหญิงไทยถูกนายหน้าหรือผู้ควบคุมล่อลวงให้ลักลอบค้าบริการทางเพศโดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และเดินทางเข้ามาทำงานด้วย Visa on Arrival ซึ่งมีสิทธิอยู่ได้ 14 วัน เมื่ออยู่เกิน 14 วัน ก็จะให้เดินทางไปลงตราวีซ่าจากประเทศใกล้เคียง และกลับเข้ามาอีกครั้ง

งานส่วนใหญ่ที่ผีน้อยไทยในบาห์เรนนิยมคือ นวดไทย และนวดสปา ซึ่งในกลุ่มผีน้อยส่วนหนึ่งจะพ่วงขายบริการร่วมด้วย โดยถูกจูงใจด้วยรายได้ประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน

158333085622

3. ญี่ปุ่น

ชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะกรมการกงสุลสัญจรติดตามปัญหาคนไทยในประเทศญี่ปุ่น ช่วงระหว่างวันที่ 5-11 ก.ย. 2561 พบว่า คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมีประมาณ 70,000 คน จากการที่ได้รับแจ้งจากทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น ทราบว่าในเขตรับผิดชอบของสถานเอกอัครราชทูตฯ ล่าสุด มีคนไทยใช้วีซ่าท่องเที่ยวและไม่กลับ หนีไปทำงาน จำนวน 6,768 คน 

ส่วนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากาที่รับผิดชอบเขตคันไซ 7 จังหวัด ได้รับแจ้งคนไทยหนีวีซ่า จำนวน 5,500 คน เฉพาะโอซากา จำนวน 2,200 คน คนไทยที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวและหนีไปทำงาน มีทั้งไปทำงานตามที่ติดต่อกันล่วงหน้า หรือบางส่วนถูกหลอกมาค้าประเวณี ทำงานนวด งานด้านเกษตรกรรม และทำงานในร้านอาหาร โดยมีรายได้เฉลี่ยที่มักจะนำมาชวนผีน้อยไปทำงานในญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาท ต่อเดือน

4. สาธารณรัฐเช็ก

กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่ามีจำนวนคนไทยในสาธารณรัฐเช็กที่อยู่ในระบบ ราว 600 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานนวดแผนไทย และพนักงานร้านอาหารไทย ที่เหลือเป็นแรงงานในกิจการอื่นๆ แม่บ้าน นักศึกษา และคนไทยที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว 

นอกจากคนไทยที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เช็กยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นเป้าหมายของกลุ่มจัดหางานที่ไม่ถูกกฎหมายเพื่อส่งแรงงานไทยไปทำงานบริการ 

จนกระทั่งช่วงเดือน เม.ย. 2561 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเตือนคนหางานที่ต้องการไปทำงานนวดแผนโบราณที่สาธารณรัฐเช็ก ระวังถูกหลอกค้าประเวณี ซึ่งมีพฤติกรรมหลอกลวงหญิงไทยที่สมัครไปทำงานนวดแผนไทย แต่สุดท้ายกลับส่งให้ไปทำงานร้านนวดอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นร้านนวดอีโรติกแบบเอเชีย น่าจะมีการค้าประเวณีแอบแฝงอยู่ 

โดยรายได้เฉลี่ยของคนที่ทำงานนวดอย่างถูกกฎหมายในสาธารณรัฐเช็กเฉลี่ย 30,000-40,000 บาท ซึ่งคาดว่าเป็นตัวเลขที่ผู้จัดหางานนำมาชักชวนให้แรงงานไปทำงานแบบผิดกฎหมายเช่นกัน

158333111592

5. สิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศพบว่าเป็นเป้าหมายของกลุ่มจัดหางานไม่ถูกกฎหมาย แม้จะมีกฎหมายที่แรงและเข้มงวด แต่ด้วยค่าแรงที่ค่อนข้างสูงทำให้ยังมีคนไทยบางกลุ่มตั้งใจไปทำงานผิดกฎหมาย ใช้ชีวิตอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ

งานส่วนหนึ่งที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ที่มีคนที่เคยทำงานออกมาแชร์เรื่องราวอย่างต่อเนื่องคือ การทำงานกลางคืน มีทั้งเดินแบบ(ไม่ถึงเนื้อถึงตัว) ไปจนถึงการขายบริการ ที่มีโมเดลลิ่งช่วยจัดหาให้

รายได้เฉลี่ยมีเงินเดือน 1,XXX ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 22,680 บาท (ค่าเงิน ณ วันที่ 4 มี.ค.63) ไม่รวมค่าคอมมิชชัน โดยเป้าหมายรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,XXX ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 90,733 บาทขึ้นไป

เหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตบนเส้นทาง "ผีน้อย" มีทั้งมุมมองในความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยที่ทำให้ต้องยอมเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ค่าตอบแทนสูงกว่าค่าแรงในประเทศหลายเท่าตัว" คือแรงจูงใจให้คนไทยกลุ่มหนึ่งก้าวเข้าสู่การเป็นแรงงานแบบผิดกฎหมาย ยอมแลกกับความเสี่ยงในการใช้ชีวิต ไม่มีกฎหมายใดๆ คุ้มครอง ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัย สุขภาพ ที่สำคัญที่สุดคือยอมกลายเป็นผู้กระทำ “ผิดกฎหมาย” เสี่ยงต่อการถูกจับกุมหรือลงโทษตามกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศที่รุนแรงแตกต่างกันออกไป

เช่น กฎหมายเข้าเมือง (Immigration Act) สิงคโปร์เข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือการอยู่ในสิงคโปร์เกินกำหนด หากถูกจับ ผู้กระทำผิดจะต้องถูกจำคุกนาน 6 เดือน ถูกเฆี่ยนและถูกปรับแล้วแต่การพิจารณาของกองตรวจคนเข้าเมือง (Immigration and Checkpoints Authority)  

ยิ่งไปกว่านั้นการเป็น "ผีน้อย" ของคนกลุ่มหนึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาระหว่างประเทศ ที่ทำให้กลุ่มคนไทยที่ต้องการเดินทางไปในประเทศต่างๆ ถูกมองเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทำให้ถูกกักตัว สูญเสียโอกาสในการเดินทาง การทำงาน หรือท่องเที่ยว ที่อาจเรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย 

อ้างอิง dailynews , the101 , khaosod , thairath , thansettakijpantip