รู้ที่มา 'หน้ากากอนามัย' พร้อมเปิดนวัตกรรมใหม่สู้ภัย 'COVID'

รู้ที่มา 'หน้ากากอนามัย' พร้อมเปิดนวัตกรรมใหม่สู้ภัย 'COVID'

ชวนรู้จักวิวัฒนาการ "หน้ากากอนามัย" หลากหลายรูปแบบที่ชาวโลกใช้สู้ภัยโรคระบาดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเปิดนวัตกรรม "หน้ากากอนามัย" รุ่นใหม่ที่คนไทยคิดค้นได้ครั้งแรกท่ามกลางวิกฤติ "โควิด-19"

คนเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ต้องอาศัยปัจจัย 4 เป็นพื้นฐาน แต่วันนี้บอกเลยว่าแค่ปัจจัย 4 ยังไม่พอ! เมื่อชาวโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาด "โควิด-19" สภาพการใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคนี้จึงต้องพ่วงปัจจัยที่ 5 อย่าง "หน้ากากอนามัย" เข้ามาด้วย แถมยังลามไปถึงปัจจัยที่ 6 7 8 อย่างเจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ และปรอทวัดไข้อีกต่างหาก (อ่านเพิ่ม: ส่องไอเท็มยุค 2020 ของมันต้องมี..ถ้าอยากหนี 'COVID')

ในฐานะที่ "หน้ากากอนามัย" มีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันในยุคโรคระบาดครองเมือง เราจึงอยากชวนคุณมารู้จักที่มาและวิวัฒนาการของ "หน้ากากอนามัย" กันให้มากขึ้น รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับ "หน้ากากอนามัย" ที่คนไทยได้คิดค้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อสู้กับภัย "โควิด-19" ในครั้งนี้

  • หน้ากากป้องกันเชื้อโรครูปหัวนก ศตวรรษที่ 17

ย้อนกลับไปในอดีตมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า มนุษย์รู้จักการใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อเกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 ซึ่งยุคนั้นผู้คนในแถบยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับ "กาฬโรค" (Black death) ซึ่งระบาดไปทั่ว โดยแพทย์และพยาบาลในยุคนั้นก็ต้องต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาดไม่ต่างจากเราในยุคโรคระบาด โควิด-19

แพทย์ในสมัยนั้นจะเรียกกันว่า “หมอโรคระบาด” เวลาที่พวกเขารักษาคนไข้ก็จะใส่เครื่องแต่งกายปิดมิดชิด ประกอบไปด้วย ผ้าคลุมยาวปกปิดทั้งตัวตั้งแต่หัวถึงเท้า ถุงมือ รองเท้าบูธ หมวกปีกกว้าง และสวม "หน้ากากอนามัย" ซึ่งในยุคนั้นหน้ากากมีรูปร่างคล้ายส่วนหัวของนก มีจงอยคล้ายปากนกติดอยู่ด้านหน้าของหน้ากาก และมีช่องสำหรับเปิดปิดได้ ตรงบริเวณตาจะเป็นทรงกลมติดกระจกไว้คล้ายแว่นตา

ส่วนคุณสมบัติเฉพาะของหน้ากากชนิดนี้คือ บริเวณจงอยปากของหน้ากากนั้นใช้สำหรับใส่บรรดาดอกไม้และสมุนไพรเอาไว้เพื่อกันไม่ให้ “อากาศพิษ” ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคในเวลานั้น เข้าสู่ร่างกายได้ หน้ากากชนิดนี้ใช้เฉพาะแพทย์ผู้รักษาในวงแคบเท่านั้น ไม่ได้ใช้กันทั่วไป

158506252895

  • หน้ากากผ้าฝ้าย ยุคโรคระบาดแมนจูเรีย

ต่อมาในศตวรรษที่ 21 เกิดโรคระบาดขึ้นบนโลกอีกครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นในแถบเอเชียที่ประเทศจีน เรียกกันว่า "โรคระบาดแมนจูเรีย" ซึ่งเกิดการระบาดขึ้นเมื่อราวๆ ปี ค.ศ.1910 ครั้งนั้นพบว่ามีการระบาดของโรคแพร่กระจายไปยังเมืองหลายแห่งที่เป็นเขตรอยต่อระหว่างประเทศจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากเมืองแมนโจวลี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมองโกเลีย) แล้วก็ลามไปยังเมืองฮาร์บิน (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียง ประเทศจีน) และระบาดไปยังเมืองอื่นๆ ที่ทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ตัดผ่าน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหมือนคนเป็นโรคปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย และที่น่ากลัวที่สุดคืออัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 100% หมายถึงผู้ที่ติดเชื้อนี้จพบว่าเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับ "หน้ากากอนามัย" ที่เข้ามามีบทบาทในช่วงโรคระบาดแมนจูเรีย คือ หน้ากากอนามัยผ้าฝ้าย ถูกคิดค้นขึ้นมาใช้งานโดยแพทย์หนุ่มเชื้อสายจีนมาเลย์ที่ชื่อว่า Wu Liande ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดดังกล่าว โดยหน้ากากผ้าในยุดนั้นมีลักษณะเป็นผ้าฝ้ายรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 4 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว จำนวน 2 ชิ้น ซ้อนกัน ปิดคลุมส่วนจมูก ปาก ไปจนถึงคางของผู้สวมใส่ แล้วใช้ผ้าพันแผลหรือผ้ากอซขนาดกว้าง 6 นิ้ว ยาว 3 ฟุต พาดลงบนผ้าฝ้ายแล้วพันรอบคอผู้สวม

