ชวนรู้จัก ผ้าฝ้ายมัสลิน ที่แพทย์แนะนำให้ใช้ทำ หน้ากากผ้า
เปิดตัว “ผ้ามัสลิน” ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ค้นพบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันละอองฝอยได้ดีเกือบเทียบเท่า "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์" โดยจะต่อยอดมาเป็น "หน้ากากผ้า" เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการระบาด COVID-19 แถมใช้ซ้ำได้!
สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ทำเอาหลายประเทศกำลังขาดแคลน "หน้ากากอนามัย" อย่างมาก รวมถึงประเทศไทยเองก็ประสบกับปัญหานี้อย่างหนักจนถึงขั้นว่าบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มี "หน้ากากอนามัย" ใช้งาน จนทำให้ภาคประชาชนรณรงค์และร่วมมอบหน้ากากอนมัยทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน และสนับสนุนให้คนที่ไม่ป่วยหันมาใช้หน้ากากผ้าทดแทน
ที่ผ่านมาพบว่ามีทั้งประชาชนและตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ออกมาแชร์วิธี DIY หน้ากากผ้า ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากมาย ซึ่งก็เป็นการใช้ผ้าหลากหลายชนิดตามแต่จะหาได้มาทำ "หน้ากากผ้า" ใช้ไปก่อน แต่บางคนก็ยังไม่แน่ใจว่าผ้าชนิดนั้นๆ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 (จากละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่) ได้จริงหรือเปล่า?
ล่าสุด...กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัยชนิดของผ้าต่างๆ ที่น่าจะมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำ "หน้ากากผ้า" เพื่อป้องกันการระบาดของโรค โควิด-19 โดยได้ผลวิจัยออกมาพบว่า “หน้ากากผ้ามัสลิน” มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งหน้ากากทางเลือกที่สามารถใช้ป้องกันความเสี่ยงได้ อ่านมาถึงตรงนี้.. คงอยากรู้แล้วว่าเจ้าผ้ามัสลินนี้มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร? และมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าผ้าชนิดอื่นตรงไหน? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
1. ผ้ามัสลินคืออะไร ?
ผ้ามัสลินผลิตจากใยฝ้าย 100% มัสลินเป็นชื่อเรียกกลุ่มผ้าฝ้ายลายขัดกลุ่มใหญ่ๆ ที่มีคุณภาพและน้ำหนักผ้าระดับต่างๆ ผ้าชนิดนี้ผลิตออกจำหน่ายในลักษณะเป็นผ้าขาว ผ้าย้อมสี พิมพ์ดอก ใช้ตัดเป็นเสื้อชั้นใน ผ้ากันเปื้อน ผ้าซับใน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เป็นต้น
2. ผ้ามัสลิน มีคุณสมบัติโดดเด่น
สำหรับคุณสมบัติพื้นฐานของผ้ามัสลินนั้น มีความโดดเด่นในแง่ดีหลายอย่าง เช่น เป็นผ้าเนื้อละเอียด ระบายอากาศดี แห้งเร็ว น้ำหนักเบา ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง เป็นเส้นใยธรรมชาติ 100% ให้ความรู้สึกสบาย ลักษณะของผ้าจะมีความลื่นพอประมาณ เนื้อผ้าเป็นขนและแข็ง มีความแข็งแรงทนทานต่อการซัก
3. วิจัยพบ "ผ้ามัสลิน" กันละอองน้ำได้ดีที่สุด!
