‘ใบขับขี่สาธารณะ’ มีกี่ประเภท? มีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง?
มาทำความรู้จักกับประเภทของใบขับขี่ว่ามีกี่ประเภท และสำหรับผู้ที่ต้องการขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือรถสามล้อประเภทต่างๆ อยากจะทำใบขับขี่สาธารณะ ต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง? มาดูกัน
ก่อนจะมีรถสักคันหนึ่ง หรือขับรถชนิดใดก็ตาม สิ่งที่ทุกคนต้องมีตามตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ นั่นก็คือ ใบอนุญาตขับรถ หรือใบขับขี่ โดยในเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบกได้อธิบายว่า ใบขับขี่มีทั้งหมด 11 ชนิด ได้แก่
1.ใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราว ซึ่งแยกย่อยออกไป 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว มีอายุ 1 ปี ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อชั่วคราว อายุ 1 ปี และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว อายุ 1 ปี
2.ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล อายุ 5 ปี
3.ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล อายุ 5 ปี
4.ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ อายุ 3 ปี
5.ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ อายุ 3 ปี
6.ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล อายุ 5 ปี
7.ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ อายุ 3 ปี
8.ใบอนุญาตขับรถบดถนน อายุ 5 ปี
9.ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์ อายุ 5 ปี
10.ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่นนอกจาก 1.-9. อายุ 5 ปี
11.ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี (ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ) อายุ 1 ปี
สำหรับใครที่อยากจะขับรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก หรือวินเตอร์ไซค์ ฯลฯ ก็ต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ตามลำดับ
- อยากมี "ใบขับขี่สาธารณะ" ต้องทำอย่างไร?
อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ คุณสมบัติของผู้ขอรับใบขับขี่รถสาธารณะ จะต้องมีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ใบขับขี่รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ซึ่งแล้วแต่กรณีที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
รวมถึงต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้ขอรับใบขับขี่รถสาธารณะและใบขับขี่รถยนต์สามล้อสาธารณะ และจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ในกรณีใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ อีกทั้งต้องมีความรู้เรื่องการขับรถ และข้อบังคับต่างๆ
และยังต้องไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่ ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอันตรายขณะขับรถ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือง ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเห็นว่าไม่สามารถขับรถได้ และไม่มีใบขับขี่รถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือถูกเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป สำหรับความผิดเกี่ยวกับการขับรถอย่างใดอย่างหนึ่ง เว้นแต่พ้นโทษครั้งสุดท้าย
ทั้งนี้จะต้องมีหลักฐานประกอบคำขอ ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1.ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบคคลชั่วคราว หรือใบขับขี่รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบขับขี่นถจักรยานยนต์ชั่วคราว ที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ซึ่งยังรวมถึงใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ใบขับขี่รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล หรือใบแทนใบขับขี่รถดังกล่าว พร้อมด้วยสำเนา
2.บัตรประชาชนฉบับจริง และ 3.ใบรับรองแพทย์ ที่แสดงว่าผู้ขอไม่มีโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน โดยต้องออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน
ขณะที่ขั้นตอนในการทำใบขับขี่สาธารณะนี้ มีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.ตรวจสอบเอกสาร และออกคำขอ
2.ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบการมองเห็นสีที่จำเป็นในการขับรถ การทดสอบสายตาทางลึก การทดสอบสายตาทางกว้าง และการทดสอบปฏิกิริยาเท้า หรือความสามารถในการใช้เบรคเทานั่นเอง
3.อบรม 5 ชั่วโมง สำหรับรถยนต์สาธารณะ และรถยนต์สามล้อสาธารณะ ส่วนด้านรถจักรยานยนต์สาธารณะ อบรม 3 ชั่วโมง
4.ต้องเข้าทดสอบภาคทฤษฎี
5.ตรวจสอบความประพฤติหรือประวัติอาชญากร ไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีบุคคลทั่วไป หรือหนังสือรับรองความประพฤติให้ผู้ขอนำไปให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ขอรับใบอนุญาต ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่ารับรองความประพฤติหรือประวัติอาชญากร
6.ชำระค่าธรรมเนียม และถ่ายรูปพิมพ์ใบขับขี่
- ต้องการต่อใบขับขี่สาธารณะยุ่งยากไหม?
สำหรับใครที่มีใบขับขี่ประเภทนี้อยู่แล้ว และใกล้จะหมดอายุ ถ้าต้องการต่อใบอนุญาต ต้องมีหลักฐานประกอบการขอ 3 อย่าง เช่นเดียวกับการขอครั้งแรก ขณะที่ขั้นตอนมี 5 ขั้นตอน คล้ายๆ กับการขอทำใบอนุญาตครั้งแรก แต่ครั้งนี้ไม่ต้องทดสอบภาคทฤษฎีแล้ว
แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่ตรงที่ ใบอนุญาตขับรถสาธารณะที่นำมายื่นหมดอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องทดสอบข้อเขียนด้วย แต่หากใบอนุญาตขับรถสาธารณะที่นำมายื่น หมดอายุเกิน 3 ปี จะต้องเพิ่มทั้งขั้นตอนของการทดสอบข้อเขียนและการสอบขับรถ
ที่มา : dlt