หน้ากากป้องกันโรคระบาดนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ในหลายโอกาส ทั้งตรวจรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ในหมู่บ้าน และขณะเผาทำลายศพผู้ป่วย นอกจากนี้ นายแพทย์คนดังกล่าวยังให้ผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปที่เสี่ยงจะติดเชื้อใส่หน้ากากชนิดนี้ด้วยเช่นกัน นับเป็นครั้งแรกของการใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการระบาดของโรคในวงกว้าง

158506192051

  • หน้ากากผ้า ยุคโรคระบาดไข้หวัดสเปน

ถัดมาไม่นานเพียง 8-9 ปี ก็เกิดโรคระบาดกับชาวโลกอีกครั้งนั่นคือ โรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปน ที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1918-1920 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากผิดปกติ มีผู้ได้รับผลกระทบ 500 ล้านคนทั่วโลก นับเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งในช่วงที่เกิดการระบาด แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษาคนไข้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยแบบผ้า ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา

อีกทั้งมีข้อมูลจากหน่วยสารสนเทศ โรงพยาบาลสงขลานนครินทร์ ระบุว่า วิวัฒนาการของ "หน้ากากอนามัย" แบบผ้า เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของ "ไข้หวัดใหญ่สเปน" ในปี ค.ศ. 1918 หรือประมาณช่วงปี พ.ศ. 2461 ทำให้การรักษาผู้ป่วยในช่วงนั้นแพทย์และพยาบาลต้องใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้ามาใช้ป้องกันการติดเชื้อในขณะรักษาคนไข้ 

รวมถึงมีบันทึกภาพถ่ายเก่าพร้อมข้อความบรรยายภาพของช่างภาพชื่อ Everett Historical ระบุว่า โรงพยาบาลวอลเตอร์รีดในกรุงวอชิงตันดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับรักษาคนไข้ในระหว่างการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี พ.ศ. 2461-2462 พบว่าการระบาดใหญ่ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้านคนทั่วโลก

นอกจากนี้ยังพบว่าแพทย์ของโรงพยาบาลฟอร์ตพอร์เตอร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลกองทัพสหรัฐฯ ที่ทำการรักษาคนไข้ มีการสวมใส่ "หน้ากากผ้า" และกั้นห้องผู้ป่วยขนาดเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไข้หวัดสเปนเช่นกัน ซึ่งการใช้หน้ากากนี้ทำให้ลมหายใจของคนไข้คนหนึ่งไม่แพร่ระบาดไปสู่คนอื่นๆ เป็นต้น

158506192112

158506192193

  • เมืองไทยใช้ "หน้ากากอนามัย" ครั้งแรกปี 2463

ส่วนในประเทศไทย พบว่า "หน้ากากอนามัย" ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสมัยของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระองค์ได้รับสั่งให้นำมาใช้ทางการแพทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2463 และในยุคต่อๆ มา ก็มีการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์กันอย่างแพร่หลาย อย่างเช่นในยุคที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในเมืองไทยก็มีการใช้ทั้งหน้ากากทางการแพทย์ (หน้ากากผ่าตัด) และหน้ากาก N95 ในการป้องกันเชื้อโรคหรือโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจกันโดยทั่วไป

ล่าสุด.. ในยุคโรคระบาด "โควิด-19" ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยก็ยังคงใช้งาน "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์" ในการป้องกันเชื้อโรคและลดการแพร่ระบาด แต่ที่ดีไปกว่านั้นคือ คนไทยได้แสดงฝีมือคิดค้นนวัตกรรมหน้ากากอนามัยแบบใหม่ๆ ขึ้นมาในยุคนี้ด้วย ได้แก่

1. หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK

นวัตกรรมหน้ากากอนามัยที่ชื่อว่า THAMMASK นี้ ถูกคิดค้นและผลิตขึ้นโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแนวคิดในการใช้ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์ที่มีคุณสมบัติ "สะท้อนน้ำ" ไม่ดูดซับความชื้น และช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ ตัวเนื้อผ้ามีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วย Cotton-Microfiber จำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร โดยมีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ไฟเบอร์ เบอร์ 75 (Polyester Microfiber) เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้าย คอมแพ็ค โคมบ์ เบอร์ 40 (Cotton Compact Combed)