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทดสอบประสิทธิภาพของผ้าชนิดต่างๆ เพื่อค้นหาว่าผ้าชนิดใดเหมาะที่สุดที่จะนำมาใช้ทดแทน "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์" ได้ดี โดยทดสอบ 3 วิธี คือ ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาเส้นใยผ้าในการกันอนุภาค ทดสอบการเป็นขุยด้วยวิธีการซัก และทดสอบประสิทธิภาพการซึมผ่านของละอองน้ำ
หลังจากการทดสอบพบว่า ผ้ามัสลินมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้ามากกว่าผ้าชนิดอื่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกันละอองน้ำได้ดีที่สุด เส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคเล็กๆ (เช่น ละอองฝอย) ได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่น และสามารถนำมาใช้งานได้หลายครั้ง
มีงานวิจัยพบว่า "ผ้ามัสลิน" เหมาะสมในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้ามากกว่าผ้าชนิดอื่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกันละอองน้ำได้ดีที่สุด และเส้นใยผ้าสามารถป้องกันอนุภาคเล็กๆ (เช่น ละอองฝอย) ได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่นๆ
4. เปรียบเทียบผ้ามัสลิน VS ผ้าชนิดอื่นๆ
เมื่อนำผ้ามัสลินมาเปรียบเทียบกับผ้าฝ้ายดิบ ผ้านาโน ผ้ายืด และผ้าสาลู ในเรื่องของการป้องกันอนุภาคขนาดเล็ก โดยการทดสอบผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์ พบว่า ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน และผ้านาโน เมื่อนำผ้ามาประกอบกัน 2 ชั้นและส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เส้นใยผ้า สามารถกันอนุภาคเล็กๆ ได้ใกล้เคียงกับ "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์"
เมื่อนำผ้ามัสลินมาเปรียบเทียบกับผ้าชนิดอื่นๆ เหมือนข้างต้น ในเรื่องของการป้องกันการซึมผ่านของน้ำ พบว่าผ้าสาลูและผ้ามัสลินสามารถกันน้ำได้ดี
เมื่อนำผ้ามัสลินมาเปรียบเทียบกับผ้าชนิดอื่นๆ เหมือนข้างต้น ในเรื่องของการซักทำความสะอาด พบว่าผ้านาโนซักได้ประมาณ 10 ครั้ง เส้นใยก็ก็เริ่มเสื่อมสภาพ ส่วนผ้าฝ้ายดิบซักได้ประมาณ 100 ครั้ง และผ้ามัสลินพบว่าสามารถซักซ้ำได้มากถึง 100 ครั้งโดยที่คุณสมบัติของผ้ายังดีอยู่
เมื่อนำผ้ามัสลินมาเปรียบเทียบกับผ้าชนิดอื่นๆ เหมือนข้างต้น ในเรื่องของประสิทธิภาพการต้านการซึมผ่านของละอองน้ำ พบว่าผ้ามัสลินกับผ้าสาลูมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน แต่ประสิทธิภาพในการกักอนุภาคเส้นใย ผ้ามัสลินจะกักน้ำได้ดีกว่า และความยืดหลังการซักจะน้อยกว่าผ้าสาลู
5. ผ้ามัสลินควรซักให้เหมาะสม
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีคำแนะนำในการใช้หน้ากากผ้ามัสลินเพิ่มเติม คือ หากต้องการซักด้วยมือ ให้ซักโดยการขยี้เบาๆ ห้ามขยี้รุนแรงหรือใช้แปรงขัด แต่ถ้าจะซักเครื่อง ให้ซักโดยการใส่ถุงแยกซัก ใช้โหมดถนอมผ้าที่น้ำเย็นไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ห้ามใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ห้ามฟอกขาว ห้ามซักด้วยน้ำร้อน ห้ามอบ/ปั่นแห้ง ห้ามใช้น้ำยารีดผ้าเรียบ จากนั้นนำมาตากบนราวด้วยการพาดเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้การหนีบผ้า กรณีจำเป็นต้องปั่นเเห้งให้ใช้ระบบลมเย็นเท่านั้น ห้ามใช้ลมร้อน
เมื่อหน้ากากแห้งแล้วสามารถรีดด้วยไฟอ่อน โดยจัดเรียงผ้าให้เรียบและวางผ้าฝ้ายทับด้านบนก่อนแล้วจึงรีดทับ ไม่แนะนำให้วางเตารีดสัมผัสโดยตรง เนื่องจากการปล่อยไฟที่ไม่สม่ำเสมอผ่านโลหะเตารีดจะทำลายเนื้อผ้าได้
อย่างไรก็ตามการใส่ "หน้ากากผ้า" แนะนำให้ซักและตากแห้งทุกวัน ไม่ใช้มือสัมผัสหน้ากากขณะสวมใส่ และการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรค COVID-19 ไม่ใช่แค่การสวมใส่หน้ากากผ้าเมื่อต้องอยู่ในที่ชุมชนแออัดเท่านั้น แต่จะต้องควบคู่ไปกับการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ให้ครบถ้วนด้วย
--------------------------
ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์