นานาศิลปาชีพ@SACICT สืบสานพระราชปณิธานพระพันปีหลวง ชวนช้อปผ้าชาวเขา
นิทรรศการและจำหน่าย ผ้าปักชาวเขา หรือ ผ้าชาวเขา จากชาวไทยภูเขาจำนวน 6 ชนเผ่า ได้แก่ ลีซอ กะเหรี่ยง เมี่ยนหรือเย้า ม้ง อาข่า และ มูเซอ เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ในพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงก่อตั้ง ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ราษฎร ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทยสืบไป
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือ SACICT ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการจัดกิจกรรมและจัดงานมาแล้วหลายครั้ง
หนึ่งในนั้นคือ งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ซึ่งจากการจัดงานครั้งที่ 11 ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 แสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่าถือได้ว่าประสบความสำเร็จเกินจากที่คาดไว้ ทั้งในเรื่องของยอดผู้เข้าชมงาน ซึ่งตลอดการจัดงานมียอดจำหน่ายรวมกว่า 54 ล้านบาท ทำให้รู้ว่างานศิลปหัตถกรรมไทยยังเป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับในผู้ซื้ออยู่เป็นจำนวนมาก
เพื่อให้เกิดการซื้อ งานหัตถศิลป์ อย่างต่อเนื่อง SACICT จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดปีพ.ศ.2563 จำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ในชื่องาน นานาศิลปาชีพ@SACICT ณ ชั้น 1 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
ครั้งแรกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด จากชาวเขา สู่ชาวเรา โดยจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาจากชาวไทยภูเขา จำนวน 6 ชนเผ่า โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้แก่ ลีซอ กะเหรี่ยง เมี่ยนหรือเย้า ม้ง อาข่า และมูเซอ ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์-15 เมษายน 2563
“ความสวยสดงดงาม-ตระการตาของผ้าปักชาวเขา หรือ ผ้าชาวเขา เป็นงานฝีมือที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยทักษะอันชำนาญของสตรีชาวไทยภูเขา ต้องอาศัยองค์ความรู้ ภูมิปัญญา การฝึกฝน เรียนรู้ และถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษต่อกันมาหลายร้อยปี จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิต ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ที่แตกต่างกันไปในแต่ละชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน”รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ SACICT กล่าว
สีสันที่ปรากฎบนผืนผ้า ทั้งรูปแบบของการปัก การเย็บ และการตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ ที่แตกต่างกันไป นอกจากแสดงออกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็นชาติพันธุ์ ยังแสดงให้เห็นถึงความงดงาม ความละเอียดอ่อน ความประณีต รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบลวดลายลักษณะต่างๆ ที่มีการผสมผสานกันระหว่างลวดลายโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และลวดลายที่เกิดจากการประยุกต์ และพัฒนาลวดลายตามจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ได้อย่างมีสุนทรีย์
การสร้างสรรค์ ลวดลายบนผืนผ้า ของกลุ่มชาวไทยภูเขา มักมีที่มาจากการสังเกต เลียนแบบ หรือจินตนาการขึ้นจาก ธรรมชาติ หรือ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งผืนผ้าหนึ่งผืนอาจประกอบไปด้วยลวดลายหลายๆ ลวดลายที่แตกต่างกัน สร้างความงดงามตระการตาให้แก่ผู้พบเห็นได้อย่างน่าอัศจรรย์
สำหรับงาน นานาศิลปาชีพ@SACICT ครั้งที่ 2 กำหนดจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าปักและผ้าฝ้าย ระหว่างวันที่ 17 เมษายน-15 มิถุนายน 2563
ครั้งที่ 3 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จักสานและงานแกะสลักไม้ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-31 สิงหาคม 2563
SACICT เชิญชวนประชาชนและกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มนักศึกษา นักออกแบบ หันมาส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในงาน นานาศิลปาชีพ@SACICT ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สอบถามข้อมูลโทร.1289
สิ่งเหล่านี้ คือ องค์ความรู้ อันล้ำค่าที่ควรอนุรักษ์และเผยแพร่สู่สาธารณชน และคนรุ่นหลังให้ได้รับรู้
ภาพ : นิพัทธ์ เทศทรงธรรม