อีกทั้งมีการผลิตโดยใช้ "เทคโนโลยีสะท้อนน้ำ" ด้วยสาร NUVA-1811 ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอนสามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้า เพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ โดยสารชนิดนี้ได้รับการรับรองจาก Oekotex Standard 100-2019 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่ามีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง และยังสามารถนำไปซักและใช้ซ้ำได้ถึง 30 ครั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบเพิ่มเติมและเริ่มผลิตแล้ว

158506252854

2. WIN-Masks ป้องกัน COVID-19

ถัดมาเป็นนวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่นที่เรียกว่า WIN-Masks (Washable Innovative Nano-Masks) คิดค้นขึ้นโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์, กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติฯ  

หน้ากากชนิดนี้เป็นหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ความเสี่ยง รวมถึงประชาชนที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ขณะเดียวกันก็เป็นการลดขยะปนเปื้อนจากหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วย   

ตัวหน้ากากมีโครงสร้าง 3 ชั้น คือ 1) ผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น เคลือบสารนาโนกันน้ำ 2) ผ้าไมโครไฟเบอร์ผสม ZnO ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 3) ผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำจากไอจาม เมื่อผ้า 3 ชั้นทำงานร่วมกันทำให้สามารถกรองฝุ่นและละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็กระดับ 2.5-5 ไมครอนได้ ซักและใช้ซ้ำได้ 30 ครั้ง มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ ดูผลการทดสอบประสิทธิภาพเพิ่มเติมได้ที่: นวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น เพื่อป้องกัน COVID-19

158506252815

ในระยะแรกภายใน 3 สัปดาห์จะสามารถส่งมอบได้ไม่เกิน 7,000 ชิ้น ภายใต้บรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อ ให้กับโรงพยาบาลหลักๆ ก่อน ส่วนการขยายผลต่อไปจะระดมทุนโดยอาศัยกลไก Crowd Funding ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ให้โรงงานที่ได้มาตรฐานรับดำเนินการผลิตขยายผลให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และดำเนินการให้ถึงมือประชาชนทั่วไป

3. MASK 4 ALL ฝีมือนักวิจัยเชียงใหม่

ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เร่งผลิตหน้ากากอนามัยป้องกัน "โควิด-19" เพื่อมอบให้ทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลที่ดูแลกลุ่มเสี่ยง "โควิด-19" ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5,000 ชิ้น ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รวมถึงประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบาด "โควิด-19" และฝุ่นพิษ PM2.5 โดยเบื้องต้นได้ทำการทดลองผลิตหน้ากากที่สามารถป้องกันสารคัดหลั่งได้ 100% และกันฝุ่นPM2.5 ได้มากกว่าร้อยละ 80% อีกทั้งยังสามารถทำการซักล้างได้ตามคำแนะนำของ WHO

สำหรับหน้ากากอนามัย MASK 4 ALL ทางศูนย์ฯ ได้ทำทั้งหมด 3 แบบ คือ แบบที่ 1 หน้ากากผ้าสามารถซักได้ แต่ใช้แผ่นกรองอากาศสอดไปในผ้า สามารถป้องกันสารคัดหลั่ง และฝุ่น PM2.5 ได้ ผ่านการรับของจากเนลสัน ส่วนแบบที่ 2 หน้ากากผ้าสปันบอนด์และกระดาษแบบ Non-Woven ซึ่งสามารถกรองอากาศ High Efficiency Particulate Air Filter(HEPA) ที่มีคุณภาพสูง กรองฝุ่นละออง เชื้อโรค เชื้อโรคแบคทีเรีย มีอนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งได้ผ่านการทดสอบจากเครื่องมือของ OHSAS ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว 

และแบบที่ 3 หน้ากากอนามัยนวัตกรรมนาโน เป็นการผลิตหน้ากากอนามัยที่เสริมด้วยการใช้แผ่นกรองอากาศนาโน ซึ่งจะสามารถป้องกันไวรัสก่อโรค "โควิด-19" ได้ และผ่านการรับรองจากเนลสันแล้ว โดยหน้ากากดังกล่าวจะป้องกันสารคัดหลั่งได้ และสามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาด 0.075 ไมครอนได้ อีกทั้งยังสามารถทำการซักล้าง และนำกลับมาใช้งานได้อีกไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง 

158512382637

ทั้งนี้เนื่องจากมีความต้องการหน้ากากจำนวนมาก และยังอยู่ในภาวะขาดแคลน จึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินเพื่อจัดทำหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 และป้องกันโรค "โควิด-19" ให้แก่ แพทย์ พยาบาล นักศึกษา บุคลากร และประชาชนที่ขาดแคลนหน้ากาก โดยร่วมบริจาคเงินได้ที่บัญชี มูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 667-260962-6

----------------------

ที่มา:

http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_showpic.php?newsID=530&tyep_ID=2

https://www.silpa-mag.com/history/article_46363

https://www.sixthtone.com/news/1005177/a-brief-history-of-face-masks-in-china

https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2536

https://tu.ac.th/thammasat-news-02-covid-19-mask-cotton-blend-polyester